ชีวิตคู่ที่มีคุณค่า

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ถ้าอยู่แค่สิทธิ ก็แห้งแล้ง
จะสุขสดใส เมื่อรักแท้ด้วยน้ำใจ

ยิ่งยุคนี้เป็นยุคที่สังคมมีปัญหามาก รวมทั้งปัญหาในแง่ความสับสนไม่ลงตัวด้วย คือมีความคิดใหม่ๆ ซึ่งยังถกเถียงกันมาก

แม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างเรื่องสิทธิมนุษยชนนี่ ก็เป็นเรื่องที่วุ่นพอสมควรว่าอะไรแค่ไหน และถ้าไม่ตั้งท่าทีให้ถูก อาจจะแทรกเข้ามาเป็นปัญหากับคู่ครองหรือในครอบครัวได้ด้วย

สิทธิมนุษยชนนี้ ในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องของการมองที่เน้นในเรื่องของตัวเอง ซึ่งทําให้เรามีความโน้มเอียงที่จะคอยระวังไม่ให้คนอื่นมาล่วงล้ำสิทธิของเรา ตรงนี้ต้องระวัง จะต้องให้หมายถึงการมองผู้อื่นด้วยว่าเขามีสิทธิอะไร ที่เราไม่ควรไปก้าวก่ายแทรกแซง

แต่เรื่องสิทธิทั้งหมดนี้ มักจะเป็นการมองที่ค่อนไปในทางลบ คือ คอยดูว่าใครมีสิทธิแค่ไหน ถ้ามองไปที่คนอื่น เราก็ดูว่าเขามีสิทธิแค่นั้นแล้วก็พอ ได้แค่นั้นก็จบ เลิก ส่วนในแง่ของตัวเองก็คอยระวังคนอื่นว่าอย่ามารุกล้ำสิทธิของฉัน หรือว่าฉันมีสิทธินะ ฉันก็จะเรียกร้องเอาให้ได้อย่างนั้นๆ

เรื่องนี้ ในแง่ดีก็เป็นหลักประกันให้มนุษย์มีสังคมที่ไม่เดือดร้อนเกินไป แต่ค่อนข้างแห้งแล้ง จะไม่ค่อยมีน้ำใจ ไม่ค่อยมีความสุข

ถ้าพ่อแม่เลี้ยงลูกเพียงเพื่อให้เป็นไปตามสิทธิ ก็คงยุ่ง คือ พ่อแม่ก็คอยดูว่า เออ ลูกของเรามีสิทธิที่จะได้อะไรบ้าง แล้วก็ทำให้แค่นั้นตามสิทธิ ถ้าพ่อแม่ทำอย่างนี้ ก็คงจะไม่ได้ชีวิตครอบครัวที่ร่มเย็นเป็นสุขแน่

แต่ที่อยู่กันมาในสังคมไทยของเรา พ่อแม่ไม่ได้คำนึงเกี่ยงงอนในเรื่องสิทธิ แต่พ่อแม่ทำให้ลูกด้วยความรัก ที่อยากให้ลูกเป็นสุข แม้ตัวเองจะลำบาก จะทุกข์ พ่อแม่ก็ยอม

ถ้ายิ่งมีความรักมาก แม้แต่การที่ตัวเองต้องเสียสละหรือเป็นทุกข์ลำบากในการทำเพื่อลูก พ่อแม่ก็เป็นสุข เป็นสุขเพราะเห็นลูกเป็นสุข หรือเพราะอยากทำให้ลูกเป็นสุข

เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกับคนมีจิตใจที่รักเพื่อนมนุษย์ เมื่อมีความรักต่อคนอื่น อยากเห็นคนอื่นเป็นสุข ก็ทำเพื่อคนอื่นได้

พ่อแม่ และคนที่รักเพื่อนมนุษย์น้น แม้ว่าบางครั้งจะทำให้ตัวเองลำบาก หรือต้องเสียสละมากเหลือเกิน ก็ไม่ได้รู้สึก เพราะเขามีความสุขที่จะทำอย่างนั้น อันนี้ก็กลายเป็นเรื่องของคุณธรรม

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง