ถ้าทำอย่างที่ว่ามานี้ได้ เราก็จะเริ่มพึ่งตนได้ เราพูดกันนักว่า จะต้องพึ่งตนๆ พึ่งตนนี่เป็นหลักการที่จะต้องปฏิบัติ แต่อย่าหยุดแค่นี้ ในการที่จะพึ่งตนนั้นถ้าเราไม่มีความสามารถที่จะพึ่งตน แล้วเราจะพึ่งตนได้อย่างไร พูดกันไปว่า พึ่งตนซิๆ เงินก็ไม่มี ความสามารถและสติปัญญาก็ไม่มี แล้วจะให้พึ่งตนได้อย่างไร
พระพุทธศาสนาไม่ได้ให้หยุดแค่พึ่งตน พระพุทธเจ้าสอนต่อไป พึ่งตนด้วยการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ตรงนี่ซิสำคัญ การทำตนให้เป็นที่พึ่งได้นี่แหละเป็นตัวแท้ที่ต้องการ มันเป็นฐานของการที่จะพึ่งตน อย่าไปหยุดแค่พึ่งตน เรามักจะพูดว่าให้พึ่งตน อย่างนี้ก็ต้องซัดกันเท่านั้นเอง เขาจะแย่แล้ว เราก็บอกว่าเธอพึ่งตัวเองซิ อย่างนี้แล้วเขาจะอยู่ได้อย่างไร ต้องช่วยกันไปก่อน แต่เราต้องไปช่วยเขา โดยช่วยให้เขาพัฒนาตัวเองให้เป็นที่พึ่งของตนได้
หลักพุทธศาสนาตรงนี้บางทีเราก็มองข้ามไป หลักการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้นั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ แปลว่าตนเป็นที่พึ่งของตน แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้แค่นั้น พระองค์ตรัสต่อไปว่า อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ แปลว่า บุคคลมีตนที่ฝึกฝนดีแล้วจะได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก ต้องต่อให้ถึงตรงนี้ พุทธภาษิตไม่ได้จบแค่ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ไม่ได้บอกแค่ว่าให้ตนเป็นที่พึ่งของตน ท่านบอกด้วยว่าเมื่อมีตนที่ฝึกดีแล้วจึงจะมีที่พึ่งที่ดี นี่ก็คือจะต้องศึกษาต้องเรียนรู้ต้องพัฒนาตน เช่นหลักนาถกรณธรรม คือธรรมที่จะทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ มีถึง ๑๐ ข้อ การปฏิบัติในหลักการนี้สำคัญกว่าเพียงจะพูดว่าพึ่งตน ฉะนั้นเราจะต้องพึ่งตนได้ด้วยการพัฒนาคนของเรา พัฒนาทุนของเรา ทั้งพัฒนาทุนในตัวคนและพัฒนาทุนภายนอก เพื่อจะให้ตนเป็นที่พึ่งของตนได้
การพึ่งตนเองได้ คือความเป็นอิสระเสรีที่แท้จริง ถ้าคนพึ่งตนเองไม่ได้ เขาก็ไม่เป็นอิสระ เพราะยังต้องพึ่งพาคนอื่น คนไทยเราชอบความเป็นอิสระเสรี แต่ต้องมาวิเคราะห์ตนเองอีกว่า ที่ผ่านมานี้ เราเสรี เป็นอิสระอย่างแท้จริงหรือไม่ เพราะบางทีเป็นเสรีภาพแบบหลอกตัวเอง พูดว่า แหม ฉันทำนั่นได้ ฉันทำนี่ได้ อยากจะทำอะไรก็ทำได้ตามชอบใจ แต่ทั้งหมดนั้นเป็นความคลุมเครือ บางทีเป็นเสรีภาพแบบถูกเขาหลอกให้เต้นก็มี ทำให้เรารู้สึกว่า โอ เราทำได้ตามชอบใจ อยากจะกินอะไรก็กิน อยากจะซื้ออะไรก็ซื้อ ซื้อสินค้าต่างประเทศเท่าไรก็ได้ แล้วก็รู้สึกว่าเราทำได้ตามชอบใจ
เรามีเงิน เราก็ซื้อสินค้าต่างประเทศมาบริโภคได้ แต่บางทีกลายเป็นว่าถูกเขาล่อ ถูกเขาจูง ถูกเขาชัก ถูกเขาเชิด ให้เข้าใจว่าตนเองเสรี ซึ่งที่จริงไม่ใช่เสรีหรอก ถ้าใช้คำแรงก็คือเป็นทาสเขานั่นเอง เสรีภาพในความเป็นทาส ฉะนั้นจะต้องระวังมาก เต้นไปๆ ต้องดูตัวเองว่า เราเสรีจริงหรือเปล่า หลักการง่ายๆ ก็คือว่า คนที่ทำอะไรได้ตามชอบใจแต่กลับพึ่งตนเองไม่ได้ย่อมไม่ใช่เสรีภาพจริง ลูกที่ทำอะไรได้ตามชอบใจ บอกว่าฉันจะเสรี แต่พึ่งตัวเองไม่ได้เลย อย่างนี้เรียกว่าเสรีภาพได้ไหม คนที่พึ่งตนเองไม่ได้ เป็นอิสระเสรีหรือ
ความเป็นอิสระเสรีนั้น แน่นอนว่าฐานจะต้องมาจากการพึ่งตนเองได้ และกว้างออกไป เมื่อมองทั้งสังคม ถ้าแต่ละคนเอาแต่ใจตัวเอง ทำได้ตามชอบใจ แต่สังคมของตนต้องขึ้นต่อสังคมอื่น อย่างนี้เสรีจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เหมือนกับที่บอกว่า เราก็เป็นแต่เพียงถูกเขาชักถูกเขาเชิดให้นึกว่าตนเองเสรีเท่านั้นเอง
แท้จริงนั้น คำว่า “ทำอะไรได้ตามชอบใจ” บางทีก็เป็นคำพูดหลอกตัวเอง เพราะคำว่า “ทำ” ในที่นี้มีความหมายกำกวม บางคนที่พูดว่าทำได้ตามชอบใจนั้น เขาหมายความว่า เขาจะซื้ออะไรก็ซื้อได้ตามชอบใจ จะกิน จะเสพ จะบริโภค จะเที่ยวเตร่สนุกสนานอย่างไร ก็ “ทำ” ได้ตามชอบใจ แล้วเขาบอกว่านี่คือเขามีเสรีภาพ
แต่ลองมองอีกที มองให้ดี ก็จะเห็นว่า อะไรก็ตามที่เขาชอบใจ เขาทำไม่ได้สักอย่างเดียว อะไรก็ตามที่เขาชอบใจ เขาต้องซื้อทุกอย่าง เขาต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งที่คนอื่นทำให้ผลิตให้ เขาทำอะไรๆ ไม่ได้เลย ทำไม่เป็นเลย และเขาก็ไม่ชอบใจที่จะทำเลยด้วย เขาชอบแต่ที่จะไม่ต้องทำอะไร เขาชอบแต่จะเสพเสวยผลจากสิ่งที่คนอื่นทำให้ นี่คือสภาพของนักเสพหรือนักบริโภค คือคนที่ทำอะไรก็ไม่ได้ ผลิตอะไรก็ไม่เป็น ทำอะไรไม่ได้เลย ได้แต่บริโภค
เพราะฉะนั้น จะต้องมองความหมายให้ชัด คำว่า “ทำได้” ในความหมายของนักเสพนักบริโภค เป็นคำหลอกๆ ที่จริงคือ “ทำไม่ได้” ซึ่งทำให้กลายเป็นผู้พึ่งพาขึ้นต่อผู้อื่น ต้องรอให้เขาทำให้ผลิตให้ ซึ่งมองในระหว่างประเทศก็คือจะต้องเป็นผู้ซื้อ เป็นผู้จ่าย และเป็นผู้ตาม เป็นผู้รับ เราจะต้องมอง “ทำได้” ให้ถึงความหมายของนักผลิต ที่ทำได้จริงๆ คือสามารถทำสามารถผลิตสิ่งนั้นขึ้นมาได้ด้วยตนเอง
เสรีภาพในการบริโภค ก็คือการเป็นทาสของประเทศที่ผลิต ใช่หรือเปล่า ขณะนี้ สังคมของเรา ที่มุ่งหมายใฝ่ฝันจะให้เป็นสังคมแห่งเสรีภาพ จะต้องตั้งหลักให้ถูก ต้องมองให้ชัดว่าความเป็นอิสระเสรีที่แท้จริงอยู่ที่ไหน อย่างน้อยจะต้องเป็นสังคมที่พึ่งตนเองได้ และจะต้องเป็นผู้สามารถให้แก่สังคมอื่นด้วย ไม่ใช่เป็นผู้สามารถรับอย่างเดียว
ถ้าเราทำได้ ผลิตได้ พึ่งตนเองได้ โดยมีอะไรที่จะให้แก่คนอื่นด้วย พอเป็นนักผลิตเองแล้ว จะซื้อของที่คนอื่นผลิตด้วย ก็เข้าระบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน กลายเป็นดีไป แต่ถ้าทำได้แค่ซื้อเสพบริโภค ก็เป็นนักพึ่งพาขึ้นต่อผู้อื่นอย่างเดียว ไม่เป็นอิสระเสรีแน่นอน เพราะฉะนั้น เราจะต้องวิเคราะห์สังคมของเราว่าขึ้นต่อสังคมอื่นหรือไม่ ถ้ายังขึ้นอยู่ก็แสดงว่า อิสรเสรีภาพนั้นไม่มีความหมายที่แท้จริง
ขอสรุปสั้นๆ ว่า ถ้าคนไทยไม่เป็นนักผลิต สังคมไทยจะไม่สามารถพึ่งตนได้ในทางเศรษฐกิจ ถ้าคนไทยไม่เป็นนักสร้างสรรค์ สังคมไทยจะไม่มีวันเป็นอิสระเสรีได้จริง
การศึกษาจะต้องพัฒนาคนไทยให้มีเสรีภาพและเป็นอิสระอย่างถูกต้องอย่างน้อยในแง่เศรษฐกิจ โดยพัฒนาให้เป็นนักผลิตและเป็นนักสร้างสรรค์