พระพุทธศาสนากับการศึกษาในอดีต

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

คณะสงฆ์เป็นสถาบันสังคมตัวอย่าง

เมื่อพระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นนั้น ความเป็นอยู่ของประชาชนในชมพูทวีป ถูกกำหนดด้วยระบบความเชื่อถือและคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ในทางสังคม มนุษย์ถูกแบ่งออกเป็นวรรณะต่างๆ ๔ วรรณะ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร นอกจากนี้ ยังมีพวกนอกวรรณะซึ่งต่ำลงไปกว่าศูทรอีก เช่น พวกจัณฑาล และปุกกุสะเป็นต้น ฐานะ อาชีพ การงานและสิทธิทางสังคมของประชาชนแตกต่างกันไปตามวรรณะของตน ซึ่งถือเอากำเนิดเป็นเกณฑ์ สามวรรณะแรกเรียกพวกตนว่าเป็น “อารยะ” ส่วนพวกศูทรและพวกนอกวรรณะ เป็นคนชั้นต่ำ ได้รับความดูถูกเหยียดหยาม ถูกจำกัดและกีดกันจากสิทธิต่างๆ ในทางสังคมเป็นอันมาก โดยนัยนี้ ความเจริญก้าวหน้าของชีวิตจึงขึ้นต่อชาติกำเนิด บุคคลเกิดมาจึงมีสิทธิและโอกาสในการพัฒนาและแสดงออกซึ่งความสามารถ ไม่เท่าเทียมกัน กล่าวเฉพาะในด้านการศึกษา คนชั้นต่ำคือศูทร และพวกนอกวรรณะ จะไม่มีโอกาสได้เรียนคัมภีร์พระเวท ที่ถือเป็นความรู้สูงสุดในสมัยนั้นด้วยประการใดๆ เลย ขอยกความในกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ของพวกอารยะมาแสดง เช่น ในอาปัสตัมภะ ๑๒/๔-๕-๖ ว่า:-

“แลถ้ามัน (ศูทร) มีเจตนาฟังคำสาธยายพระเวท ให้เอาครั่งหรือตะกั่วหลอมกรอกหูมัน ถ้ามันสาธยายพระเวท ให้ตัดลิ้นมันเสีย ถ้ามันทรงจำความในพระเวทได้ ให้ผ่าร่างของมันออกเป็น ๒ ซีก”1

ในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ ก็มีข้อห้ามไม่ให้ผู้ศึกษาพระเวท แล้วสาธยายพระเวทในที่มีคนวรรณะศูทรอยู่ด้วย2

ในชาดก มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับชายหนุ่มจัณฑาล ๒ คน อยากศึกษาศิลปวิทยา ถึงกับปลอมตัวเป็นคนวรรณะพราหมณ์ ไปศึกษาอยู่ที่ตักกสิลา แต่ภายหลังถูกจับได้จึงถูกขับไล่ออกมา3

ความที่ยกมาอ้างเป็นตัวอย่างนี้ แสดงถึงสภาพความเป็นอยู่ สิทธิและโอกาสในชีวิตที่เหลื่อมล้ำต่ำสูงกว่ากัน เนื่องมาแต่ชาติกำเนิด ซึ่งไม่มีทางแก้ไขได้ในสังคมสมัยนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติแล้ว พระองค์ได้ทรงประกาศคำสอนใหม่ ซึ่งเป็นการปฏิวัติต่อคำสอนของพราหมณ์ ทรงกำจัดความเชื่อถือเรื่องวรรณะ ไม่ให้ถือชาติกำเนิดเป็นเครื่องแบ่งแยกความสูงต่ำและสิทธิของมนุษย์ ให้ถือว่าคนทุกวรรณะเกิดมามีความเสมอภาคกัน จะดีชั่ว ประเสริฐ หรือต่ำทราม เพราะการกระทำ และความประพฤติของตนเอง จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล หรือปุกกุสะก็ตาม ทำดีก็ได้ผลเหมือนกัน ทำชั่วก็ได้ผลเหมือนกัน ประพฤติชั่วก็เลวทรามเหมือนกัน ประพฤติดีก็ประเสริฐเหมือนกัน4 คนใดปฏิบัติธรรม ก็ได้ความสงบจิต มีความก้าวหน้า ถึงจุดหมายของศาสนาได้เหมือนกัน ชาติกำเนิดไม่สำคัญ สำคัญที่การฝึกฝนอบรม5 และได้ทรงบัญญัติความหมายใหม่ให้แก่คำว่า พราหมณ์ คำว่า อริยะ หรือ อารยะ เป็นต้น ว่าทุกคนแม้เป็นศูทร เป็นจัณฑาล หรือเป็นใครๆ ก็เป็นพราหมณ์ได้ เป็นอริยะหรืออารยะได้ ด้วยการกระทำการประพฤติปฏิบัติ แม้ผู้เป็นพราหมณ์เป็นอารยะโดยชาติกำเนิด ก็ให้ถือว่าเป็นคนต่ำทราม ถ้าประพฤติชั่ว กระทำไม่ดี6

นอกจากทรงประกาศคำสอน เพื่อให้เกิดผลในทางความเชื่อถืออย่างใหม่ของประชาชนแล้ว พระพุทธเจ้ายังได้ทรงนำหลักการนี้มาปฏิบัติ ให้เกิดผลในรูปสถาบันด้วย โดยได้ทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้น คณะสงฆ์นี้ เปิดรับบุคคลจากทุกวรรณะและนอกวรรณะ ทุกคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกของสถาบันนี้แล้ว มีสิทธิเสมอกันในทางการปกครองและชีวิตทางสังคม มีข้อกำหนดเพียงให้แสดงความเคารพกันตามลำดับอายุสมาชิกภาพ และมีโอกาสเท่ากันในการที่จะได้รับการศึกษาอบรม ตลอดจนปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายสูงสุดที่ชีวิตในสงฆ์จะให้เข้าถึงได้ ดังพุทธพจน์ว่า:-

“วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย นับว่าเป็นสมณศากยบุตรทั้งสิ้น”7

“บรรดาวรรณะทั้งสี่นี้ ผู้ใดเป็นภิกษุสิ้นกิเลสาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ตนจะต้องทำสำเร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว ลุถึงประโยชน์ตนแล้ว หมดเครื่องผูกมัดไว้ในภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ ผู้นั้นจึงเรียกได้ว่าเป็นผู้เลิศกว่าวรรณะเหล่านั้น (นี่ก็) เพราะธรรมแท้ๆ หาใช่เพราะสิ่งที่มิใช่ธรรมไม่ ด้วยว่าธรรมเป็นสิ่งประเสริฐสุดในหมู่ชนทั้งในปัจจุบัน และภายหน้า”8

พิจารณาจากประวัติการประดิษฐานพระพุทธศาสนา จะเห็นได้ว่าคณะสงฆ์ในความหมายที่แท้นั้น พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นเป็นสังคมตัวอย่างที่มีการจัดระบบต่างๆ ทั้งในทางการปกครอง การเลี้ยงชีพ ชีวิตทางสังคม ตลอดจนการศึกษาอบรมทุกอย่าง โดยให้สมาชิกทุกคนมีสิทธิและมีส่วนร่วมในกิจการ และผลประโยชน์ต่างๆ ของสถาบันโดยทั่วถึงและเท่าเทียมกัน มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน เคารพในคุณค่าของกันและกัน อยู่ด้วยความกลมกลืนประสานกัน เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความปลอดโปร่งเป็นอิสระทั้งทางกาย ทางวาจา และความคิด มีโอกาส พร้อมบริบูรณ์ที่จะให้ความสามารถ และคุณสมบัติต่างๆ ของตนๆ ได้รับการฝึกอบรมเจริญก้าวหน้าโดยเต็มที่ถึงขีดสุด เท่าที่ตนจะทำได้ ในมรรคาแห่งการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายของพระศาสนา คือให้ทุกคนมีสิทธิเสมอกันในการปกครองสถาบันของตน มีปัจจัย ๔ พอเหมาะพอดีแก่การที่จะให้ชีวิตดำรงอยู่ด้วยความสะดวกสบายพอสมควร และช่วยให้การปฏิบัติหน้าที่ได้ผลดี สมาชิกทุกคนอยู่ร่วมกัน โดยให้ความเคารพนับถือกันฉันพี่น้อง9 ช่วยเหลือกันและให้โอกาสแก่กันในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้จบการศึกษาอบรมแล้ว หรือศึกษาอบรมอยู่ในระดับสูงกว่า ถ้าสามารถ ต้องช่วยให้การศึกษาอบรมแก่ผู้เริ่มต้นศึกษา หรือศึกษาต่ำกว่า ผู้รับการศึกษาจะต้องฝึกฝนอบรมตน ด้วยตั้งใจจริงเต็มหน้าที่และความสามารถของตน กล่าวสั้นๆ ในแง่ภายนอกตน และภายในตน คือ ภายนอก เป็นการจัดสิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่จะอำนวยให้สมาชิกทุกคนได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ ความสามารถ และลงมือกระทำการต่างๆ เพื่อเข้าถึงจุดหมายสูงสุดที่ชีวิตควรเข้าถึงได้ โดยเท่าเทียมกัน ส่วนในด้านภายใน แต่ละบุคคล นอกจากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาสถาบันให้เป็นสิ่งแวดล้อม ที่มีสภาพอันอำนวยโอกาสดังกล่าวแล้ว ย่อมมีความรับผิดชอบโดยตรง ที่จะต้องฝึกฝนอบรมตนเองอย่างดีที่สุด และลงมือทำการต่างๆ เพื่อบรรลุถึงจุดหมายที่ควรเข้าถึงนั้นด้วยตนเอง โดยอาศัยสิ่งแวดล้อมที่อำนวยโอกาสนั้น เป็นเครื่องสนับสนุน

1S.B.E, vol. 2, p. 236.
2มนูธรรมศาสตร์ ๔/๙๙ ; S.B.E., Vol. 25, p. 144.
3จิตตสัมภูตชาดก, ชา.อ. ๗/๒๑.
4ที.ปา. ๑๑/๕๑-๗๒/๘๘-๑๐๗. ม.ม. ๑๓/๔๖๔/๔๒๙; ๖๑๕/๕๖o; ๗๐๗/๖๔๓. ม.อุ. ๑๔/๒๓๓/๑๖๕. สํ.นิ. ๑๖/๗๒๔/๓๓๑. ฯลฯ
5ม.มู. ๑๒/๔๘๒/๕๑๗. ม.ม. ๑๓/๕๗๘/๕๒๒. องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๗๙/๒๓๙. ฯลฯ
6ขุ.สุ. ๒๕/๓๘๒/๔๕๑-๔๕๘. ขุ.อิติ. ๒๕/๒๘๔/๓๑๒. ขุ.สุ. ๒๕/๓๗o/๔๓๔. ขุ.ธ. ๒๕/๒๙/๕๑. วินย. ๕/๒๑/๓๔. ฯลฯ
7องฺ.อฏฐก. ๒๓/๑๐๙/๒๐๕.
8ที.ปา. ๑๑/๗๑/๑๐๗.
9หลักการเหล่านี้เรียกอย่างสมัยใหม่ ก็คือ สมภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพนั่นเอง; หลักสมภาพพึงเห็นได้จากเรื่องความไม่มีวรรณะที่กล่าวแล้ว และในเรื่องสังฆกรรมตามความหมายที่แท้ทุกอย่าง, เสรีภาพ พึงเห็นได้จากสังฆกรรมเหล่านั้น และกาลามสูตร (๒๐/๕๐๕/๒๔๓) เป็นต้น, ภราดรภาพ พึ่งเห็นได้จากวินัยบัญญัติต่างๆ ในขันธกะทั้งหลาย จากสาราณียธรรม (เช่น ๒๒/๒๘๒-๓/๓๒๑-๒; ๑๐/๗๕/๙๔) และจากข้อความในคัมภีร์แห่งต่างๆ อันแสดงถึงสภาพความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ เช่น ในธรรมเจติยสูตร (๑๓/๕๖๓/๕๐๙) เป็นต้น.
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง