พระพุทธศาสนากับการศึกษาในอดีต

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เกิดมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก

หันมากล่าวถึงการศึกษาทางพระพุทธศาสนา ในประเทศ อินเดีย มีระยะสำคัญที่ควรสนใจเป็นพิเศษอยู่ตอนหนึ่ง คือ ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๑๐๐๐ เศษ เป็นต้นมา เมื่อมีสัญญาณว่าพระพุทธศาสนาเริ่มเสื่อมแล้ว และศาสนาพราหมณ์กำลังมีกำลังมากขึ้น ข้อนี้คงเป็นเหตุบีบคั้นให้พระสงฆ์ต้องศึกษาลัทธิศาสนา และวิชาการต่างๆ กว้างขวางยิ่งขึ้น จนเป็นเหตุให้วัดซึ่งเป็นแหล่งการศึกษาอยู่แต่เดิมแล้ว ขยายกิจการจนเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่ เรียกได้ว่ามหาวิทยาลัย สถาบันที่ควรเรียกว่าเป็นมหาวิทยาแห่งแรกของโลก และสำคัญที่สุดในยุคเดียวกัน คือมหาวิทยานาลันทา และที่มีความรุ่งเรืองในระยะใกล้เคียงเป็นคู่กัน คือ มหาวิทยาลัยวลภี

นาลันทานั้น เท่าที่พอสืบค้นหลักฐานได้ มีประวัติมาแต่ราว พ.ศ. ๑๐๐๐ เรื่องราวเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ส่วนมากทราบจากจดหมายเหตุของหลวงจีนเหี้ยนจัง เป็นต้น ที่เดินทางมาในระยะประมาณ พ.ศ. ๑๒๐๐ เป็นต้นมา ในระยะรุ่งเรือง ประมาณ พ.ศ. ๑๒๐๐ เศษนี้ พอสรุปเรื่องได้ว่า นาลันทา เป็นมหาวิหาร คือวัดใหญ่ ประกอบด้วยวัดต่างๆ รวมอยู่ด้วยกันในกำแพงใหญ่ ๖ วัด มีอาจารย์ ๑,๕๐๐ คน ศิษย์ ๘,๕๐๐ คน มีการบรรยาย ๑๐๐ แห่ง วิชาที่ศึกษา เริ่มด้วยมหายานเป็นวิชาบังคับ จากนั้นมีหีนยาน ๑๘ นิกาย วิชาสามัญมี ศัพทวิทยา (= ไวยากรณ์และนิรุกติศาสตร์) เหตุวิทยา (ปัจจุบันเรียกตรรกวิทยา หรือตรรกศาสตร์) อัธยาตมวิทยา (ปัจจุบันเรียกกันว่าอภิปรัชญา) จิกิตสาวิทยา (= แพทยศาสตร์) ศิลปกรรมวิทยา นอกจากนี้มี ไตรเพท อถรรพเวท สางขยะและวิชาเบ็ดเตล็ดอื่นๆ นักศึกษามีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ทั้งมหายาน หีนยาน ทั้งชาวพุทธ และไม่ใช่พุทธ ทั้งชาวอินเดีย และชาวต่างประเทศ คฤหัสถ์นั้นมี ๒ ประเภท คือ มาณพ ได้แก่ผู้มาเรียนคัมภีร์พุทธศาสนาและจะอุปสมบทต่อไป กับพรหมจารี ได้แก่ผู้มาเรียนวิชาทางโลกอย่างเดียว ผู้เริ่มเรียนอายุประมาณ ๒๐ ปี และจะต้องผ่านการสอบเข้าที่ยากได้ราว ๒-๓ ใน ๑๐ คน ห้องสมุดเป็นอาคารใหญ่ ๓ หลัง ชื่อรัตนสาคร รัตโนทธิ และรัตนรัญชกะ (เฉพาะรัตนสาคร ว่าสูง ๙ ชั้น) สิ่งก่อสร้างต่างๆ ใหญ่โต ประณีต และวิจิตรด้วยศิลปกรรมอันเป็นแบบอย่าง แม้เพียงซากที่พบ ก็มีผู้เขียนไว้ว่า:-

“งานก่อสร้างด้วยอิฐ ทำได้อย่างน่าทึ่งมาก ยอดเยี่ยมกว่างานก่อสร้างด้วยอิฐสมัยปัจจุบัน ไม่ว่าแห่งใดที่ข้าพเจ้าได้พบในชั่วปีใกล้ๆ นี้”1

การบริหารงานเป็นแบบประชาธิปไตย ตราสถาบันที่ขุดค้นพบใช้ว่า “ศรีนาลันทามหาวิหารอารยภิกษุสังฆัสยะ” ตำแหน่งหัวหน้าสถาบันเรียกกุลบดี ถัดมาเป็นตำแหน่งหัวหน้าแต่ละวัด เรียก บัณฑิต กิจวัตรประจำวัน กำหนดด้วยนาฬิกาน้ำ เริ่มต้นด้วยพิธีสวดมนต์ร่วมกันแล้วแยกย้ายไปศึกษาเป็นหน่วยๆ ตามวิชาเฉพาะของตนๆ กิจการศึกษาทั้งหมดอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของกษัตริย์ราชวงศ์คุปตะ (วัดแต่ละวัดในมหาวิทยาลัยนี้ กษัตริย์ราชวงศ์นี้ทรงสร้างต่อๆ กันมา) และวงศ์ปาละในสมัยต่อมา

มหาวิทยาลัยที่รุ่งเรืองอยู่ในสมัยเดียวกัน ได้แก่ วลภี เป็นมหาวิหารที่กษัตริย์ไมตระกะสร้าง อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์เช่นกัน มีชื่อเสียงว่าเป็นคู่แข่งกับนาลันทา นาลันทาอยู่ฝ่ายตะวันออก และมีชื่อเสียงเด่นทางฝ่ายมหายาน ส่วนวลภีอยู่ฝ่ายตะวันตก และมีชื่อเสียงเด่นทางฝ่ายหีนยาน ผู้ศึกษามีทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตเช่นกัน วิชาอื่นๆ มีธรรม (ศาสตร์) นีติ (ศาสตร์) และ จิกิตสาศาสตร์ เป็นต้น

ผู้ได้เข้าศึกษาในสถาบันทั้ง ๒ นี้ มีเกียรติได้รับยกย่องอย่างสูง สำเร็จการศึกษาแล้ว แม้อยากสมัครเข้ารับราชการ ก็ เลือกงานได้อย่างใจและได้ตำแหน่งสูง ปราชญ์ใดในชมพูทวีปต้องการเผยแพร่เกียรติคุณของตนก็ต้องเดินทางมาอภิปรายแสดงภูมิปัญญาที่นี่ จึงจะปรากฏเกียรติยศ ได้รับยกย่อง

วลภี หรือ ทุฑฑา นี้ ถูกทำลายจนสิ้นซากเมื่อราว พ.ศ. ๑๓๐๐ นับว่าก่อนกว่านาลันทา เพราะอยู่ทางตะวันตก เป็นทางผ่านก่อน ส่วนนาลันทา ยังคงรุ่งเรืองต่อมา แต่ระยะหลัง คือระหว่างราว พ.ศ. ๑๔๐๐-๑๗๐๐ เป็นระยะเสื่อมลง เพราะพระพุทธศาสนาลัทธิตันตระ หรือนิกายวัชรยานเกิดและรุ่งเรืองขึ้น การศึกษาก็แคบเข้า มุ่งเฉพาะลัทธิตันตระนี้เป็นสำคัญ

ในระยะหลังเมื่อนาลันทาอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของกษัตริย์วงศ์ปาละ กษัตริย์ปาละได้สร้างสถาบันที่เรียกได้ว่า มหาวิทยาลัยพุทธศาสนา ขึ้นอีกอย่างน้อย ๓-๔ แห่ง คือ โอทันตปุระ วิกรมศิลา ชคัททละ หรือ วเรนทรี และโสมปุระ เฉพาะที่วิกรมศิลา ได้หลักฐานว่าให้ปริญญา เรียกชื่อว่าบัณฑิต หรือ มหาบัณฑิต โดยพระราชาเป็นผู้ทรงพระราชทาน บัณฑิต หรือมหาบัณฑิตที่มีชื่อเสียงเด่น จะได้รับเกียรติติดภาพไว้ที่ผนัง มหาวิทยาลัยทุกแห่งมีระบบการประสานงานเนื่องถึงกันหมด (มีการย้ายเรียน ย้ายสอน ย้ายผู้บริหาร เป็นต้น)

มหาวิทยาลัยนาลันทา และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่สร้างในยุคหลังๆ นี้ ถูกทำลายในเวลาใกล้เคียงกันระยะ พ.ศ. ๑๗๐๐ โดยมากเป็นการทำลายแบบสิ้นซาก พระสงฆ์ถ้าไม่ถูกฆ่า ก็หนีไปที่อื่น เช่น ไปอยู่ในจีน และทิเบต เป็นต้น อย่างที่โอทันตปุระ มีบันทึกของผู้เห็นเหตุการณ์ว่า “ผู้พำนักอาศัยอยู่ที่นี่เป็นพราหมณ์ศีรษะโล้น ได้ถูกสังหารหมด ได้พบหนังสือจำนวนมากมาย เมื่อพวก (ทหาร) มุสลิมเห็นหนังสือเหล่านั้น จึงให้เรียกหาคนมาชี้แจงว่าเป็นเรื่องอะไร แต่คนเหล่านั้นถูกฆ่าตายเสียหมดแล้ว”2 และที่วิกรมศิลาว่า “พวกทหารตุรุษกะเมื่อได้ขุดโค่นมัน (คือวิกรมศิลา) ลงจนเตียนแล้ว ก็ได้โยนหินรากอาคารลงแม่น้ำคงคาไปเสียด้วย”3

เรื่องราวของสถาบันเหล่านี้ เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า พระพุทธศาสนาได้เป็นเหตุให้การศึกษาเจริญก้าวหน้าอย่างมากมาย สถาบันที่กล่าวมานอกจากเป็นศูนย์กลางการศึกษาแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางที่สร้างสรรค์และเผยแพร่วัฒนธรรมด้วย เท่าที่ปรากฏหลักฐาน ชาวต่างประเทศจำนวนไม่น้อยได้มาศึกษาที่สถาบันเหล่านี้ ที่แน่นอนที่สุด คือพระสงฆ์จีนหลายรูป พระทิเบตจำนวนมาก และน่าจะมีชาวสุมาตราด้วย ได้มาศึกษา ณ สถาบันเหล่านี้ แล้วนำพุทธศาสนาพร้อมทั้งวัฒนธรรมไปเผยแพร่ในประเทศของตน และพระสงฆ์อินเดียที่เป็นผู้ทรงความรู้จำนวนไม่น้อย ก็ได้เดินทางไปยังประเทศเหล่านี้ คงจะกล่าวได้ว่าสถาบันเหล่านี้มีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก ในการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา อย่างน้อยในประเทศจีน ทิเบต เกาหลี และญี่ปุ่น และมีส่วนในการเสริมสร้างวัฒนธรรมของประเทศเหล่านั้น ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ในประเทศอินเดียเอง เมื่อพระพุทธศาสนาถูกทำลายจนเกือบสิ้นซากก็ได้มีผู้พยายามที่จะฟื้นฟูสร้างวัดวาอารามขึ้นมาอีก แต่คงจะเป็นด้วยถูกทำลายเสียจนหมดกำลัง เปลี้ยเกินกว่าจะฟื้นตัว และกำลังที่ช่วยพยุงอุ้มชูไม่มากพอ และสาเหตุอื่นๆ เข้าประกอบ จึงไม่สามารถคืนสู่สภาพเดิมได้ และถูกกลืนหายไปในที่สุด4 แต่การถูกกลืนหายนี้ มิใช่การสูญสิ้นหมดไปทีเดียว เพราะได้ไปเป็นพลัง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงขึ้นในระบบที่กลืนนั้นเอง มีปราชญ์ให้ความเห็นว่า ระบบการที่จัดรูปหมู่คณะของตนขึ้นเป็นรูปสถาบัน ของฮินดูสมัยหลังๆ อย่างของศังกราจารย์ ก็ดี สวามีวิเวกานันทะ ก็ดี เป็นการดำเนินตามแบบอย่างของคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ส่วนในด้านการศึกษา เมื่อมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาถูกทำลายลงแล้ว ก็เป็นโอกาสให้พราหมณ์รื้อฟื้นการศึกษาของตน ทำให้การศึกษาของพราหมณ์รุ่งเรืองขึ้น มีสถาบันพราหมณ์ ๒ แห่ง ที่จัดว่าเป็นมหาวิทยาลัย คือ มิถิลา ซึ่งรุ่งเรืองในระยะพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐-๒๑ และเนเดีย ซึ่งเจริญล้ำหน้ามิถิลา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔ สถาบัน ๒ แห่งนี้น่าจะได้แนวความคิดในการจัดระบบการศึกษาสืบเนื่องมาจากมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา แต่ก็มีเรื่องราวปรากฏว่ามีการผูกขาดหวงแหนความรู้และการสั่งสอน หันกลับไปใช้ระบบการเรียนการสอนแบบท่องจำ และก็ไม่ปรากฏว่าได้มีบทบาทในทางวัฒนธรรมสำคัญ เหมือนอย่างมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา ที่กล่าวมาแล้วเลย5

ก่อนจบตอนนี้ เห็นควรนำข้อความในตำราของฝ่ายตะวันตก ที่กล่าวถึงมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเหล่านี้มาแสดงไว้บ้างเป็นตัวอย่าง พอให้เห็นว่าปราชญ์ฝ่ายตะวันตกมีความรู้ความเห็นเกี่ยวกับสถาบันเหล่านี้อย่างไร

สารานุกรมฉบับหนึ่ง เขียนไว้ว่า :-

“นาลันทานี้ ได้ชื่อว่าเป็น “The Oxford of India” เซอร์ อเลกซานเดอร์ คันนิงแฮม กล่าวว่า ได้เห็นปฏิมากรรมที่ประณีตงดงามที่สุดของอินเดียที่นาลันทานี้ งานขุดค้นซึ่งเริ่มทำแต่ ค.ศ. ๑๙๑๖ (พ.ศ. ๒๔๕๙) ทำให้ได้พบ “วิหาร” (วัด) จำนวนมาก สลับทับซ้อนกันอยู่ถึงเจ็ดชั้น เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในสมัยต่างๆ ถึง ๙ สมัย อนึ่ง ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๕ ถึง ๑๒ เมืองพิหาร ได้เป็นที่ตั้งของพุทธ “วิหาร” อีกแห่งหนึ่ง6 ซึ่งเป็นที่มาแห่งชื่อของเมืองนี้7

ตำราประวัติศาสตร์เล่มหนึ่งเขียนว่า :-

“มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ซึ่งคงจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก มีส่วนสำคัญในประวัติการณ์ทางด้านสติปัญญาของชาวอินเดีย อยู่ในสมัยคุปตะและสมัยต่อๆ มาจนถึงประมาณ ค.ศ. ๑๒๐๐ มหาวิทยาลัยเหล่านี้รับเฉพาะนักศึกษาชั้นหัวกะทิเท่านั้น (สมัคร ๑๐ คน จะรับเข้าสัก ๒ หรือ ๓ คน) และแม้ผู้ที่เข้าได้แล้วยังถูกไล่ออกก่อนเรียนจบหลักสูตรเสียก็มาก นักศึกษาได้เล่าเรียน กินอยู่ โดยไม่ต้องเสียเงินเลย แต่ต้องเป็นคนไม่ฟุ้งเฟ้อสำรวย”

“มหาวิทยาลัยต่างๆ ตั้งอยู่ทั่วประเทศ บางแห่งก็มีชื่อเสียง ปรากฏว่าชำนาญพิเศษในวิชาเฉพาะเป็นสาขาๆ ไป โดยนัยนี้ มหาวิทยาลัยอุชเชนีก็มีชื่อเสียงเด่นในวิชาดาราศาสตร์ ส่วนมหาวิทยาลัยอชันตะ ก็เป็นแหล่งดึงดูดนักศึกษาที่สนใจทางศิลปะ พาราณสี ก็มีชื่อในการสอนหลักลัทธิดั้งเดิมของศาสนาพราหมณ์ และยังเป็นศูนย์กลางให้นักปรัชญาผู้มีทฤษฎีใหม่ๆ มาบ่มตัวอีกด้วย แต่ที่เยี่ยมยอดกว่ามหาวิทยาลัยทั้งปวง ก็คือนาลันทา ซึ่งอยู่กึ่งทางระหว่างปัตนะกับคยาปัจจุบัน ครั้งหนึ่ง นาลันทาเคยมีโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย หลายต่อหลายมหาวิทยาลัยให้การสอนและอำนวยความสะดวกในการค้นคว้าวิจัย ในวิชาศาสนา ปรัชญา (โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา) ศิลปะ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ โรงเรียนเกษตรกรรมนั้น ถึงกับมีฟาร์มโคนมด้วยซ้ำ บริเวณเนื้อที่ของนาลันทานั้น มีหอสมุดใหญ่ หอดูดาว ห้องบรรยายจำนวนมากมาย และหอพักสูง ๔ ชั้น8 น่าเสียดายที่มหาวิทยาลัยนี้ ถูกเผาเสียราบเรียบ เมื่อ ค.ศ. ๑๑๙๗ (พ.ศ. ๑๗๔๐) คัมภีร์พุทธศาสนาและฮินดูที่เขียนกันไว้อันประมาณค่ามิได้ ถูกทำลายไปเสียเป็นจำนวนมากมายเหลือประมาณ”9

ในประวัติการศึกษา ก็มีเรื่องเล่าว่า :-

“บรรดามหาวิทยาลัยโบราณเท่าที่รู้จักกันในขณะนี้นั้น แห่งแรกที่สุดได้แก่ ตักกสิลา10 อยู่ทางปลายภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย เป็นสถานที่เล่าเรียนตั้งแต่ศตวรรษที่ ๗ ถึงศตวรรษที่ ๓ ก่อนคริสต์ศักราช ศิลปศาสตร์ที่สอนกันที่นี่มีกว่า ๖๐ ประเภท อาจารย์ที่สอนล้วนเชี่ยวชาญ มีศิษย์ที่สามารถเป็นผู้ช่วย “มหาวิทยาลัยโบราณ” ชั้นนำแห่งอื่นๆ ก็มีพาราณสี ซึ่งเมื่อตักกสิลาสลายตัวไปแล้ว จึงมีชื่อเสียงเด่นขึ้นมา ว่าเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของการศึกษาศาสนาพราหมณ์ และภาษาสันสกฤต และที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดามหาวิทยาลัยโบราณทั้งปวงก็คือ นาลันทา ในแคว้นพิหาร นาลันทานี้เดิมตั้งขึ้นมาเป็นวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ ๖ แล้วก็เจริญเรื่อยมา ตลอดระยะเวลา ๘๐๐ ปี จนกลายเป็นมหาสถานอันเนื่องแน่นด้วยห้องสมุด หอพัก และห้องประชุมฟังคำบรรยาย ซึ่งนักศึกษาพากันหลั่งไหลมาจากทั่วทุกภาคของทวีปอาเซีย”11

ตำราประวัติศาสตร์อีกเล่มหนึ่งเขียนพาดพิงถึงมหาวิทยาลัยนาลันทาและความเจริญก้าวหน้าของการศึกษาในอินเดียยุคนั้นไว้ ดังนี้ :-

“นิทานอินเดียจำนวนมากมาถึงกระทั่งยุโรป โดยชาวมุสลิมเป็นผู้นำมา นิทานเรื่องที่มีชื่อที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องซินด์แบด ซึ่งได้เข้าไปรวมอยู่ในนิยายอาหรับราตรีด้วย โบะกาจโจก็ดี ชอเซอร์ก็ดี ลาฟอนเตนก็ดี กริมม์ก็ดี คิปลิงก็ดี ล้วนได้อาศัยนิทานปรัมปราของอินเดียทั้งนั้น”

“ในสมัยคุปตะ ความรอบรู้และวิทยาการได้เจริญก้าวหน้าถึงระดับสูงยิ่ง นักศึกษาจากทุกถิ่นทั่วทวีปอาเซียเดินทางมาศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแห่งยอดเยี่ยมของอินเดีย ซึ่งตั้งอยู่ที่นาลันทา นักวิชาการที่มีชื่อเสียงที่สุด ได้แก่นักดาราศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ ชื่อ อารยภัฏ ผู้มีชีวิตอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ ๕ ท่านผู้นี้แต่งความแก้เรื่องสมการสองชั้น ค่าของ π กรานติ์และวิษุวัต สัณฐานของโลก และการหมุนของโลก โดยว่าเป็นฉันท์ทีเดียว ส่วนนักดาราศาสตร์อินเดียคนอื่นๆ ก็สามารถทำนายสุริยคราส จันทรคราสได้อย่างแม่นยำ คำนวณเส้นผ่าศูนย์กลางพระจันทร์ได้ และแถลงความรู้ในเรื่องความดึงดูดของโลกได้”

“ในทางดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ (ยกเว้นเรขาคณิต) นับว่าพวกอินเดียไปได้ไกลกว่าที่ชนชาติอื่นใดในสมัยโบราณทำได้ เลขอาหรับ (อาระบิค) และระบบทศนิยมที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้นั้น ปรากฏว่าเดิมทีเดียวมาจากอินเดียก่อน แม้แต่เลขศูนย์ก็น่าจะมาจากอินเดียมากกว่ามาจากอาหรับ”

“ถึงในด้านวิชาเคมี พวกอินเดียก็ก้าวหน้าไปไกลเอาการ การทำสบู่และซีเมนต์ก็เป็นของที่พวกอินเดียค้นพบ พวกอินเดียเป็นนักตีเหล็กที่เก่งที่สุดในโลก อุตสาหกรรมอินเดียมีชื่อว่าทำสีได้ยอดเยี่ยม และทำเส้นใยได้ละเอียด วิธีการผลิตเหล่านี้พวกอาหรับมารับเอาไป แล้วชาวยุโรปก็รับต่อไปอีกทอดหนึ่ง พวกอาหรับเรียกผ้าอินเดียชนิดหนึ่งว่า ควิททัน (quitton) ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า cotton (ฝ้าย) ผ้าฝ้าย calico ก็มาจากชื่อเมือง Calicut ในอินเดีย และผ้าขนสัตว์ cashmere ก็มาจากถิ่นที่มีชื่ออย่างนั้นคือกัษมีระ (แคชเมียร์) ผ้าพิมพ์ดอก (chintz) และผ้าพันคอ (bandanna) เดิมทีก็มาจากอินเดียเช่นกัน”

“แพทย์สมัยคุปตะบางคนมีเทคนิคที่ทันสมัยจนน่าสนเท่ห์ในการผ่าตัด เขามีการเตรียมการอย่างละเอียดลออและฆ่าเชื้อที่แผลด้วยวิธีรมควัน การทำคลอดด้วยวิธีผ่าท้องก็ดี การจัดกระดูกก็ดี การผ่าตัดตบแต่งก็ดี ชาวอินเดียพยายามทำกันมาแล้วทั้งนั้น ชาวอินเดียยังรู้จักใช้เครื่องยาอีกตั้งหลายอย่างที่ยังไม่รู้จักกันในยุโรปครั้งนั้น ในการรักษาโรคเรื้อน เขาก็รู้จักใช้น้ำมันกระเบาซึ่งเป็นยาที่ยังใช้กันอยู่จนบัดนี้ และได้ก้าวหน้าไปมาก ในด้านการค้นพบยาแก้พิษงู อย่างไรก็ดีหลังจากสมัยคุปตะแล้ว วิชาการแพทย์ของอินเดียก้าวหน้ามาน้อยเหลือเกิน เว้นแต่ที่ได้ต่อมาจากพวกอาหรับ”12

1R.K. Mookerjee อ้าง D.B. Spooner in A.S. Report, 1915-16, Eastern Circle, p. 35.
2 S. Dutt อ้าง Elliot and Dawson's History of India as Told by Its Own Historians (1869), Vol. II, p. 306.
3 S. Dutt อ้าง Biography of Dharmasvami, p. 64.
4พระเจ้ากุบไลข่าน (พ.ศ. ๑๘๐๓-๑๘๓๗) เคยหาพระสงฆ์อินเดีย เพื่อไปแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษามงโกเลีย แต่หาไม่ได้เลยแม้แต่รูปเดียว
5เรื่องที่เล่ามาเกี่ยวกับสถาบันการศึกษาพุทธศาสนาทั้งหมดนี้ให้ดู S. Dut, Buddhist Monks and Monasteries of India (1962), pp. 206-210, 224-232 319-380. และ R.K. Mookerjee, Ancient Indian Education (1957), pp. 55 สำหรับจดหมายเหตุของหลวงจีนเหี้ยนจัง หรือพระถังซัมจัง ซึ่งมีเรื่องราว เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเหล่านี้อยู่บ้าง อาจหาอ่านในพากย์ภาษาไทยได้บางส่วน เพราะเคยมีผู้แปลประวัติพระถังซัมจั๋งไว้บ้างแล้ว เท่าที่ทราบ คือเรื่อง “พระตรีปิฎก” แปลโดย ส. ศิวรักษ์ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระภัทรมุนี (วัดทองนพคุณ) พ.ศ. ๒๕๐๕ (๔๖ หน้า)
6หมายถึงมหาวิทยาลัย “โอทันตปุรมหาวิหาร” คำว่า “วิหาร” เป็นที่มาของคำว่า “พิหาร” อันเป็นชื่อของเมืองและรัฐนี้
7“Patna”, Encyclopaedia Britannica (1965), XVII, 383.
8หลักฐานหลายแห่งกล่าวถึงหอสูงแห่งหนึ่งของวัดว่าสูงกว่า ๓๐๐ ฟุต
9Max Savelle, A History of World Civilization (1957), Vol. 1, p. 331.
10ตักกสิลาก็ดี พาราณสีก็ดี เป็นสถานที่เล่าเรียนตามระบบของพราหมณ์ คือ เป็นระบบการศึกษาในครัวเรือนดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ความหมายในที่นี้ จึงเป็น เพียงเมืองหรือถิ่นที่ครูอาจารย์มาตั้งบ้านเรือนอยู่กันมากแล้วต่างคนต่างก็สอน กันไป ไม่มีความหมายเป็นระบบการศึกษาแบบมหาวิทยาลัยที่แท้จริง
11T.H.C., "Education, History of;" Encyclopaedia Britannica (1965), VII, 1010.
12TW. Wallbank and A.M. Taylor, pp. 273-274.
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง