สิทธิมนุษยชนนี้เป็นหลักประกันเบื้องต้นอย่างที่ว่า เพื่อเป็นเครื่องหมายรู้ร่วมกันว่า เออ คนเรานี้ทุกคนถ้าเขาจะมีชีวิตที่ดี ก็อย่าทำให้เขาเดือดร้อน ต้องให้เขามีให้เขาได้ตามสิทธิมนุษยชนนั้น
แต่ถ้าทำกันแค่ตามสิทธินั้น ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าจะอยู่กันด้วยความแห้งแล้ง
ถ้าในครอบครัวปฏิบัติต่อกันแค่คอยทำตามสิทธิ และระวังสิทธิ ไม่ช้าความรัก ความสดชื่น ร่มเย็น หรืออบอุ่น ก็จะหมดไป อย่างที่ว่าอยู่กันอย่างแห้งแล้ง
เวลานี้ ในสังคมที่พัฒนามากแบบสมัยใหม่ โดยเฉพาะในอเมริกา แม้แต่พ่อแม่กับลูกก็เริ่มจะอยู่แบบระวังสิทธิกัน เริ่มตั้งแต่เรื่องสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับความเสมอภาคระหว่างหญิง-ชาย ซึ่งแม้จะเป็นด้านหนึ่งที่เราจะต้องคำนึงในสังคม แต่เราจะอยู่แค่นั้นไม่ได้
สมัยที่ในอเมริกากำลังเริ่มพูดเรื่องความเสมอภาคระหว่างหญิง-ชายกันมากสักสิบกว่าปีมานี่ เคยอ่านหนังสือฝรั่งเล่าว่า คู่แต่งงานคู่หนึ่ง เขาตกลงกันได้แล้ว เขามาเขียนอวด เขาบอกว่า เราได้พิจารณากันว่า เรามีลูกนี่ เราสองคนฝ่ายหญิงฝ่ายชายจะแบ่งหน้าที่กันอย่างไรให้เท่ากันเพื่อความเสมอภาค ก็ตกลงว่าจะผลัดกันซักผ้าอ้อมให้ลูกคนละห้าวัน เจ็ดวัน ผลัดกันเลี้ยงคนละห้าวัน เจ็ดวัน หมายความว่าทำงานเลี้ยงลูกให้เสมอกัน
ในเรื่องนี้ เขาก็พอใจว่า เขาทั้งสองได้ตกลงกันสำเร็จ เป็นความเสมอภาค
เราอ่านแล้วก็มาคิดว่า อ้อ นี่เขามองเรื่องสิทธิความเสมอภาคจนกระทั่งลืมจุดหมายของการเลี้ยงลูกหรืออย่างไร เพราะการเลี้ยงลูกนี่จุดหมายควรจะอยู่ที่ลูก คือมุ่งเพื่อให้ชีวิตของลูกดีงามมีความสุข ควรจะมาพิจารณาตกลงกันในแง่ที่ว่าเพื่อให้ลูกของเราเจริญเติบโตอย่างดีนี่ เราควรจะทำอย่างไร ควรจะเน้นไปที่นั่นมากกว่า
เช่นพิจารณาว่า เออ ลูกของเราต้องการอะไร ต้องการแม่แค่ไหน ต้องการพ่อแค่ไหน แล้วทำอย่างไรจะเลี้ยงให้ลูกเป็นสุข ให้เขาเจริญเติบโตอย่างดี
ไม่ใช่จะมาตกลงแบ่งกันว่า ฉันเป็นฝ่ายชาย ฉันเป็นฝ่ายหญิง มีสิทธิเท่ากัน ก็มาแบ่งกัน พอดีเท่ากัน แล้วก็จบ เลยมองข้ามจุดหมายของการเลี้ยงลูก แล้วก็มองข้ามลูกไปด้วย คือมัวแต่คิดถึงสิทธิส่วนตัวซะ
เรื่องนี้ ถ้ามองไปอีกทีก็คือการที่คนเริ่มจะเห็นแก่ตัวมากขึ้น แทนที่จะทำเพื่อจุดหมายที่ดีงามบางอย่าง แล้วก็ทำได้โดยตัวเองก็มีความสุขด้วย