ต่อไป ขอให้พิจารณาลึกลงไปอีกว่า มนุษย์เราสร้างสรรค์และพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่ออะไร และเราใช้เทคโนโลยีเพื่ออะไร ในการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีเราจะเห็นว่า กิจกรรมสำคัญ ๒ ประการของมนุษย์นี้เองเป็นเหตุให้เราสร้างเทคโนโลยีขึ้นมา คือ การทำมาหากินและการต่อสู้ป้องกันภัย ซึ่งแต่เดิมเป็นกิจกรรมที่พ่วงไปด้วยกัน
การทำมาหากิน ได้แก่การหาอาหาร และการผลิตอาหาร ในสมัยโบราณ มนุษย์ไปเก็บอาหารตามป่า เก็บผักผลไม้ในที่ที่มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และไล่สัตว์จับมาเป็นอาหาร
ในการไล่จับสัตว์นั้นสิ่งที่จะต้องทำก็คือ จะหา หรือจับมันได้อย่างไร ตอนแรกก็อาจจะใช้ก้อนหินขว้างบ้าง ทุ่มลงไปบ้าง ต่อมาก็พัฒนาขึ้นว่าทำอย่างไรจะให้ใช้ก้อนหินนั้นได้เรื่อยๆ ไม่ใช่ขว้างไม่ถูกแล้วก็เลยพลาดโอกาสไปเลย ก็มีการทำด้ามขึ้นมา ให้ก้อนหินติดอยู่ได้ ต่อมาก็ทำหินให้คมขึ้น ปรับปรุงไปมาก็กลายเป็นขวาน อะไรทำนองนี้
ส่วนในการไปเก็บพืชผักผลไม้ก็ต้องมีการขุดคุ้ย การหักเหนี่ยวเด็ดดึง ทำให้มีการพัฒนาเครื่องมือขึ้น ต่อมาอยากจะให้พืชผักต้นไม้งอกขึ้นในที่ที่ต้องการ ไม่ต้องเดินไปหาไกล ไม่ต้องรอ ก็เอามาปลูกเอง แต่จะทำอย่างไร ก็ต้องเพาะปลูกลงไปในดิน ต้องขุดดิน จะเอามือขุดก็ลำบาก ก็เลยเอาไม้มาจิ้มๆ แซะๆ ต่อมาก็คิดว่า เอ! ไม้นี้จะทำอย่างไรให้มันใช้ได้ดียิ่งขึ้น ก็พัฒนามันขึ้นไป จนมีรูปมีร่างต่างๆ ใช้ประโยชน์ได้ดียิ่งขึ้น เช่น เป็นจอบเป็นเสียมอะไรขึ้นมาตามลำดับ เทคโนโลยีจึงเจริญขึ้นมาพร้อมกับการทำมาหากินของมนุษย์ ดังที่เราเห็นชัดเจนว่า ต่อมามนุษย์ก็ได้พัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้ขึ้นมาเรื่อยๆ มีด ขวาน เครื่องปั่นด้าย ทอผ้า อะไรต่างๆ ก็พัฒนาขึ้นมาในเรื่องของการทำมาหากินทั้งนั้น โดยเฉพาะก็คือเรื่องของปัจจัยสี่ นี้ด้านหนึ่ง
อีกด้านหนึ่ง ที่มาด้วยกัน ก็คือการต่อสู้ป้องกันภัย ในการไปจับสัตว์ก็ดี หรืออยู่ดีๆ ตามปกติ สัตว์ร้ายอาจจะมาทำร้ายหรือไม่ก็ไปพบกับมันเข้า หรือมนุษย์ด้วยกันไปหาอาหาร ก็มีการแย่งชิงกันรุกล้ำถิ่นที่ของกันและกัน แม้แต่อยู่ตามปกติ บางทีก็มีการรังแกข่มเหงกัน ก็เกิดการต่อสู้ป้องกันภัยขึ้น การต่อสู้ป้องกันภัยนั้น ก็ทำให้มนุษย์สร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อจะต่อสู้ให้ได้ผล
รวมความว่า เทคโนโลยีเจริญขึ้นมาในสองด้านที่ว่ามานี้เป็นสำคัญ การทำมาหากินและการต่อสู้ป้องกันภัยเป็นแหล่งใหญ่ของเทคโนโลยีต่อมา เมื่อมีเทคโนโลยีดีขึ้นแล้ว เราก็ทำงานได้ผลในเวลารวดเร็วขึ้น และก็สามารถแบ่งงานกันทำ มีเวลาเหลือมากขึ้นจากการทำมาหากิน ก็มีโอกาสที่จะคิดสร้างสรรค์พัฒนาวิทยาการต่างๆ มากขึ้น ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเพื่อใช้ในด้านอื่นๆ เพิ่มขยายกว้างออกไป ความเจริญของเทคโนโลยีนี้ถ้าพิจารณาในทางธรรม คือพิจารณาตามหลักความจริงทั่วไปจะเห็นว่า การที่มนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการคิดสร้างก็ดี การใช้ก็ดี จะแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือการคิดสร้าง และการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตอย่างหนึ่ง และเพื่อสนองความต้องการในทางปรนเปรอตน และทำลายผู้อื่นอีกอย่างหนึ่ง
ในด้านที่หนึ่ง เมื่อมนุษย์เจริญมากขึ้น สามารถสร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยีให้ประณีตซับซ้อนมากขึ้น เราก็สร้างและใช้เทคโนโลยีนั้นในทางที่เป็นคุณประโยชน์ เพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของเรา เช่นใช้ในการศึกษา ก็มีการทำกระดานชนวนขึ้นมา ทำชอล์คขึ้นมา ทำสมุด ทำดินสอ ปากกา หนังสือ หรือเมื่อเราต้องการความสะอาดก็ทำไม้กวาดขึ้นมา อะไรทำนองนี้ แต่อีกด้านหนึ่งก็คือ เราคิด สร้าง พัฒนา และใช้เทคโนโลยีเพื่อสนองความต้องการในทางเห็นแก่ตัว ซึ่งแสดงออกต่อตนเองเป็นการปรนเปรอบำรุง บำเรอ และแสดงออกต่อผู้อื่นเป็นการเบียดเบียนแย่งชิงและทำลาย
ในแง่ปรนเปรอบำรุงบำเรอตนเอง เช่น ต้องการหาผลประโยชน์ก็สร้างและใช้เทคโนโลยี เพื่อหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวเอง เรียกทางธรรมว่าใช้เทคโนโลยี หรือสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อสนองโลภะ เพื่อสนองตัณหา ในสมัยปัจจุบันนี้จะเห็นว่า เทคโนโลยีมากมายเป็นเรื่องของการที่จะสนองตัณหา สนองโลภะ ปรนเปรอตนเอง ให้มีความสมอยากในทางประสาทสัมผัส หรือในทางเนื้อหนังมากขึ้น ดังที่ปรากฏอย่างชัดเจนว่าเทคโนโลยีเพื่อปรนเปรอสนองความอยากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนี้ มีมากมายเกลื่อนกลาดเหลือเกิน
ส่วนความเห็นแก่ตัวที่แสดงออกต่อคนอื่นก็คือ พัฒนาเทคโนโลยีหรือสร้างมันขึ้นมา เพื่อเบียดเบียนฆ่าฟันซึ่งกันและกัน เป็นการสนองโทสะ นอกจากเบียดเบียนข่มเหงฆ่าฟันกันแล้ว ก็ใช้เป็นเครื่องครอบงำกันและกันให้อยู่ในอำนาจ เพื่อความยิ่งใหญ่ เพื่อการครองอำนาจ อย่างน้อยก็ใช้เทคโนโลยีเพื่ออวดโก้ เพื่อแสดงฐานะ เป็นการสนองสิ่งที่เรียกว่ามานะ ซึ่งก็เป็นเรื่องของกิเลสเหมือนกัน ทั้งนี้รวมไปถึงการใช้ในทางที่จะทำให้เกิดความหมกมุ่น มัวเมา เคลิบเคลิ้ม ลุ่มหลงต่างๆ อย่างเช่นเทคโนโลยีในด้านการพนัน ซึ่งมีมากมายหลายรูปแบบ ตลอดกระทั่งการใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องปกป้องรักษาและแผ่ขยายลัทธิศาสนาอุดมการณ์ ซึ่งเรียกว่าทิฏฐิ
รวมความว่า การใช้และสร้างสรรค์เทคโนโลยี เป็นไปใน ๒ ลักษณะนี้มาก คือ ด้านหนึ่งเพื่อการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิต และอีกด้านหนึ่งเพื่อสนองความต้องการในทางเห็นแก่ตัว และทำลายกัน
ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้น เทคโนโลยีที่เด่นมาก ก็คือเทคโนโลยีด้านการต่อสู้ทำศึกสงคราม จะเห็นว่า เทคโนโลยีด้านนี้มีมากมายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ได้พัฒนาเป็นอย่างมาก มีอาวุธชนิดต่างๆ ทั้งทางบกทางน้ำทางอากาศ เริ่มต้นตั้งแต่ขวาน หอก มีด ดาบ ธนู เกาทัณฑ์ มาถึงปืน จนถึงระเบิดชนิดต่างๆ แม้กระทั่งระเบิดนิวเคลียร์ การที่มนุษย์สร้างอาวุธสำหรับทำลายกัน ในการทำศึกสงครามนั้น เรียกว่าเป็นเรื่องของการสนองโทสะ แต่ไม่ใช่เรื่องของโทสะในแง่ที่จะทำลายศัตรูเพียงอย่างเดียว ข้อสำคัญก็คือมันเป็นสิ่งที่สนองความต้องการอำนาจความยิ่งใหญ่ด้วย
การที่มนุษย์พัฒนาอาวุธและอุปกรณ์ที่ใช้ในการสงคราม ก็เพื่อจะได้มีอำนาจยิ่งใหญ่ แม้แต่การใช้ในทางสนองโลภะ เพื่อหาทรัพย์สมบัติ ก็เพื่อสร้างอำนาจความยิ่งใหญ่ไปด้วย จึงเป็นเรื่องที่สัมพันธ์ซึ่งกันและกันโดยโยงไปโยงมา แต่รวมความแล้ว เทคโนโลยีจะเป็นแบบที่สนองโลภะก็ตาม สนองมานะและทิฏฐิก็ตาม จะมีลักษณะคล้ายกันคือลักษณะที่รวมเข้าสู่ศูนย์กลาง หรือรวมศูนย์เข้าหาตนเอง เพื่อให้ได้ผลประโยชน์มากๆ ได้ครอบครองอำนาจความยิ่งใหญ่ ตลอดจนเพื่อเชิดชูทิฏฐิลัทธินิยมอุดมการณ์ของตน
คนกลุ่มหนึ่งมีความเชื่ออย่างแรงกล้าในเทคโนโลยี ถึงกับหวังและใฝ่ฝันว่า ในอนาคต ถึงแม้โลกนี้จะหมดสภาพเป็นที่อยู่อาศัยได้ เพราะธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรมเสียไปก็ดี เพราะสงครามนิวเคลียร์ก็ดี มนุษย์ก็จะไปสร้างดินแดนในอวกาศอยู่อย่างมีความสุข บางคนก็ว่าจะไปสร้างดินแดนในดาวพระอังคารให้เป็นดั่งถิ่นสวรรค์ที่มนุษย์จะอยู่อย่างสุขสมบรูณ์ ความคิดเช่นนี้ต้องเรียกว่าเป็นความเพ้อฝันแท้ๆ เป็นการหลีกหนีความจริง และไม่แก้ปัญหาที่สาเหตุตามหลักเหตุปัจจัย
ในเมื่อไม่พัฒนาตัวคน ไม่ได้แก้ปัญหาที่ในตัวคนคือตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่เป็นมูลเหตุ เป็นตัวบงการความคิดและการกระทำ ตัวคนที่ไปอยู่ในอวกาศก็เป็นคนคนเดิม ที่เป็นอย่างเดิม ไปจากโลกนี้ก็นำเอาตัณหา มานะ ทิฏฐินั้นไปด้วย เมื่อรบกันจนโลกนี้พังพินาศไปแล้ว ไปในอวกาศ ไปดาวพระอังคาร ก็ไปทำสงครามอวกาศ แย่งชิงดินแดนกันที่นั่นอีก ทำลายโลกนี้แล้วหนีไปโลกอื่น ก็ไปทำลายโลกนั้นอีก และสงครามอวกาศจะรุนแรงยิ่งขึ้นไปกว่าสงครามในโลกนี้เสียอีก เมื่อแก้ปัญหาในโลกนี้ไม่ได้แล้ว จะหวังไปอยู่อย่างสันติสุขในโลกอื่น โดยมนุษย์คนเดียวกันกับที่ก่อปัญหาในโลกนี้ ซึ่งยังไม่ได้แก้ไขปรับปรุงตัวเอง คงต้องบอกว่าเป็นความเพ้อฝันที่ไม่อาจเป็นไปได้
สภาพอย่างหนึ่งที่ชี้บ่งถึงสัญชาตญาณในการทำลายที่ยังเป็นไปอย่างพรั่งพร้อมในจิตใจของมนุษย์ และแสดงถึงแรงจูงใจในการมีและใช้เทคโนโลยีว่าโน้มไปในทางทำลาย ก็คือ เรื่องราวการแสดงต่างๆในภาพยนตร์และทีวี ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องการต่อสู้และศึกสงคราม เหมือนจะบอกว่า ถ้ามนุษย์จะพัฒนาเทคโนโลยี ก็จะนึกถึงการที่จะใช้เทคโนโลยีนั้นเพื่อการทำลายศัตรู เพื่อครอบงำ เพื่อแย่งชิง เพื่อมีอำนาจเหนือผู้อื่นเป็นอันดับแรก แม้แต่วีดีโอเกมส์ต่างๆ สำหรับเด็กที่แพร่หลายในปัจจุบัน ก็เป็นเรื่องของความรุนแรงโดยส่วนใหญ่ ซึ่งฟ้องอยู่ในตัวถึงปมปัญหาอะไรๆ หลายอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น ทางด้านผู้ดูผู้ฟังผู้เล่น รวมทั้งตัวเด็กเอง ก็มีสัญชาตญาณในการต่อสู้และการทำลายเป็นตัวเด่น ทางฝ่ายผู้ผลิตสิ่งเหล่านี้ก็มุ่งแต่จะสนองความต้องการของผู้บริโภคโดยหวังเอาแต่ผลประโยชน์อย่างเดียว
จิตใจที่พัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ หาได้เป็นจิตใจที่พัฒนาแล้วแต่อย่างใดไม่ คือ เป็นจิตใจของมนุษย์ที่ยังไม่ได้พัฒนาตนเอง ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี จึงมิได้เป็นหลักประกันหรือเป็นเครื่องแสดงถึงความพัฒนาของจิตใจมนุษย์หรือการพัฒนาตัวของมนุษย์เอง แต่แสดงถึงการที่ความเจริญของจิตใจก้าวไม่ทัน หรือไม่ได้ก้าวไปด้วยกันกับความเจริญของเทคโนโลยี ดังนั้น ถ้ามนุษย์เคยเบียดเบียนแย่งชิงทำลายและลุ่มหลงมัวเมาอย่างไร เทคโนโลยีก็เพียงมาช่วยเสริมให้การเบียดเบียนแย่งชิงทำลายและลุ่มหลงมัวเมานั้น สามารถแสดงออกและเป็นไปได้อย่างสะดวกดาย และรุนแรงเต็มขีดมากขึ้นเท่านั้น และดูเหมือนว่ามนุษย์ยุคปัจจุบัน จะใช้เทคโนโลยีในรูปลักษณะนี้เป็นเครื่องมือให้การศึกษาแก่มวลชน และแก่เยาวชนเป็นแนวหลัก
ถ้าการศึกษาของประชาชน โดยเฉพาะของเด็กและเยาวชนเป็นไปอย่างนี้ ไม่ว่าโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นที่ยอมรับของทางการหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นการศึกษานอกระบบกระแสหลัก แล้วจะหวังความสวัสดีแก่สังคมนี้ได้อย่างไร เพราะที่แท้แล้วมันหาใช่การศึกษาไม่ แต่เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการศึกษาเลยทีเดียว และข้อนี้ย่อมเป็นคำอธิบายได้อย่างหนึ่งว่า ทำไมการพัฒนาคนจึงเดินสวนทางกับการพัฒนาเทคโนโลยี คือ ในขณะที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้ามากขึ้น แต่คุณภาพของคน หรือคุณภาพของความเป็นมนุษย์กลับจะลดต่ำลง และถ้าสภาพนี้ดำเนินสืบเนื่องต่อไปนานๆ โดยไม่สามารถแก้ไขปรับปรุงได้ แม้แต่การพัฒนาเทคโนโลยี หรือการพัฒนาศักยภาพด้านขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ที่เจริญล้ำดิ่งมาส่วนเดียวอย่างไม่ได้สมดุลนี้ ก็จะต้องถูกถ่วงดึงให้ล้าลงและหยุดชะงักไปด้วยในที่สุด เพราะคุณภาพของคนทุกด้านย่อมส่งผลสัมพันธ์โยงถึงกันทั่วทั้งหมด
ยิ่งกว่านั้น ปัญหาสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่มักถูกมองข้ามไปก็คือ เมื่อความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาประสานเข้ากับระบบเศรษฐกิจแบบถือผลประโยชน์เป็นใหญ่ ถ้าระบบผลประโยชน์นี้เหนียวแน่นแข็งแรงลงลึกมาก การพัฒนาและการใช้เทคโนโลยี ก็จะถูกกำหนดโดยระบบผลประโยชน์ทั้งหมด จะเป็นไปเพื่อสนองความต้องการผลประโยชน์เท่านั้น และเมื่อความเข้มแข็งทางจริยธรรมไม่มีกำลังพอ สังคมก็จะมาถึงขั้นหนึ่งที่ว่า แม้คนจะยังมีจิตสำนึกทางคุณธรรมอยู่บ้าง และมีความเพียรพยายามแสดงออกและทำการต่างๆ เพื่อแก้ไขปรับปรุง แต่กลไกต่างๆ ภายในระบบจะตรึงตัว เต็มไปด้วยจุดกระทบที่ทำให้ติดขัดไปหมด องค์ประกอบทั้งหลายของสังคมจะอ่อนแอ ไม่มีกำลังพยุงตัวเอง ได้แต่อ่อนตัวไปตามระบบ และสภาพแวดล้อมของสังคมก็จะไม่เอื้อต่อการแก้ไขปรับปรุงทางจริยธรรม เมื่อถึงจุดนั้นสังคมก็อาจจะเข้าสู่ภาวะหมดความสามารถทางศีลธรรม หรือ ภาวะไร้สมรรถภาพทางจริยธรรม เป็นเหมือนคนที่ตกลงไปในโคลนดูด หรือพลัดลงไปในทรายดูด แม้มือและแขนจะแข็งแรงก็ได้แต่ไขว่คว้าไปเปล่าๆ แม้จะมีโคลนมีทราย ก็อาศัยทานแขนพยุงตัวไม่ได้ ทรายและโคลนเหล่านั้นมีแต่จะมาช่วยกันทับถมดูดตัวให้จมดิ่งลงไป
ในสังคมที่มีสภาพเช่นนี้ เมื่อมีปัญหาที่จะต้องป้องกันแก้ไข หรือมีงานสร้างสรรค์ที่จะต้องจัดทำ ทั้งที่รู้ดีว่าจะต้องทำอะไรบ้างอย่างไร และอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ไม่ยาก แต่เมื่อขัดกับการแสวงหาและการที่จะได้ผลประโยชน์ส่วนตัว ก็ไม่อาจป้องกันแก้ไขปัญหาหรือจัดทำสิ่งที่ดีงามให้สำเร็จได้ เพราะไม่มีกำลังและที่เกาะเกี่ยวยึดเหนี่ยวทางจริยธรรมที่จะให้ก้าวขาอ้าแขนออกไปทำการ ทั้งที่มีเทคโนโลยีและทรัพยากรทุกอย่างพรั่งพร้อมบริบรูณ์ที่จะใช้จัดทำได้ ก็กลายเป็นหมันไปหมดสิ้น หรือไม่ก็เอาไปใช้แต่ในทางที่จะสนับสนุนการแสวงหาผลประโยชน์ และแม้กระทั่งกระทำในทางตรงข้าม คือ ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับขัดขวางทำลายการป้องกันแก้ไขปัญหาหรือการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามนั้น สังคมจะต้องถอยตัวออกมา ก่อนที่จะถลำตกลงไปในภาวะไร้สมรรภาพทางจริยธรรมอย่างที่กล่าวมานั้น
ในเรื่องของความคิด และแรงจูงใจในการสร้างสรรค์และใช้เทคโนโลยีนี้ ตามปกติ การสร้าง โดยเฉพาะตัวความคิดที่จะสร้างหรือแรงจูงใจในการสร้างเทคโนโลยีนี้ จะเป็นตัวจำกัดขอบเขตการใช้งานของเทคโนโลยีด้วย
ในสมัยก่อน ความคิด หรือแรงจูงใจในการสร้างเทคโนโลยีมักจะเป็นเรื่องกว้างๆ คลุมๆ รวมๆ กันไป ไม่ชัดลงไปว่าจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไรจำเพาะเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีสมัยก่อนนั้น ทำขึ้นมาแล้วก็มักจะใช้งานได้หลายอย่าง คือจะใช้ในแง่สันติก็ได้ ในแง่สงครามก็ได้ เช่น มีด เราอาจจะเอามาใช้ตัดไม้ปลูกบ้าน สับอาหารปรุงกับข้าวในครัวก็ได้ อาจจะเอามาทำร้ายกัน ฆ่าฟันคนอื่นก็ได้ แต่เมื่อเจริญมากขึ้น ความคิดทำเพื่อความมุ่งหมายพิเศษเฉพาะอย่างก็มากขึ้น
โดยเฉพาะในเมื่อมนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าในวิทยาการต่างๆ แบบชำนาญพิเศษเฉพาะทาง ทำให้ความรู้ความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน เจริญพุ่งออกไปในแต่ละด้านๆ การพัฒนาเทคโนโลยีก็เลยมีลักษณะจำเพาะมากขึ้นด้วย ในสมัยนี้จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีชนิดที่ใช้ได้เฉพาะกิจ เช่น ใช้ในการสงครามอย่างเดียว เอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรามีมีด มีรถ ตลอดจนมีเครื่องบิน ในตอนแรกๆ อาจจะใช้งานได้กว้างๆ ทั่วไป ใช้ในทางสันติก็ได้ ใช้ทำสงครามก็ได้ แต่ต่อมาเรามีปืนเอ็ม ๑๖ ปืนอาร์ก้า ซึ่งต้องใช้ในทางฆ่ากันเท่านั้น จะเอาไปใช้ในทางสันติก็ทำประโยชน์อะไรไม่ได้ สร้างรถขึ้นมาสำหรับใช้ในการสงครามโดยเฉพาะเช่นรถถัง รถเกราะ เครื่องบินก็พัฒนาให้เป็นเครื่องบินรบโดยเฉพาะ มีเครื่องบินมิก เครื่องบินเอฟ. ๑๔ เอฟ. ๑๕ เอฟ. ๑๖ นอกจากระเบิดนิวเคลียร์ เรายังมีระเบิดนิวตรอน ซึ่งมุ่งให้ทำลายเฉพาะตัวคนแท้ๆ โดยที่ตัวอาคารสถานที่ไม่เสียหาย อเมริกาคิดทำลูกระเบิดชนิดนี้ขึ้นมาแล้ว แต่ยังถูกท้วงอยู่ไม่ให้ใช้ เพราะถ้าใช้แล้วก็จะเกิดอันตรายมหาศาล คือทิ้งลงไปแล้วคนหรือสิ่งมีชีวิตเท่านั้นตาย แต่ตัวตึก โต๊ะ เก้าอี้วัสดุอุปกรณ์อะไรต่างๆ จะอยู่ในสภาพเป็นปรกติ ไม่แตกหัก ไม่พัง
รวมความว่า มนุษย์คิดวิธีการที่จะสังหารกันได้มากมาย จนกระทั่งผลิตผลทางเทคโนโลยีนั้นใช้ได้จำเพาะอย่างเดียว เป็นเรื่องของสงคราม เป็นเรื่องของการทำร้าย ฆ่าฟันกันโดยเฉพาะ ในเมื่อมนุษย์มีความคิด มีแรงจูงใจเบื้องหลังการสร้างและการใช้เทคโนโลยีแบบนี้ เทคโนโลยีก็จะมีโทษพิษภัยเป็นอันมาก ปัญหาของเราก็คือจะปฏิบัติอย่างไรในเรื่องนี้
ได้บอกเมื่อกี้แล้วว่า โดยทั่วไปเทคโนโลยีนั้นเป็นสิ่งที่ใช้ได้ทั้ง ๒ ทาง คือ จะใช้เพื่อสนองความต้องการในทางเห็นแก่ตัวและทำลายกันก็ได้ จะใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือพัฒนาศักยภาพของคนก็ได้ เทคโนโลยีบางอย่างใช้ได้ทั้งสองทาง แล้วแต่ว่าจะใช้อย่างไร แต่บางอย่างกำหนดมาจากการผลิตหรือสร้างขึ้นทีเดียว ว่าจะให้ใช้ประโยชน์ทางไหน ฉะนั้น ในยุคที่เทคโนโลยีเจริญพร้อมกับความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านนี้ ถ้าคนมีแรงจูงใจที่ชั่วร้ายไม่มีคุณธรรมปัญหาเรื่องนี้ก็จะมีมากขึ้น
ปัญหาก็คือ ทำอย่างไรจะให้มนุษย์ พยายามสร้างเทคโนโลยีชนิดที่อำนวยประโยชน์ในทางที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ และใช้เทคโนโลยีนั้นในทางที่เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างที่กล่าวมา
ปัจจุบันนี้จะเห็นว่า นอกจากเทคโนโลยีชนิดที่ใช้ประโยชน์ได้เฉพาะแง่เดียว หรือใช้ได้อย่างเดียวในการทำลายแล้ว หลายอย่างก็ใช้ได้ทั้งในทางที่เป็นคุณประโยชน์ และในทางที่สนองกิเลส ดังที่เห็นๆ กันอยู่
โทรทัศน์ จะใช้ในทางดี เอามาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ใช้เป็นเครื่องแสวงหาความรู้เสริมสร้างความคิดความเข้าใจจากข่าวสารข้อมูลและสารคดีต่างๆ ตลอดจนเอามาใช้ฝึกสอนวิชาความรู้กันต่างๆ ก็ได้ หรือจะใช้เป็นเครื่องสนองกิเลสต่างๆ ก็ได้ ในขั้นต้นๆ ก็อาจจะเป็นเพียงรายการบันเทิง เรื่องสนุกสนานต่างๆ หรืออาจจะใช้ในการโฆษณาสินค้า ตลอดจนใช้ในการเผยแพร่ข่าวสารที่อำพรางหรือเป็นเท็จ ชักนำให้หลงผิดก็ได้ แม้กระทั่งว่าชาวบ้านก็อาจจะใช้โทรทัศน์ในการเล่นการพนันอย่างที่เรียกว่ามวยตู้ อย่างนี้เป็นต้น
โทรศัพท์ก็เหมือนกันจะใช้ติดต่อกันในทางดีหรือทางร้ายก็ได้ วิทยุ วีดีโอ เครื่องบันทึกเสียง ก็ทำนองเดียวกัน หรืออย่างในวันนี้ ถ้าพูดเข้าข้างตัวก็ว่า เรากำลังใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต กำลังใช้ไมโครโฟนและเครื่องขยายเสียงเพื่อพูดรายการเกี่ยวกับพุทธธรรม หรือสไลด์มัลติวิชั่นเรื่องชีวประวัติท่านพุทธทาสที่ฉายให้ดูเมื่อกี้ ก็เป็นการใช้เทคโนโลยีในทางที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต
เป็นอันว่า ปัญหาของมนุษย์ที่เกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีในแง่ของพุทธธรรมด้านหนึ่งก็คือ ทำอย่างไรจะให้คนคิดสร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยีและใช้เทคโนโลยีในทางที่เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ซึ่งอาจทำได้ทั้งสองอย่าง คือ ผลิตหรือใช้เทคโนโลยีนั้นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยตรง และอีกอย่างหนึ่งคือใช้เทคโนโลยีนั้นเพื่ออำนวยโอกาสให้เราสามารถพัฒนาตน เช่น เทคโนโลยีบางอย่างช่วยทุ่นเวลาและแรงงานของเรา เราใช้มันทำงานเสร็จโดยง่ายและเร็วไวแล้ว เรามีเวลาและแรงงานเหลืออยู่มาก ก็จะได้เอาเวลาและแรงงานนั้นไปใช้ประโยชน์ บางท่านก็เอาไปใช้ในการแสวงหาความรู้ ถ้าเป็นผู้สนใจธรรม ก็อาจเอาไปใช้ในการปฏิบัติธรรม ไปทำกรรมฐานหรือไปอ่านหนังสือธรรม หรือไปแนะนำให้ความรู้และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ อะไรต่างๆ ทำนองนี้ เท่ากับว่าเทคโนโลยีอำนวยโอกาสแก่เรา ในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตได้มากขึ้น แต่ถ้าเราไม่ใช้ในทางดี มันก็อำนวยโอกาสเหมือนกัน แต่อำนวยโอกาสในการที่จะทำลายคุณภาพชีวิต เช่น ใช้มอมเมา สร้างความลุ่มหลงหมกมุ่น ใช้เล่นการพนัน นี้ก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับทางธรรม
เป็นธรรมดาที่เราจะต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เราจะเกี่ยวข้องอย่างฉลาด ให้เป็นคุณประโยชน์ได้อย่างไร พูดด้วยภาษาพระก็คือ จะใช้และเกี่ยวข้องกับมันในทางที่จะให้เกิดเป็นกุศล ถ้าเป็นไปได้ก็คือ ต้องพยายามที่จะผลิตหรือสร้างสรรค์เทคโนโลยีชนิดที่ใช้ประโยชน์ ได้แต่ในทางกุศลให้มากขึ้น ปัจจุบันนี้มีปัญหาว่า โลกได้ผลิตได้สร้างเทคโนโลยีสำหรับใช้ในทางที่เป็นอกุศลมากกว่า มีบางส่วนเท่านั้นที่เอามาใช้อำนวยประโยชน์ในทางกุศลได้ด้วย