การศึกษา: พัฒนาการหรือบูรณาการ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การสอนจริยศึกษาแบบบูรณาการ

จริยศึกษาเป็นเรื่องที่จะต้องบูรณาการมากที่สุดในบรรดาวิชาการทั้งหลาย แต่เราจะให้จริยธรรมนี้บูรณาการขึ้นได้อย่างไร มีผู้เสนอว่า จะต้องให้ครูทุกคนเป็นครูจริยศึกษา คือให้ครูที่สอนวิชาซึ่งชำนาญพิเศษเฉพาะด้านๆ ทั้งหลายนี้แหละ ทุกคนเป็นครูจริยศึกษาไปด้วย ซึ่งเราตอบได้ว่า ถ้าเป็นได้ก็ดีซิ แต่ทีนี้มันเป็นจริง หรือเป็นได้หรือเปล่า ปัญหาปัจจุบันก็คือว่า เรื่องนี้เป็นสภาพที่ห่างจากความเป็นจริงอย่างไกลลิบทีเดียว ถ้าหากว่าเราจะทำอะไรโดยไม่สัมพันธ์กับสภาพความเป็นจริงแล้ว มันจะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติไม่ได้

แม้แต่ในขณะนี้ที่มีการแบ่งแยกความชำนาญ ให้มีครูจริยศึกษาเป็นการเฉพาะ เราก็ยังมีปัญหาว่าจะหาครูจริยศึกษาที่ดีได้อย่างไร แม้แต่ครูที่ชื่อว่าชำนาญพิเศษด้านจริยศึกษาอยู่แล้ว ก็ยังหาผู้ที่มีคุณสมบัติสมหวังได้ยาก ครูที่สอนวิชาอื่นนั้น ก็เห็นกันอยู่ว่า จำนวนมากทีเดียวไม่เอาใจใส่เรื่องจริยธรรมเลย แล้วจะให้ทำหน้าที่อย่างที่คิดฝันได้อย่างไร เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไร วิธีการอย่างหนึ่งก็คือ ทำอย่างไรจะใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าพิจารณา

ถ้าเราจะใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด วิธีการอย่างหนึ่งก็คือ เราจะต้องมองความหมายของจริยศึกษาและจริยธรรมกันใหม่ในขอบเขตที่กว้างขวางกว่าเดิม เข้าใจว่าที่ผ่านมานี้เรามองความหมายของจริยศึกษาและจริยธรรมแคบมาก มองว่าเป็นวิชาเกี่ยวกับการประพฤติตัว การดำรงตน ความสัมพันธ์ที่ดีในทางสังคม อะไรทำนองนี้ ซึ่งมันก็ถูก แต่พูดได้ว่า มันเป็นเพียงด้านหนึ่งหรือแง่หนึ่งของจริยธรรมหรือจริยศึกษาเท่านั้น

ขอย้ำว่า จริยศึกษานั้นเป็นตัวจัดการประสานกลมกลืนให้วิชาการต่างๆ เข้ามาเกิดความสมดุลกัน เรียกว่า เป็นตัวบูรณาการวิชาอื่นๆ ทั้งหมด ถ้าเรามองจริยศึกษาให้กว้างดังที่ว่ามานี้ เราจะมองในแง่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้องค์ประกอบในฝ่ายมนุษย์ก็ดี องค์ประกอบทางด้านสังคมก็ดี และองค์ประกอบทางด้านสภาพแวดล้อมก็ดี เกิดความประสานกลมกลืนกัน เพื่อให้มนุษย์เป็นอยู่อย่างดี การทำให้รู้และฝึกฝนวิธีการอยู่ร่วมประสานด้วยดีกับสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ และสภาพสังคม โดยที่ทั้งมนุษย์ และสังคม และธรรมชาติ ต่างก็ดำรงอยู่และงอกงามไปด้วยกันด้วยดี อย่างนั้นนั่นแหละคือ จริยศึกษา แม้แต่จะมองแคบเข้ามาเฉพาะตัวมนุษย์ว่า มนุษย์จะปฏิบัติต่อชีวิตของตนเองอย่างไรในด้านกายและใจให้ประสานกลมกลืนกันอยู่อย่างดี แค่นี้ก็เป็นจริยศึกษาแล้ว

เพราะฉะนั้นจริยศึกษานี้แหละจึงเป็นวิชาที่สำคัญอย่างยิ่ง ถ้าเราจะยอมรับระบบบูรณาการ เพราะมันเป็นหลักวิชาที่จะช่วยประสานคนเข้ากับสภาพแวดล้อมและสังคมให้เกิดความเป็นอยู่อย่างดี เช่นว่า เราจะใช้ทรัพยากรอย่างไรให้เกิดคุณประโยชน์มากที่สุด นี่ก็เป็นจริยศึกษา เราจะใช้เทคโนโลยีอย่างไรให้เกิดผลดีแก่ชีวิต นี่ก็เป็นเรื่องจริยศึกษาทั้งสิ้น ทีนี้ถ้าเข้าใจความหมายของจริยศึกษาในความหมายที่กว้างอย่างนี้แล้ว วิชาจริยศึกษาก็เป็นวิชาที่จำเป็นมากในสังคมที่มีความเห็นและทรรศนะแบบบูรณาการ

ข้อพิจารณาต่อไปก็คือว่า ในเมื่อวิชาจริยศึกษานี้ยังเป็นวิชาเฉพาะอยู่ เราจะจัดการสอนอย่างไรให้ได้ผลทางบูรณาการ คำตอบก็คือ จะต้องสอนวิชาจริยศึกษาอย่างเป็นสนามรวมของวิชาทุกวิชา วิชาการทุกอย่างจะมีสนามรวมอยู่ที่จริยศึกษา

ตามปกติ จริยศึกษาอยู่ในหมวดสังคมศึกษา สังคมศึกษานั้นเป็นวิชาประเภทสนามรวมอยู่แล้ว วิชาอื่นๆ จะมาสัมพันธ์กันในวิชาสังคมศึกษา แต่จริยศึกษานี้เป็นจุดยอดในสังคมศึกษา เป็นสนามรวมทั้งหมดอีกทีหนึ่ง กล่าวคือจริยศึกษานี้ เป็นที่ฝึกการใช้โยนิโสมนสิการ ให้รู้จักคิดรู้จักพิจารณาและรู้เห็นถูกต้องตามจริงว่า คนจะปฏิบัติต่อวิชาการอื่นๆ อย่างไร จะเรียนวิชาอื่นอย่างไร จะเอามาบูรณาการในการดำเนินชีวิตของตนอย่างไร ในการที่จะพัฒนาวัตถุ พัฒนาเทคโนโลยี และพัฒนาสังคมอย่างไรให้เกิดผลดี นี่เป็นเรื่องของจริยศึกษาทั้งหมด ในความหมายที่กว้างขวาง ถ้าเราสามารถเอาวิชาจริยศึกษามาเป็นวิชาบูรณาการ เพื่อให้พัฒนาการของมนุษย์ทั้งหมดทุกด้าน เป็นพัฒนาการที่เป็นไปด้วยดี เกิดประโยชน์แก่มนุษย์ แก่สังคม และแก่ธรรมชาติทั้งหมดแล้ว มันก็จะเป็นจริยศึกษาที่มีคุณค่ามีความหมายขึ้น นี่ก็เป็นแง่หนึ่ง

ทีนี้ต่อไปอีกด้านหนึ่งในเมื่อเรายังแก้ปัญหาส่วนรวมไม่ได้ ก็แก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ ไปก่อน ในขณะที่เรายังอยู่ในระบบของความชำนาญเฉพาะ ยังให้ครูสอนวิชาเฉพาะที่ชำนาญในสาขาของตน สำหรับวิชาจริยศึกษา ก็ให้ครูจริยศึกษาสอนแบบสนามรวมอย่างที่ว่ามาแล้วเท่าที่ทำได้ ส่วนวิชาอื่นๆ เราก็จะต้องให้ครูที่สอนในแต่ละวิชานั้น แม้จะสอนวิชาเฉพาะสาขาที่ตนชำนาญพิเศษ ก็ให้มีจิตสำนึกอยู่เสมอถึงหน้าที่และความสัมพันธ์ของวิชานั้นกับวิชาอื่นๆ ในระบบว่ามันมีความเชื่อมโยงกับวิชาอื่นอย่างไร ในการที่จะสัมฤทธิ์วัตถุประสงค์ของการศึกษา หรือในการที่ว่า วิชานี้จะมีส่วนร่วมช่วยในการพัฒนามนุษย์ ในการพัฒนาสังคม ให้มีการอยู่ร่วมกันด้วยดี มนุษย์จะอยู่ในสังคม และในระบบนิเวศวิทยาอย่างไร จึงจะเกิดผลดี วิชาทุกอย่างต้องสอนอย่างมีการประสานกลมกลืนสอดคล้องอย่างนี้ ครูทุกคนที่สอนวิชาเฉพาะจะต้องมีจิตสำนึกในบูรณาการด้วย เพื่อให้วิชาของตนไปสัมพันธ์กับวิชาอื่นๆ ตลอดจนสภาพสังคมและนิเวศภาวะที่เป็นจริง ตั้งต้นแต่ถิ่นที่ตนอยู่อาศัยออกไป

อีกข้อหนึ่งที่จะต้องมองกว้างออกไปก็คือ จะต้องมีการย้ำหน้าที่ของครอบครัว ชุมชน (ในชนบทจะต้องเน้นวัดให้มาก) และสื่อมวลชน เป็นต้น ในทางการศึกษาว่า แต่ละหน่วยมีหน้าที่ในการศึกษาด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็มีการย้ำอยู่บ้าง แต่อาจจะต้องทำสม่ำเสมอและมากขึ้น มีผู้เสนอความเห็นว่า ต่อไปนี้ในโลกที่เจริญไป ถึงยุคที่ ๓ ที่เรียกว่า post-industrial หรือยุคหลังอุตสาหกรรม ซึ่งมีทรรศนะแบบบูรณาการแล้ว สังคมจะเปลี่ยนไป แม้แต่โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาก็จะหมดความเป็นผู้ชำนาญพิเศษในด้านการศึกษาด้วยการศึกษาจะถูกโยนกลับไปให้สถาบันครอบครัว นักวิเคราะห์สังคมบางคนมีความเห็นถึงอย่างนี้ มันอาจจะเป็นความเห็นที่กลายเป็นจริงก็ได้ แต่จะเป็นจริงหรือไม่จริงก็ตาม ในประเทศไทยคงจะอีกนาน

ในสังคมไทยคงจะเป็นจริงได้ยาก เพราะเรายังเจริญในระบบอุตสาหกรรมไปไม่ถึงไหน คือ สังคมที่เรากำลังพิจารณานี้เป็นสังคมที่เจริญมาในแนวทางของตัวเอง เขาผ่านยุคเกษตรกรรมมาเป็นยุคอุตสาหกรรม และกำลังผ่านยุคอุตสาหกรรมไปเป็นยุคหลังอุตสาหกรรม แต่ประเทศไทยยังไม่ผ่านสักยุคเดียว ยิ่งตอนนี้เป็นยุคเกษตรกรรมด้วย ยุคอุตสาหกรรมด้วย และกำลังจะเป็นยุคหลังอุตสาหกรรมด้วย พร้อมกันไปหมดเลย โดยเป็นยุคไหนไม่ได้สักยุคหนึ่ง ฉะนั้น ในสังคมไทยนี้จะมีสภาพที่ซับซ้อนมาก คนไหนพัฒนาสังคมอย่างนี้ได้คนนั้นเก่งมาก เก่งกว่าพวกที่พัฒนาประเทศอุตสาหกรรม หรือพัฒนาประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีองค์ประกอบไม่ซับซ้อนเท่าไร ระบบบูรณาการของสังคมไทยนี่ มีพัฒนาการที่ซับซ้อนมาก เพราะฉะนั้น คนที่พัฒนาสังคมไทย ทำให้เกิดบูรณาการได้ จึงมีความสามารถเป็นพิเศษ เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถด้วย

เอาละ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มันก็เป็นภารกิจของสังคมไทย และเราก็จะพูดถึงบูรณาการในการศึกษาปัจจุบันเท่าที่ทำได้ แม้ว่าจะยังทำไม่ได้ ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ ถึงจะเป็นเพียงความคิด ก็ปล่อยให้คิดกันก่อน คิดให้ชัดไว้ก็ยังดี ต่อไปอาจมีทางปฏิบัติ และช่วยกันหาทางปฏิบัติว่าจะให้เกิดผลจริงได้อย่างไร

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.