ข้อต่อไปในการแก้ปัญหาของบุคคล ก็คือดูเจาะลึกลงไปในการคิดเป็นว่า ที่ว่าเขาคิดเป็นหรือไม่นั้น เขารู้จักแก้ปัญหาตามแนวทางของเหตุผล หรือตามแนวทางของกฎแห่งเหตุปัจจัยหรือไม่ เรียกตามศัพท์ทางพุทธศาสนาว่า “การแก้ปัญหาตามแนวอริยสัจจ์” คือ รู้ความเป็นเหตุ รู้ความเป็นผล แล้วแก้ปัญหาตามแนวทางของเหตุและผลนั้น อันนี้จะเป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ ในการนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งหมดมาใช้ประโยชน์ ในชีวิตและการทำงานอีกทีหนึ่ง และดูว่าจะแก้ปัญหาได้สำเร็จหรือไม่
การแก้ปัญหา ตามกระบวนการแห่งเหตุและผล หรือตามวิธีการแห่งความเข้าใจกฎแห่งเหตุปัจจัยนี้ เป็นขั้นตอนของการใช้ปัญญาเป็นตัวนำชีวิต ไม่ใช่เอาตัณหาคือความอยากเป็นตัวนำชีวิต
นอกจากความรู้คือปัญญาที่เข้าใจความจริง เข้าใจเหตุปัจจัยแล้วก็ต้องมีความเข้มแข็งเป็นพื้นฐาน เพราะในระหว่างการพัฒนาที่ปัญญายังไม่เจริญเต็มที่ หากจิตใจไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ ก็จะเป็นช่องทางให้ตัณหากับอวิชชาเข้ามามีอิทธิพล ขัดขวางการพัฒนาปัญญา ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการพัฒนาจิตใจ โดยเฉพาะการสร้างสมาธิควบคู่กันไป และเป็นพื้นฐานแก่การพัฒนาปัญญา
เป็นอันว่า คนเราจะพัฒนาตนได้ จะต้องมีความเข้มแข็ง ที่จะให้ปัญญาอยู่เหนือตัณหา ไม่เช่นนั้นก็จะกลับไปหาอวิชชา กลับไปหาตัณหา กลับไปเอาความอยากเป็นตัวนำชีวิต เพราะขาดความเข้มแข็ง คล้ายๆ กับเป็นลักษณะเบื้องต้นที่ว่าเมื่อไม่รู้จะทำอย่างไร ก็จะเอาอย่างนี้ละ คือปล่อยพฤติกรรม แล้วแต่ความไม่รู้และความอยากจะพาไป ว่าไปตามที่เราอยากจะคิดให้มันเป็น แล้วก็เลยฝากความหวังไว้กับปัจจัยภายนอก ที่จะมาช่วยเหลือทำแทนให้
เหมือนอย่างแต่ก่อนนี้ ที่เคยฝากโชคชะตาไว้กับเทพเจ้า ฝากชะตากรรมให้กับเทพเจ้า แล้วแต่พระพรหมจะบันดาล แล้วแต่เทพเจ้าจะกำหนด อันนี้เรียกว่าฝากความหวังไว้กับสิ่งภายนอก ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากความอยากและความหลงผิด คือ ตัณหาและอวิชชา และส่งเสริมตัณหาและอวิชชายิ่งขึ้นไป เพราะเมื่อเราฝากความหวังไว้กับเทพเจ้าแล้ว ปัญญาย่อมไม่เกิด เพราะไม่ต้องคิดอะไร ได้แต่รอให้เทพเจ้าช่วย
ต่อจากการอ้อนวอนเทพเจ้า ก็มีวิธีทางไสยศาสตร์ วิธีการนี้ทำให้เกิดความกล้าขึ้น แต่ก็ไม่ได้กล้าด้วยตนเอง ยังพึ่งตนเองไม่ได้ มนุษย์ได้แต่ฝากความหวังไว้กับสิ่งเหล่านี้ อย่างนี้ก็เรียกว่าฝากความหวังไว้กับปัจจัยภายนอก หรือไม่ก็ฝากโชคชะตาไว้กับหมอดู เมื่อฝากความหวังไว้กับหมอดูก็สุดแล้วแต่หมอจะว่า แล้วก็รอไป
หากเราฝากความหวังไว้กับสิ่งภายนอกแล้ว เราก็ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้ เพราะต้องพึ่งและรอความช่วยเหลือของผู้อื่นเรื่อยๆ ไป ในเมื่อมนุษย์ฝากชะตากรรมไว้กับเทพเจ้าบ้าง ไสยศาสตร์บ้าง หมอดูอะไรต่างๆ บ้าง การศึกษาเพื่อจะให้มนุษย์พึ่งตนเองก็สำเร็จไม่ได้
เพราะฉะนั้น เราจึงต้องหัดให้คนแก้ปัญหาตามแนวทางของเหตุผล ตามแนวทางของอริยสัจจ์ เริ่มตั้งแต่มีปัญหาเกิดขึ้น ก็ต้องสืบสาวค้นหาเหตุที่เรียกว่าสมุทัย เหตุแห่งปัญหานั้นอยู่ที่ไหน เมื่อสืบหาพบเราจะได้กำจัดให้ตรงเหตุนั้น พร้อมนั้นก็มองดูจุดหมาย ดูความต้องการของเราว่าคืออะไร วางจุดหมายนั้นแล้วจึงกำหนดวิธีปฏิบัติขึ้นมา เพื่อหาทางทำลายเหตุของปัญหา แล้วก็ทำให้เข้าถึงจุดหมาย วิธีปฏิบัตินี้เรียกว่า “มรรค” เมื่อได้วิธีปฏิบัติแล้วก็ลงมือปฏิบัติดำเนินการ การที่คนเราจะพัฒนาตนเองก็ต้องพัฒนาตามวิธีการดังกล่าวมานี้ จึงจะแก้ปัญหาได้
ทีนี้ การที่จะให้คนเราแก้ปัญหาด้วยปัญญาของตนเองได้ ก็ต้องมีกระบวนการที่จะสร้างปัญญา พร้อมกันไปกับการสร้างความเข้มแข็งในตัวของบุคคล หากเข้มแข็งไม่พอก็จะหวนกลับไปหาสิ่งภายนอก มนุษย์โดยทั่วไปมักมีความเข้มแข็งไม่พอ เราอาจจะต้องประนีประนอมบ้าง แต่ก็ต้องไม่ให้เสียกระบวนการ ไม่ยอมให้เสียผล หรือยอมให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นกับกระบวนการพัฒนาตนเองของมนุษย์ให้น้อยที่สุด อันนี้น่าห่วง
อาจารย์แนะแนวจะต้องระวัง ไม่ให้ตัวเองกลายไปเป็นเหมือนดังเทพเจ้า หรือหมอไสยศาสตร์ หรือหมอดูเสียเอง จนกลายเป็นว่าเด็กฝากความหวังไว้กับอาจารย์แนะแนวแล้ว เลยไม่รู้จักคิดเอง ไม่รู้จักพึ่งตนเอง คิดไม่เป็น
บางทีตัวอาจารย์แนะแนว และหรือบางทีตัวเด็กเองก็มีความเข้มแข็งไม่เพียงพอ จึงหวังพึ่งสิ่งภายนอก หวังพึ่งหมอดู ถ้าจะมีการยืดหยุ่นบ้างก็ต้องดูว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่เสียหลักในการพัฒนาตนเอง ในขณะที่เรายังช่วยให้เขาก้าวไปเองไม่ได้ หลักทั่วไปก็คือ สิ่งที่เอาเข้ามาเสริม จะต้องไม่ใช่เป็นเหตุให้หยุดรอหวัง แต่จะต้องเป็นตัวที่ช่วยหนุนให้เข้มแข็งที่จะทำต่อไป โดยถูกทาง
ในขั้นสุดท้าย เมื่อมนุษย์มีความเข้มแข็งพอ มีสติปัญญาพอ ก็สามารถช่วยตนเองด้วยตัวของเขาเองได้ จนกระทั่งพึ่งตัวเองได้อย่างเต็มที่ นี้เป็นหลักในแง่ของพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการแนะแนว สำหรับใช้ตรวจสอบบุคคลที่มีความทุกข์และมีปัญหา เพื่อช่วยให้เขาพัฒนาตนเองได้ต่อไป