จะอยู่อย่างเป็นเหยื่อ หรือขึ้นเหนือไปนำเขา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ทั้งประเทศเหยื่อ และประเทศใหญ่
ร่วมกันได้ในการทำลายโลก

ในฐานะที่สังคมไทยอยู่ในโลกปัจจุบัน ซึ่งเวลานี้มีอารยธรรมตะวันตกครอบงำอยู่ จึงกระทบกับกระแสของระบบสังคมแบบแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์ที่มาจากตะวันตก

เวลานี้ อิทธิพลของสังคมตะวันตกนั้นแผ่ไปครอบคลุมทั่วโลก เป็นสภาพที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ ฉะนั้น ระบบแข่งขันจึงเป็นโลกาภิวัตน์อย่างหนึ่งที่แผ่ไปทั่วโลก สังคมไทยก็พลอยถูกอิทธิพลอันนี้นำและครอบงำ จึงพลอยเป็นไปตามกระแสนั้นด้วย

ในการที่สังคมไทยไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง แต่เป็นไปตามกระแสอิทธิพลของอารยธรรมตะวันตก เมื่ออารยธรรมตะวันตกแผ่อิทธิพลระบบแข่งขันเข้ามา ก็เกิดมีการแข่งขันขึ้นในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคลที่แต่ละคนแย่งชิงผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน จนถึงระดับสังคมประเทศชาติ ซึ่งแต่ละประเทศชาติก็แข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน และต้องเอาชนะกัน

ทีนี้ ในเมื่อสังคมไทยไม่เป็นตัวของตัวเองในเรื่องนี้ เพราะระบบนี้มาจากที่อื่น เขาใหญ่กว่า แล้วมาครอบงำ เราถูกระบบนี้ครอบงำ เป็นผู้ถูกกระทำ เมื่อต้องการเอาชนะกันระหว่างประเทศ เราก็เป็นเบี้ยล่าง แล้วเราจะอยู่ในฐานะอะไร?

เมื่อสังคมแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์กัน ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งจะเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งก็จะต้องเป็นผู้ได้เปรียบ และอีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ ถ้าสังคมไทยเป็นผู้ถูกกระทำ สังคมไทยจะอยู่ในภาวะอย่างไหน ก็ตอบได้เองว่าอยู่ในภาวะเสียเปรียบ

ในระบบแข่งขันนั้น จะมีแนวทัศนะ ๒ อย่าง หรือมีการมอง ๒ ขั้น คือในความคิดของคนที่มองกันด้วยสายตาของการแข่งขันแย่งชิง

ขั้นที่ ๑ จะมีความรู้สึกเป็นคู่แข่ง และมองกันเป็นปฏิปักษ์ แล้วก็มีความรู้สึกระแวงกัน

ขั้นที่ ๒ ถ้าใครมีความสามารถมากกว่า ก็จะมองอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเหยื่อ

นี่คือแนวทัศนะของการแข่งขัน

ทีนี้ ถ้าไทยเราเป็นฝ่ายเสียเปรียบ อยู่ใต้ครอบงำ ฐานะที่ ๑ ก็เป็นคู่แข่ง ฐานะที่ ๒ ก็เป็นเหยื่อ

นี่เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา และไทยเราก็อยู่ในภาวะอันนี้ แต่เรารู้ตัวไหม?

ถ้าเราไม่รู้ตัว ก็กลายเป็นว่า เราอาจจะหลงระเริงเพลิดเพลินไปในระบบนี้ ชนิดที่เป็นเหยื่อเขาด้วยความไม่รู้ตัว และยังหลงระเริงเพลิดเพลินในความเป็นเหยื่อเสียด้วย นี่ประการหนึ่ง

ทีนี้ มองไปที่รากฐาน แหล่งที่มาของระบบนี้ที่ว่ามาจากตะวันตกนั้น ตะวันตกเองเป็นอย่างไรในระบบการแข่งขัน ก็ปรากฏว่าสังคมตะวันตกเอง ก็อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมเต็มทีแล้ว

สังคมอเมริกันก็โทรมลงไปอีก ทั้งด้านชีวิตจิตใจ ทั้งด้านสังคมที่เสื่อมศีลธรรม จากปัญหาแตกแยกแบ่งผิว เรื่องยาเสพติด ปัญหาทางเพศ ก้าวหน้ามาอีก การศึกษายิ่งสูง แต่คนยิ่งก่อปัญหาอย่างปัญญาอ่อน เกิดความรุนแรงแบบเลื่อนลอยคาดไม่ได้ไม่ถึง คนพัฒนาโรคที่เกิดจากการกินเสพบริโภคอย่างไม่รู้จักพอดี ฯลฯ

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ คนที่แข่งขันกัน ก็เพื่อหาผลประโยชน์ และผลประโยชน์นั้นจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องไปเอาจากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เพราะมนุษย์จะมีสิ่งสำหรับเอามาเสพบริโภคที่เรียกว่าผลประโยชน์นั้น ก็ต้องไปเอาจากธรรมชาติ

เมื่อแข่งขันมาก ก็ไปด้วยกันกับการบริโภคมาก เมื่อบริโภคมากก็ต้องเอาจากธรรมชาติมาก ธรรมชาติก็ยิ่งเสื่อมโทรม เพราะ

๑. ทรัพยากรร่อยหรอ

๒. มีการระบายของเสียมาก ทั้งในแง่ที่ว่า เมื่อผลิตมาก ก็ต้องระบายมลภาวะมาก และเมื่อบริโภคมาก ก็เกิดขยะมาก

ฉะนั้น ธรรมชาติแวดล้อมก็เสื่อมโทรมและเสียไป

สังคมตะวันตกก็รู้ตัวอยู่ว่า เวลานี้ปัญหาเหล่านี้หนักมาก แต่จะแก้ไขอย่างไร เพราะเกิดภาวะขัดแย้งขึ้นมาในตัวว่า ถ้าตัวอยู่ในระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ต่อไป ก็คือการทำลายธรรมชาติ แต่ถ้าตัวหยุดไม่ทำลายธรรมชาติแวดล้อม ก็คือการที่ตัวเองจะต้องไม่ประสบความสำเร็จในระบบแข่งขัน จึงเป็นปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออก ว่าจะเอาอย่างไร

แต่จะอย่างไรก็ตาม เวลานี้รอไม่ได้ เรื่องเฉพาะหน้าก็คือการที่จะรักษาหรือยึดไว้ให้ได้ ซึ่งผลประโยชน์ของตัวและสิ่งที่ได้มากับผลประโยชน์ คืออำนาจความยิ่งใหญ่ สองอย่างนี้ต้องมาด้วยกัน ทรัพย์ กับ อำนาจ

เมื่อต้องการทรัพย์ ต้องการผลประโยชน์ ก็ต้องมีอำนาจ เพื่อที่จะไปเอาให้ได้มาก เมื่อครอบงำคนอื่นได้ ก็เปิดช่องทางที่จะไปเอามาให้แก่ตัว และความยิ่งใหญ่นี้อยู่ได้ ก็ด้วยผลประโยชน์อีก ก็ต้องมีทรัพย์ จึงจะรักษาอำนาจไว้ได้ อำนาจกับทรัพย์ ก็เสริมซึ่งกันและกัน

แต่ปัญหาก็ตามมาอีกว่า จะทำอย่างไรล่ะ ถ้าตัวไปเอาผลประโยชน์มาก ธรรมชาติแวดล้อมก็เสีย ถ้าตัวไม่ยอมหาผลประโยชน์ อำนาจของตัวก็จะลดลง ความยิ่งใหญ่ก็จะเสียไป

เมื่ออยู่ในเวทีโลกแห่งระบบแข่งขัน ก็ต้องเอาชนะคนอื่น เมื่อเอาชนะคนอื่น ก็ต้องหาผลประโยชน์ให้มาก ธรรมชาติแวดล้อมก็เสีย จึงกลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่าจะเอาอย่างไร

แต่เฉพาะหน้า สิ่งที่ค้ำคออยู่ ก็คือผลประโยชน์และอำนาจต้องเอาไว้ก่อน ธรรมชาติจะเสีย ก็ต้องยอม ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น มองข้ามไปเสีย

นี่ก็คือสภาพที่ว่า ในระบบแข่งขันหาผลประโยชน์นั้น ตัวต้นแหล่งเองก็กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก โดยเฉพาะในแง่ที่ว่าจะทำลายโลก แต่ทั้งๆ ที่ว่าการแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์นั้นเป็นการทำลายโลก ตัวเองก็ต้องเอาเพื่อความยิ่งใหญ่ของตนเอง จึงเป็นปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออก

เมื่อแข่งขันกันอยู่ในระบบของโลกนี้ การจะเป็นผู้ชนะได้ในระบบแข่งขัน ก็ต้องได้ผลประโยชน์มาก การจะได้ผลประโยชน์มาก ก็ต้องมีผู้บริโภค ที่จะเป็นผู้ซื้อ

ในทางเศรษฐกิจ จึงต้องปลุกกระตุ้นให้ผู้เสพผู้บริโภคนั้นบริโภคให้มาก

อย่างในเมืองไทยนี้ เมื่อเราเสพบริโภค ลุ่มหลงในวัตถุกันมาก ก็จะเกิดผลประโยชน์แก่เขามาก คือ ผู้ผลิตผู้ขายก็ได้ผลประโยชน์ไป เขาก็ได้ทรัพย์มาก แล้วอำนาจของเขาก็ยิ่งมีมาก

เราก็เป็นเหยื่อป้อนผลประโยชน์ให้เขา และค้ำจุนอำนาจของเขา โดยที่นึกภูมิใจว่าตัวเองสะดวกสบายได้บริโภคได้เสพมาก แต่ที่จริงก็คือ สร้างผลกำไรให้เขา และอยู่ใต้อำนาจของเขา ถูกเขากำกับและกำหนด พร้อมกันนั้น ตัวเองก็บริโภคทรัพยากรมาก ซึ่งเป็นการทำลายธรรมชาติแวดล้อม ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

ฉะนั้น เวลานี้จึงไปด้วยกันระหว่าง

๑. ระบบแข่งขันหาผลประโยชน์

๒. ค่านิยมบริโภค

สองอย่างนี้เกื้อกูลกัน ถ้ามองในแง่นี้ก็แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายผลิตก็เอาระบบแข่งขันมาหาผลประโยชน์ แล้วก็ได้ผลประโยชน์ไป ส่วนฝ่ายลูกค้า หรือฝ่ายผู้บริโภค ก็เพลินอยู่ในค่านิยมบริโภค เมื่อบริโภคมาก ก็ไปสนับสนุนให้ระบบแข่งขันนั้นเกิดมีผลประโยชน์มาก และดำเนินไปได้

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง