ชีวิตในสังคมเทคโนโลยี

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จะอยู่กับใคร: กับคนและธรรมชาติ
หรือกับเทคโนโลยี

สิ่งที่เป็นองค์ประกอบร่วม ซึ่งช่วยให้มนุษย์อยู่ได้ด้วยดีนั้นมี ๓ อย่างคือ หนึ่ง ตัวมนุษย์เอง สอง สังคม สาม ธรรมชาติแวดล้อม

สำหรับตัวมนุษย์เองที่ประกอบด้วยกายกับใจนั้น กายกับใจก็ต้องประสานกลมกลืน มีความสมดุลพอดีต่อกัน ถ้ากายกับใจอยู่ร่วมกันโดยทำงานประสานเกื้อกูลกันด้วยดี ก็เป็นชีวิตที่สมบูรณ์และเป็นตัวมนุษย์ที่สมบูรณ์ แต่ตัวมนุษย์นี้ยังต้องสัมพันธ์อาศัยสิ่งอื่นอีก จะอยู่โดดเดี่ยวโดยลำพังไม่ได้ อย่างแรก ชีวิตมนุษย์ต้องสัมพันธ์อิงอาศัยธรรมชาติ มนุษย์นั้นเกิดจากธรรมชาติและเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในธรรมชาติ และตามกฎธรรมชาติ หนีจากธรรมชาติไม่ได้ และอีกอย่างหนึ่ง มนุษย์นั้นอยู่รวมกันเป็นสังคม สามอย่างนี้เป็นองค์ประกอบที่ช่วยให้เกิดภาวะการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์ การที่มนุษย์จะดำรงอยู่ด้วยดี องค์ประกอบเหล่านี้จะต้องมีความประสานกลมกลืนสมดุลกัน

ทีนี้ การพัฒนาความเจริญของมนุษย์ในยุคที่ผ่านมานั้นแตกแยกออกไปเป็นด้านๆ ไม่ประสานกัน และมุ่งเอาชนะกดขี่ธรรมชาติก็จึงผิดกฎเกณฑ์นี้ เริ่มด้วยผิดหลักการประสานกลมกลืนส่วนที่หนึ่ง กล่าวคือ เมื่อเรามุ่งเอาชนะพิชิตธรรมชาติ เราก็มีลักษณะการกระทำ และมีพฤติกรรมที่เป็นการทำลายธรรมชาติไปด้วย เมื่อธรรมชาติถูกทำลาย องค์ประกอบที่จะทำให้เกิดความประสานกลมกลืนพอดี มีดุลยภาพก็เสียไป เมื่อเสียดุล ขาดความพอดีและความประสานกลมกลืนไปแล้ว มนุษย์ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยดี ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า เมื่อธรรมชาติเสียหายแล้ว ชีวิตมนุษย์ก็พลอยถูกกระทบกระเทือนไปด้วย

ฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏเป็นปัญหาในสภาพปัจจุบัน ก็เกิดขึ้นกับองค์ประกอบ ๓ อย่างนี้เอง คือ ที่ตัวมนุษย์เอง ร่างกายก็มีโรคภัยไข้เจ็บที่น่ากลัวเกิดแพร่หลายมากขึ้น เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ซึ่งบางอย่างก็แทบจะหมดหวังในการรักษา สุขภาพกายก็เสื่อมเสีย จิตใจก็เป็นทุกข์ เช่น มีความเครียด ความกลุ้มกังวล กระวนกระวายมาก มีความรู้สึกแปลกแยกมาก สุขภาพจิตก็เสีย ในด้านธรรมชาติ ดินน้ำอากาศก็เสีย สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม มีมลพิษมาก ถิ่นที่อยู่ของมนุษย์บางแห่งสภาพแวดล้อมเสียมากจนอยู่ไม่ได้ มนุษย์ต้องทิ้งถิ่นฐานอพยพออกไป ส่วนในด้านสังคม ก็มีการเอารัดเอาเปรียบ แก่งแย่งแข่งขันกันมากขึ้น มนุษย์หวาดระแวงกันมากขึ้น ขาดความรู้สึกมีส่วนร่วมในสังคมนั้นๆ การอยู่ด้วยกันไม่มีความอบอุ่น เต็มไปด้วยสภาพตัวใครตัวมัน ทีใครทีมัน

ปัญหาที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นผลกระทบต่อองค์ประกอบในการอยู่ร่วมกัน ๓ อย่างนี้ทั้งสิ้น ฉะนั้น ปัจจุบันนี้มนุษย์จึงเริ่มเกิดความตื่นตัว ที่จะรู้เข้าใจโทษภัยของความเจริญแบบเอาชนะธรรมชาติ เมื่อรู้สึกถึงอันตรายของความเจริญแบบนี้ ก็คือรู้สึกถึงภัยของเทคโนโลยีด้วยนั่นเอง เพราะเทคโนโลยีเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความเจริญแบบนี้ เมื่อตื่นตัวแล้วก็หาทางออกกันเป็นการใหญ่

ทางออกทางหนึ่งก็อยู่ที่เทคโนโลยีนั่นเอง คือ หาทางสร้างสรรค์พัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่ไม่เกิดโทษภัย ดังปรากฏว่า ปัจจุบันนี้มีกลุ่มชนไม่น้อยหันมาสนใจเทคโนโลยีตามแนวความคิดใหม่ ที่เขาเรียกว่า เทคโนโลยีระดับกลาง (intermediate technology) หรือบางทีเรียกว่า เทคโนโลยีที่เหมาะสม (appropriate technology) และยังมีชื่อเรียกอีกหลายอย่าง บ้างก็เรียกว่า ซอฟท์เทคโนโลยี เทคโนโลยีที่นุ่มนวล (soft technology) หรือว่า เซนซิเบิลเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่สมเหตุสมผลหรือมีความสำนึกหน่อย (sensible technology) ออลเทอร์เนตีฟเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่เป็นทางเลือก (alternative technology) อะไรทำนองนี้ มีชื่อเรียกมากมาย การที่มีชื่อเรียกหลายอย่างนี้ ในแง่หนึ่งก็เป็นการแสดงว่าคนจำนวนมากได้หันมาสนใจใส่ใจ คิดเอาจริงเอาจังกับเทคโนโลยีแบบนี้

ลักษณะสำคัญของเทคโนโลนีแบบนี้ก็คือ พยายามไม่ให้มีมลภาวะ ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะก็ใช้ทรัพยากรที่ทดแทนใหม่ได้ หรือใช้วัสดุที่หมุนเวียนได้ ไม่ก่อความรู้สึกแปลกแยกในจิตใจ และไม่ทำให้คนแปลกแยกจากกัน เช่นให้ภายในที่ทำงานมีชีวิตชีวา ไม่ทำงานอย่างเป็นเครื่องจักรเครื่องกล แล้วก็เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตสิ่งบริโภคในบ้านหรือในท้องถิ่น แทนที่จะเป็นระดับชาติระดับเมืองอย่างที่เป็นมาแต่ก่อน อันนี้ก็เป็นความเคลื่อนไหวใหม่

ท่าทีและการปฏิบัติในเรื่องเทคโนโลยี เท่าที่ว่ามาในข้อนี้ โดยสรุปก็คือ

๑. จะต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับระบบความดำรงอยู่ร่วมกันด้วยดี โดยประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกันระหว่างองค์ประกอบทั้ง ๓ คือ มนุษย์ ธรรมชาติ สังคม จะต้องสร้างความเข้าใจอย่างนี้ขึ้นมาให้มนุษย์รู้สึกตัวสำนึกว่า องค์ประกอบทั้งสาม คือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม นั้นเป็นสิ่งที่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ควรจะอยู่ร่วมกันด้วยดี เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เอาเปรียบกันทำลายกัน ฉะนั้น เทคโนโลยีที่ทำลายธรรมชาติ เทคโนโลยีที่ทำลายสังคม ที่ก่อปัญหาแก่ชีวิต จึงควรถูกละเลิก เลิกใช้ เลิกผลิต แต่ที่ว่านี้ก็ยังเป็นเพียงความฝัน เพราะว่ามนุษย์ได้ก้าวหน้ามาในทางสายนี้ไกลมากแล้ว การกลับตัวไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก

อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยสิ่งที่จะต้องทำประการแรกก็คือ จะต้องสร้างความตื่นตัวตระหนัก สร้างความสำนึก และความเข้าใจพื้นฐานนี้ขึ้นมา ให้เห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันด้วยดีระหว่างองค์ประกอบทั้ง ๓ คือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม ให้การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นไปในทางที่จะช่วยส่งเสริมความประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกันนี้ คือ ไม่ใช่สร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเป็นองค์ประกอบใหม่ที่ ๔ ไม่ใช่สร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเป็นตัวที่แปลกหน้า เป็นตัวที่เข้ามาแทรกแซง กั้นแยกมนุษย์ ธรรมชาติ สังคม ออกจากกัน ตลอดจนกลายเป็นตัวทำลายองค์ประกอบเหล่านั้น แต่จะต้องมีท่าทีปฏิบัติต่อเทคโนโลยีใหม่ คือสร้างเทคโนโลยีขึ้นให้เป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมประสานองค์ประกอบทั้ง ๓ อย่างนั้นให้เข้ามากลมกลืนเกื้อกูลและงอกงามไปด้วยกัน

๒. ตั้งเจตนาต่อธรรมชาติใหม่ ไม่มุ่งเอาชนะ ไม่มุ่งพิชิต เบียดเบียนธรรมาติ แต่มุ่งรู้ เข้าใจ เพื่อจะได้ปฏิบัติถูกต้องต่อธรรมชาติ ในการที่จะอยู่อย่างประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกันกับธรรมชาติ และแม้แต่จะให้สามารถช่วยเหลือธรรมชาติได้ในเวลาที่ธรรมชาติถูกทำให้เสียสมดุล ข้อนี้แสดงว่า การที่มนุษย์มีความเจริญทางวิทยาการต่างๆ นี้ไม่ใช่ไร้ประโยชน์ แต่ควรจะมีท่าทีใหม่ต่อธรรมชาติ แล้วใช้ความรู้ในวิทยาการต่างๆ สนองท่าทีใหม่ ในทางที่สร้างสรรค์เกื้อกูลนั้น

ที่ว่ามานี้ ไม่ใช่เป็นการถอยหลังกลับไปหายุคก่อน ขอให้เทียบดูในยุคต่างๆ ที่พูดมาแล้ว ในยุคแรก คือยุคบุพกาล มนุษย์ขึ้นกับธรรมชาติโดยสิ้นเชิง ไม่เป็นตัวของตัวเองเลย ธรรมชาติเป็นอย่างไร ตัวก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น ไม่มีความเป็นอิสระ ต่อมาในยุคที่สอง คือยุคเกษตรกรรม มนุษย์รู้จักธรรมชาติมากขึ้น รู้จักทำสิ่งที่เป็นของตัวเองโดยให้ประสานกลมกลืนกับระบบของธรรมชาติ ยังขึ้นต่อธรรมชาติ แต่มีความเป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระขึ้นบ้างในระดับหนึ่ง ต่อมาอีกถึงยุคอุตสาหกรรม มนุษย์มุ่งเอาชนะธรรมชาติ พยายามพิชิตธรรมชาติ มีความเป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระขึ้นมากทีเดียว แต่เกิดความขัดแย้งกับธรรมชาติ ต่างฝ่ายต่างสูญเสีย เกิดความระส่ำระสาย แล้วเกิดผลเสียหายร่วมกัน ซึ่งกระทบต่อทั้งสองฝ่าย

ตอนนี้จะขึ้นยุคใหม่เป็นยุคที่ ๔ จะต้องเปลี่ยนใหม่ ไม่ใช่หวนหลังกลับไปหาเก่าทั้งหมด แต่เป็นการปรับให้พอดี คือ รู้จักจัดตนเองและธรรมชาติให้ประสานกลมกลืนและเกื้อกูลต่อกัน ซึ่งมนุษย์สมัยปัจจุบันมีความสามารถที่จะทำได้มาก เพราะว่ามนุษย์ได้มีความรู้ เข้าใจธรรมชาติมากขึ้นด้วยความเจริญทางวิทยาศาสตร์ ส่วนการปฏิบัติให้ถูกต้องก็คือการนำพุทธธรรมมาใช้นั่นเอง และนี่ก็เป็นจุดหนึ่ง ที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาบรรจบกับพุทธธรรม

๓. สร้างสรรค์ พัฒนา และใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือพัฒนาศักยภาพของคน หรือเพื่อสร้างเสริมโอกาสในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือพัฒนาศักยภาพ เช่นนั้น ไม่ผลิต พัฒนา หรือใช้เทคโนโลยี เพื่อสนองความเห็นแก่ตัว และการเบียดเบียน ทำลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำลายมนุษย์ด้วยกัน ทำลายสังคม หรือทำลายธรรมชาติแวดล้อมก็ตาม ไม่มุ่งสนองโลภะ โทสะ โมหะ หรือตัณหา มานะ และทิฏฐิ ไม่ส่งเสริมให้เกิดความลุ่มหลงมัวเมาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นทาสของวัตถุ ตลอดจนเป็นทาสของเทคโนโลยีเอง แต่ให้เทคโนโลยีเป็นเครื่องส่งเสริมเอื้ออำนวย ในการที่มนุษย์จะเข้าถึงสันติสุขและอิสรภาพ รวมทั้งดำรงรักษาความเป็นอิสระจากเทคโนโลยีนั้นเอง ไว้ได้โดยตลอดด้วย

ที่จริงนั้น ไม่ว่ามนุษย์จะเจริญด้วยเทคโนโลยีมากเพียงไร แม้จะเอาชนะพยายามพิชิตธรรมชาติอย่างไรก็ตาม ก็หนีความต้องการธรรมชาติไปไม่พ้น เพราะองค์ประกอบทั้ง ๓ อย่าง คือ มนุษย์ ธรรมชาติ สังคมนั้น เป็นองค์ประกอบที่มีชีวิต มีฐานที่โยงถึงกัน ซึ่งดึงดูดกันอยู่เป็นธรรมดา และมนุษย์นี้ต้องการความมีชีวิตชีวา ซึ่งเทคโนโลยีไม่สามารถให้ได้โดยสมบูรณ์ แม้ว่าเทคโนโลยีจะเจริญพัฒนาไปมากมาย มนุษย์อาจจะตื่นเต้นไปกับเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ๆ จนหลงลืมตัว ลืมเพื่อนสนิท มิตรร่วมตายสหายเก่า เพราะมัวสนุกสนานกับเทคโนโลยีนั้น ทำให้ลืมไปชั่วคราว ไม่นึกถึงธรรมชาติ ไม่นึกถึงสังคม ไม่นึกถึงมนุษย์ด้วยกัน เห็นแก่ตัว แต่ไม่เห็นแก่ชีวิตของตน

ความตื่นเต้นเตลิดไป และความมัวเมาจากการที่ได้สนองตัณหา สนองมานะ สนองความรู้สึกอวดโก้ มีความหรูหรา ฟุ้งเฟ้อ อะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นความรู้สึกที่ทำให้เราเพลิดเพลินไปได้ชั่วคราว เมื่อใดความรู้สึกตื่นเต้นฟู่ฟ่านี้จางหายหมดไป มนุษย์ก็จะรู้สึกว่า เทคโนโลยีนั้นเป็นของที่แห้งแล้ง จืดชืด ไม่มีชีวิตชีวา แม้คนจะเจริญด้วยเทคโนโลยี มีคอมพิวเตอร์ อะไรต่างๆ มากมาย แต่ก็หนีธรรมชาติไม่พ้น ในเวลาหนึ่งเขาจะต้องการความมีชีวิตชีวา จะต้องนึกถึงธรรมชาติ และจะต้องนึกถึงมนุษย์ด้วยกัน

แม้ว่าเทคโนโลยีจะช่วยสื่อสารให้คนพูดกันได้เห็นกันได้ทางโทรศัพท์ ติดต่อกันได้ทางคอมพิวเตอร์ สื่อสารกันได้รวดเร็ว รู้สึกตื่นเต้นสนุกไปชั่วคราว แต่ในที่สุด มนุษย์ก็ต้องอยากพบตัวจริงกันอยู่นั่นแหละ การมาพบปะกัน มาคุยกันต่อหน้าต่อตาและพร้อมหน้าพร้อมตา ย่อมให้ความรู้สึกเต็มอิ่มเต็มจิตเต็มใจ ดีกว่าจะใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นเป็นเครื่องติดต่อ (ในทางตรงข้าม บางคนถ้าพบกันจะทำให้เสียความมีชีวิตชีวา ก็เลยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารเพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการพบปะตัวกัน จะได้ไม่สูญเสียความมีชีวิตชีวา) เพราะฉะนั้น ในขั้นสุดท้าย มนุษย์จะหนีธรรมชาติ หนีสังคม และหนีชีวิตที่แท้จริงของตนเองไปไม่พ้น จึงเป็นอันว่าจะต้องคำนึงอยู่ตลอดเวลาถึงองค์ประกอบ ๓ ประการนี้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของความเป็นมนุษย์เลยทีเดียว

อนึ่ง ควรจะพูดย้ำไว้ว่า เทคโนโลยีไม่ว่าจะเจริญก้าวหน้ามากเท่าใด ก็เป็นเพียงส่วนเสริมหรือเป็นตัวการพิเศษในระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ โดยที่มันเป็นเครื่องมือขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ ทำให้มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย เป็นปัจจัยข้างฝ่ายมนุษย์ที่เกิดเพิ่มเข้ามาในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั้น เพื่อสนองความประสงค์ของมนุษย์เอง ข้อพิเศษอยู่ที่ว่า แม้ว่ามันจะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั้น แต่มันก็เป็นปัจจัยที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมนุษย์ใช้จัดสรรปัจจัยอื่นๆ เพื่อผันหรือผลักดันกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยให้ดำเนินไปตามที่มนุษย์ต้องการ

ถึงแม้จะพูดกันถึงขั้นที่ว่า มนุษย์สามารถใช้เทคโนโลยีชั้นสูงสร้างชีวิตพันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้ แต่แท้ที่จริงมนุษย์และเทคโนโลยีก็หาได้สร้างชีวิตขึ้นมาไม่ มนุษย์ทำได้เพียงแค่ใช้เทคโนโลยีเป็นปัจจัยจัดสรรผลักดันองค์ประกอบและเหตุปัจจัยของชีวิตที่มีอยู่ในธรรมชาติให้ปรากฏผลออกมาอย่างนั้นเท่านั้น เทคโนโลยีถ้าไม่เป็นปัจจัยแปลกปลอม ก็เป็นเพียงปัจจัยเสริมเติมเท่านั้น มันไม่ใช่ชีวิตและไม่สามารถแทนชีวิตได้ ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะใช้มันในทางที่เกื้อหนุนชีวิต หรือในทางที่จะเบียดเบียนทำลายชีวิต

เรื่องมนุษย์กับธรรมชาติและสังคมนี้ จะเห็นได้ว่า ในพระพุทธศาสนาท่านคำนึงอยู่ตลอดเวลา พระสงฆ์นั้นจะต้องไม่ห่างจากธรรมชาติ วิถีชีวิต การปฏิบัติบำเพ็ญต่างๆ ก็สนับสนุนให้ไปใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ไปอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ส่วนในด้านสังคม แม้พระพุทธศาสนาจะไม่ส่งเสริมความติดพัน ไม่สรรเสริญการคลุกคลี และแนะนำให้พระสงฆ์อยู่อย่างสงบในที่สงัด แต่แม้ในกรณีอย่างนั้น คือ แม้แต่พระสงฆ์ที่ต้องการวิเวก ท่านก็ไม่ให้ตัดขาดจากสังคม พระต้องเข้ามาหาชาวบ้านเพื่อรับอาหารและให้ธรรม

แม้ในสังคมของพระสงฆ์เองก็มีวินัยบังคับว่า พระภิกษุจะต้องมีการประชุมกัน ต้องมาพบปะกันอย่างน้อย ๑๕ วันครั้งหนึ่ง มาทำสังฆกรรม ทำอุโบสถ พระสงฆ์ตามหลักธรรมวินัย มีชีวิตแบบอยู่ร่วมกันอย่างน้อยก็เป็นชุมชนเล็กๆ ต้องเรียนรู้และฝึกฝนที่จะปฏิบัติต่อกันในทางสังคม ให้อยู่กันอย่างเรียบร้อยด้วยดี เกื้อกูลกันพร้อมเพรียงกัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดำรงธรรมได้และเป็นหลักใจของประชาชน ตามหลักสาราณียธรรม ๖ และอปริหานิยธรรม ๗ พระสงฆ์จึงไม่สามารถแยกตัวตัดขาดจากสังคม

การเป็นสมาชิกของสงฆ์ก็คือการอยู่ร่วมในสังคมนั้นเอง แม้แต่เป็นอริยบุคคลแล้วก็ร่วมอยู่ในอริยสงฆ์ สงฆ์ก็คือหมู่หรือชุมชน ผู้ที่บรรลุธรรมชั้นสูงเป็นอริยบุคคลก็มีความรู้สึกว่าท่านมีส่วนร่วมอยู่ในสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ แต่ละท่านก็มีส่วนร่วมอยู่ในสงฆ์ทั้งหมด ไม่ได้หนีสังคม

เป็นอันว่า องค์ประกอบ ๓ ประการนี้ เป็นสิ่งที่ต้องประสานกลมกลืนไปด้วยกัน ถ้าจะมีและใช้เทคโนโลยี ก็ต้องให้เทคโนโลยีนั้นส่งเสริมหลักการที่กล่าวมานี้ และนี้ก็เป็นข้อปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีอีกอย่างหนึ่ง

เมื่อพูดถึงความประสานกลมกลืน มีเรื่องที่ควรทำความเข้าใจกันเล็กน้อย ความประสานกลมกลืนนั้นตรงข้ามกับความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำลักลั่นแทรกแซง เมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเจริญงอกงามขึ้นนั้น บางทีก็ต้องมีอาการขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำลักลั่นแทรกแซงเกิดขึ้นภายในตัวก่อน ในกรณีเช่นนี้ ถ้ามีแต่ความประสานกลมกลืนกันอยู่ ความเจริญงอกงามก็ไม่เกิดขึ้น ความขัดแย้งเหลื่อมล้ำลักลั่นแทรกแซงจึงอาจจะเป็นอาการอย่างหนึ่งของความเจริญงอกงาม

อย่างไรก็ตาม จะต้องไม่หลงเข้าใจผิด แล้วไม่เห็นความสำคัญของความประสานกลมกลืนในกระบวนการแห่งความเจริญงอกงาม จะต้องเข้าใจว่า เมื่อมีความขัดแย้งเหลื่อมล้ำลักลั่นแทรกแซงกันเกิดขึ้นนั้น ถ้าสิ่งนั้นจะเจริญงอกงามต่อไป ความขัดแย้งลักลั่นนั้นก็เป็นอาการที่แสดงว่า มีเหตุปัจจัยบางอย่างซึ่งทำให้สิ่งนั้นต้องทำการปรับตัวใหม่ ความขัดแย้งลักลั่นนั้นเป็นอาการของการปรับตัวที่กำลังดำเนินไปอยู่ เมื่อปรับตัวใหม่ได้แล้ว สิ่งนั้นก็ก้าวเข้าสู่ความเจริญขั้นต่อไป การปรับตัวได้ก็คือการที่สิ่งนั้นคืนเข้าสู่ภาวะประสานกลมกลืนใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ความขัดแย้งลักลั่นนั้น เป็นอาการของความเคลื่อนคลาดออกจากดุลยภาพ และพร้อมกันนั้นก็เป็นการดิ้นรนเพื่อเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ คือความประสานกลมกลืนอีกครั้งหนึ่ง ความประสานกลมกลืนจึงเป็นจุดหมายของความลักลั่นขัดแย้ง และทั้งเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความสำเร็จในการปรับตัวใหม่ได้ ที่ทำให้ความลักลั่นขัดแย้งสิ้นสุดลง ความประสานกลมกลืนเป็นภาวะแห่งดุลยภาพเดิมก่อนที่จะเกิดความลักลั่นขัดแย้ง และเป็นภาวะแห่งดุลยภาพใหม่ที่เป็นจุดหมายของความลักลั่นขัดแย้งที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับความสงบหรือสันติ เป็นภาวะแห่งดุลยภาพเดิมก่อนที่จะเกิดความดิ้นรนปั่นป่วนหวั่นไหว และเป็นจุดหมายปลายทางของความดิ้นรนปั่นป่วนหวั่นไหว และแม้แต่ระส่ำระสายที่เกิดขึ้น เพราะการที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งดิ้นรนหวั่นไหวก็เพื่อเข้าไปหาภาวะสงบนิ่งหรือสันตินั่นเอง

ฉะนั้น ความลักลั่นขัดแย้งที่ยอมรับได้ก็คือ ความลักลั่นขัดแย้งในกระบวนการปรับตัว ที่กำลังดำเนินเข้าสู่ความประสานกลมกลืนหรือดุลยภาพใหม่ โดยเฉพาะความลักลั่นขัดแย้งที่ดำเนินไปภายในการควบคุมดูแลของปัญญา ที่กำลังนำทางมันเข้าสู่ความประสานกลมกลืนได้อย่างชาญฉลาด ซึ่งจะเป็นขั้นตอนของความเจริญงอกงามอย่างแท้จริง แต่ถ้าความลักลั่นขัดแย้งเหลื่อมล้ำแทรกแซงนั้น เป็นเพียงความเคลื่อนคลาดออกจากดุลยภาพ แล้วดำเนินไปอย่างเปะปะ สับสนเลื่อนลอย ไม่เข้าในทางแห่งการปรับตัวสู่ความประสานกลมกลืน ที่เป็นดุลยภาพใหม่ และไม่เป็นไปโดยการนำทางของปัญญา ความลักลั่นขัดแย้งนั้นก็จะเป็นเพียงอาการ หรือขั้นตอนของความพินาศแตกสลาย หาใช่เป็นความเจริญงอกงามอย่างใดไม่

ดังนั้น จึงตัองกล่าวถึงความประสานกลมกลืนยืนเป็นหลักของความเจริญงอกงาม แต่เป็นความประสานกลมกลืนที่เคลื่อนไหวปรับตัว ไม่ใช่ความกลมกลืนอยู่นิ่งๆ ตายๆ ความประสานกลมกลืนนี้เป็นดุลยภาพภายในกระบวนการ คู่กับสันติหรือความสงบ ซึ่งเป็นดุลยภาพที่ปรากฏภายนอก หรือเป็นดุลยภาพในที่สุดคือเมื่อจบกระบวนการ

อนึ่ง บางครั้ง แม้ว่าความลักลั่นขัดแย้งจะยังไม่เกิดขึ้น ปัญญาที่ชาญฉลาดอาจริเริ่มทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสิ่งทั้งหลายเอง โดยจัดสรรปัจจัยต่างๆ ทั้งที่มีอยู่เดิมและที่เพิ่มเข้ามาใหม่ ให้ปรับตัวเข้าด้วยกัน และดำเนินต่อไปอย่างประสานกลมกลืนตั้งแต่ต้นจนตลอด โดยไม่ปรากฏความลักลั่นขัดแย้งออกมาเลย ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นความเจริญงอกงามอย่างประสานกลมกลืน หรือเป็นการพัฒนาอย่างมีบูรณาการ ซึ่งทำให้มีสมดุลสืบเนื่องอยู่ได้ตลอดเวลา

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง