ชีวิตในสังคมเทคโนโลยี

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การพัฒนาคน เพื่อให้เทคโนโลยีเป็นคุณ

ที่ว่ามานี้ เป็นเรื่องของเทคโนโลยีด้านหนึ่งที่เราจะต้องรู้เข้าใจ ส่วนสิ่งที่เราจะต้องทำในเบื้องแรกคือ ท่าทีของการปฏิบัติมีอะไรบ้าง ด้านหนึ่งก็คือการรู้จักพึ่งตัวเอง จะต้องพร้อมที่จะเป็นอยู่ได้โดยไม่ต้องมีเทคโนโลยี และถ้ามีเทคโนโลยี ก็ให้เทคโนโลยีนั้นเป็นเครื่องเสริมความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น หมายความว่า ถ้าคนในสังคมที่เทคโนโลยีเจริญแล้วกลับกลายเป็นว่าชีวิตต้องขึ้นกับเทคโนโลยี ก็จะมีลักษณะเป็นทาสเทคโนโลยีใน ๒ ประการ คือขาดเทคโนโลยีแล้วไม่มีความสุข และขาดเทคโนโลยีแล้วทำงานไม่ได้ แต่ก่อนนี้อยู่ได้โดยไม่ต้องมีเทคโนโลยี แต่เมื่อมีแล้วกลับกลายเป็นคนที่หมดอิสรภาพไป นี้เป็นท่าทีที่ผิด

ฉะนั้น จะต้องวางท่าทีใหม่ ให้เทคโนโลยีไม่เกิดโทษ คือ ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีหรือไม่ก็ตาม เราก็สามารถมีความสุขได้ในระดับหนึ่งและทำงานได้ด้วย แต่เมื่อมีเทคโนโลยีแล้ว ก็มีความสุขได้มากขึ้น แล้วก็ทำงานได้มากขึ้น ถ้าอย่างนี้ก็เป็นส่วนที่เสริมให้ดีขึ้น

ปัญหาจากเทคโนโลยีที่ว่ามานี้ เกิดขึ้นตามหลักสำคัญ ๖ อย่าง คือ

๑. การสนองคุณค่าเทียม กล่าวคือ เทคโนโลยีที่ใช้ในลักษณะที่กล่าวมาว่า เป็นเครื่องปรุงแต่งปลุกเร้าความต้องการให้เกิดความสุขอย่างรุนแรงนี้ เป็นไปในด้านสนองความต้องการคุณค่าเทียม เช่น ความเอร็ดอร่อย ความตื่นเต้น ความรู้สึกโก้เก๋ ความเลื่อนไหลไปตามกระแสค่านิยมในสังคม คุณค่าเทียมนี้ไม่ว่าจะทำการสนองความต้องการมากเท่าไร ก็ไม่อาจให้เพียงพอได้ ตามหลักที่ว่า ตัณหานั้นไม่มีเต็ม ท่านบอกว่า นฺตถิ ตณฺหาสมา นที แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี แม่น้ำยังเต็มได้ แต่ตัณหาไม่รู้จักเต็ม

๒. ปัญหาจากการเสียสมดุล หรือเกินพอดี กล่าวคือ ในเมื่อเทคโนโลยีนี้มาปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึก ทำให้เกิดความต้องการอย่างรุนแรง แล้วก็สนองความต้องการอย่างรุนแรง เพื่อให้มีรสชาติเต็มที่ เกิดความสุขอย่างสุดขีด และสุดขีดที่ประสาทสัมผัสจะรับได้ เกินขอบเขตปกติหรือความพอดีที่ระบบสรีระเตรียมไว้รับตามธรรมชาติ ก็เกิดความเสียสมดุล ในระบบชีวิตและแม้กระทั่งในระบบร่างกาย จึงเกิดปัญหาขึ้น นี้เป็นตัวอย่างความเสียสมดุลในวงแคบ ส่วนในวงกว้างออกไป จุดที่เป็นปัญหามากในปัจจุบัน คือการใช้เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดความเสียสมดุลในระบบนิเวศ และกว้างออกไปอีก คือในระบบความดำรงอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม โดยเฉพาะที่เด่นมากคือปัญหาสภาพแวดล้อมเสีย

๓. มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด หรือความไม่เข้าใจตามเป็นจริง ไม่มองสิ่งทั้งหลายตามสภาพของมัน วางใจต่อสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้อง รวมทั้งวางใจต่อชีวิตของตัวเองไม่ถูกต้อง และวางใจแม้ต่อเทคโนโลยีนั้นไม่ถูกต้อง ว่ามันเป็นเพียงสิ่งที่เข้ามาช่วยเสริม อย่าให้ชีวิตของเราไปเป็นทาสต้องขึ้นต่อมัน เมื่อวางท่าทีผิดเข้าใจผิดโทษก็เกิดขึ้นทันที

นอกจากนี้ ความหลงผิดที่ร้ายแรง ก็คือ ความคิดว่า ความสำเร็จความพรั่งพร้อมและความสุขของมนุษย์จะเกิดขึ้นได้ด้วยการเอาชนะพิชิตธรรมชาติ การมองธรรมชาติด้วยท่าทีของความเป็นศัตรูที่จะต้องปราบ แล้วนำไปสู่การเบียดเบียนทำลายธรรมชาติ กลายเป็นสาเหตุสำคัญของความทุกข์ยากเดือดร้อนของมนุษย์ ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

๔. การปล่อยตัวให้อ่อนแอลงไปตามความสะดวกสบาย ที่เกิดจากเทคโนโลยี โดยมัวเพลิดเพลิน สำเริงสำราญ ขาดการฝึกตนให้เข้มแข็งอดทน มีภูมิต้านทานความทุกข์ มนุษย์ในยุคเทคโนโลยีนี้ถ้าขาดการฝึกฝนพัฒนาตนเสียแล้ว ก็มีโอกาสมากที่จะเป็นคนที่มีความสุขยาก และมีทุกข์ได้ง่ายอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ฉะนั้นพร้อมกับความเจริญแบบนี้ ก็ยิ่งมีความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องฝึกฝนตนเองให้มีสติ มีความยับยั้งชั่งใจ มีความหนักแน่นอดทน มีภูมิต้านทานต่อความทุกข์มากยิ่งขึ้น อย่าปล่อยให้ความสะดวกสบายและอิทธิพลการปรนเปรอของเทคโนโลยีมาทำลายศักยภาพที่จะมีความสุขที่มีอยู่ในตัวเอง

๕. ความเสื่อมประสิทธิภาพแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ เพราะมัวหวังพึ่งพาประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของคนที่สัมพันธ์โดยตรงกับการใช้เทคโนโลยี นอกจากปัญหาในด้านความสุขแล้ว คนก็เสื่อมประสิทธิภาพในด้านความสามารถที่จะดำเนินชีวิตและการทำกิจการงานด้วยตนเองด้วย แล้วปัญหานี้ก็ส่งผลย้อนกลับมาสู่การใช้เทคโนโลยีนั้นเอง เช่น ทำให้เกิดความผิดพลาดก่ออุบัติเหตุร้ายแรงง่ายขึ้น เนื่องจากความขาดสติรอบคอบ ขาดความเอาใจใส่รับผิดชอบ และความประมาท ดังที่กล่าวแล้วว่า ยิ่งเทคโนโลยีที่ปรนเปรอให้ความสะดวกเจริญมากขึ้น คนก็มีแนวโน้มที่จะขาดสติ ขาดความรับผิดชอบ เผอเรอประมาทมากยิ่งขึ้น และยิ่งเทคโนโลยีซับซ้อนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเกิดความพลั้งเผลอผิดพลาด อันตรายที่เกิดขึ้นก็ยิ่งเลวร้ายรุนแรงมากขึ้น ปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของคนในด้านจิตใจหรือคุณธรรม จึงมีความสำคัญยิ่งขึ้นในยุคเทคโนโลยี

๖. ความละเลยการพัฒนาความเป็นมนุษย์ ข้อนี้เป็นปัญหาที่ลึกลงไปกว่าข้อที่กล่าวมาทั้งหมด ซึ่งพูดได้ว่าเป็นรากเหง้าของปัญหาในแง่อื่นๆ ทั้งหมด กล่าวคือ แม้ว่ามนุษย์จะได้ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย ในการพัฒนาศักยภาพทางด้านการขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของตนด้วยเทคโนโลยี แต่มนุษย์ที่พัฒนาเทคโนโลยีนั้น ก็มิได้พัฒนาเนื้อตัวของเขาเอง หรือความเป็นมนุษย์ของเขาขึ้นไปด้วย อย่างควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยี

ในเมื่อความเห็นแก่ตัว ความต้องการอำนาจปรารถนาความยิ่งใหญ่ครอบงำผู้อื่น ความคิดเบียดเบียนทำลายกัน และความลุ่มหลงมัวเมายังหนาแน่นอยู่ในจิตใจ ไม่ได้รับการขัดเกลา พร้อมกันนั้น ความเมตตากรุณาความเอาใจใส่ผู้อื่น ปัญญาที่แท้จริง และความมีจิตใจเป็นอิสระ ก็ไม่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาแทนที่ วิสัยแห่งอินทรีย์ที่ขยายออกไป ก็ยิ่งกลายเป็นช่องทางให้เขาสามารถสนองโลภะ โทสะ โมหะ และตัณหา มานะ ทิฏฐิ ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และกลายเป็นเครื่องบำรุงส่งเสริมกิเลสเหล่านั้นให้เติบโตแข็งกล้ายิ่งขึ้น ปัญหาการเบียดเบียนแย่งชิง ความเดือดร้อนวุ่นวายในสังคมมนุษย์ ความเสื่อมโทรมแห่งสภาพแวดล้อม และความทุกข์ในจิตใจของมนุษย์เอง จึงมิได้ลดน้อยลงเลย แต่กลับเพิ่มพูนและรุนแรงยิ่งขึ้นจนถึงขั้นที่น่ากลัวว่า มนุษยชาติจะพินาศสูญสิ้นด้วยผลกรรมของตนเอง ดังที่กำลังหวาดหวั่นกันอยู่มาก

การแก้ปัญหาก็ตรงข้ามกับการเกิดปัญหานั้นเอง คือ

๑. เทคโนโลยีเพื่อคุณค่าแท้ที่เสริมคุณภาพชีวิต โดยรู้จักแยกระหว่างคุณค่าแท้และคุณค่าเทียม คุณค่าแท้คือคุณค่าที่สนองความต้องการให้เกิดคุณภาพชีวิต เช่น กินอาการเพื่ออะไร ร่างกายของเราต้องการอาหาร เพื่อจะเอามาสร้างความเจริญเติบโตซ่อมแซมตนเอง จึงควรกินอาหารให้มีส่วนประกอบหรือธาตุอาหารต่างๆ อย่างเพียงพอ ถ้าเรากินอาหารเพื่อสนองความต้องการของชีวิตแท้ๆ ตามความหมายนี้ พอกินไปได้สักปริมาณหนึ่งมันก็จะพอ คือ พอกินให้ได้ตามความต้องการของร่างกายที่จะซ่อมแซมตัวมันเองและสร้างความเจริญเติบโตให้มีสุขภาพดีแข็งแรง พอได้คุณค่าของธาตุอาหารครบถ้วน ก็จบ แต่ถ้าเรากินอาการเพื่อสนองคุณค่าเทียม คือกินเพื่ออร่อย โก้ สนุกสนาน มัวเมา อวดฐานะกันแล้ว ก็ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะไม่มีเกณฑ์ที่จะตั้ง คุณค่าแท้มีเกณฑ์ที่จะวัดได้ และเรารู้จุดจบ รู้ขอบเขต แต่คุณค่าเทียมไม่มีจุดจบสิ้น

คุณค่าแท้เสริมคุณภาพชีวิต แต่คุณค่าเทียมทำลายคุณภาพชีวิตพร้อมทั้งเบียดเบียนสังคมและเอาเปรียบธรรมชาติ เทคโนโลยีนี้เราจะต้องเปลี่ยนจากการสร้างและใช้เพื่อเสพคุณค่าเทียม ให้มาเป็นเครื่องช่วยในการที่มนุษย์จะได้ประโยชน์จากคุณค่าแท้ ที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิต ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเครื่องส่งเสริมการเสพคุณค่าเทียม

๒. เทคโนโลยีที่เกื้อหนุนระบบความประสานเกื้อกูลแห่งดุลยภาพ โดยรู้จักประมาณ คือความพอดี หรือภาวะสมดุล แล้วดำเนินชีวิตและปฏิบัติการทั้งหลายโดยคำนึงถึงดุลยภาพแห่งระบบการดำรงอยู่ของสิ่งทั้งหลาย ที่ดำเนินไปด้วยดีด้วยความเป็นองค์ประกอบและเป็นปัจจัยร่วมที่มาประสานเกื้อกูลกันอย่างพอดี เริ่มตั้งแต่ความเป็นอยู่ประจำวัน แม้แต่ในการกินอาหาร เมื่อเอาคุณค่าแท้ตั้งเป็นหลัก บางทีถึงมีคุณค่าเทียมประกอบมากบ้างน้อยบ้าง ก็จะไม่เสียสมดุล เพราะคุณค่าแท้ที่ตั้งไว้เป็นหลักจะเป็นตัวรักษาความพอดีให้คงอยู่ คุณประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นได้

ความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีจะต้องดำเนินไปพร้อมด้วยการคำนึงถึงหลักดุลยภาพนี้อยู่เสมอ ให้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นปัจจัยหรือองค์ประกอบในด้านประสานเกื้อกูล ไม่ใช่มาก่อความแปลกแยก รวมทั้งในการปฏิบัติต่อธรรมชาติแวดล้อมทั่วไป เมื่อจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรือมีผลกระทบต่อธรรมชาติแวดล้อม จะต้องคำนึงถึงการรักษาสมดุลหรือการปรับให้เข้าสู่ภาวะประสานกลมกลืน โดยมีดุลยภาพที่น่าพอใจอยู่เสมอ ดังนี้ เป็นต้น

๓. เทคโนโลยีบนฐานของสัมมาทิฏฐิ คือ การผลิตการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีจะต้องประกอบด้วยปัญญาที่มองเห็นและเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เช่น รู้จักคิดให้เข้าใจถูกต้องในความสุข ความทุกข์ของมนุษย์ว่าคืออะไร ไม่ใช่จะคอยหาความสุขจากการปลุกเร้าความต้องการขึ้น แล้วก็ตามสนองความต้องการนั้นเรื่อยไปอย่างไม่รู้จักสิ้นสุด ไม่ใช่เข้าใจว่า ความสุขมีอยู่เพียงที่การคอยสนองความต้องการที่ปลุกเร้าขึ้น รู้จักและเข้าใจคุณประโยชน์และโทษของเทคโนโลยี เพื่อใช้เทคโนโลยีในทางที่เป็นคุณ มองธรรมชาติในฐานะเป็นองค์ประกอบร่วมในการดำรงอยู่ของตนซึ่งจะต้องเกื้อกูลต่อกัน ไม่มองในฐานะเป็นศัตรูที่จะต้องพิชิตหรือทำลาย การเรียนรู้กฎเกณฑ์ปรากฏการณ์และความเป็นไปในธรรมชาติมุ่งเพื่อสามารถแก้ไขจัดสรรเหตุปัจจัยต่างๆ ในธรรมชาติให้เป็นไปในทางที่เกื้อกูลต่อกันยิ่งขึ้น ทั้งให้ธรรมชาติเกื้อกูลต่อมนุษย์ และมนุษย์เกื้อกูลต่อธรรมชาติ ไม่ใช่เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของมนุษย์ฝ่ายเดียว อย่างที่เคยผิดพลาดมา ทั้งนี้ โดยคำนึงอยู่เสมอถึงการรักษาสมดุลและการปรับให้เข้าสู่ความประสานกลมกลืน จนเกิดดุลยภาพที่น่าพอใจอย่างที่กล่าวแล้วในข้อก่อน

๔. เทคโนโลยีของคนที่เป็นไท คนผู้มีผู้ใช้เทคโนโลยีจะต้องระลึกอยู่เสมอว่า มนุษย์เป็นผู้สร้างเป็นผู้พัฒนาและเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี มนุษย์จะต้องเป็นนายเทคโนโลยี ให้เทคโนโลยีเป็นปัจจัยส่งเสริมความดีงามความประเสริฐของมนุษย์ โดยตัวมนุษย์เองจะต้องไม่กลายเป็นผู้พึ่งพา ขึ้นต่อเทคโนโลยี หรือเป็นทาสของเทคโนโลยี เริ่มแต่จะต้องมีสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตน รู้จักบังคับควบคุมตนเองเป็นคนเข้มแข็ง มีภูมิต้านทานความทุกข์ และความพร้อมที่จะมีความสุขอยู่เสมอ อย่างที่ว่า แม้ไม่มีเทคโนโลยี ฉันก็อยู่ได้ ฉันก็สามารถมีความสุขได้ รู้จักที่จะเป็นอิสระจากเทคโนโลยี วางเทคโนโลยีไว้ในฐานะที่ถูกต้อง ให้เทคโนโลยีเป็นส่วนเสริมขึ้นจากการที่ตนเองสามารถหาความสุขได้อยู่แล้ว ทำงานได้อยู่แล้ว ให้มีโอกาสที่จะมีความสุขได้มากขึ้น ทำงานได้มากขึ้น

๕. เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าคู่กันไปกับการพัฒนาคุณภาพของคน โดยฝึกคนให้มีคุณภาพทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่มีความละเอียดอ่อนซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่นฝึกปรืออินทรีย์ให้เฉียบคม มีประสิทธิภาพที่จะสามารถเป็นอยู่อย่างเป็นอิสระ หรือเป็นไทแก่ตนเองอยู่เสมออย่างที่กล่าวในข้อก่อน ไม่ใช่เทคโนโลยียิ่งละเอียดอ่อน คนกลับยิ่งหยาบ เทคโนโลยียิ่งซับซ้อน คนกลับมักง่ายมากขึ้น แต่ให้เป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะ มีความรับผิดชอบ ละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาท นอกจากเป็นนายของเทคโนโลยีแล้ว จะต้องเป็นนายที่สามารถใช้และควบคุมเทคโนโลยี ให้ทำงานสนองวัตถุประสงค์ในทางสร้างสรรค์ได้อย่างถูกต้องเรียบร้อย เป็นผลดีแท้จริง ให้เทคโนโลยีเป็นทาสที่ซื่อสัตย์ หรือเป็นมิตรที่เกื้อกูลของมนุษย์

๖. เทคโนโลยีที่สนองจุดหมายของอารยชน การพัฒนาเทคโนโลยีจะต้องเป็นรองและเป็นเครื่องรับใช้การพัฒนาคนในความหมายแท้จริง ที่ถึงขั้นรากฐาน อย่างเข้าถึงธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ คือ พัฒนาตัวมนุษย์เอง หรือ พัฒนาความเป็นมนุษย์ ทำให้เป็นสัตว์ที่พัฒนาตนแล้ว ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ที่ได้พัฒนาสิ่งอื่นๆ รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว แต่ตัวเองกลับยังไม่ได้พัฒนา หมายความว่า พัฒนาคนให้พ้นจากภาวะของอันธพาลปุถุชน ที่เป็นอยู่เพียงด้วยการสนองความเห็นแก่ตัว การแสวงหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอตน การแก่งแย่งผลประโยชน์และความเป็นใหญ่ที่นำไปสู่การเบียดเบียน ทำลายกัน และความลุ่มหลงมัวเมาด้วยความมืดบอดต่อความเป็นจริงของโลกและชีวิต พัฒนาขึ้นมาสู่ความเป็นอารยชน ผู้มีชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา ซึ่งทำให้รู้ที่จะปฏิบัติได้อย่างถูกต้องต่อชีวิต ต่อสังคม ต่อธรรมชาติที่แวดล้อมตน และต่อสิ่งทั้งหลายที่มนุษย์เองได้พัฒนาขึ้นมา เช่นต่อเทคโนโลยีนั้นเอง เป็นต้น รวมทั้งเป็นผู้พร้อมที่จะดำเนินการพัฒนาต่างๆ ทุกอย่างไปในทางที่ไร้โทษ เป็นคุณ เกื้อกูลต่อชีวิต สังคม และธรรมชาติ ทำให้แก้ปัญหาได้ ปลอดพ้นจากปัญหา ไม่ใช่ก่อปัญหาเพิ่มขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีส่งเสริมปัญญาที่จะเข้าถึงสัจธรรม เพิ่มพูนคุณธรรม และนำชีวิต สังคม และธรรมชาติ ให้ดำเนินไปในระบบความสัมพันธ์อันประสานเกื้อกูล ที่ตัวมนุษย์เองจะได้เข้าถึงสุขสันติและอิสรภาพที่แท้จริง

การศึกษาจะต้องเน้นการพัฒนาคนในระดับนี้ ให้เหนือกว่าและนำหน้าการพัฒนาความสามารถในทางเทคโนโลยี การพัฒนาขั้นนี้คงจะเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นสูงสุดที่จะต้องทำให้ได้ ถ้าต้องการแก้ปัญหาที่กำลังหวาดกลัวกันอยู่ให้ได้ผลอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม แท้ที่จริง สิ่งที่ว่าทำได้ยากนั้น ถ้าทำถูกช่องทางแล้ว ก็อาจกลายเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า มนุษย์ไม่รู้ตระหนักถึงรากเหง้าต้นตอของปัญหานี้ แล้วกลับไปทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับการแก้ปัญหา

การศึกษาในยุคเทคโนโลยีนี้ มีภารกิจสำคัญที่จะต้องสร้างทัศนคติและปัญญาอย่างนี้แก่เด็กให้มากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะในโรงเรียน หรือในบ้านซึ่งพ่อแม่ก็จะต้องสร้างความเข้าใจนี้แก่ลูก ยิ่งเมื่อโลกเจริญมาถึงยุคข่าวสารข้อมูล และเทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูลมีบทบาทมากต่อชีวิตของมนุษย์ มีอิทธิพลมากต่อความเจริญและความเสื่อมของสังคม การศึกษาจะต้องช่วยให้คนเจริญเท่าทันยุคสมัยในความหมายที่ว่า อย่างน้อยจะต้องตื่นตัวรู้เท่าทันต่อความเป็นไปและปัญหาต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และความเสื่อมความเจริญของสังคม เมื่อสดับข่าวสาร ก็ไม่ติดอยู่แค่ส่วนปลีกย่อยที่จะเอามาซุบซิบตื่นเต้นกันไป แต่มองให้เห็นภาพรวมของโลกและสังคม ทั้งในด้านปัญหาที่จะต้องแก้ไขและทางเจริญที่จะดำเนินต่อไป และสามารถแยกแยะวิเคราะห์องค์ประกอบ และเหตุปัจจัยเชื่อมโยงกันขึ้นไป

จะเป็นเรื่องน่าหัวเราะสักเพียงไร ถ้าคนที่อยู่ท่ามกลางความแพร่สะพัดของข่าวสารข้อมูล และเป็นผู้ใช้ผู้บริโภคเทคโนโลยีประเภทนั้นอยู่อย่างเต็มที่ แต่ไม่รู้ทันความเป็นไปของสังคม และสภาพแวดล้อมในโลกที่อยู่รอบตัว โดยเฉพาะในส่วนที่จะส่งผลแก่ชีวิตของตนและคนข้างเคียง ไม่สำเหนียกคุณโทษ และไม่ได้พัฒนาปัญญาที่จะรู้จักใช้ข่าวสารข้อมูลให้เป็นประโยชน์ ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ไม่สมควรจะเรียกว่าเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี แต่เป็นเพียงผู้ถูกเทคโนโลยีครอบงำเท่านั้น ถึงเทคโนโลยีจะพัฒนาขึ้นไปเท่าไร ตนเองก็ไม่ได้พัฒนา และก็ไม่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาของเทคโนโลยีนั้นด้วย เทคโนโลยีเท่านั้นที่ทันสมัย แต่คนหาได้ทันต่อยุคสมัยไม่ และเมื่อไม่สามารถใช้เทคโนโลยีในทางที่เป็นคุณ เทคโนโลยีนั้นก็ไม่ช่วยในการแก้ปัญหา มีแต่จะสร้างปัญหาให้มากขึ้น เท่ากับว่าความเจริญของเทคโนโลยีกลายเป็นโทษ ทำให้การพัฒนามีค่าเป็นหายนะ

ในยุคแห่งเทคโนโลยีที่ข่าวสารข้อมูล มีบทบาทเด่นนำหน้านี้ การศึกษาจะต้องเน้นบทบาทในการทำให้คนรู้จักปฏิบัติต่อเทคโนโลยีและข่าวสารข้อมูลอย่างถูกต้อง ด้วยการพัฒนาคน เพื่อให้เทคโนโลยีเป็นคุณ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง