การศึกษา: พัฒนาการหรือบูรณาการ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การเลียนแบบไม่ใช่การทำได้จริง

ข้อสำคัญก็คือ การจัดระบบบูรณาการในขั้นต่างๆ ของพัฒนาการ ซึ่งจะต้องจัดความสัมพันธ์ให้ดี มิฉะนั้นจะเกิดภาวะที่ขาดสมดุลขึ้น แล้วการพัฒนาเสรีภาพหรือการใช้เสรีภาพก็ผิดพลาดไร้ผล ไม่เป็นเสรีภาพที่แท้จริง ในสังคมที่พัฒนาเสรีภาพไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปอย่างมีบูรณาการ จะมีปัญหาในเรื่องการใช้เสรีภาพมาก

ถ้าจะพิจารณาอย่างในสังคมไทยของเรานี้ เราเอาทรรศนะเกี่ยวกับเสรีภาพแบบปัจจุบันนี้มาจากไหน เราต้องยอมรับว่า เราเอาความคิดหรือทรรศนะในเรื่องเสรีภาพแบบนี้มาจากตะวันตก โดยรับเอามากับระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันนี้มองในแง่หนึ่งก็คือ เราเลียนแบบฝรั่ง แต่หลักการของระบบบูรณาการจะบอกเราทันทีว่า การเลียนแบบคนอื่น เป็นสิ่งที่ขัดกับระบบบูรณาการ เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะอะไร เพราะระบบบูรณาการบอกไว้แล้วถึงหลักความสมดุลที่ว่า การที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเป็นไปได้ด้วยดีนั้น จะต้องประสานสอดคล้องกับองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง องค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมีอะไร จะต้องเข้ามาประกอบร่วม กันด้วยทั้งหมด ถ้าเราจะเอาเสรีภาพตามแบบอย่างของตะวันตก เราก็ต้องไปเอาองค์ประกอบของเสรีภาพที่มีอยู่ในสังคมตะวันตกมาใช้ให้ครบถ้วน เสรีภาพแบบที่ฝรั่งมี ซึ่งเป็นเสรีภาพที่ค่อนข้างจะดีนี้ มีตัวประกอบร่วมอะไรบ้าง เราก็จะเห็นว่า มันมีตัวประกอบร่วมอย่างที่ว่ามาเมื่อกี้ เช่น ความเคารพผู้อื่น การแสดงออกอย่างมีเหตุผล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สังคมทั้งหลาย แม้แต่สังคมที่พัฒนาแล้ว ก็ยังประกอบด้วยคนที่พัฒนาอยู่ในระดับต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น จึงยังไม่สามารถที่จะใช้องค์ประกอบร่วมในขั้นเดียวกันได้ทั้งหมดสำหรับคนทุกคน ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นได้ว่า ในประเทศเหล่านั้นจะมีตัวคุมทั้งภายนอก ภายใน หรือองค์ประกอบในระดับต่างๆ ดังนั้น ในประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านั้น ก็อาจจะมีการแสดงออกอย่างมีเหตุผล ความเคารพผู้อื่น และระเบียบวินัย แต่พร้อมกันนั้นก็ยังต้องมีระบบกฎหมาย มีกติกาของสังคม มีระบบการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลอยู่ด้วย เพราะคนยังมีพัฒนาการไม่เท่ากัน

อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบเหล่านี้ เราต้องรู้ว่ามันเป็นองค์ประกอบร่วมของเสรีภาพ ถ้าเราจะทำให้เหมือนเขา เราก็ต้องเอาองค์ประกอบร่วมเหล่านั้นมาให้หมด แต่เราทำได้ไหม ในความเป็นจริงแล้วทำไม่ได้ เพราะว่าพื้นฐานวัฒนธรรมอะไรต่ออะไรก็ไม่เหมือนกัน และฝรั่งเองก็รู้จักตัวเองไม่หมด ฝรั่งเองมองตัวเองแล้วก็ยังดึงเอาลักษณะของตัวเองขึ้นมาชี้ให้เราเห็นได้ไม่ชัด ไม่ใช่ว่าเขาทำได้แล้วเขาจะรู้จักตัวว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมีอะไรประกอบกันอยู่บ้าง ความจริง ฝรั่งเองก็ไม่รู้จักตัวเองอย่างสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อเราเอาจากเขามา องค์ประกอบบางอย่างจะขาดไป ก็ไม่ได้สมดุล ทำให้การเลียนแบบนี้เป็นไปไม่ได้

นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ความสมดุลไม่อาจเกิดขึ้นได้ กล่าวคือ ตัวเราเองนี้มีวัฒนธรรมของตนเอง มีองค์ประกอบอื่นๆ ของเราเอง ซึ่งเมื่อนำเข้ามาร่วมกับพฤติกรรมแบบของเขาแล้ว เราจะมีองค์ประกอบบางอย่างที่เกินไป หรือขัดแย้งกับองค์ประกอบบางอย่างจากของเขา ก็เสียสมดุลอีก มันก็เป็นไปไม่ได้

เมื่อการเลียนแบบเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องใช้อีกวิธีหนึ่ง คือ ดึงเอาสิ่งที่ดีของเขามา แล้วปรับตัวให้ได้ โดยใช้พื้นฐานของเรานี่แหละ พิจารณาเลือกด้วยความรู้เท่าทัน ดึงเอาองค์ประกอบที่ดีซึ่งเราต้องการในวัฒนธรรมของเขามา พร้อมกันนั้นก็จัดองค์ประกอบในพื้นฐานของเราเองที่เหมาะกัน เอามาปรับให้เข้ากัน พัฒนาตัวเองอย่างมีสมดุล หรือมีบูรณาการในแบบของเราเองที่จะเป็นผลดี

อันนี้ก็เป็นคติสอนใจว่า ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องเสรีภาพเท่านั้น การเลียนแบบอะไรต่างๆ ทุกอย่างเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะขัดกับระบบบูรณาการเรื่องของมนุษย์ เช่นการเลียนแบบทางวัฒนธรรมเป็นต้นนี้ เป็นสิ่งซับซ้อน ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ เหมือนอย่างวัตถุทั้งหลาย เช่นเครื่องขยายเสียงหรือไมโครโฟนอันหนึ่ง จะได้มาเลียนแบบกันปุ๊บปั๊บ มันเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมากกว่านั้น

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.