เริ่มแรก เรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ การแต่งงานนี้ ในแง่หนึ่งเป็นการเริ่มต้น ซึ่งหมายถึงการที่บุคคลสองคนได้มามีชีวิตร่วมกัน
นอกจากมีชีวิตร่วมกันแล้ว ก็มีความรับผิดชอบร่วมกันด้วย โบราณถือว่าเป็นการเริ่มต้นมีชีวิตเป็นผู้ใหญ่ เป็นหลักเป็นฐาน ก่อนนี้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ก็ช่วยดูแลรับผิดชอบ แต่ต่อไปนี้จะต้องรับผิดชอบตัวเอง
แม้แต่ในด้านธรรมะสำคัญสำหรับชีวิตร่วมกัน หลักความประพฤติของบิดามารดาที่เรียกว่า "พรหมวิหาร ๔" ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็บอกวิธีปฏิบัติไว้ว่า พอลูกแต่งงานแล้ว พ่อแม่จะใช้หลัก ๓ ข้อแรกน้อยลง และเปลี่ยนมาเน้นในข้อที่ ๔ คือ อุเบกขา เพราะถือว่าลูกจะต้องรู้จักรับผิดชอบตัวเองแล้ว และถือว่ามีความสามารถที่จะรับผิดชอบชีวิตของตนได้
แต่ก่อนนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องเลี้ยง คอยเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขและช่วยแก้ไขปัญหาให้ ตลอดจนต้องคอยส่งเสริมในการเล่าเรียนศึกษา เป็นต้น แต่ต่อไปนี้จะให้ลูกรับผิดชอบตัวเอง พ่อแม่จึงหันมาหนักในข้ออุเบกขา
อุเบกขา หมายความว่า วางใจเป็นกลางคอยดูอยู่ ไม่ได้ทอดทิ้ง แต่ก็ไม่เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซง เพราะว่าชีวิตของคู่แต่งงานตอนนี้เขาต้องรับผิดชอบตัวเองแล้ว พ่อแม่จะเข้ามาแทรกแซงวุ่นวาย ก็กลายเป็นเสีย
นี้ก็หมายความว่า แม้แต่ความสัมพันธ์กับคุณพ่อคุณแม่ ก็ยังเปลี่ยนไป
การรับผิดชอบตัวเองนี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ เริ่มตั้งแต่ความหมายของการสมรส
ความหมายของชีวิตสมรสนั้น ก็มองได้หลายอย่าง แต่สิ่งสำคัญที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ก็คือ ความรัก