เรื่องราวเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา ตามหลักฐานเท่าที่เล่ามาพอจะให้ลงความเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก แต่การที่จะให้เหตุผลในเรื่องนี้ชัดเจนเด่นขึ้นมา เห็นว่าจะต้องเท้าความไปถึงเรื่องมหาวิทยาลัยฝ่ายตะวันตกสักเล็กน้อย เพื่อนำมาเป็นหลักฐาน ยืนยันความเห็น และเพื่อเปรียบเทียบลักษณะบางประการ จะได้เข้าใจเรื่องราวฝ่ายตะวันออกนี้ดีขึ้น
ตามที่ยอมรับกัน ถือว่ามหาวิทยาลัยแห่งแรก (ของตะวันตก) เกิดขึ้นที่ โบโลนยา (Bologna) และที่ปารีส (Paris) เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๖๕๐1 คือหลังจากนาลันทาราว ๖ ศตวรรษ
ความจริง ตำราประวัติศาสตร์กล่าวถึงมหาวิทยาลัยฝ่ายตะวันตกที่ตั้งขึ้นก่อนหน้านี้บ้างก็มี แต่ดูไม่หนักแน่น และไม่มีเรื่องราวเป็นหลักฐานมั่นคงต่อเนื่องพอที่จะเห็นว่าเป็นกิจการใหญ่โตจริง อันจะพึงยอมรับได้ เท่าที่พบมี :-
๑. มหาวิทยาลัยแห่งคอนสแตนติโนเปิล บางตำรา2 ว่า ตั้งในรัชกาลกษัตริย์โรมัน ชื่อพระเจ้าธีโอโดสิอุสมหาราช (พ.ศ. ๙๒๒-๙๓๘) บางตำรา3 ว่าตั้งในรัชกาลพระเจ้าจัสติเนียนมหาราช (พ.ศ. ๑๐๗๐-๑๑๐๘) เมื่อตั้งแล้วก็ปรากฏว่ามีกิจการไม่มั่นคง เพราะสงครามกับต่างชาติ และสงครามภายในประเทศ ไม่เป็นอันดำเนินงานจริงจัง จนพระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๙ ต้องทรงตั้งขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๘ แบ่งเป็น ๒ สาขา คือ กฎหมาย กับปรัชญา4 โดยนัยนี้ ก็ต้องนับว่าหลังนาลันทา
๒. มหาวิทยาลัยในเมืองคอร์โดวา (Cordova หรือ Cordoba) นครใหญ่ของสเปนสมัยมุสลิมปกครอง ตั้งในคริสตศตวรรษที่ ๑๐5 คือเกิน พ.ศ. ๑๔๐๐ มาแล้ว ซึ่งก็ต้องนับว่าหลังนาลันทาอีก
ทางฝ่ายตะวันออก ก็มีหลักฐานว่า กษัตริย์คอสโรสที่ ๑ (Chosroes I : พ.ศ. ๑๐๕๖-๑๑๒๒) แห่งเปอร์เซีย ได้ทรงตั้งโรงเรียนสอนวิชาแพทย์ขึ้นใกล้นครซูซา ต่อมาโรงเรียนนี้ได้ค่อยขยายหลักสูตรกว้างขึ้น จนเป็นมหาวิทยาลัย มีการสอนวิชาปรัชญา วาทศิลป์ ฉันทศาสตร์ ประวัติศาสตร์เปอร์เซีย นิติศาสตร์ และรวบรวมจดหมายเหตุพงศาวดาร6 แต่เทียบแล้วก็นับว่าหลังนาลันทาเช่นกัน
ย้อนกลับไปเล่าเรื่องมหาวิทยาลัยแรกของยุโรป มีโบโลนยาและปารีส เป็นต้น มหาวิทยาลัยเหล่านี้เกิดในสมัยกลางของยุโรป ต้นกำเนิดมาจากโรงเรียนวัดในศาสนาคริสต์ เรื่องย่อๆ มีว่า ในยุคโรมันเรืองอำนาจ ชาวโรมันมีการศึกษาศิลปศาสตร์ ๗ ประการ สืบเนื่องมาแต่สมัยกรีก คือ :-
๑. ตรีบถ ได้แก่ ไวยากรณ์ วาทศิลป์ และตรรกศาสตร์
๒. จตุรบถ ได้แก่ เลขคณิต เรขาคณิต ดาราศาสตร์ และ สังคีตศาสตร์
ต่อมาราว พ.ศ. ๑๐๑๙ มหาอาณาจักรโรมันสลายตัวลง หลังจากนั้นถือว่าเป็นการเข้าสู่ยุคใหม่ เรียกว่าสมัยกลาง (the Middle Ages) โดยเฉพาะระยะต้นๆ ของสมัยกลางนี้เรียกกันว่า ยุคมืด (the Dark Ages) คือเป็นระยะเวลาที่วัฒนธรรมเสื่อมถอย ไม่เกิดความเจริญก้าวหน้า
เมื่อเข้าสู่สมัยกลางแล้ว การศึกษาที่พวกโรมันเคยจัดกันมา เพื่อสร้างเยาวชนของตนให้เป็นผู้พร้อมที่จะดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม มีใจรักวรรณคดี ศิลป และปรัชญา ก็เปลี่ยนมือตกมาอยู่ ในความผูกขาดของคณะสงฆ์ในศาสนาคริสต์ โดยสิ้นเชิง การเล่าเรียนก็มาจัดกันที่โรงเรียนในวัด แต่คราวนี้ พระสงฆ์ถือว่า วิชาการฝ่ายโลกอย่างที่เรียนกันสมัยกรีกและโรมันนั้น เป็นความรู้อันไม่สมควร คริสตศาสนิกชนที่ดี ไม่ควรใส่ใจ จึงคิดแต่เพียง ให้เยาวชนได้เล่าเรียนวิชาสำหรับเตรียมบวช ไปอยู่วัด มีศรัทธาหนักแน่นในศาสนา วิชาต่างๆ ในสมัยโรมัน ถ้าจะเอามาเรียนกันบ้าง ก็เลือกเรียนเพียงเท่าที่จะเป็นประโยชน์ในการทำกิจทางศาสนาเท่านั้น เช่น ให้เรียนเลขคณิตเพียงเพื่อให้คำนวณวันสำคัญทางศาสนาได้ เป็นต้น ในระยะนี้การศึกษาวิชาการต่างๆ จึงไม่เจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้ จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๑๓๔๓ พระเจ้าชาละเมน คือ ชารลส์มหาราช กษัตริย์แฟรงค์ได้ครองราชย์เป็น จักรพรรดิแห่งยุโรปตะวันตก ทรงใส่พระทัยในการศึกษา โปรดให้บรรดาปราชญ์ในประเทศต่างๆ ที่อยู่ภายใต้พระราชอำนาจมาช่วยราชการฝ่ายการศึกษาในราชสำนัก และได้ทำนุบำรุง ปรับปรุงการศึกษาของพระสงฆ์ศาสนาคริสต์ กล่าวคือโรงเรียนวัดให้เจริญขึ้น ขณะนั้นโรงเรียนวัดมี ๒ ประเภท คือ โรงเรียนวัดสามัญ (monastic school) และโรงเรียนมหาวิหาร (Cathedral school) โรงเรียนอย่างหลังนี้เป็นของใหม่กว่าและช่วยส่งเสริมวิชาการและงานบ้านเมืองได้ดีกว่าอย่างแรก ส่วนพระองค์เองก็ได้ทรงตั้งโรงเรียนวังขึ้นที่เมืองอาเคิน (Aachen) เพื่ออบรมสอนพระราชโอรส บุตรพระญาติ บุตรขุนนาง ข้าราชการ และคนชั้นสูง สำหรับใช้ประโยชน์ในทางราชการ โรงเรียนวังเหล่านี้ เป็นที่ชุมนุมปราชญ์สมัยนั้น และเป็นแหล่งฝึกหัดครูไปด้วย ทำให้วิชาการได้ก้าวหน้าอีกไม่น้อย แต่กาลต่อมา ราชวงศ์ของพระเจ้าชาละเมนก็เสื่อมลง โรงเรียนวัดประเภท สำนักมหาวิหาร (cathedral school) ได้รับช่วงการศึกษาจากโรงเรียนวังนี้ไป ทำให้การศึกษากลับอยู่ในความผูกขาดของศาสนาคริสต์โดยสิ้นเชิงอีกครั้งหนึ่ง
สำนักเรียนมหาวิหาร หรือ คาธีดรัลสคูล เหล่านี้ เจริญเพิ่มจำนวนขึ้นมากมายในระยะ พ.ศ. ๒๕๕๐ เพราะองค์สันตะปาปามีพระโองการ ให้บิชอบเอาใจใส่ในการฝึกสอนให้ได้ผลดี เพื่อให้ได้พระคณาธิการที่มีความสามารถในการดำเนินงาน สำนักเรียนแบบนี้ บิชอบตั้ง ชานเซลเลอร์เป็นผู้บริหารกิจการ มีอำนาจแต่งตั้งควบคุมครูอาจารย์ ต่อมาสำนักเรียนประเภทนี้หลายแห่งมีชื่อเสียงเด่นมาก จึงมีนักศึกษาหลั่งไหลมาเรียนจากถิ่นฐานต่างๆ ทั่วคริสตจักร จนล้นสำนักเรียน เป็นเหตุให้ชานเซลเลอร์ยอมให้ศิษย์ผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว ออกไปเปิดสอนนักศึกษาได้ในเขตใกล้เคียงนอกสำนักเรียน โดยออกใบอนุญาตทำการสอน (licence) ให้ และต้องอยู่ในความควบคุมของชานเซลเลอร์ โดยนัยนี้ สำนักเรียนบางสำนักจึงขยายใหญ่โต จนได้ฐานะใหม่ เรียกกันว่าเป็น studium generale ซึ่งจะแปลว่า มหาศึกษาสถานก็ได้ สำนักเรียนที่ได้ฐานะเช่นนี้แห่งแรกคือที่โบโลนยา และแห่งที่สองคือที่ปารีส วิวัฒนาการถึงขั้นนี้กำหนดว่าอยู่ในราว พ.ศ. ๑๖๕๐ เป็นต้นมา
เมื่อมีนักศึกษามากเข้า เขตที่เล่าเรียนกว้างขวางขึ้น สถานศึกษาก็กลายเป็นสังคมใหญ่ ที่มีผู้สอนและผู้ศึกษาเป็นสมาชิก มีสภาพความเป็นอยู่แยกต่างหากออกไป ทั้งจากชาวบ้านชาวเมืองทั่วไป และจากชาววัด คนในสังคมใหม่นี้ คือผู้สอนและผู้เรียน เห็นว่าจำเป็นจะต้องมีวิธีการควบคุมคุณภาพและผลประโยชน์ร่วมกันของพวกตน จึงคิดหาทางจัดระบบการบริหารกลุ่มพวกตนเป็นอิสระ และก็มองเห็นตัวอย่างของพวกสมาคมอาชีพ (guild) ต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในสมัยนั้น จึงนำวิธีการนี้มาใช้ พวกครูอาจารย์และนักศึกษาที่ปารีสได้รวมกลุ่มกันตั้งเป็นสมาคมการศึกษา หรือศึกษาสภา เมื่อราว พ.ศ. ๑๗๐๐ จุดมุ่งหมายสำคัญ คือให้พวกตนบริหารงานเป็นอิสระมากขึ้น ไม่ให้ชานเซลเลอร์มาบีบบังคับมากเกินไป ส่วนที่โบโลนยา นักศึกษาซึ่งส่วนมากเป็น ชาวต่างประเทศก็ได้ตั้งศึกษาสภาขึ้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกตน เช่น ป้องกันไม่ให้พวกพ่อค้าคหบดีชาวเมืองขึ้นราคาค่าที่พักและค่าอาหารเป็นต้น ตามชอบใจ และเป็นผู้กำหนดการดำเนินงานภายในทุกอย่าง เว้นแต่การให้ปริญญาอย่างเดียว ที่ยังยอมให้เป็นสิทธิของฝ่ายครู สมาคมประเภทนี้ บางทีก็เรียกว่า universitas ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกับ guild นั่นเอง คือ แปลว่า ชุมนุม หรือชมรม เหมือนกัน ต่อมาราว พ.ศ. ๑๙๐๐ เศษ นิยมใช้คำว่า universitas นี้มากขึ้น จนมีความหมายเต็มตัวแทนคำว่า studium generale เป็นที่มาของคำว่า university อย่างที่ใช้ในปัจจุบัน
สถานศึกษาอย่างใหม่นี้ มีลักษณะต่างไปจากสำนักเรียนมหาวิหารเดิม ๒ อย่างคือ มีการบริหารงานเป็นอิสระอย่างหนึ่ง และมักมีคณะต่างๆ เกินกว่า ๑ คณะอย่างหนึ่ง เฉพาะ ๒ แห่งแรกนั้น โบโลนยา เป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยส่วนมากที่เกิดในยุโรปภาคใต้ มีชื่อเสียงเด่นทางวิชากฎหมาย นักศึกษาอายุค่อนข้างสูงและเป็นผู้ควบคุมการบริหารงาน ตลอดถึงความประพฤติและการปฏิบัติงานของพวกครูอาจารย์ และห่างจากอิทธิพลของสันตะปาปาหน่อย ส่วนปารีสนั้น เป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยในยุโรปภาคเหนือและภาคตะวันออก มีชื่อเด่นทางวิชาฝ่ายศาสนา นักศึกษาอายุอยู่ข้างเยาว์ ครูอาจารย์เป็นผู้ควบคุมการบริหารงาน และใกล้ชิดกับศาสนจักร แต่ต่อมาได้เกิดขัดแย้งกันขึ้นกับบิชอบ จนกระทั่งองค์สันตะปาปาได้เข้ามาระงับการพิพาท ด้วยการรับรองฐานะของมหาวิทยาลัยให้เป็นกิจการอิสระ เป็นตัวของตัวเอง แยกออกไปต่างหาก และให้กำหนดหลักสูตรของตนเองได้ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและขึ้นกับองค์สันตะปาปาโดยตรง ต่อจากนี้ก็เกิดมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ขึ้นในยุโรปมากขึ้นตามลำดับ จนถึงสิ้นสมัยกลาง (ประมาณ พ.ศ. ๒๐๐๐) มีประมาณ ๗๕ มหาวิทยาลัย
ข้อพึงสังเกตในที่นี้คือ มหาวิทยาลัยยุโรปรุ่นแรกๆ ล้วนเกิดมาจากสำนักเรียนมหาวิหารทั้งนั้น และที่กลายมาเป็นมหาวิทยาลัย ก็เป็นไปโดยวิวัฒนาการ คือมีกิจการใหญ่โตขึ้น จนเป็นที่เชื่อถือยอมรับกันไปเอง นอกจากนี้ เมื่อมีฐานะสูงขึ้น ก็ดึงดูดใจให้ผู้มีอำนาจเข้ามาคุ้มครองให้ความอุปถัมภ์ อย่างที่ปารีส องค์สันตะปาปาก็ทรงเข้ามาคุ้มครอง ออกระเบียบให้สิทธิมหาวิทยาลัยปกครองตนเอง เพราะทางศาสนจักรเล็งเห็นว่า อำนาจและอิทธิพลของตน จะดำรงอยู่ได้ด้วยอาศัยมีการศึกษาทรงวิชาความรู้เหนือกว่าใครๆ และมีอำนาจในการจัดการศึกษานั้นด้วย ส่วนที่โบโลนยา พระจักรพรรดิเฟรเดอริคที่ ๑ ก็ทรงเข้าคุ้มครองให้สิทธิพิเศษเช่นกัน และปรากฏว่าตั้งแต่ราว พ.ศ. ๑๗๖๘ เป็นต้นมา ทั้งองค์สันตะปาปา และพระจักรพรรดิ ต่างก็ได้ทรงสถาปนาและอุปถัมภ์มหาวิทยาลัยต่างๆ เพิ่มขึ้นจนเป็นเหตุให้กิจการมหาวิทยาลัยรุ่งเรืองมาก
สำหรับวิชาการที่สอน เมื่อแรกเกิดเป็นมหาวิทยาลัยก็คงมุ่งเรียนกันแต่เรื่องศิลปศาสตร์ ๗ ประการ ที่กล่าวแล้ว กับวิชาศาสนา ต่อมาจึงค่อยๆ เจริญขึ้น จนปรากฏว่า มหาวิทยาลัยที่เจริญเต็มที่ในสมัยกลางประกอบด้วยคณะ (faculty) ๔ คณะ คือ คณะศิลปศาสตร์ หรืออักษรศาสตร์ (arts) ซึ่งบางทีก็เรียกว่าคณะปรัชญา (philosophy) ๑ คณะเทววิทยาหรือศาสนวิทยา (theology) ๑ คณะนิติศาสตร์ (law) ๑ และคณะแพทยศาสตร์ (medicine) ๑ มหาวิทยาลัยหนึ่งๆ ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกคณะ แต่ปกติจะต้องมีคณะศิลปศาสตร์ยืนพื้นไว้คณะหนึ่งก่อน เรียกกันว่าเป็นคณะต้นหรือคณะต่ำ (inferior หรือ lower faculty) และเรียกอีก ๓ คณะว่าคณะสูง (superior หรือ higher faculties)7
เท่าที่เล่าเรื่องมหาวิทยาลัยฝ่ายยุโรปมา ประสงค์เพียงให้พอจับความมาเทียบเคียงกันได้ ต่อไปนี้ จะขอเปรียบเทียบเรื่องการศึกษาฝ่ายตะวันตกกับตะวันออก เฉพาะจุดที่ควรสนใจดังนี้ :-
๑. มหาวิทยาลัยพุทธศาสนา เกิดประมาณ พ.ศ. ๑๐๐๐ ส่วนมหาวิทยาลัยในยุโรปเกิดประมาณ พ.ศ. ๑๖๐๐ เศษ ภายหลังกันประมาณ ๖๐๐ ปี
๒. ก่อนที่มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาจะเกิดขึ้นนั้น ระบบการศึกษาของอินเดียได้เปลี่ยนแปลงมานานถึง ๑๐๐๐ ปีแล้ว นับแต่เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น ได้ทรงทำลายการผูกขาดการศึกษาของพราหมณ์ เปิดโอกาสให้คนทุกชั้นได้รับการศึกษา และให้การศึกษาด้วยภาษาที่ประชาชนทั่วไปใช้กันอยู่ ไม่จำกัดวงแคบด้วยภาษาสันสกฤต และการศึกษาอบรมในวัดได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบบการศึกษาในครัวเรือน มาเป็นการศึกษาแบบสถาบัน เมื่อหลายๆ วัดมารวมเข้าด้วยกันเป็นมหาวิหาร การศึกษาก็ได้วิวัฒนาการมาเป็นมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาในที่สุด แต่ในเวลาที่มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเกิดขึ้นนี้ ศาสนาพราหมณ์เริ่มกลับมีอิทธิพลมากขึ้น การศึกษาเริ่มกลับแคบเข้าอีก การศึกษาสำหรับสตรีเสื่อมไปแล้ว และพระสงฆ์ก็นิยมศึกษาภาษาสันสกฤต และคำสอนของพราหมณ์มากขึ้นเพื่อประโยชน์ในการโต้วาทะ เป็นต้น
ส่วนทางตะวันตก ก่อนที่มหาวิทยาลัยในยุโรปจะเกิดขึ้น ความรุ่งเรืองทางวิทยาการ และความคิดสร้างสรรค์เสรี ที่สืบเนื่องมาแต่สมัยกรีกได้สิ้นสุดลงแล้วพร้อมกับการพินาศของจักรวรรดิ โรมัน และการศึกษาก็มาตกอยู่ในความผูกขาดของคริสตจักร ซึ่งให้การศึกษาเพียงเพื่อเตรียมคนไว้บวช มหาวิทยาลัยในยุโรปจึงเกิดขึ้นในยุคที่ความคิดสร้างสรรค์หยุดชะงักอยู่ และวิชาการกำลังเสื่อมถอย วิชาการเก่าๆ ถูกนำมาศึกษาเพียงเพื่อสนับสนุนกิจการศาสนา เช่น ศึกษาเลขเพื่อคำนวณวันสำคัญทางศาสนา และศึกษาตรรกศาสตร์ เพื่อนำมาประกอบเหตุผลสนับสนุนเทววิทยาเป็นต้น
๓. การศึกษาในมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเริ่มขึ้นในวัด เจริญรุ่งเรืองอยู่ในวัด มีความหมายเป็นอันเดียวกับวัด
การศึกษาในมหาวิทยาลัยฝ่ายยุโรป เริ่มขึ้นจากโรงเรียนในวัด คลี่คลายขยายตัวออกนอกวัด ขัดแย้งกันกับวัดมากขึ้น และในที่สุดเป็นอิสระแยกกันกับวัด แม้ว่าจะยังอยู่ในศาสนจักร แต่ก็มีความหมายเป็นคนละอย่าง
๔. การศึกษาในมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา อาจารย์กับศิษย์ มีความสนิทสนม ใกล้ชิดกัน อย่างบิดากับบุตร ศิษย์มีความเคารพครูอาจารย์อย่างดี มีระเบียบวินัย ด้วยอาศัยระบบอันเตวาสิก ไม่เคยปรากฏเหตุเสียหายด้านนี้ตลอดประวัติศาสตร์ของสถาบัน การศึกษาเล่าเรียนอยู่กินทุกอย่างเป็นการให้เปล่า การเรียนการสอนได้รับอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ ฐานะของอาจารย์ไม่มีความหมายในทางรับจ้างเลย และในด้านความเป็นอยู่ก็ชอบเป็นอยู่อย่างง่ายๆ มุ่งแต่ใช้ความคิดศึกษาวิชาการและปฏิบัติกิจหน้าที่
ส่วนการศึกษาในมหาวิทยาลัยฝ่ายยุโรป นักศึกษามาหาวิชาความรู้กันต่างต้องพึ่งตนเอง ต้องเสียค่ากินอยู่ที่พัก สัมพันธ์กับอาจารย์เพียงรับถ่ายทอดความรู้ นักศึกษาปกครองกันเอง ถึงกับร่วมกันตั้งสมาคมควบคุมความประพฤติและการปฏิบัติงานสอนของอาจารย์ก็มี อย่างที่โบโลนยา เป็นต้น มีความเป็นอยู่หนักในทางโลกีย์ นักศึกษามีความประพฤติเสียหายสำมะเลเทเมาก็มาก ปรากฏเรื่องราวบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ อำนาจสูงสุดฝ่ายศาสนจักรก็ดี ฝ่ายอาณาจักรก็ดี ได้เข้ามาโอบอุ้มคุ้มครอง ก็ต่อเมื่อสถาบันเหล่านี้ตั้งตัวได้แล้ว เห็นว่าจะนำมาใช้เป็นเครื่องสนับสนุนเชิดชูอำนาจของตนได้ จึงเข้ามาเกี่ยวข้อง และคงจะคิดใช้เป็นเครื่องมือแข่งอำนาจกันด้วยระหว่างศาสนจักรกับอาณาจักร
๕. ในมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา การศึกษาเป็นไปอย่างเสรี ผู้เรียนผู้สอนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ การอภิปรายและโต้วาทะกันเป็นกิจกรรมที่นิยมและแพร่หลายอย่างยิ่ง ทุกศาสนาทุกนิกายต่างใช้สิทธินี้กันโดยเต็มที่ เอาชนะกันด้วยเหตุผลแท้ๆ แต่เมื่อนิยมในด้านนี้มากเกินไป ก็มีผลเสียได้ โดยทำให้สนใจกันแต่ในการที่จะลับและตีฝีปากกันและแสวง เกียรติในทางนี้ วิชาประเภทที่ส่งเสริมการถกเถียงและหาวิธีถกเถียงให้ได้ผล มีทางเจริญมาก พร้อมกับวิชาอื่นอาจด้อยลง
ส่วนทางด้านยุโรป ยุคที่มหาวิทยาลัยเกิดขึ้น ศาสนจักรกำลังมีอำนาจสูงสุด การศึกษาต่างๆ มุ่งนำมาสนับสนุนคำสอนในศาสนาคริสต์เป็นสำคัญ และไม่ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเลย ที่ร้ายแรงคือองค์สันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ ๓ ได้ทรงตั้งศาลสอบสวนศรัทธา (The Inquisition) ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๗๔๖ ศาลนี้มีอำนาจสอบสวนตัดสินโทษบุคคลที่แสดงความคิดเห็น หรือประพฤติปฏิบัตินอกรีต ขัดคำสอนในพระคัมภีร์ หรือโองการขององค์สันตะปาปา ทั่วศาสนจักร คือทั่วยุโรปสมัยกลาง โทษมีต่างๆ จนถึงขั้นประหารชีวิต ศาลประเภทนี้มีอยู่จนตลอดสมัยกลาง กาลิเลโอก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของบุคคลผู้ได้ถูกอำนาจศาลนี้เข้าครอบงำ อย่างไรก็ดี ความกดดันเช่นนี้ ย่อมนำไปสู่ความหลงระเริงใจจนทำความผิดพลาดมากมายของผู้มีอำนาจฝ่ายหนึ่ง และนำไปสู่ความดิ้นรนต่อสู้ของผู้ถูกบีบคั้นฝ่ายหนึ่ง จนถึงความหลุดพ้นในที่สุด ซึ่งเห็นได้ในกรณีของมาร์ติน ลูเธอร์ (พ.ศ. ๒๐๒๖-๒๐๘๙)
๖. การศึกษาในมหาวิทยาลัยพุทธศาสนานั้นแบ่งได้เป็น ๒ ระยะ ดังกล่าวข้างต้น คือ ระยะแรกราว พ.ศ. ๑๐๐๐ ถึง ๑๔๐๐ เป็นระยะที่มีการศึกษาวิชาต่างๆ กว้างขวาง ทั้งทางวิชาศาสนา และวิชาสามัญ เป็นระยะรุ่งเรือง วิชาการเจริญก้าวหน้าสืบเนื่องต่อกันมา แต่ครั้นถึงระยะหลัง ราว พ.ศ. ๑๔๐๐ เป็นต้นมา (ระยะนี้ มหาวิทยาลัยวลภีถูกทำลายลงแล้ว) การที่พระสงฆ์หันมานิยมศึกษาและใช้ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาวิชาการ ได้กลายเป็นการจำกัดวงการศึกษาให้กลับแคบเข้าอย่างเดิมอีก ที่นาลันทาและมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เหลือ ก็ปรากฏว่าพุทธศาสนามหายานได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ นำมาผสมผสานกันมาก จนกลายเป็นนิกายตันตระ หรือ วัชรยานขึ้น และต่อนั้นมาก็มุ่งศึกษากันแต่ตันตระเป็นสำคัญ ทำให้ทอดทิ้งวิชาการอื่นๆ การศึกษาก็แคบลงไปๆ แม้ในฝ่ายพวกพราหมณ์เอง ระยะนี้ ก็หันไปชื่นชมกับผลงานเก่าๆ ของปราชญ์ในอดีต เพราะผลงานเก่าๆ ที่สร้างสะสมกันมานั้น มากมายเหลือเกิน เพียงแต่จะรักษาและทำความเข้าใจก็ยากหนักหนา จึงยินดีเพลิดเพลินอยู่กับการแสดงความสามารถ ในการนำเอาของเก่าออกมาอวด ทำหน้าที่รักษาอธิบาย และชี้แจงผลงานเก่าๆ ของปราชญ์ในอดีต ยุคนี้จึงเป็นระยะของการเขียนอรรถกถา และอรรถาธิบายต่างๆ พร้อมกับมีความรู้สึกหยิ่งลำพองในความรู้ ใจแคบ และลำเอียง เพราะรู้ของตนคิดว่ามาก ไม่รู้ของผู้อื่น จึงคิดว่าเขาไม่รู้ ไม่มีความคิดก้าวหน้าและความคิดใหม่ๆ การติดต่อค้าขายกับประเทศอื่นๆ ที่เคยเป็นกิจการเฟื่องฟูมาในอดีตก็ซบเซาลง นอกจากนี้ความถือวรรณะก็เหมือนจะรุนแรงขึ้น ฐานะของวรรณะแพศย์ลดลงเกือบเท่าศูทร พวกวรรณะสูงๆ เริ่มรังเกียจงานช่างและอุตสาหกรรมศิลปต่างๆ เห็นเป็นของทำให้เสียเกียรติ มัวเพลิดเพลินหลงใหลอยู่กับวรรณคดีคลาสสิกส์ นิยมชมชื่นกับความงดงามไพเราะของคำพูด และจินตนาการต่างๆ จนลืมโลกของธรรมชาติ วิธีการเรียนการสอนก็เป็นแบบแผนประเพณีตายตัว (stereotyped) เมื่อรักษาแต่เก่า ใหม่ไม่เพิ่มก็มีแต่หมด เพราะเป็นธรรมดาของเก่า ก็ย่อมเสื่อม ลดน้อยลงไป จะรักษาอย่างไรๆ ก็ย่อมให้อยู่เท่าเดิมไม่ได้ นอกจากจะนำมาปรับปรุงผสมเสียใหม่ จึงจะยืนยงคงใช้ได้และเจริญต่อไป โดยนัยนี้ การศึกษาในชมพูทวีปก็เสื่อมถอย และยังไม่ทันรู้ตัวที่จะรื้อฟื้นแก้ไข ก็ประสบเหตุให้พินาศเสียก่อน
สาเหตุที่ทำให้พินาศนั้น ก็คือ การเข้ารุกรานยึดครองของต่างชาติ เริ่มด้วยชาวเตอร์กยกทัพเข้ามา และทำลายมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาหมดสิ้น ทำลายวัดส่วนมาก พระสงฆ์ที่ไม่ถูกฆ่าก็หนีไปต่างประเทศ อันเป็นเหตุการณ์ในราว พ.ศ. ๑๗๐๐ ตามปกติการใช้อำนาจเข้ากดขี่บีบคั้น ถ้าไม่ถึงกับทำลายให้สูญสิ้นเสียทีเดียว หรือให้เปลี้ยหมดกำลังจริงๆ แล้ว ย่อมเป็นทางให้เกิดการดิ้นรน ต่อสู้ ให้เกิดความเข้มแข็งและการกลับฟื้นตัวได้ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นแบบทำลายโดยสิ้นเชิง พุทธศาสนาจึงไม่มีโอกาสคืนชีวิตได้อีก ส่วนระบบที่ยังคงเหลืออยู่ คือ ศาสนาพราหมณ์ดั้งเดิม ก็แตกต่างกับระบบที่เข้ามาใหม่ คือ มุสลิม เสียจนไม่สามารถนำมาประยุกต์ผสมผสานกันให้เกิดเป็นพลังสร้างสรรค์ขึ้นได้ หรือถ้าจะให้เกิดพลังใหม่อันสืบเนื่องมาจากความขัดแย้ง ก็ต้องอาศัยกาลเวลายาวนานเกินควรและไม่ทันจะเป็นเช่นนั้น การรุกรานครั้งใหม่ก็เกิดขึ้นอีกคือจักรวรรดิอังกฤษได้เข้าครอบครอง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๐๐ เป็นต้นมา เป็นอันจบสิ้นยุคความเจริญในอดีต
หันมาดูทางด้านมหาวิทยาลัยสมัยกลางในยุโรป ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สมัยกลาง โดยเฉพาะระยะต้นๆ เป็นยุคมืด คือ วิทยาการต่างๆ ไม่ก้าวหน้า วาติกันกำลังเรืองอำนาจ ตัดเสรีภาพในทางความคิด การศึกษาวิชาการต่างๆ ก็เพียงเพื่อสนับสนุนคำสอนในพระคัมภีร์ การเรียนการสอนก็จำต้องใช้ภาษาละติน วิชาการที่ศึกษาก็มุ่งไปแต่ไวยากรณ์ ภาษา วาทศิลป์ และวิพากษศาสตร์ (dialectics) เป็นสำคัญ ดาราศาสตร์ก็ถูกความเชื่อทางโหราศาสตร์เข้าห่อหุ้ม และระวังไม่ให้นอกรีต ขัดพระคัมภีร์ ชีววิทยาก็มากไปด้วยเรื่องเหลวไหล แพทยศาสตร์ก็เขวไปทางไสยศาสตร์เสียเป็นส่วนใหญ่ สภาพเช่นนี้ เทียบได้กับยุคหลังของมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาที่การศึกษาเสื่อมลง แต่ทางฝ่ายยุโรป โชคดีกว่าตรงที่ไม่มีเหตุการณ์มาซ้ำเติมและทำลายลง แต่กลับมีเหตุการณ์ในยุคที่เรียกว่าฟื้นฟู (The Renaissance) และปฏิรูป (The Reformation) มาช่วยแก้ไขให้ฟื้นตัวขึ้นและก้าวหน้าได้อีก เริ่มแต่การติดต่อกับชาวมุสลิม8 เป็นต้น ทำให้เกิดความตื่นตัวใหม่ และหันไปสนใจวิทยาการที่เคยรุ่งเรืองสมัยกรีก แม้กระนั้นในยุคฟื้นฟูเอง การที่ปราชญ์หันไปเพลิดเพลินหลงใหลอยู่กับวรรณคดีคลาสสิกส์ ก็เป็นเหตุถ่วงความเจริญก้าวหน้าไม่น้อย แต่เหตุการณ์อื่นๆ ก็มาช่วยอีก เช่น การเดินทางของมาร์โคโปโล การเดินเรือของวาสโกดากามา การค้นพบทวีปอเมริกาของโคลัมบัส ทำให้คนสนใจวิชาภูมิศาสตร์ การที่โคเปอร์นิคัสกล้าเสนอความคิดเรื่องโลกไม่เป็นศูนย์กลางจักรวาล ทำให้วิทยาการสมัยใหม่เริ่มเดินหน้าอีก และอิทธิพลศาสนจักรเสื่อมลง จนถึงมาร์ตินลูเธอร์คัดค้านอำนาจของวาติกันและเหตุการณ์อื่นๆ ทำให้คริสตจักรแตกสลาย และอำนาจครอบงำของวาติกันคลอนแคลนจนหมดลง อารยธรรมตะวันตกจึงเริ่มรู้จักเสรีภาพทางศาสนา จนถึงกับถือว่าศาสนาเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล การผูกขาดการเรียนการสอนด้วยภาษาละติน ก็มาหมดสิ้นลงเมื่อราว พ.ศ. ๒๒๐๐ วิทยาการสมัยใหม่ก็ค่อยเจริญขึ้น จนสำเร็จเป็นยุควิทยาศาสตร์ในคริสตศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งหมายความว่า วิทยาการสมัยใหม่ของตะวันตกเพิ่งเจริญมาได้สัก ๓๐๐ ปีนี้เอง
เรื่องราวและความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาในอดีต เท่าที่ได้แสดงมาอย่างยึดยาวนี้ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเลย แต่ก็เห็นว่ามีประโยชน์เกี่ยวเนื่องถึงกัน จึงได้นำมากล่าวไว้ ที่ว่ามีประโยชน์เกี่ยวเนื่องกันนั้น มีเหตุผลว่า เป็นการศึกษาในถิ่นกำเนิดของพระพุทธศาสนา และได้ดำเนินต่อเนื่องมาแต่เริ่มแรกที่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ย่อมเป็นทางให้เข้าใจถึงความหมาย หลักการ จุดหมาย วิธีปฏิบัติ และคุณค่า ของการศึกษาในทัศนะของพระพุทธศาสนาได้ง่าย และใกล้เคียงความจริง จะได้นำมาสำรวจและเทียบเคียงกับบทบาททางการศึกษาของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ที่จะเล่าต่อไป ว่ามีส่วนดีส่วนเสีย ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนจากจุดมุ่งหมายเดิมในประการใดและเพียงใด ทั้งเป็นบทเรียนที่จะให้ได้ความคิด ในการแก้ไขปรับปรุงต่อไปอีกด้วย
ประวัติศาสตร์ชาติไทยในด้านที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะนั้นยังไม่สู้ได้รับความสนใจและศึกษาค้นคว้ากันมากนัก หลักฐานและเอกสารอ้างอิงต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้มีน้อย และหาได้ยาก ยิ่งมาจำกัดจำเพาะในแง่การศึกษาอย่างเดียวก็ดูยิ่งยากขึ้นไปอีก เมื่อต้องมาเขียนในเวลาสั้นๆ เพียง ๑-๒ วันเช่นนี้ จึงยากที่จะให้ละเอียดและแน่นอนได้ ในที่นี้จะขอเพียงเขียนสรุปไว้ โดยแยกเป็น ๒ ภาค คือ ว่าด้วยการศึกษาสมัยเดิมอย่างหนึ่ง และการศึกษาสมัยใหม่อย่างหนึ่ง