ข้อที่ ๓. ในการฝึกตนให้เจริญก้าวหน้าบุกฝ่าไปในชีวิตนี้ ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าย่อมต้องเจออุปสรรค เจอความทุกข์ยากลำบาก แม้แต่มรสุมชีวิต จึงต้องมีคุณธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ “ความอดทน” ที่พระเรียกว่า “ขันติ”
ความอดทนนี่ หมายถึงความเข้มแข็ง ความฮึดอึดสู้ที่จะฟันฝ่าอุปสรรคไปข้างหน้า
ความอดทนนี้มี ๒ แบบ คือ อดทนแบบตั้งรับ กับอดทนแบบบุกฝ่าไปข้างหน้า
อดทนแบบตั้งรับ หมายความว่า ในโอกาสที่สมควร เราต้องมีความสามารถที่จะตั้งรับ เปรียบเหมือนแผ่นดิน คือแผ่นดินนี้ใครจะทิ้งของดีของเสียลงมา ฉันรับได้หมด ไม่ร้องโอดครวญเลย นี้เป็นความอดทนแบบที่หนึ่ง คือตั้งรับได้อย่างผืนแผ่นดิน
ส่วนความอดทนอีกแบบหนึ่ง ท่านเปรียบเหมือนอย่างช้างศึก คือ ช้างศึกนั้นมีจุดหมายที่จะรบให้สำเร็จ จึงบุกฝ่าไปในสงคราม เขาจะยิงลูกศร เกาทัณฑ์ อาวุธอะไรต่างๆ มา ก็ไม่ย่อท้อ ทนต่อความเจ็บ เป็นต้น บุกฝ่าไปข้างหน้าให้งานสำเร็จให้ได้ อันนี้เรียกว่า อดทนแบบช้างศึก
เราต้องมีขันติ คือความอดทนทั้งสองแบบนี้ จึงจะเดินไปในชีวิตได้
เหมือนกับของที่นำมาใช้ทำสิ่งต่างๆ แม้แต่บ้านเรือน เราจะใช้ไม้ ก็ใช้ไม้ที่แข็งแรงทนทาน ทนน้ำ ทนแดด ทนฝน เป็นต้น คนเรานี้ก็ต้องมีความเข้มแข็ง สามารถอดทนได้
ความอดทนของคนนี้ แสดงในลักษณะ ๓ อย่าง คือ
๑. อดทนต่อความลำบากตรากตรำ เช่น ในการงาน เมื่อทำการงาน ก็ต้องมีความลำบากตรากตรำบ้าง บางทีจะต้องทนแดด ทนฝน ทนต่องานหนัก หรือในเวลาที่งานยังไม่เสร็จจะต้องทำให้เสร็จ ก็ต้องอดทนพยายามสู้ทำต่อไป เป็นความเข้มแข็งที่จะทำให้งานลุล่วงไปได้
๒. อดทนต่อทุกขเวทนา คือทนต่อความเจ็บปวดเมื่อยล้าทางร่างกาย เช่นยามเจ็บไข้ ก็อดทนไปตามเหตุผล หมายความว่า ไม่วู่วาม ไม่โวยวาย พยายามรักษาแก้ไขปัญหาไปตามเหตุผล แต่ก็ไม่ใช่ปล่อยทิ้งไว้ ถ้าทิ้งไว้ท่านเรียกว่าประมาท ต้องทำ แต่ไม่ใช่วู่วาม โวยวาย ซึ่งจะกลายเป็นว่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่โดยไม่สมควร
๓. ทนต่อสิ่งกระทบกระทั่งใจ เช่น ทนต่อถ้อยคำ อาการกิริยาของผู้อื่นที่ล่วงเกิน
ไม่ต้องพูดถึงคนอื่นไกล คนอยู่ใกล้ชิดกันที่สุด คือคู่ครองกัน ก็มีเรื่องกระทบกระทั่งกันได้ คนหนึ่งพูดมา อาจจะไม่ได้ตั้งใจเลย นึกไม่ถึงว่าจะไปกระทบใจอีกฝ่ายหนึ่ง หรือการเคลื่อนไหว กิริยาอาการก็กระทบใจได้
ในกรณีอย่างนี้ ถ้าเราไม่มีความอดทน ก็จะเกิดเรื่อง เรียกว่าวู่วามไปตามอารมณ์ ฉะนั้นจึงต้องแก้ไขโดยมีความอดทน เข้มแข็ง ตั้งรับไว้ได้ก่อน ไม่เอาอารมณ์ขึ้นมาเป็นใหญ่ แล้วก็ใช้ปัญญาเอาข้อที่ ๒ มาใช้ในการแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้เรื่องสงบเรียบร้อยลงไปด้วยดี
นี้เป็นเรื่องของขันติ ความอดทน ซึ่งต้องใช้มากอยู่เสมอ