จะพึ่งตน ก็ต้องมีตนที่พึ่งได้

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คนที่ฝึกแล้ว จึงเป็นผู้ประเสริฐ

คำว่า “ฝึก” ก็คือศึกษา การศึกษาต้องเน้นที่การฝึก ไม่ใช่เอาแค่หาความรู้ มีอะไรๆ ก็ไปฟังเขา แล้วเขาบอกอะไร ก็ได้รู้ ไม่ใช่แค่นั้น ศึกษาต้องฝึกให้รู้เข้าใจ ให้ทำได้ ให้ทำเป็น ฉะนั้น ศึกษาจึงไม่ใช่อยู่แค่ว่ารู้เท่านั้น ต้องทำได้ด้วย คนเรียนรู้และเรียนทำ จึงจะเป็นศึกษา คือ เรียนให้รู้เข้าใจ เรียนให้ทำได้ทำเป็น นั่นเรียกว่าศึกษา แค่รู้เข้าใจเป็นขั้นหนึ่งเท่านั้น ต้องฝึกคิด ฝึกพูด ฝึกทำด้วย คำว่าฝึกจึงเป็นการศึกษา

การฝึกคือศึกษาเป็นจุดเน้นของพระพุทธศาสนา ฝึกจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ อย่างในพุทธภาษิตที่ว่า

ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ
แปลว่า: ในหมู่มนุษย์นี้ คนที่ฝึกแล้ว เป็นผู้ประเสริฐ

คนที่ฝึกแล้วนี่แหละ จะเป็นคนที่ประเสริฐสุด การที่มาเรียนพระพุทธศาสนา มาปฏิบัติธรรม จนกระทั่งได้บรรลุธรรม ก็คือเรื่องการฝึก เป็นเรื่องของการศึกษาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงต้องเน้นตรงนี้ คือตรงที่ว่าจะต้องฝึกกันเรื่อยไป ยิ่งขึ้นไปๆ ซึ่งก็จะมาเข้าหลักที่ว่า เมื่อฝึกตัวแล้ว ก็จะทำให้ตนเป็นที่พึ่งได้

ถึงตรงนี้ การพึ่งตน กับการฝึกตน เป็นเหตุเป็นผลต่อทอดกันมาโดยตลอดแล้ว ตามลำดับความในคาถาของเรื่องนี้ที่ว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” - ตนนี่แหละเป็นที่พึ่งของตน “โก หิ นาโถ ปโร สิยา” - คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งแท้จริงได้ “อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ” - มีตนที่ฝึกดีแล้ว คือมีตนที่ฝึกให้เป็นที่พึ่งของตนเองได้แล้วนี่แหละ คือได้ที่พึ่งยอดเยี่ยมอย่างที่จะหาที่ไหนไม่ได้

จะพึ่งตน ก็ต้องมีตนที่พึ่งได้ จะมีตนที่พึ่งได้ ก็ต้องฝึกตน พอฝึกตนดี ก็พึ่งตนได้ เป็นอันว่าสำเร็จ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.