อาศัยองค์ประกอบทั้งทางคำสอน และการปฏิบัติในพระธรรมวินัยมาเกื้อหนุนเช่นนี้ การศึกษาในพระพุทธศาสนาก็ขยายตัวเป็นกิจการกว้างขวางยิ่งขึ้น ปรากฏหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ว่า คณะสงฆ์ได้ทำให้เกิดระบบการศึกษาแบบใหม่ขึ้นในชมพูทวีปสมัยนั้น เดิมการศึกษาตามระบบของศาสนาพราหมณ์ เป็นการศึกษาแบบครัวเรือน บ้านอาจารย์แต่ละคนนั่นเองเป็นโรงเรียน ศิษย์ไปสมัครเรียนและอยู่รับใช้อาจารย์ที่บ้าน แต่เมื่อคณะสงฆ์เกิดขึ้นแล้ว วัดได้เป็นแหล่งการศึกษาใหญ่ ประกอบด้วยกลุ่มอาจารย์และศิษย์ กลุ่มต่างๆ หลายๆ กลุ่มรวมเข้าด้วยกัน และมีระบบการบริหารรวมกันทั้งหมดอีกชั้นหนึ่ง เมื่อพระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลายมากขึ้น มีวัดเกิดมากขึ้น ก็นับว่าการศึกษาได้ก้าวหน้าขึ้นอีกขั้นหนึ่ง คือขยายตัวจากระบบการศึกษาในครัวเรือนแบบพราหมณ์ มาเป็นระบบการศึกษาในวัดแบบพุทธศาสนา อันเป็นกิจการแบบสหพันธ์1 และเป็นการศึกษาแบบให้เปล่าโดยสิ้นเชิง
มีองค์ประกอบสำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้การศึกษาในพระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้าอย่างมาก กล่าวคือพระพุทธศาสนามิได้มีความมุ่งหมายที่จะให้การศึกษาอบรมและการปฏิบัติธรรม จำกัดอยู่ในวงสมาชิกของสถาบันคือในวัดเท่านั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศหลักการของพระองค์ไว้ ตั้งแต่เริ่มประดิษฐานพระพุทธศาสนาเมื่อคราวส่งพระสาวกออกประกาศพระศาสนาว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย”2 พูดง่ายๆ ว่า พระพุทธศาสนามีวัตถุประสงค์ในการที่จะเผยแพร่ศาสนธรรมอย่างกว้างขวาง วงการของพระพุทธศาสนานั้น ครอบคลุมทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ คือ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอยู่ในพระพุทธศาสนาด้วยทั้งหมด โดยแยกประเภทพุทธศาสนิกชนออกเป็นบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา รวมเป็นประเภทใหญ่ได้ ๒ พวก คือ บรรพชิตกับคฤหัสถ์ และผูกพันชีวิตบุคคลทั้ง ๒ ประเภทนี้เข้าไว้ด้วยกัน โดยให้บรรพชิตต้องอาศัยดำรงชีวิตอยู่ด้วยปัจจัย ๔ ที่คฤหัสถ์ถวาย และตอบสนองด้วยการสั่งสอนธรรม โดยเหตุนี้ พระสงฆ์ นอกจากมีชีวิตผูกพันอยู่ในสังคมพระสงฆ์เองแล้ว ยังต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับสังคมชาวโลกอีกด้วย ทั้งโดยบทบัญญัติในการเลี้ยงชีพ ทางฝ่ายวินัย และหน้าที่ในทางธรรม จะอยู่ตัดขาดจากสังคมเด็ดขาดอย่างฤๅษีชีไพรไม่ได้
กล่าวเฉพาะในด้านการศึกษาอบรม การศึกษาที่จัดเป็นระบบการแท้ๆ นี้ มีเฉพาะในคณะสงฆ์ คือ ในวัดเท่านั้น และในระยะแรกเป็นการศึกษาที่มุ่งปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ เพราะผู้ที่ต้องการบรรลุถึงจุดหมายนี้ ก็ต้องสละเพศมาบวชเข้าอยู่ในคณะสงฆ์ และโดยปกติท่านเหล่านั้นย่อมได้ศึกษาความรู้อย่างอื่นมาเพียงพอหรือไม่ต้องการความรู้อย่างอื่นแล้ว ส่วนพุทธศาสนิกชนผู้ยังไม่พร้อมที่จะสละเพศบวช ก็มาวัดฟังธรรม สนทนาธรรม ตามโอกาส และฝึกอบรมบุตรหลาน ปฏิบัติธรรมไปตามกำลังความสามารถของตน พระภิกษุสงฆ์ก็เพียงสั่งสอนธรรมสำหรับการครองชีวิตในสังคมคฤหัสถ์ และหลักธรรมสำหรับการปฏิบัติสูงต่ำตามระดับจิตใจของคฤหัสถ์เหล่านั้น ไม่มีหน้าที่ที่จะให้การศึกษาศิลปวิทยาต่างๆ ในด้านการหาเลี้ยงชีวิตแก่คนเหล่านั้น เพียงแต่สั่งสอนหน้าที่ทางธรรมที่จะต้องปฏิบัติต่อกัน เช่น สอนว่าเป็นหน้าที่ของบิดามารดา ที่จะต้องให้บุตรศึกษาศิลปวิทยา ให้ครูอาจารย์ตั้งใจสั่งสอนศิลปวิทยาแก่ศิษย์ไม่อำพราง และให้ศิษย์เอาใจใส่ในการศึกษาเล่าเรียนเป็นต้น3 เพียงกำหนดให้เป็นหน้าที่ ส่วนจะศึกษาศิลปวิทยาการอาชีพใดก็สุดแต่สังคม ชุมชน และกาลสมัยนั้น เพราะศิลปวิทยาการหาเลี้ยงชีวิตของชาวโลกย่อมเปลี่ยนแปลงแตกต่างออกไปไม่มีที่สิ้นสุด หายุติเป็นแนวเดียวอย่างการปฏิบัติธรรมไม่
หลักการสำคัญในด้านการดำรงพระศาสนา ที่ส่งเสริมให้การศึกษาในพระพุทธศาสนา เจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก ไม่จำกัดเฉพาะในหมู่พระสงฆ์ แต่ทั่วถึงชาวบ้านด้วย ปรากฏในพุทธพจน์สำคัญ ซึ่งกระจายอยู่ในคัมภีร์หลายแห่ง มีความว่า:-
“ตราบใด ภิกษุสาวก ภิกษุณีสาวิกา อุบาสกสาวก อุบาสิกาสาวิกาของเรา ยังไม่มีความรู้หลักแหลม ยังไม่เป็นผู้ได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างดี ยังไม่แกล้วกล้าอาจหาญ ยังไม่บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ยังไม่เป็นพหูสูต ยังไม่ทรงธรรม ยังไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ยังไม่ปฏิบัติชอบ ดำเนินตามครรลองธรรม ยังมิได้ร่ำเรียนอาจริยวาทของตน จนนำมาบอก แสดงบัญญัติ วางหลัก ชี้แจง แยกแยะทำให้เข้าใจได้ง่าย ยังไม่ (สามารถ) แสดงธรรมให้เห็นผลจริงจังกำราบปรัปวาท (ลัทธิที่ขัดแย้งหรือวาทะฝ่ายตรงข้าม) ที่เกิดขึ้น ให้สำเร็จเรียบร้อยโดยถูกต้องตามหลักธรรม ตราบนั้นเราจักยังไม่ปรินิพพาน”4
และอีกแห่งหนึ่งตรัสว่า พรหมจรรย์ (คือพุทธศาสนา) จะยังไม่ชื่อว่า แพร่หลายบริบูรณ์ จนกว่าบริษัท ๔ จะมีความสามารถดังกล่าวแล้วนั้น5
พุทธพจน์นี้ แสดงให้เห็นว่าพุทธบริษัทผู้จะสืบอายุพระพุทธศาสนา บำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลกได้นั้น นอกจากมีคุณธรรม ความประพฤติปฏิบัติอันเป็นคุณสมบัติภายในตนอย่างดีแล้ว จะต้องมีคุณสมบัติอีก ๒ ประการคือ รู้เชี่ยวชาญในหลักคำสอนฝ่ายของตนจนสอนคนอื่นได้ดีอย่างหนึ่ง และสามารถเอาชนะการรุกรานทางหลักธรรมจากลัทธิศาสนาอื่นๆ ได้อย่างหนึ่ง คุณสมบัติข้อหลังนี้ เป็นปัจจัยให้พระสาวกต้องมีความรู้ความชำนาญในหลักลัทธิศาสนาและวิชาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เมื่อมิได้ศึกษามาก่อนบรรพชา ก็จะต้องมาศึกษาเพิ่มเติมภายหลัง และข้อนี้เองคงเป็นเหตุให้การศึกษาทางพระพุทธศาสนาขยายตัวยิ่งๆ ขึ้น จนเกิดมีสถาบันอันนับได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก
พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอยู่ในถิ่นเดิม คือประเทศอินเดียเป็นเวลาทั้งหมดประมาณ ๑,๗๐๐ ปี จึงสูญสิ้นไปจากประเทศนั้น ในระยะเวลาดังกล่าว โดยเฉพาะตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. ๒๑๘) เป็นต้นมา พระพุทธศาสนาได้มีความเจริญรุ่งเรืองไม่เฉพาะในประเทศอินเดียเท่านั้น แต่ยังได้แพร่หลายไปในประเทศอื่นๆ เป็นอันมาก และได้เป็นรากฐานแห่งวัฒนธรรมของชนชาติต่างๆ ที่อยู่ในดินแดนเหล่านั้นอย่างสำคัญ แม้ที่ไม่สามารถดำรงตัวอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน ก็ทิ้งซากไว้ให้เห็นในศิลปกรรมต่างๆ อันแสดงถึงความรุ่งเรืองในอดีตตลอดระยะเวลาเหล่านี้ การศึกษาทางพระพุทธศาสนาคงจะได้เจริญเป็นอย่างมากด้วย เพราะการศึกษาเป็นพื้นฐานของการเผยแผ่ และมีข้อควรสังเกตอย่างหนึ่งว่าสาเหตุสำคัญของการเสื่อมสูญของพระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ รวมทั้งอินเดียเองนั้น เป็นเพราะการทำลายล้างด้วยกำลัง โดยผู้ปกครองที่นับถือศาสนาอื่น เมื่อชาวพุทธปกครองก็ย่อมให้เสรีภาพแก่ทุกศาสนา แต่ถึงคราวถูกปกครองบ้างก็มักถูกบีบคั้นกำจัดเสีย เฉพาะในประเทศอินเดีย มีหลักฐานว่าพุทธศาสนาถูกผู้ปกครองต่างศาสนาทำลายล้างครั้งสำคัญ ๒ ครั้ง คือครั้งที่ ๑ ราว พ.ศ. ๑๐๗๒ กษัตริย์มิหิรกุละผู้นับถือนิกายไศวะ ได้ทำลายสถูปและสังฆารามจำนวนมากมาย เฉพาะในแคว้นคันธาระแห่งเดียวนับได้ ๑,๖๐๐ แห่ง และคราวต่อมาราว พ.ศ. ๑๗๐๐ ชนเตอร์กมุสลิม ซึ่งรุกรานเข้ามาในอินเดีย ได้ทำลายมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาทั้งหมดทุกแห่ง ทำให้พุทธศาสนาหมดกำลัง และน่าจะนับเป็นเหตุสำคัญให้พุทธศาสนาสูญสิ้นจากประเทศอินเดีย6
บทบาทสำคัญของพระพุทธศาสนา ในประวัติการศึกษาตอนนี้ คงสรุปได้เป็น ๓ ประการ คือ ให้สิทธิเสรีภาพในการศึกษา ทำให้บุคคลทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการได้รับการศึกษา เกิดการศึกษามวลชน ประการหนึ่ง ทำให้เกิดการศึกษาแบบให้เปล่า ประการหนึ่ง และทำให้การศึกษาขยายตัวขึ้นเป็นรูปสถาบัน ประการหนึ่ง