คนยุคปัจจุบันนี้ เป็นผู้ถูกสังคมหล่อหลอมมากกว่าจะเป็นผู้ที่มาช่วยสร้างสรรค์แก้ปัญหาให้สังคม เพราะเป็นผู้ถูกกระทำมากกว่าเป็นผู้กระทำ
สังคมเป็นอย่างไร ระบบเป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามนั้น ไหลไป ไม่ใช่อยู่ในฐานะที่จะมาจัดสรรจัดการสังคมว่า สังคมนี้มีปัญหา มันเสียหายอย่างไร เราจะมาแก้มาจัดให้ดี
แต่ได้แค่เป็นผลิตผลของสังคม ถูกสังคมหล่อหลอม ถูกอิทธิพลของสังคมชักพาไป ระบบสังคมเป็นอย่างไร ก็เป็นไปตาม ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไหลไปตามกระแส
การที่จะเป็นตัวของตัวเอง ก็ต้องมีปัญญา เริ่มด้วยรู้เข้าใจสถานการณ์ ว่าเวลานี้เป็นอย่างนี้ ฉะนั้น จึงต้องย้ำให้คนของเรามีปัญญา ที่รู้เท่าทันเขา
เวลานี้ก็ยังติดในศัพท์ เช่นคำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” ทรัพยากรมนุษย์ ก็คือทุน เราเอามนุษย์มาเป็นทุน เป็นปัจจัยในการผลิต เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ
มนุษย์มีความสัมพันธ์กับสังคมหลายอย่าง
๑. มนุษย์เป็นองค์ประกอบที่มาร่วมกันสร้างสังคมให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง มนุษย์เป็นอย่างไร ก็สร้างสังคมอย่างนั้น เป็นปัจจัยตัวกระทำ
๒. ในทางกลับกัน มนุษย์ก็ถูกสังคมหล่อหลอม สังคมมาหล่อหลอมคน คนก็กลายเป็นผลผลิตของสังคม
แล้วอีกอย่างหนึ่ง ในแง่ปลีกย่อย ก็คือ
๓. มนุษย์นั้นคล้ายๆ ว่าเป็นทุน หรือเป็นปัจจัยที่ตอบสนองความต้องการของสังคม สังคมมีความต้องการอย่างนี้ แล้วก็ใช้มนุษย์เป็นทุน เอาไปเป็นเครื่องมือสนองความต้องการของสังคม นี่ก็เป็นปัจจัย แต่เป็นปัจจัยที่ถูกกระทำ
การมองมนุษย์เป็นทรัพยากรนั้น เป็นแนวคิดที่เสี่ยง เพราะถ้าเพลินไป ก็เท่ากับเอามนุษย์เป็นทุนไปสนองความต้องการของสังคม
สังคมกำลังต้องการกำลังคนด้านนี้ ก็ให้มหาวิทยาลัยผลิตผู้สำเร็จวิชาชีพด้านนี้มาให้ได้เท่านี้ เพื่อสนองความต้องการของสังคม
แต่จุดหมายที่สังคมต้องการจะสนองนั้น เป็นจุดหมายที่ถูกต้องหรือเปล่า ตรงนี้อาจจะไม่ได้คิด ถ้าจุดหมายที่สนองนั้นผิด มนุษย์ก็เลยเป็นส่วนประกอบที่เข้าไปเพิ่มกำลังความผิดพลาดให้รุนแรง โดยไม่เป็นตัวของตัวเอง
เวลานี้ เราย้ำศัพท์ว่า “ทรัพยากรมนุษย์” บ่อย โดยไม่ได้คิดว่า การมองมนุษย์นั้น มองได้หลายอย่าง
เราต้องมองมนุษย์ ในแง่เป็นปัจจัยตัวกระทำ ในการสร้างสรรค์สังคม
มนุษย์ไม่ใช่แค่เพียงเป็นทุนสนองความต้องการของสังคม หรือลอยไปตามกระแสสังคมเท่านั้น แต่มนุษย์ต้องมีปัญญาที่จะทำการเปลี่ยนแปลงแก่สังคม หรือแก้ไขปัญหาของสังคมด้วย จึงจะเป็นมนุษย์ที่ดี เพราะสังคมที่เราสร้างขึ้นนั้น ย่อมเดินทางผิดบ้างถูกบ้าง มีปัญหาได้ตลอดเวลา และมนุษย์นี่แหละที่จะมาแก้ปัญหา
การที่สังคมจะเดินทางผิดหรือถูก ก็เป็นไปตามกระแสความเป็นไปและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แม้แต่เพียงค่านิยมตื้นๆ ซึ่งไม่แน่ เดี๋ยวก็ผิด เดี๋ยวก็ถูก ทีนี้ถ้าผิดแล้ว ใครแก้ ก็มนุษย์นี่แหละ
เราจึงต้องการให้มนุษย์นั้น เป็นผู้ที่คอยสร้างสรรค์สังคม ซึ่งหมายความว่า เวลาดี ก็ส่งเสริม เวลาผิดพลาด ก็แก้ปัญหา และทำการเปลี่ยนแปลงให้ถูก มนุษย์ที่มีคุณภาพ ต้องเป็นผู้กระทำต่อสังคมอยู่เรื่อย
แต่เวลานี้ มนุษย์คือตัวบุคคล อยู่ในฐานะที่เป็นผู้ถูกกระทำเสียมากกว่า สังคมเป็นฝ่ายหล่อหลอม คนไม่เป็นตัวของตัวเอง และไม่ได้พัฒนาตัวให้สามารถที่จะมารู้สังคมและนำสังคม แต่เป็นเพียงไปตามสนองความต้องการของสังคม เป็นฝ่ายถูกกระทำ เมื่อถูกกระทำ ก็แย่ไปด้วยกัน ทั้งคนและสังคม
การถูกกระทำยังมี ๒ แบบ คือ
๑. ถูกกระทำอย่างหล่อหลอม คือ สังคมเป็นอย่างไร ก็หล่อหลอมให้คนเป็นอย่างนั้น เช่น สังคมมีค่านิยมบริโภค แต่ละคนเกิดมาอยู่ในสังคมนั้น ก็มีค่านิยมบริโภค อยากเสพไปตาม และ
๒. คนนั้นกลายเป็นทุนที่จะใช้สนองความต้องการ หรือสนองจุดหมายของสังคมอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น ในระบบแข่งขัน ถ้าเอาคนมาใช้เป็นทุนเพื่อไปเสริมหรือรับใช้ระบบแข่งขัน คนก็ถูกกระทำทั้งสองแบบ โดย หนึ่ง ถูกหล่อหลอม สอง เอาไปเป็นกำลัง เป็นทุนในการสนองความต้องการของสังคมนั้น แล้วสังคมก็มาหล่อหลอมมาบีบคนอีก
แทนที่ว่าคนจะมีคุณสมบัติบางส่วนที่อยู่เหนือสังคม และเป็นผู้มาทำการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคม เราก็ไม่อยู่ในฐานะนั้น