จะพึ่งตน ก็ต้องมีตนที่พึ่งได้

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สัตว์พวกอื่นเก่งด้วยความรู้ที่มีมาแต่กำเนิด
แต่คนเลิศด้วยความรู้ที่เรียนที่ฝึกขึ้นไปให้มีปัญญา

ได้พูดมายืดยาว ทวนอีกทีว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นเป็นที่พึ่งแท้จริงไม่ได้ จึงต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ด้วยการฝึกตน นี่คือต้องฝึกตนให้ดี จะได้มีตนที่พึ่งได้อย่างดี

ตรงนี้คือมาถึงหลัก “ฝึกตน” ที่เป็นธรรมหลักใหญ่ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงสอนโดยสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์

ธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างไร? ทางธรรมถือว่าคนหรือมนุษย์นี้ เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ท่านเรียกว่า “ทมฺม” (‘’ ไม่ใช่ ‘’) คนเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และก็ฝึกได้ด้วย

ดูในพุทธคุณ มีบทหนึ่งว่า “ปุริสทมฺมสารถิ” นี่คือ ในการที่พระพุทธเจ้ามาสอนเรานั้น พระองค์ทรงมีพระคุณสำคัญอย่างหนึ่ง คือพระองค์ทรงเป็นเหมือนสารถีที่ฝึกมนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก แล้วก็ฝึกได้ ตรงนี้แหละเป็นจุดสำคัญ ก็คือมาเริ่มตรงนี้ เมื่อคนเป็นสัตว์ที่ต้องฝึกและฝึกได้ แล้วก็ฝึกตัวเองได้ด้วย เราก็ฝึกคนให้เขาฝึกตนเอง จะพูดให้สมสมัยหน่อยก็ว่าให้เขาพัฒนาตัวเอง

มนุษย์ทำไมจึงเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก เพราะมนุษย์นั้นด้อยในด้านสัญชาตญาณ มนุษย์อาศัยสัญชาตญาณอย่างเดียว อยู่ไม่รอด แพ้สัตว์อื่นทั่วๆ ไป ที่เกิดขึ้นมาแล้ว แทบไม่ต้องฝึกอะไร ก็อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ คืออยู่ด้วยความรู้ที่มีมาเองตั้งแต่เกิด ดูง่ายๆ ก็อย่างลูกเป็ด แม่เป็ดไข่แล้วฟักมาถึงเช้าวันนั้น เจ้าลูกเป็ดออกจากไข่ พอสาย แม่เป็ดเดินๆ วิ่งๆ ลงไปในน้ำ ปรากฏว่าเจ้าลูกเป็ดที่ออกจากไข่ใหม่ๆ นั้น วิ่งตามแม่เป็ดลงไปในน้ำ แล้วก็ว่ายน้ำตามไปหากินกับแม่ ไม่ต้องฝึกไม่ต้องหัด ก็เดินได้ วิ่งได้ ว่ายน้ำได้เลย

หันมาดูคน เกิดมาแล้ว แค่จะเดิน ก็ต้องหัด และก็ไม่ใช่ง่ายๆ กว่าจะเดินได้ ต้องหัดเดินกันหลายเดือน จะพูดก็ต้องหัด จะว่ายน้ำก็ต้องฝึกกันนาน จะทำอะไรจะรู้เข้าใจอะไร ก็ต้องฝึกต้องหัดต้องเรียนทั้งนั้น ทำไม่ได้อย่างพวกลิงพวกค่าง อย่างลิงนั้น พอเจอผลไม้ มันก็รู้เลยว่าอันไหนกินได้ อันไหนกินไม่ได้ แต่คนนี่ไปเข้าป่า ถ้าไม่มีคนอื่นที่มีความรู้มาก่อนไปด้วย จะกินอะไรก็ไม่ได้ ดีไม่ดีไปกินผลไม้ที่ไม่รู้ว่าเป็นพิษ ก็ตายไปเลย คนก็เลยต้องรอดูลิง ถ้าลิงไม่สอน ก็ไม่รู้จะกินอะไร เป็นอันว่ามนุษย์นี้ต้องฝึกต้องหัดต้องเรียนรู้ทั้งนั้น

อย่างเมื่อคราวเกิดสึนามิ (Tsunami, ๒๖ ธ.ค. ๒๕๔๗, คนตาย ๒๕๐,๐๐๐ คน) ที่มาถึงฝั่งทะเลภาคใต้ของไทย เช่นที่พังงา และภูเก็ต อยู่ๆ น้ำก็ลดฮวบลงไป ปรากฏว่าจำพวกสัตว์อย่างสุนัขนี่ ทำไมมันรู้จักหนีได้ล่ะ มันเกิดมา ๑๐ ปี ๒๐ ปี ก็ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ พอเกิดภัยนี้ขึ้นมา มันพากันขึ้นไปบนภูเขา แล้วพวกมันก็รอดไปได้ แต่ฝ่ายคนจำนวนมากมาย แม้จะเล่าเรียนกันมานักหนา มีการศึกษาอย่างดี ก็ไม่รู้ไม่เข้าใจภัยอย่างนี้เลย พอเห็นน้ำลดลงไป ก็อยากจะดู จึงตามน้ำลงไป แล้วเป็นอย่างไร น้ำมาพรวดเดียว หนีไม่ทัน ก็เลยปรากฏว่าคนมากมายต้องเสียชีวิตกันไป นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจนว่า มนุษย์เรานี้มิใช่อยู่ได้แค่ด้วยสัญชาตญาณ ความรู้คู่กำเนิดนั้นช่วยเราได้น้อย คนเราจะต้องเรียน ต้องฝึก ต้องหัด ให้มีปัญญาที่จะรู้จักเป็นอยู่ และรู้จักทำอะไรๆ ได้

ก็เป็นอันเทียบกันเห็นได้ว่า สัตว์อื่นทั่วๆ ไปนั้นมีความรู้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด โดยมีตา หู จมูก เป็นต้น ที่ฉับไวเฉียบคมเป็นเครื่องช่วย มันไม่ศึกษาเล่าเรียน ไม่ต้องฝึกไม่ต้องหัด ก็มีชีวิตเป็นอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ และเก่งกาจไปตามเผ่าพันธุ์ของมัน แต่มนุษย์นี้ ด้อยด้านสัญชาตญาณ ต้องอยู่ด้วยความรู้ที่เกิดจากการเรียนการหัดการฝึกการศึกษา ที่เรียกว่าปัญญา

อย่างไรก็ดี ถึงจะด้อยด้านความรู้ที่ติดตัวมาแต่เกิดคือสัญชาตญาณอย่างที่ว่า แต่ความรู้ที่ฝึกที่หัดที่เรียนให้เกิดเป็นปัญญาพัฒนาขึ้นมานี้ ถ้ามนุษย์ไม่มัวเพลินขี้เกียจอยู่ แต่พยายามเรียนหาความรู้ศึกษาฝึกหัดยิ่งขึ้นไปๆ ปัญญาความรู้ที่ฝึกศึกษาขึ้นมานี้ ก็จะทำให้มนุษย์พัฒนาขึ้นไป เป็นผู้ที่เก่งกาจเป็นเลิศประเสริฐ เป็นเจ้าใหญ่ เป็นอิสระอยู่เหนือกว่าบรรดาสัตว์ทั้งปวง

อย่างดิรัจฉานบางจำพวก นอกจากเก่งกาจด้วยสัญชาตญาณแล้ว ยังเป็นสัตว์ที่พอจะฝึกได้ด้วย เช่นอย่าง ช้าง ม้า วัว ลิง สุนัข เรียกว่าเป็นสัตว์ชั้นเลิศ แต่มันก็ฝึกตัวมันเองแทบไม่ได้ ต้องให้คนฝึกให้ และกลายเป็นว่าคนฝึกมันเอาไว้ใช้งานของคน เช่นเป็นช้างลากซุง เป็นพาหนะ หรือไว้เล่นละครสัตว์ สุนัขที่ตา หู จมูก ไวดีนัก คนก็ฝึกมันไว้ใช้งาน เป็นนักสำรวจ นักตรวจ นักพิสูจน์ ตลอดจนเป็นผู้กู้ชีพของคน สัญชาตญาณที่ยอดเยี่ยมของสัตว์ ก็จึงมาอยู่ในอาณัติรับใช้ปัญญาของคน

หันมาดูการฝึกการหัดของคนกันอีกหน่อย อย่างที่ว่าแล้ว คนนี้จะมีชีวิตของตัวเองอยู่ไปได้ เริ่มต้นก็ต้องเดิน แต่แค่จะเดิน ก็ต้องหัดเดิน แล้วต่อไปพูด ก็ต้องหัดพูด ว่ากันเหนื่อย แต่ข้อดีอยู่ที่ว่าแล้ว คือมนุษย์นี้ หัดได้ ฝึกได้ เพราะฉะนั้น เมื่อพูดยังไม่ได้ ก็ฝึกให้พูดได้ และไม่แค่นั้น มนุษย์นี้ยังฝึกยังหัดให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก

เมื่อรู้จักธรรมชาติของมนุษย์แล้ว เราก็ใช้ประโยชน์มันให้เต็มที่ คือไม่ใช่เอาแค่พูดได้ แต่ฝึกต่อไปอีก ฝึกให้มันดียิ่งขึ้น เราไม่เอาแค่พูดได้ แต่ฝึกต่อไปให้พูดเป็น ให้พูดเก่ง ให้พูดได้คมคาย พูดให้สละสลวย พูดให้หลักแหลม พูดให้ไพเราะ พูดให้น่าฟัง พูดแล้วคนอยากฟัง อยากจะเชื่อ เป็นต้น ก็หัดไปฝึกไป ยิ่งได้ยิ่งเป็นประโยชน์

เพราะฉะนั้น คนเรานี้จะดีจะเลิศจะเยี่ยมยอดได้ด้วยการฝึก นี่แหละจุดสำคัญที่พระสอน อยู่ที่นี่

ที่พูดทั้งหมดนี้ ก็มาเข้าหลักให้พึ่งตน โดยมีตนที่พึ่งได้ ถ้าใฝ่เรียนใฝ่ศึกษา เป็นนักฝึกนักหัดไม่หยุดยั้งอย่างที่ว่าแล้ว ก็จะมีตนซึ่งเป็นที่พึ่งได้อย่างดี เหมือนในคาถาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ที่ว่า

อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ
แปลว่า: มีตนที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละ คือได้ที่พึ่งซึ่งหาได้แสนยาก

เพราะฉะนั้น เราควรต้องชวนกันมาถือหลักนี้ คือหลักการฝึกตน ไม่ใช่มัวแต่บอกว่าให้พึ่งตน แต่ควรถามว่าทำอย่างไรคนจึงจะพึ่งตนได้ คือทำอย่างไรคนจึงจะมีตนที่พึ่งได้ ทำอย่างไรเราจะมีตนซึ่งเป็นที่พึ่งได้ แล้วก็จะได้คำตอบว่า ก็ฝึกตนขึ้นไปสิ อย่ามัวจมอยู่กับสัญชาตญาณที่คนเรานี้แพ้แม้แต่สัตว์เล็กสัตว์น้อย

เอาละ ถ้าจะพูดว่าพึ่งตน ก็ต้องไปให้ถึงฝึกตน จะให้ตัวเป็นอะไร ก็ฝึกตนนี่แหละขึ้นไป

คนนี้อยู่ที่ฝึกทั้งนั้น เริ่มแรกก็ฝึกให้ทำได้ แล้วต่อไปก็ฝึกให้ทำเป็น แล้วก็ฝึกให้ทำเก่งให้ได้ผลอย่างดี เช่นที่บอกเมื่อกี้ว่าฝึกให้พูดนั้น ไม่ใช่แค่ให้พูดได้ ต้องให้พูดเป็น ให้พูดได้เก่ง ให้พูดได้ดี พูดแล้วคนอยากฟังอยากเชื่อ พูดให้คนรักคนสามัคคีกัน พูดนำคนให้มารวมกันทำงานสร้างสรรค์

นั่นฝึกแสดงออกมาข้างนอก ที่จริงต้องฝึกตั้งแต่ข้างใน ฝึกความคิดให้คิดเป็น คิดให้ได้ปัญญา ไม่ใช่มีแต่ความคิดเห็น แล้วก็คิดไปตามความรู้สึก แต่ให้รู้จักคิดด้วยความรู้ ใฝ่หาความรู้ แล้วเอาความรู้ที่จริงแท้มาเป็นฐานของความคิด คิดบนฐานของความรู้นั้น คิดอย่างมีเหตุผล คิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหา ไม่ใช่คิดแต่ก่อปัญหา คนที่ฝึกตนอยู่เสมอ ก็จะพัฒนาอย่างยิ่ง ฝึกชีวิตทั่วไปหมดทุกด้าน ตั้งแต่ฝึกการเป็นอยู่ ฝึกความประพฤติ ฝึกในเรื่องของจิตใจ จนถึงข้อสำคัญอย่าให้ขาด คือฝึกในทางปัญญาอย่างที่ได้ว่าไปแล้ว

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.