จะอยู่อย่างเป็นเหยื่อ หรือขึ้นเหนือไปนำเขา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

คนไทยต้องมีปัญญา รู้จักอุเบกขาให้เป็น

สถานการณ์สำหรับข้อ ๔ ก็คือ ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือระหว่างมนุษย์ในสามข้อแรก ไปกระทบธรรม คือไปกระทบหลักการแห่งความถูกต้องชอบธรรม กฎเกณฑ์กติกา ก็ต้องถึงอุเบกขา

ไม่ว่าจะเป็นหลักการที่เป็นธรรมชาติก็ตาม หลักการที่มนุษย์เอามาบัญญัติในสังคม เช่น เป็นกฎหมาย หรือกติกาสังคมก็ตาม เรียกรวมๆ ว่า ธรรม

หลักการที่เรียกว่า “ธรรม” เหล่านี้ ทั้งสองระดับ ทั้งระดับธรรมชาติ และระดับสังคม ถ้าหากว่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปกระทบเสียต่อธรรม คุณจะต้องหยุด เมตตาออกไปไม่ได้ กรุณาออกไปไม่ได้ มุทิตาออกไปไม่ได้ ไปขวนขวายไม่ได้ ต้องหยุดขวนขวาย การหยุดขวนขวายนี้ เรียกว่า “เฉย” คือ เอาธรรมไว้ ไม่เอาคน หรือวางคนไว้ ว่าไปตามธรรม นี่คือ อุเบกขา

“อุเบกขา” ก็คือหยุดการขวนขวายที่จะไปช่วยคนนั้น เพื่ออะไร เพื่อไม่ก้าวก่ายแทรกแซงกฎแห่งธรรม ทั้งกฎธรรมชาติ และกฎหมาย เราต้องหยุดต้องงด แล้วให้กฎออกมาแสดงตัว

เราไม่แทรกแซงเพื่ออะไร เพื่อให้กฎธรรมชาติและกฎหมายนั้นแสดงผลออกมา ถ้ามนุษย์เข้าไปขัดขวางกฎแห่งธรรม สังคมก็เรรวนหมด จึงต้องให้ธรรมเข้ามาจัดการ

หมายความว่า กติกา กฎเกณฑ์ หลักการ ความถูกต้องชอบธรรมเป็นอย่างไร ก็ปฏิบัติไปตามนั้น นี่คือข้อ ๔ ที่เรียกว่า อุเบกขา

อุเบกขา ก็คือว่า ต่อไปนี้ฉันไม่เอากับคุณแล้วนะ ฉันไม่ขวนขวายช่วยเหลือคุณแล้ว ฉันหยุด ฉันเฉย เพื่ออะไร เพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎแห่งธรรม คือเพื่อรักษาธรรมนั่นเอง

เฉยต่อคน แต่ให้ธรรมเข้ามาจัดการ ใครมีหน้าที่อะไร ก็ว่าไปตามนั้น คุณเป็นผู้พิพากษา คุณเป็นตำรวจ คุณเป็นอะไร ทำไปตามนั้น คือ ว่าไปตามความถูกต้องชอบธรรม ฉันไม่แทรกแซงกระบวนการของธรรม อุเบกขาคืออันนี้

น่าเสียดาย คนไทยไม่รู้จักเลย อุเบกขา ซึ่งเป็นตัวรักษาธรรมที่รองรับสังคมมนุษย์ ด้วยการหยุดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไว้ เพราะถึงตอนนั้น ถ้าเราไม่หยุดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไว้ เราก็ต้องเสียธรรม ฉะนั้น อุเบกขาจึงสำคัญที่สุด สำคัญยิ่งกว่า เมตตา กรุณา มุทิตาเสียอีก เพราะรักษาตัวธรรมไว้

สามข้อแรกรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ระหว่างมนุษย์ แต่ข้อที่สี่รักษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรม ซึ่งก็คือรักษาฐานของสังคมไว้

ฉะนั้น ถ้ามนุษย์อยู่ในหลักการ ๔ ข้อนี้ ก็จะมีดุลยภาพให้สังคมอยู่ในความพอดี

ยามอยู่ดี ไม่มีอะไรผิด ก็ช่วยกันอย่างดี มีน้ำใจ แต่คุณต้องรับผิดชอบต่อความจริง คือ ต่อธรรม ต่อกฎเกณฑ์กติกา ไม่ให้หลักการเสีย ถ้าเสียเมื่อไร ก็หยุด ไม่เอาด้วย ว่าไปตามกฎแห่งธรรม

สามข้อแรกใช้ความรู้สึกมาก เมตตา กรุณา มุทิตา เป็นเรื่องของความรู้สึกที่ดี ไม่ต้องการปัญญามากนัก ปัญญาใช้บ้างนิดหน่อย

แต่ข้อที่สี่ เห็นได้ว่าปัญญาเป็นใหญ่ เพราะเราจะปฏิบัติข้อสี่ได้ เราต้องรู้ว่าอะไรเป็นความจริงถูกต้องดีงาม ธรรมเป็นอย่างไร กฎ กติกาว่าอย่างไร

ข้อ ๑-๒-๓ นั้น ทำตามสถานการณ์ ด้วยความรู้สึกที่ดีงาม ถ้าเขาอยู่ดี ก็มีไมตรี เขาทุกข์ ก็ช่วย เขาสำเร็จ ก็ส่งเสริม แค่ใช้ความรู้สึก ก็ไปได้ แต่ข้อสี่ต้องใช้ปัญญา

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง