พุทธศาสน์กับการแนะแนว

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ท่าทีต่อประสบการณ์: จุดเริ่มของ ปัญญา หรือ ปัญหา

ประสบการณ์ทั้งหลายที่รับเข้ามานั้น เรามีท่าทีต่อการรับอย่างไร ประสบการณ์เข้ามาทางทวารหรืออายตนะ หรืออินทรีย์ที่ทำการรับรู้ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และพอรับเข้าไปแล้วก็มาอยู่ในใจ ระลึกขึ้นมาเป็นความจำ เป็นประสบการณ์เก่า ตลอดจนประสบการณ์ทางใจในเวลานั้นๆ เช่น ความรู้สึกรัก ความรู้สึกชัง ความรู้สึกเกลียด ความรู้สึกเครียด นี้เป็นประสบการณ์ที่เป็นความรู้สึกทางจิตใจ ซึ่งไม่มีทางตา หู จมูก ลิ้น

ประสบการณ์ต่างๆ นี้ เป็นสิ่งที่มนุษย์จะต้องรับอยู่เสมอ ท่านเรียกว่ากระทบ มนุษย์ต้องกระทบกับสิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ หรือประสบการณ์เหล่านี้ ในเมื่อมนุษย์กระทบกับประสบการณ์เหล่านี้แล้ว มนุษย์เราจะมีท่าทีในการตอบรับอย่างไร

ประสบการณ์ที่เข้ามา หรือสิ่งที่ถูกรับรู้ หรือที่เรียกว่าอารมณ์นี้ เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และปรากฏในใจ เรียกว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ หรือสิ่งที่ได้รู้ ได้เห็น ได้ยิน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ โดยมากจะมีเป็น ๒ ประเภท คือ

๑. ประเภทที่ทำให้รู้สึกสบายใจ ถูกใจ

๒. ประเภทที่ไม่สบายใจ ไม่ถูกใจ

ถ้าอยู่กึ่งกลางระหว่างสองประเภทนี้ ก็เรียกว่าเฉยๆ อยู่ในประเภทเพลินๆ ก็อยู่ในพวกสบายนั้นแหละ แต่โดยปกติแล้วจะมีสบายกับไม่สบาย ถูกใจกับไม่ถูกใจ พอมีประสบการณ์เข้ามา มันจะปรากฏแก่มนุษย์โดยมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้ติดมาด้วย

พอรับประสบการณ์เข้ามา พร้อมทั้งคุณสมบัติที่ปรากฏแก่มนุษย์ มนุษย์ก็จะมีท่าทีตอบสนอง ถ้าถูกใจสบายใจ ก็ชอบใจ ถ้าไม่ถูกใจ ไม่สบายใจ ก็เกิดปฏิกิริยา คือไม่ชอบหรือเกลียด ทางพระเรียกว่าถูกใจก็ยินดี ไม่ถูกใจก็ยินร้าย หรือชอบกับชัง นี่เป็นท่าทีของมนุษย์ธรรมดาตั้งแต่เกิดมา ซึ่งเกิดจากเอาความอยากเป็นตัวนำ ปฏิกิริยาชนิดนี้จะหนาแน่นยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างสอดคล้องไปด้วยกันว่า ถ้าถูกกับความอยากก็ชอบใจ ถ้าไม่ถูกกับความอยากก็ชัง เกิดความยินดียินร้าย อันนี้เป็นธรรมดา

จากความยินดี ชอบใจ หรือจากความยินร้าย ไม่ชอบใจ ก็คิดไปต่างๆ ตามอิทธิพลของความชอบชัง หรือยินดียินร้ายนั้น เรียกว่าเป็นความคิดปรุงแต่ง ต่อจากความคิดปรุงแต่ง ก็แสดงออกมาเป็นการพูดการทำต่างๆ ซึ่งไม่เป็นไปด้วยความรู้ เอาแต่ความอยากเข้าว่า เข้ากับกระบวนการเมื่อกี้ คือทำให้เกิดปัญหา เพราะไม่รู้ความจริง แล้วปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎของความจริง เรียกว่าเป็นท่าทีการมองสิ่งทั้งหลายตามแบบของมนุษย์ที่ยังไม่มีการศึกษา

พอมีการศึกษา ท่าทีแบบยินดียินร้ายนี้เปลี่ยนไปเป็นท่าทีของการเรียนรู้ เราเริ่มพัฒนาปัญญาตั้งแต่การเริ่มเปลี่ยนท่าทีต่อประสบการณ์นี้แหละ จะเริ่มเปลี่ยนอย่างไร ตอบว่า พอคนเรามีจิตสำนึกในการศึกษาพัฒนาตน ท่าทีต่อประสบการณ์ก็เปลี่ยนไป สิ่งทั้งหลายที่เข้ามา ไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาชอบชัง แต่กลายเป็นข้อมูลของความรู้ไปทั้งหมด

ตอนแรกนั้น ประสบการณ์เข้ามาในลักษณะของสิ่งที่ถูกใจไม่ถูกใจ แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนเป็นข้อมูลของความรู้ เราจะมองเห็นสิ่งทั้งหลายในแง่ที่เป็นสิ่งซึ่งเราจะได้เรียนรู้ เป็นข้อมูลที่เราจะนำมาใช้ในการฝึกฝนพัฒนาตน หรือทำประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง

ในเวลาที่ได้รับประสบการณ์ เราจะมองว่าจากสิ่งนี้หรือประสบการณ์นี้ เราได้ความรู้หรือได้ประโยชน์อะไรบ้างที่จะนำไปใช้ในการฝึกฝนพัฒนาตน เราได้ข้อมูลอะไรที่จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหา ตอนนี้การมองสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนไป นี่คือจุดเริ่มต้นของการศึกษา คือ การที่ท่าทีต่อประสบการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป

มนุษย์ที่จะศึกษานั้น แทนที่จะมองสิ่งทั้งหลายด้วยความชอบใจไม่ชอบใจ หรือยินดียินร้าย ก็เปลี่ยนเป็นมองสิ่งทั้งหลายเป็นการได้เรียนรู้ทั้งหมด เห็นคนหน้าบึ้งมาก็มองในทางเรียนรู้ว่านี่เขาเป็นอย่างไร เขามีทุกข์อะไร หรือเขามีปัญหาอะไร แล้วสืบสาวค้นหาเหตุปัจจัยแห่งพฤติกรรมของเขาต่อไป ไม่มองแบบเอาตัวตนเข้าไปรับกระทบ ว่าเขาชอบใจเราหรือไม่ชอบใจเรา หรือว่าเขาอย่างนั้นอย่างนี้กะเรา ไม่มองอย่างนั้น แต่มองเป็นข้อมูลของการเรียนรู้ แล้วก็คิดในแนวทางของการแก้ปัญหา

การมองตามความเป็นจริง ก็คือมองตามเหตุปัจจัยว่าสภาพที่ประสบพบเห็นนั้นเป็นมาอย่างไร มีเหตุปัจจัยส่งทอดมาอย่างไร และมองถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งทั้งหลาย พอปฏิบัติอย่างนี้ปัญญาก็เดินหน้า

แต่ถ้ามีท่าทีของการชอบชัง ปัญญาจะไม่เกิดเลย ปัญญาหยุดทันที ไม่มีปัญญาตั้งแต่เริ่มต้น แล้วอะไรจะเกิดขึ้นแทน ก็คืออารมณ์ แต่เป็นอารมณ์ในภาษาไทย ไม่ใช่ภาษาบาลี (อารมณ์ในภาษาบาลีคือสิ่งที่เป็นประสบการณ์ อารมณ์ในภาษาไทยคือ ความรู้สึก โดยเฉพาะพวกกิเลส) กิเลสก็เกิดขึ้น มีความรู้สึกชอบชัง ความโกรธ เกลียด ความรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ตามมา ไม่เกิดความรู้ ไม่เกิดปัญญา แต่เกิดปัญหา

แต่ถ้ามองเป็นการเรียนรู้แล้ว เราจะได้ปัญญา ได้ความรู้ ได้ข้อมูลไปหมด นั้นคือการมองตามความเป็นจริง อันนี้คือท่าทีต่อประสบการณ์อันเป็นพื้นฐานเบื้องต้น เป็นจุดนำไปสู่การศึกษาและพัฒนาตนเอง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง