เหตุการณ์ทางเทคโนโลยีที่ดังมากๆ นึกไปตอนนี้ก็ยังไม่เห็นมีอะไรที่ใหญ่กว่าเหตุการณ์เมื่อสองปีมาแล้ว ใน พ.ศ. ๒๕๒๙ ตอนปลายเดือนเมษายน ได้เกิดข่าวใหญ่ขึ้นมาข่าวหนึ่ง คือเรื่องโรงงานพลังนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล (Chernobyl) ในโซเวียตรัสเซียได้เกิดระเบิดขึ้น เชอร์โนบิลนี้เป็นตำบลที่อยู่ใกล้เมืองเคียฟ (Kiev) ห่างจากกรุงมอสโคว์ประมาณ ๖๐๐ กิโลเมตร เมื่อเกิดระเบิดขึ้นแล้ว ก็มีกัมมันตภาพรังสีแผ่กระจายออกไปทั้งในประเทศสหภาพโซเวียตเอง และมีกระแสลมพัดพาไปทางยุโรปตะวันออก ไปยังสแกนดิเนเวีย และต่อไปจนกระทั่งถึงยุโรปตะวันตก ผู้คนก็ตื่นเต้นตกใจกันมาก โดยเฉพาะคนที่รู้เรื่องดีว่ากัมมันตภาพรังสีมีอันตรายแค่ไหนเพียงไร ก็จะมีความหวั่นวิตกมากเป็นพิเศษ และคนในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายเหล่านั้นก็เป็นคนที่มีการศึกษาดี เมื่อมีเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นจึงได้ตื่นเต้นตกใจกันเป็นอย่างยิ่ง เขาเรียกกันว่าเป็นอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในโลก
ถอยหลังไปก่อนหน้านั้นปีเดียว รองผู้อำนวยการสถาบันพลังงานนิวเคลียร์ที่โซเวียต ได้เขียนลงพิมพ์ในหนังสือโซเวียตไลฟ์ (Soviet Life) ว่า ก่อนสิ้นศตวรรษหน้า พลังงานทั้งหมดที่ใช้ในโลก ๒ ใน ๓ ส่วน จะมาจากโรงงานนิวเคลียร์ และเขาก็บอกว่า ในสหภาพโซเวียตได้ดำเนินการศึกษาเรื่องพลังงานนิวเคลียร์นี้อย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว ได้พิสูจน์อย่างบริบูรณ์สิ้นเชิงว่า โรงงานพลังนิวเคลียร์ไม่มีอะไรกระทบหรือมีผลเสียต่อสุขภาพของประชากร เขาพูดอย่างนี้ก่อนหน้าเกิดอุบัติเหตุปีเดียว
ใกล้กว่านั้นเข้ามาอีก ก่อนจะเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่เพียงเดือนเดียว คือเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๒๙ รัฐมนตรีพลังงานของสหราชอาณาจักรอังกฤษได้บอกว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานที่ปลอดภัยที่สุดเท่าที่มนุษย์รู้จัก
นี่ขนาดผู้รู้ ซึ่งมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีดีได้กล่าวกันอย่างนี้ ยืนยันถึงกับว่าเป็นสิ่งที่ปลอดภัยไร้โทษ แต่เมื่อเกิดเหตุนี้ขึ้นมาแล้ว คำพูด ท่าที อาการกิริยาก็เปลี่ยนไป
หัวหน้านักวิทยาศาสตร์โซเวียตที่เกิดเหตุ ได้พูดว่า ไม่มีใครในโลก ได้เคยเผชิญกับอุบัติเหตุชนิดนี้มาก่อนเลย หนังสือพิมพ์ปราฟดา (Pravda) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของโซเวียต วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ได้ลงพิมพ์ข้อความว่า อารยธรรมสมัยใหม่ช่างเสี่ยงต่อภัยทางเทคโนโลยีเสียเหลือเกิน ถ้อยคำนี้ทำให้นึกถึงคำพูดของเซอร์ยอร์จ พอร์เตอร์ (Sir George Porter) ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับรางวัลโนเบลทางวิทยาศาสตร์สาขาเคมี (พ.ศ. ๒๕๑๐) ท่านผู้นี้ได้บอกว่า มนุษย์ยังไม่เติบโตเพียงพอที่จะได้รับมอบความไว้วางใจให้มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ อันนี้แสดงว่า ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องพลังนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นความเจริญทางเทคโนโลยีที่สำคัญนี้ ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ในหมู่ผู้ที่มีความรู้เรื่องนี้
ทีนี้ เมื่อเกิดเหตุขึ้นมาแล้ว ทางการโซเวียตก็ต้องรีบจัดการอพยพ ผู้คนออกจากบริเวณโดยรอบในรัศมี ๑๐ กิโลเมตร จำนวน ๔๖,๐๐๐ คน (หนังสือ Funk & Wagnalls New Encyclopedia 1986, vol. 19, p. 256 ว่า เคลื่อนย้ายคนออกจากบริเวณในรัศมี ๑,๖๐๐ กิโลเมตร จำนวนประมาณ ๑๓๕,๐๐๐ คน) กัมมันตภาพรังสีได้พุ่งขึ้นไปสูงราว ๕๐๐ เมตร ซ้ำลมก็พัดพาไป กัมมันตภาพรังสีก็ตกลงมากับฝนบ้าง แพร่ไปตามสายลมบ้าง ครอบคลุมระยะทาง ๑,๕๐๐ กิโลเมตร ชาวยุโรปในเส้นทางนั้นหวาดผวากันมาก ถึงกับต้องให้เด็กเก็บตัวอยู่ในบ้าน กลัวว่าออกไปจะถูกกัมมันตภาพรังสี ชาวบ้านไม่กล้าซื้อผักผลไม้ ไม่กล้าดื่มนม ไม่กล้าลงไปว่ายน้ำ แม้แต่เสื้อผ้าก็ต้องระวังไม่ให้ฝุ่นจับ ประเทศสมาชิกประชาคมยุโรป ได้สั่งห้ามการนำเข้าสินค้าและผลไม้ หรือผลิตภัณฑ์นม เนย เนื้อ และสัตว์จากยุโรปตะวันออกซึ่งรวมทั้งโซเวียตด้วย
คนตายในที่เกิดอุบัติเหตุเพียง ๒ คนเท่านั้น แต่เข้าโรงพยาบาลตอนนั้น ๙๗ คน ต่อมาตายเพิ่มเป็น ๙ และค่อยๆ ตาย ต่อมาเป็น ๒๓ แล้วก็เลย ๓๐ และความน่ากลัวก็ยังแฝงอยู่ต่อไปว่า คนจำนวนหลายแสนคนที่ได้รับรังสีจะประสบผลร้ายระยะยาว ในทางที่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพพลานามัยต่อไป เป็นเรื่องที่ยังไม่สิ้นสุด เหตุการณ์นี้สิ้นสุดไปแล้ว แต่ภัยที่เกิดขึ้นหาได้สิ้นสุดตามไปไม่
อุบัติเหตุครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ความหวังจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์แทบจะสิ้นหายไปเลย เขาเรียกกันว่าเป็นการจบสิ้นของความใฝ่ฝันที่ฝากไว้กับนิวเคลียร์ นับแต่นั้น การต่อต้านการเปิดโรงงานนิวเคลียร์ต่างๆ ก็มีมากขึ้น และการที่จะเปิดหรือสร้างโรงงานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศทั้งหลาย ต่อมาก็รู้สึกว่าแทบจะเงียบหายไปเลย
ถอยหลังไปก่อนหน้านั้น ในประเทศอเมริกาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ก็ได้เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งใหญ่มาแล้ว ที่เกาะทรีไมล์ (Three Mile Island) ในรัฐเพนน์ซิลเวเนีย ซึ่งทำให้คนตื่นเต้นหวาดกลัวกันมาก ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้วงการนิวเคลียร์ยอมรับกันว่า มนุษย์มีความพลั้งพลาดเผอเรอที่ยากจะหลุดพ้นอุบัติเหตุเหล่านี้ไปได้ และเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วคนก็ตระหนกตกใจตื่นเต้นตะลึง ทำอะไรกันไม่ค่อยถูก อย่างในคราวเกิดอุบัติเหตุที่เกาะทรีไมล์ ในอเมริกานั้น ประธานกรรมาธิการควบคุมนิวเคลียร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ จัดประชุมติดต่อกัน ๕ วัน เพื่อควบคุมสถานการณ์ ก็ได้แต่บอกกับพรรคพวกว่า พวกเราทำงานเหมือนคนตาบอด เพราะไม่รู้ข่าว ไม่รู้ข้อมูล ทางฝ่ายรัฐเจ้าของที่เกิดเหตุก็รู้ข้อมูลคลุมเครือ ฝ่ายคณะกรรมการหรือกรรมาธิการชุดนั้นเองก็ไม่รู้เรื่อง เป็นเหมือนคนตาบอดสองคนกำลังหาทางตัดสินใจกันไปเปะๆ ปะๆ
นี้เป็นเหตุการณ์นิวเคลียร์ที่เกิดขึ้น ซึ่งยกมาพูดเพียง ๒ ครั้ง แต่ความจริง ตั้งแต่ปี ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ได้เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งสำคัญมาแล้ว ๑๔ ครั้ง มาเกิดเหตุครั้งเชอร์โนบิลนี้นับว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุด ที่ทำให้ความหวังอันรุ่งโรจน์จากพลังนิวเคลียร์ ว่าจะเป็นแหล่งใหญ่ของพลังงานให้แก่มนุษย์นั้น แทบจะปิดรายการไปเลย และถึงแม้ว่ามนุษย์จะเลิกเล่นกับมัน แต่พิษภัยที่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่ได้หยุดเลิกไปด้วย พิษภัยเหล่านี้จะก่ออันตรายแก่มนุษย์รุ่นต่อไปอีกหลายชั่วอายุคน หรือไม่ใช่หลายชั่วอายุคน แต่ตลอดอายุของประเทศชาติหลายประเทศ หรืออารยธรรมทั้งหมดของมนุษย์ก็ได้
ไม่ใช่แต่เพียงแค่อุบัติเหตุ แม้จะไม่มีอุบัติเหตุ เวลาทำงานเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์นี้ จะมีสิ่งที่เรียกว่ากากหรือขยะนิวเคลียร์ (nuclear waste) ซึ่งมีอันตรายมาก จะต้องหาที่ทิ้งโดยเก็บให้มิดชิด ปัญหาในการเก็บกากนิวเคลียร์หรือขยะนิวเคลียร์นี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เช่นในอเมริกา ก็มีปัญหาว่าจะเก็บที่ไหน จะเอาไปฝังที่ไหน แม้แต่เมื่อได้ที่ฝังที่เก็บแล้ว ก็ยังมีปัญหาว่าจะขนส่งไปอย่างไร เวลาขนส่งไปบางรัฐก็จะห้ามไม่ให้รถที่ขนขยะนิวเคลียร์นี้ผ่าน เพราะกลัวว่าอาจจะพลาดพลั้งรถเกิดอุบัติเหตุก็จะเป็นอันตราย จึงเกิดเรื่องเป็นปัญหากันยุ่งยากมาก
ขยะนิวเคลียร์นี้มีอายุยืนนาน และจะเป็นพิษภัยตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น ธาตุพลูโตเนียม (Plutonium) ซึ่งเป็นธาตุชนิดหนึ่งที่ใช้ในการทำพลังงานนิวเคลียร์นี้ เป็นธาตุซึ่งมีกัมมันตภาพรังสีเป็นพิษร้ายแรงมาก มีอายุยืนที่สุด ถ้าเอากากนิวเคลียร์ของธาตุพลูโตเนียมนี้ไปฝังไว้ จะต้องใช้เวลาถึง ๕ แสนปีจึงจะหมดพิษ
ที่อังกฤษมีโรงงานพลังนิวเคลียร์ที่วินด์สเคล (Windscale) ซึ่งเป็นที่เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ร้ายแรงครั้งแรกของโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ (ค.ศ. ๑๙๕๗) โรงงานแห่งนี้ได้ปล่อยพลูโตเนียมลงทะเลมาตามลำดับ เดี๋ยวนี้มีอยู่ใต้ท้องทะเลในไอร์แลนด์ทั้งหมดประมาณ ๑ ใน ๔ ตัน ซึ่งจะมีกัมมันตภาพรังสีอยู่ต่อไปประมาณ ๒ แสน ๕ หมื่นปี หลังจากนั้น กัมมันตภาพรังสีจึงจะลดลงไปเหลือน้อย จนกระทั่งในราว ๕ แสนปีจึงจะหมด อันนี้ก็เป็นภัยอันตรายอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงที่เชอร์โนบิลนี้แล้ว ก็ได้ทำให้คนเกิดความสนใจ มีการตื่นตัวกันมากขึ้น ตระหนักถึงภัยจากเทคโนโลยีขึ้นมาจริงจัง
ขอยกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่ง ถอยหลังไปประมาณสักยี่สิบกว่าปี เป็นเรื่องที่เบาๆ ถึงแม้จะเป็นอันตรายแต่ก็สงบเงียบหน่อย ตอนนั้นวงการแพทย์ได้ชื่นชมกับยากล่อมประสาทใหม่ชนิดหนึ่งมีชื่อว่า ทาลิโดไมด์ (Thalidomide) ได้มีการพิสูจน์ทดลองกันเป็นอย่างมาก แล้วก็มีความแน่ใจ ประกาศออกมาว่าเป็นยาที่ปลอดภัย ถึงกับใช้คำว่าปลอดภัยเป็นพิเศษ และเพราะเหตุที่ว่าปลอดภัยเป็นพิเศษจากการพิสูจน์ทดลองกันแล้วนี้ ก็ทำให้แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรปเปิดให้ประชาชนซื้อหายาทาลิโดไมด์ โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์
ตามปกติในประเทศทางยุโรปอเมริกานั้น การซื้อยาหายา มีการควบคุมเข้มงวดมาก ถ้าจะซื้อยาที่ต้องระวังอันตรายจะต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ แต่ยาทาลิโดไมด์นี้แพทย์มีความมั่นใจถึงกับว่าไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ก็ได้
ยาทาลิโดไมด์นี้รักษาอาการกลุ้มหรืออาการทางประสาท เช่น ปวดศีรษะ ที่เรียกว่าไมเกรน หรือนอนไม่หลับ เป็นต้น ทำให้สงบสบาย ก็ขายกันมานานประมาณ ๕ ปี จาก พ.ศ. ๒๕๐๐ ถึง ๒๕๐๔ จึงได้พบว่า ผู้หญิงมีครรภ์กินยานี้แล้วคลอดลูกออกมา แขนด้วน ขากุด และมีลักษณะผิดประหลาดไม่สมประกอบ พิกลพิการต่างๆ เป็นอันมาก เป็นไปต่างๆ นานา ทำให้เกิดความตระหนกตกใจ จึงสอบสวนกันดูก็ปรากฏว่า ยานี้ทำให้มีปัญหาแก่หญิงมีครรภ์ และแก่เด็กที่อยู่ในครรภ์นั้น ก็เลยต้องงด ถอนยานี้ออกจากตลาด เลิกขายกัน แต่ก่อนจะยกเลิกยานี้ก็ปรากฏว่า มีเด็กแขนกุด ขาด้วนมาแล้วทั้งหมด ๘,๐๐๐ กว่าราย เป็นกรณีที่เกิดในประเทศอังกฤษประเทศเดียว ประมาณ ๔๐๐ ราย
เด็กพิกลพิการ ๘,๐๐๐ รายนี้อาจจะเป็นประเภทที่สำรวจได้ง่ายในประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนในประเทศที่ยังด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา การสำรวจอาจจะไม่ทั่วถึงก็ได้ จึงเป็นไปได้ว่าความจริงอาจจะมีมากกว่านี้ หรือในอีกแง่หนึ่งก็เป็นไปได้ว่า ในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย อาจจะไม่ค่อยมีคนได้ประสบเหตุนี้มากมายนัก เพราะว่าโรคอย่างที่ว่านี้ เช่น โรคกลุ้ม กังวล นอนไม่หลับ มักจะเป็นโรคของประเทศที่เจริญหรือประเทศพัฒนา ประเทศที่ด้อยพัฒนาไม่ค่อยเป็น คนในประเทศด้อยพัฒนาก็เลยอาจจะไม่ค่อยได้ใช้ยานี้ ก็เป็นความอุ่นใจอย่างหนึ่ง