จะอยู่อย่างเป็นเหยื่อ หรือขึ้นเหนือไปนำเขา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จะรักษาสังคมไทย ให้ทั้งสุขใสและเข้มแข็ง
ต้องไม่เอาธรรมไปหั่นแบ่งให้กระจัดกระจาย

ฉะนั้น ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสมาเป็นชุดๆ นี้สำคัญมาก ต้องตีให้แตก ต้องเห็นชัดว่า ทำไมถึงต้องเท่านี้ข้อ

เวลาสอนจริยธรรม เอาแต่เมตตามาสอน เอาแต่กรุณามาสอน ก็ทำให้ระบบเสียหมด

เพราะอะไร? ก็เพราะธรรมของท่านเป็นระบบ เป็นองค์รวม พรหมวิหาร ๔ ข้อต้องมาทั้งชุด ถ้าขาดองค์ประกอบ ก็ไม่เป็นพรหมวิหาร ไม่เป็นเศียรพระพรหม ไม่ครบ ๔ พักตร์

ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกว่าพรหมวิหาร เพราะเป็นธรรมเครื่องอยู่ของพรหม

ภูมิหลังมีว่า สังคมอินเดียนั้นเชื่อว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างโลก แล้วต่อไปโลกพินาศ พระพรหมก็สร้างใหม่ มนุษย์ไม่ต้องคิดอะไร ก็อยู่กันไป

นี่เท่ากับพระพุทธเจ้าทรงเตือนว่า อย่าไปรอพระพรหมที่เป็นเทพเจ้ามาสร้างโลกเลย จะทำให้เราไม่รับผิดชอบ แล้วพาลทำอะไรต่อมิอะไรให้โลกพินาศไป แล้วก็รอให้พระพรหมมาสร้างใหม่ มันไม่เข้าเรื่อง เราทุกคนต้องมาช่วยกันรับผิดชอบสร้างโลกนี้ ทุกคนต้องเป็นพรหม

พระพุทธศาสนาจึงย้ายพระพรหมจากเทพเจ้า มาให้ทุกคนเป็นพระพรหม ด้วยการมีพรหมวิหาร ถ้าคุณปฏิบัติตามนี้ คุณก็เป็นพรหม

พรหมวิหารเป็นธรรมประจำใจของพรหม เป็นเครื่องอยู่ของพรหม เราเป็นพรหมด้วยการอยู่ในหลักสี่ประการนี้ เมื่อเราอยู่อย่างนั้น เราก็เป็นผู้สร้างโลกและเป็นผู้ผดุงโลก

หน้าที่ของพรหม คือสร้างและผดุงโลก เมื่อมนุษย์ปฏิบัติตามหลักพรหมวิหาร ๔ มนุษย์ทุกคนก็จะเป็นผู้สร้างและผดุงโลก เป็นพรหมด้วยกันทั้งหมด

เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าไม่ให้รอพระพรหมเทพเจ้า แต่ให้มนุษย์ทุกคนเป็นพระพรหมเอง

จะเป็นพรหมอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติให้ครบระบบทั้งสี่ข้อนี้ คือ เมื่อคนอื่นเขาอยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตาไมตรี เขาทุกข์ยากเดือดร้อนตกต่ำ เราก็มีกรุณาช่วยเหลือเขา เมื่อเขาประสบความสำเร็จทำถูกต้องดีงาม เราก็มีมุทิตา ส่งเสริมเขา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลก็เป็นไปต่อกันด้วยดี

แต่อย่างที่ว่าแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไม่เพียงพอ ต้องมีสิ่งที่รองรับสังคมอีกชั้นหนึ่ง สิ่งที่รองรับสังคม ก็คือธรรม เราจึงต้องรักษาธรรมด้วย ฉะนั้น เมื่อมนุษย์สัมพันธ์กันไปในสามข้อแรก หากไปกระทบธรรมก็ต้องหยุด คือมีอุเบกขา ไม่เอาคน หันไปเอาธรรม จึงจะเรียกว่าปฏิบัติได้ครบทั้งระบบ

ถ้ามนุษย์ปฏิบัติอย่างนี้ สังคมอยู่ได้แน่ ธรรมชุดนี้สำคัญมาก ต้องมองความหมายให้เข้าใจ มิเช่นนั้นพระพุทธเจ้าไม่ตรัสเป็นชุดหรอก ก็จะตรัสเป็นข้อๆ

ธรรมในพระพุทธศาสนา ให้สังเกตว่าตรัสไว้เป็นชุดๆ มีหนึ่ง สอง สาม สี่ ต้องมาเป็นชุดๆ หรือเป็นระดับขั้น นี่แหละที่เรียกว่าระบบองค์รวม บูรณาการ หรืออะไรแบบนี้ มีมานานแล้ว

ถ้าปฏิบัติไม่ครบสี่ ไม่บูรณาการ ก็จะเสียดุล ที่เราพูดกันว่าต้องมีดุลยภาพ ต้องบูรณาการ ต้องเป็นองค์รวม นั้น อยู่ในนี้หมด เพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ประดิษฐ์ธรรมขึ้นมาเอง แต่พระองค์เอาจากความเป็นจริงในธรรมชาติ

ดังที่ตรัสว่า ตถาคตจะเกิดหรือไม่เกิด ความจริงมันก็มีอยู่ของมันตามธรรมดา ตถาคตค้นพบความจริงแล้ว ก็นำมาเปิดเผย ชี้แจง แนะนำ อธิบาย ทำให้เข้าใจกันง่าย ธรรมของพระพุทธศาสนาจึงตั้งอยู่บนความจริงของธรรมชาติ

การสอนและปฏิบัติธรรมโดยเลือกเอามาเฉพาะเป็นข้อๆ นั่นเองที่ทำให้ยุ่ง คนไทยก็เลยไปติดแนวคิดแยกส่วนแบบฝรั่ง

ดังปรากฏการสอนจริยธรรม ในหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ บางทีก็มาคิดกันว่า เราจะเอาธรรมะข้อไหนมาสอนดี

เวลาจัดหลักสูตร ก็ดึงเอาธรรมข้อนั้นข้อนี้มา ท่านจัดไว้เป็นหมวดๆ อยู่แล้ว แต่เราไปดึงเอาเมตตามา กรุณาก็ชอบ เลยเอามาด้วย เอาเมตตากรุณามา แต่สองข้อที่เหลือไม่เอา สตินั้นสำคัญนัก ก็เอาสติมา แต่สัมปชัญญะว่ายากไป ก็ไม่เอามา

ไปเที่ยวดึงโน่นมา นั่นชิ้นหนึ่ง นี่ชิ้นหนึ่ง มาเป็นจริยธรรมที่เราเล่าเรียนกัน แล้วคิดดูซิ มันจะไม่ยุ่งหรือ มันก็ไม่เป็น ไม่ครบกระบวนของธรรม

ถ้าเรียนธรรมให้ดี เพียงแค่เรียนชุดเดียว ก็โยงไปหาเรื่องอื่นได้หมด เพราะมันเป็นสิ่งที่อยู่ในระบบ มันสัมพันธ์กัน มันต้องโยงกัน ถ้าเราเข้าใจจริง พอเริ่มจากจุดเดียวนี้ ก็จะโยงไปหาเรื่องอื่นๆ ได้ แจ่มแจ้งไปด้วยกัน เพราะเป็นระบบความสัมพันธ์

แต่นี่ไปเที่ยวดึงมาทีละอัน ทีละข้อ เลยสับสนหมด เราสร้างหลักสูตรจริยธรรมในเมืองไทยโดยเรียนธรรมเป็นข้อๆ จึงต้องเรียกว่าจริยธรรมแบบรายการสินค้า เหมือนทำบัญชีรายการสินค้า ว่าหนึ่ง สอง สาม สี่ ฯลฯ

หัวใจของเรื่องคือ ต้อง มองธรรมเป็นระบบ คือเป็นระบบความจริงของชีวิตและของโลกนี้ เป็นระบบองค์รวมที่องค์ร่วมทั้งหลายสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยส่งผลต่อกันดำเนินไป ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงค้นพบและนำมาสอน

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง