๓. คนไทยมีวัฒนธรรมน้ำใจ ชอบช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีอะไรก็พึ่งพากันได้
อันนี้ในแง่ดี ก็ดี ทำให้สังคมอยู่กันด้วยความอบอุ่นใจ มีความสุขด้วยความสัมพันธ์ที่ดีงาม
แต่อีกด้านหนึ่ง ก็เป็นจุดอ่อน คือทำให้คนจำนวนไม่น้อยคอยรอหวังความช่วยเหลือจากคนอื่น ไม่คิดหวังพึ่งตนเอง คือมีความหวังว่า ไม่เป็นไรนี่ ถ้าเราขาดแคลน ถ้าเราลำบาก เราก็ไปพึ่งพาญาติผู้ใหญ่ได้ ไปหาผู้ใหญ่ผู้โต ไปหาญาติมิตรเพื่อนฝูงได้ ไปขอความช่วยเหลือได้ ทำให้ขาดแรงบีบคั้นที่จะทำให้ต้องดิ้นรนขวนขวาย
เมื่อหวังพึ่งคนอื่นได้ ถ้าไร้สติก็อ่อนแอ ได้แต่นอนงอมืองอเท้า วัฒนธรรมที่ดีนั้น ดี แต่ถ้าใช้ไม่เป็น ก็เสีย กลายเป็นเสริมความอ่อนแอ
ตรงข้ามกับสังคมตะวันตก เขามีวัฒนธรรมตัวใครตัวมัน อย่างคนอเมริกัน ที่ชอบ ที่ชื่นชม ที่ติด ใน individualism
ในสังคมแบบตัวใครตัวมัน หวังพึ่งกันไม่ได้ เมื่อคนรู้ว่าตนหวังพึ่งใครไม่ได้ เขาก็ต้องดิ้นรนขวนขวาย เพราะถ้าไม่ดิ้น เขาก็ตาย แรงบีบนี้เป็นทุกข์ ทำให้จิตใจเครียด ไม่สบาย แต่มันทำให้คนเข้มแข็ง ต้องสู้ ต้องดิ้นรนขวนขวาย ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะตาย จะมัวรอใครไม่ได้ อย่าไปหวังพึ่งใคร มีแต่ต้องดิ้นรนเอาเอง และแข่งกับคนอื่น ฉะนั้นจึงเป็นสังคมที่ดิ้นรนกระฉับกระเฉงตลอดเวลา
แล้ววิถีชีวิตแบบนี้ ก็เข้ามาเสริมระบบแข่งขันอีกด้วย ระบบตัวใครตัวมันจึงทำให้คนเก่ง เข้มแข็ง มีลักษณะไม่ประมาท
ทุกอย่างมีทั้งแง่ดีและแง่เสียอยู่ในตัว สิ่งดีของเรานั้น ถ้าเราประมาท ก็เกิดผลเสียทันที
สามแล้วนะ แต่ข้อที่สามนี้ ที่เสียเป็นเพราะว่าคนไทยเราใช้วัฒนธรรมน้ำใจไม่พอดี เนื่องจากปฏิบัติตามหลักพรหมวิหารธรรมไม่ครบชุด
เรื่องนี้ต้องพูดบ่อยๆ เพราะคนไทยไม่เข้าใจหลักพรหมวิหาร ๔ และก็ปฏิบัติไม่ถูก ตอนนี้ขอเลยไปก่อน