เริ่มวิวัฒน์ที่กลางวิกฤติ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ไม่ว่าจะเป็น “ขาขึ้น” หรือ “ขาลง”
ก็ต้องเตรียมขาของเราไว้ก้าวให้ดี

อีกตัวอย่างหนึ่งในภาคปฏิบัติของการดำเนินชีวิต คือ สันโดษ ถ้าเรามองว่า สันโดษเพื่ือสุข ก็ตัน เพราะว่า เมื่อความสุขเป็นจุดหมาย ก็จบที่สุข พอมีวัตถุบ้างเพียงเล็กน้อย ได้ความสุขแล้วก็นอน ผลคือขี้เกียจ แต่หลักการที่แท้บอกว่า สันโดษ คือ เราสุขได้ง่ายด้วยวัตถุน้อยแค่เพียงพอแก่ชีวิต เราจะได้ไม่ต้องมัวกระวนกระวายในการหาวัตถุมาเสพ เมื่อเราไม่มัววุ่นวายอยู่กับการหาวัตถุมาเสพ เราก็จะออมเวลา แรงงานและความคิดของเราไว้ได้เหลือเฟือ ตอนนี้เรามีหน้าที่การงานหรือเรื่องราวอะไรที่จะทำ ก็มุ่งหน้าทำได้เต็มที่ ไม่ต้องพะว้าพะวัง พะวักพะวน ตรงข้ามกับคนที่ไม่สันโดษ ซึ่งต้องเอาเวลา แรงงาน และความคิดไปใช้กับการแสวงหาวัตถุเสพบริโภคมาบำรุงบำเรอตนเอง เพื่อจะหาความสุขให้ได้ แต่ก็ไม่สุขสักที ก็เลยไม่เป็นอันทำอะไรอื่น

เมื่อเราสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย เราสันโดษแล้ว แรงงานก็เหลือ เวลาก็เหลือ ความคิดก็เหลือ เราก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นไปทำงาน ทำหน้าที่ ทำการสร้างสรรค์ ถ้าเป็นพระ พอสันโดษในปัจจัยสี่ ก็มีเวลาไปทำหน้าที่เล่าเรียนปฏิบัติเผยแผ่ธรรมได้เต็มที่

ฉะนั้น สันโดษจึงเป็นเรื่องของการสร้างความพร้อมที่เราจะเดินหน้าต่อไปในกระบวนการพัฒนาชีวิต แต่ถ้าเรามองสันโดษแบบว่าจะได้สุขสบายแล้วนอน ก็จบแน่นอน สันโดษต้องเป็นตัวสร้างสภาพเอื้อและเป็นตัวส่งต่อในกระบวนการ

สมาธิ ก็ทำนองเดียวกัน เวลานี้คนใช้สมาธิเป็นตัวกล่อมกันมาก สมาธิเพื่ออะไร ก็คงจะคิดตอบอยู่ในใจว่า เพื่อจะได้สุขสงบ สบาย เท่ากับต่อด้วยนอน เวลามีปัญหาอะไร ก็ไปเข้าสมาธิ จะได้หลบปัญหา หายวุ่นวายใจ พอสงบสบายใจได้แล้วก็ปล่อยปัญหาทิ้งไว้ไม่ต้องแก้ เป็นการแก้ปัญหาเพียงชั่วคราว หรือหลบปัญหา เหมือนกินยานอนหลับ แต่คนกินยานอนหลับแก้ปัญหาได้ไหม ก็ไม่ได้ อย่างนั้นเรียกว่า ใช้เป็นที่พักจิต

ประโยชน์ที่แท้ของสมาธิก็คือ เป็นการสร้างสภาพจิตที่ท่านเรียกว่า กมฺมนียํ แปลว่า ทำให้จิตควรแก่งาน จิตที่เป็นสมาธิ คือจิตที่เหมาะแก่การใช้งานมากที่สุด ก็ใช้มันเลย เอาไปใช้ในการคิดพิจารณาด้วยสติปัญญา ตอนนี้แหละจะคิดออก คิดชัด คิดแล่นโล่งตลอด คนที่จิตใจฟุ้งซ่านว้าวุ่นไม่มีสมาธิจะคิดอะไรไม่ออก มัวแต่สับสนวุ่นวาย วกวนและติดตัน แต่พอมีสมาธิ ใจสงบผ่องใส ก็คิดแน่วแน่ไปทะลุตลอดปรุโปร่ง และมองเห็นชัดเจน ฉะนั้น สมาธิจึงเป็นฐานของปัญญา จะเห็นว่าในไตรสิกขา ศีลส่งต่อแก่สมาธิ สมาธิส่งต่อแก่ปัญญา ไม่ได้หยุด

ถ้าสมาธิด้วน ก็จบที่สุขสงบ พอหายกลุ้มหายกังวลแล้ว ไปนอนหลับเสียนี่ ก็ใช้ไม่ได้ จะเห็นว่าพวกเราใช้สมาธิเป็นตัวกล่อมกันเสียมาก นี่ก็คือการมองอะไรต่ออะไรแบบหยุดนิ่ง ขาดความสัมพันธ์ ทั้งไม่มองเชิงเหตุปัจจัย และไม่มองเชิงไตรสิกขา ในแง่เป็นองค์ประกอบที่เกื้อหนุนให้เราคืบเคลื่อนต่อไปในกระบวนการเดินหน้าอย่างที่ว่าเมื่อกี้

การปลงอนิจจัง ก็เหมือนกัน พอมีอะไรแตกหัก มีการพลัดพราก ก็ปลงว่า เออ สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้ แตกได้ ดับได้ เกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป จะไปทำอะไรได้ ก็ต้องปล่อยให้มันเป็นไป หรืออย่างเวลานี้มีวิกฤติ เศรษฐกิจเสื่อมทรุด ก็ปลงว่า มันเจริญแล้วก็ต้องเสื่อม มันเสื่อมได้เดี๋ยวมันก็เจริญเองแหละ ของมันเป็นอนิจจัง พอปลงได้ก็ใจสบาย อันนี้เป็นเพียงการเอาความรู้เท่าทันมาใช้อย่างครึ่งๆ กลางๆ นับว่าเสี่ยงอันตราย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ สังขารคือสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้แน่นอน จะต้องเสื่อมสลายไป เพราะฉะนั้น อย่านอนใจ จงไม่ประมาท อนิจจังนำไปสู่ความไม่ประมาท หมายความว่า การรู้ความจริงของธรรมชาติที่เป็นอนิจจัง นำไปสู่การดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาท คือหลักความจริงนั้นบอกเราว่า สิ่งทั้งหลาย รวมทั้งชีวิตของเรา เป็นของไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แต่ทั้งนี้มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเลื่อนลอย มันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น เราจะนอนใจอยู่ไม่ได้ จะต้องลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แก้ปัญหา โดยศึกษาให้รู้เหตุปัจจัย แล้วแก้ไขและทำที่เหตุปัจจัย อย่างนี้จึงจะเข้าหลักการ

ในภาวะเศรษฐกิจยามวิกฤตินี้ บางคนบอกว่า ตอนนี้เป็นเศรษฐกิจ “ขาลง” ต่อไปถึงเวลาก็เป็น “ขาขึ้น” รอไปก่อน เดี๋ยวก็ดีเอง

คำว่า “ขาขึ้น-ขาลง” นี้ เป็นคำเชิงวิชาการ แต่นำมาใช้กันในความหมายที่แฝงด้วยความรู้สึกของคนที่ปล่อยตัวตามโชคชะตา หรืออย่างน้อยก็ปล่อยตัวตามกระแส ซึ่งเสี่ยงภัย และไม่เอื้อต่อการพัฒนามนุษย์

เศรษฐกิจที่ต้องวิกฤติ มาเป็นอย่างนี้ เพราะเป็นขาลง เมื่อถึงขาขึ้น เศรษฐกิจก็จะดี พอพูดอย่างนี้ ก็ชวนให้รู้สึกว่า เศรษฐกิจจะวิกฤติหรือหายวิกฤติเป็นเรื่องของวงจรที่จะเป็นไปเอง มันจะต้องเป็นอย่างนั้น เหมือนกับพูดต่อไปในวงเล็บว่า เราจะทำอะไรได้ ก็ต้องรอมันไป จนกว่ามันเป็นขาขึ้น แล้วมันก็จะดีเอง ถ้าอย่างนี้ก็เข้าลัทธิแล้วแต่โชค ผิดหลักความจริง และผิดหลักพุทธศาสนา

ทางที่ถูก ควรพูดให้เต็ม และสร้างความรู้สึกหรือท่าทีให้ถูกต้องว่า เศรษฐกิจ ตอนนี้เป็นขาลง ตามวงจรซึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้น เพราะกระบวนการของเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันมาที่จะให้มันเป็นอย่างนั้น เมื่อมองอย่างนี้ก็จะเห็นทางหรือตั้งท่าทีในทางที่เราจะเข้าไปมีส่วนแก้ไขจัดการได้บ้าง

จริงอยู่ เหตุปัจจัยในเรื่องนี้มีมากมาย เช่น มีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยหลายอย่างอาจพ้นวิสัยของเราที่จะจัดการได้ แต่ส่วนใดเราแก้ไขปรับปรุงได้ เราก็จะได้พยายามทำ และเหตุปัจจัยทุกอย่างย่อมท้าทายปัญญาให้ศึกษาจนรู้เข้าใจ และด้วยความเพียรทางปัญญานี้ ต่อไปเราก็จะสามารถจัดการกับเหตุปัจจัยทั้งหลายได้มากขึ้นๆ จนสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองจากฐานะที่ขึ้นต่อกระแส เป็นผู้ถูกกำหนด ให้กลายเป็นผู้ปรับเปลี่ยนกระแส ตลอดจนเป็นผู้นำและเป็นผู้กำหนดกระแส

ถ้าใฝ่ดี ใฝ่ทำ และพยายามจัดการกับเหตุปัจจัย ถึงจะยังไม่แกร่งกล้า แต่อย่างน้อยถึงคราว “ขาลง” ก็จะลงได้สวย และเมื่อถึงคราว “ขาขึ้น” ก็จะขึ้นได้สูง ด้วยเรี่ยวแรงกำลังของตนเอง มิใช่ว่าพอ “ขาลง” ก็ถูกกระแทกเต็มที่เจ็บหนัก พอ “ขาขึ้น” ก็ขึ้นไม่ไหว หรือขึ้นได้เพราะถูกอุ้มพลอยตามเขาขึ้นไป

ที่จริงนั้น เราก็มีส่วนร่วมในการสร้างกระแสและทำให้เกิดวงจรอย่างที่เป็นอยู่นั้นอยู่แล้ว ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเป็นการมีส่วนร่วมด้วยโมหะ หรือมีส่วนร่วมด้วยปัญญาเท่านั้นเอง จุดเริ่มที่จะแก้วิกฤติ ก็คือการเริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยปัญญา โดยยืนอยู่บนขาของตัวเราเองที่แข็งแรงมั่นคง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.