เริ่มวิวัฒน์ที่กลางวิกฤติ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จะมองอะไรก็ต้องมองหาเหตุปัจจัย
และมองให้เห็นสิ่งที่จะทำต่อไป

ต่อจากนี้ลึกลงไป ก็คือ เรื่องรากฐานทางความคิด เรื่องการดำเนินชีวิตที่พูดมาแล้วก็เรื่ืองใหญ่ แต่แนวคิด วิธีคิด วิธีมอง ความเชื่อ ความคิดเห็น ความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ยิ่งสำคัญมากขึ้นไปอีก เพราะเป็นรากฐาน เป็นตัวกำหนดอยู่เบื้องหลังการดำเนินชีวิตนั้น ถ้าแนวคิดความเห็นความเชื่อความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน จะต้องเร่งปรับให้ถูกต้อง มิฉะนั้นจะต้องเจอแต่วงจรแห่งวิกฤติ

พุทธศาสนาบอกว่าทิฏฐิเป็นตัวสำคัญ ความเชื่อความยึดถือในหลักการต่างๆ ที่มีอยู่แม้โดยไม่รู้ตัวในจิตใจของเราเอง เป็นตัวนำชีวิตไป เช่น ถ้าเราเชื่อว่าความสุขอยู่ที่การมีวัตถุเสพบริโภค เราก็ดำเนินชีวิตและทำทุกอย่าง เพื่อให้มีและให้ได้มาซึ่งวัตถุเสพบริโภคนั้น อย่างนี้เป็นต้น ความเชื่อจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ที่ผ่านมาแนวคิดความเชื่อบางอย่างของเราอาจจะถูก แต่บางอย่างก็ต้องผิดพลาดแน่นอน เรามาพูดถึงส่วนที่พลาดกันดีกว่า เราพลาดแม้แต่ในเรื่องที่เรียกว่าการปฏิบัติธรรม

เรื่องแรก ที่ขอตั้งข้อสังเกต คือ เรามักมองอะไรๆ แบบ “นิ่ง” และนิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือนิ่งที่สุขสบาย แม้แต่ตัวความสุขความสบายนั้นเอง เราก็มองแบบนิ่ง และมองเป็นจุดหมายด้วย คือไปหยุดหรือจบที่สุขสบาย ก็คือไปนิ่งนั่นแหละ

เราเอาความสุขสบายเป็นจุดหมายที่ว่า หายทุกข์ พ้นจากถูกบีบคั้นเป็นต้นแล้วจะได้หยุด หยุดดิ้นรนขวนขวาย สบายเสียที เพราะฉะนั้นเราจะมองแม้แต่การปฏิบัติธรรมในลักษณะนิ่ง เพื่อให้ถึงความสุขที่เป็นจุดหมายแล้วก็หยุด เช่นมองความสันโดษเพื่อความสุข มองสมาธิเพื่อความสุข ปลงอนิจจังเพื่อจะให้ใจสบาย ซึ่งดูเหมือนว่าถูกต้องดี แต่ถูกจริงหรือเปล่า อันนี้น่าวิเคราะห์ ขอตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ก่อน

เรื่องที่ ๒ คือ การมองสิ่งทั้งหลายแบบขาดความสัมพันธ์ มองแค่เฉพาะตัวของสิ่งนั้นเรื่องนั้น ด้วนหรือขาดลอยจากส่วนอื่นและสิ่งอื่น ไม่มองแบบสัมพันธ์ ความสัมพันธ์มี ๒ อย่างคือ

๑) ความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัย คือการมองแบบสืบสาวเหตุปัจจัย ว่ามันเป็นมาเพราะอะไร เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นอย่างไร ไม่ใช่มองปรากฏการณ์ต่างๆ ลอยอยู่อย่างเดียว หรือมองแม้แต่ธรรมข้อนั้นๆ ลอยอยู่ต่างหาก เช่นว่าขาดวินัย ก็ขาดวินัย จะต้องฝึกวินัยกันขึ้นมา โดยไม่มองว่าอะไรเป็นเหตุของวินัย อย่างนี้เป็นต้น การมองความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยนี้ เรียกว่า การมองเชิงปัจจยาการ

๒) ความสัมพันธ์เชิงกระบวนการ คือการมองในลักษณะคืบเคลื่อนสืบต่อและส่งต่อในกระบวนการ ธรรมทั้งหลายนั้นสัมพันธ์กันเป็นกระบวนการ คือเป็นการปฏิบัติที่คืบเคลื่อนส่งต่อกันไปสู่จุดหมาย เพื่อการบรรลุความหลุดพ้นเป็นอิสระ ฉะนั้น ธรรมคือคุณสมบัติและข้อปฏิบัติทุกอย่างในกระบวนการนั้น จะต้องอยู่ในลักษณะคืบเคลื่อนและส่งต่อทั้งนั้น ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ก็จะมองขาดเป็นแต่ละข้อๆ ถ้ามองขาดด้วนเป็นแต่ละข้อ ก็แสดงว่าพลาด การมองในลักษณะคืบเคลื่อนในกระบวนการนี้เรียกว่า การมองเชิงไตรสิกขา

ขอยกตัวอย่างคำว่า “สบาย” คำว่า “สบาย” นี้ในภาษาไทยเรามองแบบคนมืออ่อนเท้าอ่อน พอสบายก็ปล่อยมือปล่อยเท้า พร้อมที่จะลงนอน นี่เรียกว่าสบาย จะได้หยุดดิ้นรนหรือเลิกเคลื่อนไหว แต่ถ้าดูความหมายในภาษาบาลี สบาย คำเดิมตัวจริง คือ “สัปปาย” ได้แก่ลักษณะที่เอื้อ หนุนต่อการที่จะทำต่อไป หรือเอื้อต่อวัตถุประสงค์อื่นที่มีต่อไป ไม่ใช่ว่าสบายเป็นจุดจบ แล้วก็เพลิน ปล่อยเลย

สบาย คือเอื้อ เหมาะ หรือเกื้อหนุนให้ทำอะไรๆ ได้ผลดี ยกตัวอย่างเช่น บรรยากาศที่สบาย หรือสิ่งแวดล้อมที่สบาย หมายถึง บรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมที่ต้องการ ไม่ว่าทางกาย ทางจิตใจ หรือทางปัญญา อย่างน้อยก็เอื้อต่อสุขภาพ แต่คนไทยอาจจะมองต่างออกไปว่า เป็นบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่เดือดร้อน ไม่เป็นทุกข์ หรือน่านอน เป็นต้น

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน ท่านสอนว่า อสุภะ คือซากศพ เป็นที่สบายแก่คนราคจริต ถ้ามองแบบไทย เอ มองดูซากศพ มันจะสบายได้อย่างไร เห็นไหมว่าความหมายที่แท้ของเดิมไม่เหมือนในภาษาไทย สบายหมายความว่ามันเอื้อ คือเอื้อต่อการพัฒนาของคนราคจริต คนราคจริตได้ซากศพมาพิจารณาแล้วจะช่วยให้ก้าวหน้าต่อไปในการเจริญจิตตภาวนา

อีกตัวอย่างหนึ่ง ได้ที่อยู่สบาย ก็คือจะช่วยให้ปฏิบัติหรือทำสิ่งที่ต้องการได้ผลดี ถ้าได้เสนาสนะที่อยู่ที่อาศัยไม่สบาย ไม่เป็นสัปปายะ การปฏิบัติธรรมก็ยาก สมาธิเกิดได้ยาก เพราะใจอาจจะพลุ่งพล่าน กระวนกระวาย ความคิดว้าวุ่นสับสน แต่พอได้ที่อยู่ที่เหมาะ เป็นเสนาสนสัปปายะ จิตก็สงบ ทำให้บำเพ็ญสมาธิได้ง่าย

สบาย คือเกื้อหนุนให้ก้าวไปสู่วัตถุประสงค์ได้สะดวกขึ้น ไม่ใช่เพื่อหยุด คือมันเอื้อโอกาสต่อการที่จะทำให้ได้ผลดี หรือเอื้อต่อวัตถุประสงค์ที่จะก้าวเดินหน้าต่อไป แต่คนไทยมองสบายแบบที่จะหยุด จะนอน จะนิ่ง นี่แสดงว่าพลาด

แม้แต่ความสุขก็เช่นเดียวกัน เรามองความสุขในแง่ที่ว่า เอ้อ เราทุกข์มานานแล้ว ต้องดิ้นรนอยู่เรื่อย คราวนี้หมดทุกข์แล้ว หยุดลำบากเสียที พอสุขก็นอนสบายอีก

ที่จริง “สุข” แปลว่า สะดวก คล่อง ง่าย ซึ่งจะต้องสัมพันธ์กับการกระทำ ไม่ใช่หยุด หมายความว่า สุขเป็นสภาพเอื้อ ที่ช่วยเราให้ทำอะไรได้ง่าย เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าเราปฏิบัติต่อสุขผิด

ทุกข์ นั้นร้ายที่ว่ามันบีบคั้น ทำให้เกิดภาวะไม่สบาย จะทำอะไรก็ขัดข้อง ติดขัด ยากลำบาก แต่ทุกข์นั้น ก็ทำให้ดิ้นรน แล้วเกิดพลัง ถ้าใช้ทุกข์ไม่เป็น พอถูกทุกข์บีบคั้น ก็ได้แต่โอดครวญหวนละห้อย กลายเป็นซ้ำเติมตัวเอง แต่ถ้าใช้เป็นก็ทำให้เกิดพลัง และเป็นเครื่องฝึกตนให้เข้มแข็ง ตลอดจนพัฒนาปัญญาจากการคิดหาทางแก้ไข

ทีนี้ สุข ก็เช่นกัน ถ้าใช้ไม่เป็น พอสบาย สุขแล้วก็เฉื่อยลง หรือหยุด แต่สุขที่ใช้ในความหมายที่ถูกต้องก็คือ มันเอื้อ มันคล่อง มันง่าย ทำให้เราเคลื่อนไหว หรือทำอะไรๆ ได้สะดวก เพราะตอนที่เราสุขนั้นไม่มีอะไรบีบคั้น ไม่มีอะไรขัดข้อง หรือกีดขวาง ฉะนั้น เราจะทำการสร้างสรรค์อะไรก็ทำได้คล่องในตอนที่สุขนั่นแหละ แต่คนมักจะไม่ใช้โอกาสนี้ เลยกลายเป็นว่า พอสุขก็ลงนอน เรียกว่าทำโอกาสให้เป็นเคราะห์ ตกอยู่ในความประมาท แต่ถ้าใช้สุขเป็นก็กลายเป็นทำได้คล่อง ทำได้ง่าย ทำได้สะดวก อันนี้เป็นความหมายหนึ่งที่จะต้องพิจารณากันให้ดี

ฉะนั้น เมื่อสุขแล้วทางพระจะไม่ให้หยุดแค่นั้น พอสุขก็จะเป็นฐานให้เกิดสมาธิ สมาธิจะเกิดยากถ้าไม่มีสุข เพราะฉะนั้นท่านจึงให้หลักกว่าสุขเป็นบรรทัดฐานของสมาธิ คือสุขช่วยให้เกิดสมาธิ พอสมาธิเกิดแล้วก็หนุนต่อไปให้การใช้ปัญญาดำเนินไปได้ง่าย การปฏิบัติต้องต่อเนื่องกันไปอย่างนี้เรื่อย ฉะนั้นอย่ามองอะไรแบบหยุดนิ่ง ต้องมองแบบเอื้อโอกาส มองความสุขสบาย เป็นต้น ว่าเป็นสภาพเอื้อ คือเอื้อต่อโอกาสในการที่จะทำการต่างๆ เพื่อจะเดินหน้าต่อไป ในกระบวนการคืบเคลื่อนส่งต่อของไตรสิกขาจนกว่าจะถึงจุดหมาย

ถ้าจะสรุปให้ง่าย สำหรับเมืองไทยยามวิกฤตินี้ ก็คงจะต้องบอกว่า ใครมีลักษณะอย่างนี้ คือ “ยามสุขได้แต่สนุกมัวเมา ยามทุกข์มัวจับเจ่ารำพัน” คนนั้นก็ทำโอกาสให้เป็นเคราะห์ ถ้าจะทำเคราะห์ให้เป็นโอกาส เราต้องถือคติว่า “ยามทุกข์ไทยลุกขึ้นสู้ ยามสุขไทยลุกขึ้นสร้าง”

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.