การศึกษา: พัฒนาการหรือบูรณาการ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การก้าวออกจากยุคอุตสาหกรรม

ขอใช้เวลากับเรื่องนี้อีกนิดหน่อยว่า ทรรศนะแบบต่างๆ นี้มันพัวพันมากับความเจริญของอารยธรรมมนุษย์ กล่าวคือ เมื่อแบ่งคร่าวๆ เพื่อให้เข้ากับทัศนะที่ว่ามาแล้ว ความเจริญของอารยธรรมมนุษย์นี้ แบ่งได้เท่าที่ผ่านมาแล้วเป็น ๒ ยุคด้วยกัน คือ

๑. ยุคที่เริ่มเจริญ มนุษย์พ้นจากความเป็นคนป่าเถื่อน เริ่มมีอารยธรรมขึ้น ได้แก่ยุคที่เริ่มมีการเพาะปลูก ที่เราเรียกว่า ยุคเกษตรกรรม ในยุคเกษตรกรรมนี้ มนุษย์พึ่งพาอาศัยธรรมชาติในการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้น ไม่ว่าจะทำมาหาเลี้ยงชีพหรือจะทำอะไร มนุษย์ก็ทำกับสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้นไปตามปกติ เช่น จะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร ปลูกข้าว ก็ทำกับผืนดินในนา แล้วก็อาศัยธรรมชาตินั้นเอง คอยปรับตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติและปล่อยให้ธรรมชาติดำเนินไปตามทางของมัน รอคอยเวลา แล้วผลิตผลก็เกิดขึ้น ในยุคนี้มนุษย์ก็เพียงแต่อยู่ให้กลมกลืนกับธรรมชาติ เมื่อเข้ากับธรรมชาติได้ก็อยู่ได้ ซึ่งก็นับว่าอยู่ได้ด้วยดีพอประมาณ แต่เป็นลักษณะที่ต้องขึ้นกับธรรมชาติมาก อันนี้ก็เป็นลักษณะของชีวิตแบบหนึ่ง

๒. ต่อมา มนุษย์เห็นว่า การมีชีวิตอยู่อย่างนี้ยังไม่มีความสุขที่แท้จริง ไม่เพียงพอที่จะเป็นชีวิตที่ดี ก็มีการพัฒนาวิทยาการและระบบวิธีต่างๆ มากขึ้น จนเจริญมาเป็นยุคที่เรียกว่าอุตสาหกรรม ยุคอุตสาหกรรม ก็อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า มนุษย์พยายามที่จะสร้างสรรค์พัฒนาความรู้ความเข้าใจทางวิชาการขึ้นมาในแต่ละด้าน แต่ละสาขาให้เจริญเต็มที่ เพราะอะไร เพราะตอนนี้มนุษย์พยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติ จะทำให้เหนือกว่าที่ธรรมชาติจะทำให้ได้ และสามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากธรรมชาติได้

การที่จะเอาชนะธรรมชาตินั้น มนุษย์จะต้องสร้างสรรค์ ผลิตสิ่งทั้งหลายที่ตนต้องการขึ้นมาเอง เมื่อจะผลิตสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง ก็ต้องแยกแยะวิเคราะห์ธรรมชาติให้รู้จักองค์ประกอบต่างๆ ที่จะนำมาผลิต ผลที่สุดก็เกิดความเจริญทางวิชาการเป็นเฉพาะด้านๆ มากขึ้นทุกที จนกระทั่งมีลักษณะเป็นความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ที่ว่าเป็น specialization อันนี้ก็เป็นลักษณะของการที่จะเอาชนะธรรมชาติ และก็เอาชนะธรรมชาติไปได้มากแล้วด้วย จึงเป็นความหวังของมนุษย์ในยุคอุตสาหกรรมว่าจะเอาชนะธรรมชาติได้โดยสมบูรณ์ แล้วมนุษย์ก็จะมีความสุขที่สุด แต่ไปๆ มาๆ ผลที่สุดมันกลายเป็นว่า การเอาชนะธรรมชาตินั้นได้สร้างปัญหาให้กับธรรมชาติ ทำให้ระบบความสัมพันธ์ภายในองค์รวมคลาดเคลื่อนระส่ำระสายไป พอสร้างปัญหาให้แก่ธรรมชาติแล้ว ปัญหาในธรรมชาตินั้นก็ส่งผลย้อนกลับมาเป็นปัญหาแก่มนุษย์เอง จนกระทั่งมนุษย์นี่รับปัญหานั้นแทบไม่ไหว เป็นเหตุให้ยุคอุตสาหกรรมจะต้องสิ้นสุดลงอย่างที่ว่ามาแล้ว

เมื่อยุคอุตสาหกรรมมีลักษณะอย่างนี้ และจะไปไม่รอด มันก็เลยจะเปลี่ยนไปอีก ตอนนี้เขากำลังขึ้นยุคใหม่ ยุคใหม่นี้ก็เป็นยุคที่คนกำลังมีทรรศนะแบบองค์รวมเกิดขึ้นด้วย คือมีทรรศนะที่เปลี่ยนจากการมองสิ่งทั้งหลายแบบแบ่งซอยย่อยออกไป หรือแบ่งความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านนี้ มาเป็นทรรศนะที่มองสิ่งทั้งหลายแบบองค์รวม ซึ่งเกิดจากส่วนประกอบทั้งหลายมีความสัมพันธ์อิงอาศัยซึ่งกันและกัน อย่างที่เรียกเมื่อกี้ว่า holistic view

ตอนนี้มาถึงยุคใหม่ที่เราจะต้องบัญญัติศัพท์ขึ้นใหม่ และก็มีคนพยายามใช้ศัพท์ต่างๆ หลายอย่าง บางคนก็บอกว่า ที่แล้วมาเป็นยุคสังคมอุตสาหกรรม ยุคนี้ก็เรียกว่าเป็นยุคหลังสังคมอุตสาหกรรม คือเปลี่ยนจาก industrial society มาเป็น post-industrial society บางคนก็บอกว่า ยุคนี้เป็นยุคของสารวิทยา หรือข่าวสารข้อมูล ความเจริญด้านนี้ก้าวหน้า กำลังเข้ามาเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในหมู่มนุษย์ ก็เรียกยุคนี้ว่าเป็นยุคอินฟอร์เมชั่น (Information Age) บางคนก็บอกให้ตั้งชื่อว่า superindustrial society อะไรทำนองนี้ ก็แล้วแต่ตกลงกัน แต่ตอนนี้ยังไม่มีมติร่วมกันว่าจะเอาอย่างไร แต่ก็มีความเห็นคล้ายกันอย่างหนึ่ง คือว่ามันกำลังขึ้นยุคใหม่

คนที่มีจิตสำนึกในเรื่องของสังคมและอารยธรรม จะต้องเตรียมต้อนรับทรรศนะแบบนี้และศึกษาให้รู้จักเข้าใจเท่าทัน แต่อย่างที่กล่าวมาแล้วก็คือ น่าเป็นห่วงว่าคนบางพวกจะมีทรรศนะแบบเอียงสุด ทำให้คนไม่น้อยกำลังจะหันกลับไปหาความเป็นอยู่แบบยุคเกษตรกรรมที่ว่า คนมีความเป็นอยู่กลมกลืนกับธรรมชาติ แต่ถ้าเรามาวิเคราะห์ดูความเจริญของมนุษย์ก็จะเห็นว่า จริงอยู่ ในยุคเกษตรกรรมนั้น คนอยู่กลมกลืนกับธรรมชาติ มองสิ่งทั้งหลายเป็นองค์รวม หรือภาพรวมก็จริง แต่ภาพรวมนั้นเป็นภาพรวมที่พร่าๆ มัวๆ ไม่ชัดเจน มองไม่เห็นเนื้อใน มองไม่เห็นปัจจัยและองค์ประกอบย่อยๆ ต่างๆ ไม่เข้าใจถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงอิงอาศัยกันของปัจจัยและองค์ประกอบเหล่านั้น มองเห็นผิวเผินแต่ภายนอก ก็อยู่กลมกลืนไปกับธรรมชาติอย่างนั้นเอง บางทีก็อาจจะคิดว่าเทวดาพาเมฆพาฝนมาอะไรเป็นต้น ซึ่งก็เป็นการมองแบบภาพรวมอย่างหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าภาพรวมนั้นเกิดจากองค์ประกอบอะไรบ้าง อันนี้ก็เป็นความกลมกลืนกับธรรมชาติแบบหนึ่ง ซึ่งในแง่หนึ่งก็ดีอยู่ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็คือ มีความไม่รู้ประกอบอยู่ด้วย ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการที่จะประสานกลมกลืน

ทีนี้ เมื่อคนเราเจริญขึ้นมาถึงยุคอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเจริญมากขึ้น เราก็มีความรู้ความเข้าใจ สามารถวิเคราะห์แยกแยะสิ่งทั้งหลายละเอียดลงไป จนกระทั่งรู้วิทยาการมากมายลึกซึ้ง เข้าใจองค์ประกอบอะไรต่างๆ ส่วนต่างๆ ส่วนย่อยของสิ่งทั้งหลาย มองเห็นความเป็นไปในชีวิตในจักรวาลนี้ ละเอียดลออถี่ถ้วนขึ้น แต่มามีจุดเสียที่ว่า เรามัวหลงเพลินกับความเก่งกล้าสามารถที่เกิดจากความรู้เชี่ยวชาญความชำนาญพิเศษในด้านของตนๆ ลำพองว่าตนล่วงรู้ความลี้ลับของธรรมชาติและมุ่งแต่จะเอาชนะธรรมชาติ จนจมดิ่งลงไปในรายละเอียดปลีกย่อยและลืมนึกถึงความเป็นจริงของชีวิต ธรรมชาติ และสังคม ที่เป็นสภาพรวมๆ และเป็นอยู่เป็นไปด้วยกัน ตลอดจนลืมเป้าหมายเดิมที่ต้องการเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้าหากันให้ชัดเจนและให้ได้ผลแก่ชีวิตที่ดี เมื่อลืมมันก็เลยแตกย่อยกลายเป็นเสี่ยงๆ ความรู้ของมนุษย์เกิดความแตกแยก ไม่ประสานกลมกลืน

เพราะฉะนั้น เมื่อมาถึงยุคนี้ เราน่าจะได้ประโยชน์จากความคิดของทุกยุคทุกสมัย คือเอาประโยชน์ของยุคอุตสาหกรรมมาด้วย เพราะการเรียนรู้สิ่งทั้งหลายที่แยกเป็นหน่วยย่อยๆ นั้นนั่นแหละ มันจะช่วยให้เราสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ได้ดีขึ้น ดังนั้น สิ่งที่เราจะต้องทำซึ่งเป็นการก้าวหน้าต่อไป ก็คือ การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งหลายที่เราได้เรียนรู้แยกแยะเป็นพิเศษ เป็นด้านๆ เป็นส่วนย่อยลงไปนั้น แล้วใช้ความรู้นั้นเป็นเครื่องช่วยในการสร้างสรรค์ รักษาและฟื้นฟูความประสานกลมกลืนและความสมดุลภายในองค์รวม ให้ชีวิตและทุกอย่างเป็นอยู่เป็นไปด้วยดี ถ้าเราสามารถโยงเข้ามาหากันได้จนรู้เห็นว่า มันมีความประสานกลมกลืนกัน สัมพันธ์อิงอาศัยกันอย่างไร มีอิทธิพลกระทบต่อกันอย่างไรแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์แก่การที่มนุษย์จะอยู่ด้วยดียิ่งขึ้น นี้ก็เป็นเรื่องที่ว่า เราได้มาถึงยุคที่มีโอกาสดีที่สุด ถ้ามองในแง่ดี ก็คือการที่มนุษย์อาจจะได้เข้าถึงความรู้ และการปฏิบัติที่ถูกต้องสมบูรณ์ก็ได้ ถ้าหากว่าจะใช้ความรู้ทุกอย่างที่ผ่านมาให้เป็นประโยชน์

ที่ผ่านมานี้ ขอถือว่าเป็นการพูดเท้าความเบื้องต้น เป็นการพยายามที่จะให้มองเห็นเรื่องบูรณาการนั่นเอง ตามที่พูดมานี้ทรรศนะแบบองค์รวม หรือการมองสิ่งทั้งหลายเป็นองค์รวมนั่นแหละ คือเรื่องของบูรณาการ หมายความว่า เมื่อเรามองเห็นว่า สิ่งทั้งหลายในชีวิตก็ดี ในโลก ในจักรวาลก็ดี ทุกอย่างนี้มีความสัมพันธ์อิงอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อมันประกอบกันเข้าเป็นองค์รวมขึ้นมาแล้ว ถ้าองค์ประกอบทุกอย่างประสานกลมกลืนกันดี มันก็เกิดภาวะที่พอดีได้ที่ซึ่งเราเรียกว่าสมดุล พอเกิดภาวะได้ที่สมดุลนั้นแล้วก็เกิดภาวะที่เป็นตัวของมันเอง มีคุณสมบัติของมันเองที่สามารถดำรงอยู่ด้วยดี และดำเนินต่อไปด้วยดี อันนี้ก็เป็นสาระสำคัญของทรรศนะแบบที่มองสิ่งทั้งหลายเป็นองค์รวม

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.