ชีวิตในสังคมเทคโนโลยี

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เทคโนโลยี จะเอามาสร้างความก้าวหน้า
หรือเอามาซ้ำเติมความด้อยพัฒนา

เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเครื่องเตือนใจให้ต้องระลึกไว้เสมอว่า ถ้าคิดจะมีเทคโนโลยี จะมัวนั่งฝัน เอาแต่เสวยสุขอย่างเดียวโดยไม่ยอมรับผิดชอบไม่ได้ ไม่มีการได้โดยไม่ต้องแลกเปลี่ยน ยิ่งในแง่เศรษฐกิจด้วยแล้ว การเสวยสุขด้วยเทคโนโลยีอาจมีความหมายกว้างไกลมาก ถ้าคนไม่ได้รับการพัฒนาคุณภาพของจิตใจ และขาดความสังวร การได้มาซึ่งเทคโนโลยี หรือความสุขสะดวกสบายจากเทคโนโลยี อาจหมายถึงการเบียดเบียนขูดรีดเอารัดเอาเปรียบที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่มนุษย์ด้วยกันอีกด้วย และใครจะปฏิเสธได้ว่า อันนี้ไม่ใช่เป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งของปัญหาในสังคมปัจจุบัน

ในแง่เศรษฐกิจนั้น ชาวประเทศกำลังพัฒนาเสียเปรียบประเทศพัฒนาอยู่แล้วเป็นอันมาก ในการที่จะมีเทคโนโลยีใช้ นอกจากเป็นผู้ซื้อที่ต้องเสียเปรียบผู้ผลิตในแง่ถูกเขาตั้งราคาหากำไร และในแง่เป็นผู้ที่มีใช้ทีหลังตามไม่ทันเขาเรื่อยไปแล้ว ยังต้องบริโภคเทคโนโลยีในราคาที่แพงลิบลิ่วยิ่งกว่าประเทศพัฒนาหลายต่อหลายเท่า แพงกว่าโดยราคาซื้อขายในตลาดตามที่กำหนดกันไว้นั้นก็ชั้นหนึ่งแล้ว ยังแพงโดยมูลค่าแฝงอีกหลายชั้น คือ ทั้งรายได้ก็ต่ำ เงินก็ถูก แล้วยังต้องซื้อของแพง เพราะตัวสินค้าเองราคาก็สูงขึ้น เนื่องจากค่าขนส่งและภาษีอีกหลายส่วน

ยกตัวอย่างเช่น คนงานในประเทศไทยได้ค่าแรงอย่างต่ำวันละประมาณ ๗๐ บาท ในขณะที่คนอเมริกันได้อย่างต่ำวันละประมาณ ๗๐๐ บาท1 น้ำมันรถยนต์ชนิดเบนซินซูเปอร์ในเมืองไทยลิตรละ ๘.๔๕ บาท ในสหรัฐฯถูกกว่า เป็นลิตรละ ๕ บาท คนงานไทยที่มีค่าแรงอย่างต่ำนั้น เอารายได้ทั้งวันไปซื้อน้ำมันรถยนต์ได้ประมาณ ๘ ลิตร เพียงซื้อน้ำมันรถยนต์อย่างเดียวก็แทบหมดตัว ไม่ต้องไปใช้จ่ายอย่างอื่น แต่คนงานอเมริกันเอารายได้วันเดียวไปซื้อน้ำมันได้ตั้ง ๑๔๐ ลิตร ดังนั้น ถึงเขาจะใช้รถยนต์ ซื้อน้ำมันแล้ว ก็ยังมีเงินเหลือไปใช้จ่ายอย่างอื่นมากมาย แต่แค่นี้ก็ยังไม่กระไร ขอให้ดูตัวอย่างอื่นอีก

รถยนต์ญี่ปุ่นมีชื่อเสียงมากยี่ห้อหนึ่ง ส่งไปขายในสหรัฐฯ คิดราคา เป็นเงินไทยประมาณ ๓๓๐,๐๐๐ บาท แต่ส่งเข้ามาเมืองไทยขายคันละ เกือบ ๖ แสนบาท2 ถ้าคนอเมริกันที่มีรายได้ต่ำสุดเก็บเงินทั้งหมดไว้ซื้อรถนี้ จะใช้เวลา ๘๕๗ วัน คือ ๒ ปีเศษ แต่คนไทยจะซื้อรถคันเดียวกันนั้นต้องรอเก็บเงิน ๘,๒๒๘ วัน หรือ ๒๒ ปีครึ่ง ถ้าเริ่มทำงานอายุ ๒๓ ปี กว่าจะซื้อรถยนต์นี้ได้ก็อายุ ๔๕ ปี จะแก่เฒ่าอยู่แล้ว แต่ความจริงก็คือไม่มีหวังซื้อได้เลยตลอดชาตินั่นเอง แต่นี้ก็ยังเป็นของที่ส่งเข้ามา

ทีนี้ ลองดูของที่ผลิตในอเมริกาเอง เทียบกับที่เขาส่งเข้ามาขายในเมืองไทย ตู้เย็นอย่างดีพิเศษยี่ห้อ GE ขนาด ๒๔ คิว ชนิดหนึ่ง ผลิตขายในอเมริกาตู้ละประมาณ ๓๓,๐๐๐ บาท ขายในเมืองไทยตู้ละเกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท คนอเมริกันเก็บเงิน ๑๐% ของรายได้ต่ำสุดเพียง ๑ ปี ๓ เดือนเศษ ก็ซื้อตู้เย็นชนิดพิเศษนั้นได้ แต่คนไทยใช้รายได้ต่ำสุดของตนจะซื้อตู้เย็นนั้น ถ้าสะสมรายได้ไว้ ๑๐% จะต้องใช้เวลา ๓๙ ปี

ไม่เฉพาะเทคโนโลยีประเภทอำนวยความสะดวกสบาย หรือสินค้าฟุ่มเฟือยเท่านั้นที่คนไทยและคนในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต้องเสียเปรียบ แม้แต่เทคโนโลยีที่เป็นเครื่องมือพัฒนาศักยภาพของตัวคนเอง เช่นอุปกรณ์การศึกษาและเครื่องมือทำงานต่างๆ ก็เสียเปรียบเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์ชั้นดียี่ห้อหนึ่ง ผลิตขายในสหรัฐฯ ราคาเครื่องละ ๒๘,๐๐๐ บาท ส่งมาขายในเมืองไทยเครื่องละ ๘๓,๐๐๐ บาท คนอเมริกันที่มีรายได้ต่ำสุดเก็บออมเงินเพียง ๑๐% ของรายได้นั้น ใช้เวลาเพียง ๑ ปี ๑ เดือน ก็ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นได้ แต่คนไทยจะเอารายได้ต่ำสุดของตนมาซื้อ ถ้าสะสมรายได้ไว้ ๑๐% จะต้องใช้เวลาถึง ๓๒ ปี จึงจะซื้อได้

คนไทยทั้งหลายควรจะต้องรู้ตระหนักถึงภาวะเสียเปรียบนี้ แล้วพยายามเสริมสร้างศักยภาพด้านอื่นให้มีค่าเป็นบวกอย่างสูงขึ้นมาให้เกิดความสมดุลให้ได้ หรือใช้ความเสียเปรียบให้เป็นประโยชน์แก่ตน มิใช่มัวแต่ตื่นเต้นหลงเพลิดเพลินมัวเมาเอาสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องเชิดชูตัวอวดโก้ในหมู่พวกกันเอง

เมื่อด้านวัตถุภายนอก ก็เสียเปรียบและด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างนี้อยู่แล้ว ถ้าด้านภายใน คือทางจิตใจและทางปัญญาก็ยังขาดคุณภาพอีก เช่น ทางจิตใจก็ไม่เข้มแข็งและใฝ่แต่เสพไม่ใฝ่สร้างสรรค์ทางปัญญา ก็ไม่รู้ทันและขาดหลักความคิด ก็จะยิ่งเสื่อมถอยด้อยต่ำลงไป

ผลร้ายที่เห็นได้ง่ายๆ ก็คือ เมื่ออยู่สภาพเศรษฐกิจอย่างนี้ คนรู้ตัวอยู่ชัดๆว่า ถ้าอยากได้สินค้าฟุ่มเฟือยทันสมัยอย่างหนึ่งมาใช้ จะต้องทำงานตลอดทั้งชาติหรือค่อนชีวิตจึงจะได้ เขาก็จะหมดความหวังและขาดความมั่นใจในการทำงาน แล้วจิตใจก็จะดิ้นรนหันเหออกไปที่จะหาวิธีการทำอย่างอื่น เพื่อจะให้ได้มีได้ใช้เทคโนโลยีทันสมัยนั้นทันอกทันใจ อาจพาชีวิตตกลงไปหมกจมอยู่ภายใต้กองหนี้สิน หรือแม้แต่ถึงกับทำอะไรที่เป็นการทุจริต พร้อมกับที่ต้องตกเป็นเหยื่อของระบบการแสวงหาผลประโยชน์ยิ่งขึ้นไป เป็นการบ่อนทำลายทั้งชีวิตของบุคคลและความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ

เพื่อให้สังคมไทยที่อยู่ในระดับกำลังพัฒนา สามารถยืนหยัดตั้งตัวขึ้นมาได้ ไม่ถอยหลัง และมีพลังก้าวออกไปข้างหน้าได้ คนไทยทั้งหลายจะต้องตั้งหลักทางจิตใจและทางปัญญาขึ้นมาให้ได้ โดยเฉพาะจะต้องพัฒนาความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ ศึกษาให้รู้เท่าทันความเป็นไปในโลกทั้งทางบวกและทางลบอย่างแท้จริง และมีแนวความคิดที่มองความหมายของความเจริญให้ถูกต้อง

อย่างน้อย เมื่อยังอยากเจริญอย่างฝรั่ง ก็ต้องมองความหมายของความเจริญอย่างฝรั่งนั้นแบบนักผลิต นักทำ นักสร้างสรรค์ ไม่ใช่มองได้แค่ความหมายแบบนักเสพหรือนักบริโภค

นักเสพหรือนักบริโภคมองความหมายของความเจริญอย่างฝรั่งว่า “เจริญอย่างฝรั่ง คือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง” แต่นักผลิตและนักสร้างสรรค์มอง ความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า “เจริญอย่างฝรั่ง คือ ทำได้อย่างฝรั่ง และทำให้ดียิ่งกว่าฝรั่ง”

เพราะฉะนั้น คนในประเทศไทยนี้ เมื่อจะซื้อเทคโนโลยีมาใช้ ถ้าเป็นเทคโนโลยีประเภทหรูหราฟุ่มเฟือยหรือเพื่อคุณค่าเทียม ควรมีความยับยั้งชั่งใจให้มาก ถ้าเป็นเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ใช้สอยอย่างแท้จริง หรือเพื่อคุณค่าแท้ เช่น เพื่อการศึกษา และการพัฒนาศักยภาพ เมื่อเห็นชัดเจนว่าจะต้องใช้ ก็พึงซื้อหามาพร้อมด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่มั่นคง และคิดหาทางที่ว่าจะใช้ให้เป็นประโยชน์เกินคุ้ม หรือให้มีผลในทางสร้างสรรค์เกินค่ากว่าที่คนในประเทศพัฒนาเองจะใช้ประโยชน์ได้ พร้อมทั้งเพียรพยายามที่จะผลิตเองให้ได้ต่อไป อย่างนี้จึงจะมีทางพัฒนาตัวขึ้นได้ มิฉะนั้น ก็จะต้องเป็นผู้ล้าหลังเขาอยู่เรื่อยไป

เทคโนโลยีนั้น ถ้าปฏิบัติต่อมันไม่ถูกต้อง แทนที่จะช่วยสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้ดีงามก้าวหน้า ก็จะกลับกลายเป็นเครื่องซ้ำเติมความด้อยพัฒนา

1ค่าจ้างแรงงานอย่างต่ำในประเทศไทย เฉพาะกรุงเทพฯ และ ๕ จังหวัด โดยรอบ วันละ ๗๘ บาท บางจังหวัด ๗๕ บาทบ้าง ๗๐ บาทบ้าง แต่ส่วนใหญ่คือประมาณ ๖๒ จังหวัด วันละ ๖๕ บาท ส่วนในสหรัฐฯ ค่าแรงอย่างต่ำ ชม.ละ ๓.๓๕ ดอลล่าร์ และกำลังถกเถียงกันว่าจะให้ขึ้นเป็น ชม.ละ ๔.๕๐ ดอลล่าร์ (ตัวเลข พ.ศ. ๒๕๓๒)
2ราคาในเมืองไทย ๕๗๖,๐๐๐ บาท (ใน US=$ 13,000)
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง