การศึกษา: พัฒนาการหรือบูรณาการ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

องค์สามที่การศึกษาจะต้องบูรณาการ

ย้อนกลับเข้ามาหาการศึกษาปัจจุบันอีกหน่อย ในการศึกษาปัจจุบันนี้ มีเรื่องที่ต้องพูดเกี่ยวกับบูรณาการมากมาย เมื่อกี้ก็พูดไปบ้างแล้ว แต่ยังมีอีกแง่หนึ่งที่ควรจะพูด ก็คือในการศึกษาปัจจุบันนี้ เราเห็นได้ชัดว่า มีการเน้นองค์ด้านความรู้มากเหลือเกิน จนบางทีให้คำจำกัดความว่า การศึกษาเป็นการแสวงหาความรู้ หรือการได้ความรู้มา ทีนี้องค์ด้านความรู้นี่พอไหม มันครบบูรณาการหรือเปล่าที่จะให้เป็นการศึกษาที่ถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้อง จะต้องมีองค์ประกอบอะไรอีก ที่จะมาบูรณาการกับความรู้ เพื่อให้เป็นการศึกษาที่สมบูรณ์ถูกต้อง

เริ่มต้นเอาแค่ความรู้ก่อน ความรู้ที่เราเข้าใจกันนี้ ก็ยังพร่าๆ กำกวม ความรู้มีความหมายว่าอย่างไร แม้แต่ถ้าเรายอมรับว่า ความรู้เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษา ก็ยังมีปัญหาว่า ความรู้ที่เราเข้าใจ ที่ว่าเป็นองค์ของการศึกษานั้น เป็นความรู้แบบไหน ความรู้ที่ถูกต้องคืออะไร เราลองหาดูว่า อะไรคือความหมายของความรู้ ศัพท์หนึ่งที่เราใช้แปลความรู้ ก็คือ ปัญญา ปัญญา คือความรู้ ปัญญานั้นยอมรับได้ว่าเป็นความรู้ที่เป็นองค์หนึ่งของการศึกษา แต่ความรู้ที่เราใช้พูดถึงกันอยู่นี้ เป็นปัญญาหรือไม่ อันนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ขอวินิจฉัยตามหลักการของพระพุทธศาสนาก่อน อย่างน้อยต้องแยกได้ว่า ความรู้นั้นมี ๒ อย่าง และต้องแยกให้ชัดระหว่างความรู้ ๒ อย่างนั้น

ความรู้อย่างที่ ๑ ทางพระเรียกว่า สุตะ สุตะนี่อาจจะเรียกว่าข้อรู้ คือ ความรู้ที่ได้รับฟังมา ได้อ่าน ได้เล่าเรียน ได้ถ่ายทอดกันมา ความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดมาจากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม เรียกว่าสุตะทั้งสิ้น

ความรู้อย่างที่ ๒ เรียกว่า ปัญญา ความรู้ที่เรียกว่า ปัญญา คืออะไร ขอให้ความหมายแบบซอยย่อยๆ ให้เห็นลักษณะด้านต่างๆ ของปัญญา ลักษณะด้านต่างๆ ของปัญญาก็มี

  • รู้เข้าใจ
  • รู้คิด
  • รู้วินิจฉัย
  • รู้ที่จะใช้แก้ปัญหา
  • รู้ที่จะสร้างสรรค์จัดทำดำเนินการให้สำเร็จ

นี้เป็นความหมายในแง่ต่างๆ ของปัญญา ในความหมายอย่างแรก ปัญญาจะมาสัมพันธ์กับความรู้ประเภทที่ ๑ ที่เรียกว่า สุตะ ความรู้ที่ได้เล่าเรียนและถ่ายทอดกันมาที่เรียกว่า สุตะนี้ เป็นตัวข้อมูลมากกว่า มันเป็นตัวตั้ง เป็นตัวตาย เป็นของที่มาจากผู้อื่น เรียกว่า เป็นของคนอื่น ไม่ใช่ของเรา พอเราเกิดความรู้ที่เรียกว่า ปัญญาขึ้นมา คือรู้เข้าใจ ก็กลายเป็นความรู้ของเราขึ้นมาทันที

ตัวความรู้ที่เป็นของเรานี้ มันมีความสัมพันธ์กับสุตะ คือ พอเข้าใจแล้ว มันจะวินิจฉัยสุตะนั้น จะวินิจฉัยความรู้ที่ถ่ายทอดกันมา ที่ได้รับมา ว่าเป็นความรู้ที่เข้ากับการที่เราจะใช้ประโยชน์ไหม มีคุณค่าไหม เป็นคุณหรือเป็นโทษอย่างไร จะใช้อย่างไร ปัญญาเป็นตัววินิจฉัยทั้งหมด อาจจะพูดสั้นๆ ว่า ปัญญา คือ ความรู้ เข้าใจ และใช้ความรู้เป็น เพราะฉะนั้น ทางพระจึงแสดงหลักว่า ปญฺา สุตวินิจฺฉินี แปลว่า ปัญญา เป็นตัววินิจฉัยสุตะ นี่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ ๒ อย่าง คือ สุตะ กับ ปัญญา หมายความว่า ความรู้อย่างที่ ๒ วินิจฉัย ความรู้อย่างที่ ๑

ความรู้แบบสุตะ คือ ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมา เป็นความรู้ที่เป็นส่วนประกอบของการศึกษาก็จริง แต่ยังไม่ใช่องค์ของการศึกษา ความรู้ที่เป็นองค์ของการศึกษาก็คือปัญญา

ถึงตอนนี้ ก็กลับเข้ามาสู่ปัญหาเดิมที่ว่า ปัญญาอย่างเดียว พอไหมที่จะเป็นการศึกษาที่สมบูรณ์ ถ้าไม่สมบูรณ์ก็มาพิจารณาตามหลักบูรณาการว่า จะต้องมีองค์ประกอบร่วมอะไรมาประสานกับปัญญาอีก จึงจะเกิดเป็นการศึกษา ทีนี้ก็ลองมาดูว่ามีอะไรบ้าง แต่อย่างที่บอกไว้แล้ว จะต้องระลึกกันไว้ก่อนว่า องค์ประกอบอื่นๆ ที่จะมาร่วมบูรณาการนั้น จะต้องสัมพันธ์เป็นอันเดียวกันกับปัญญา ตามทัศนะแบบพุทธธรรมนั้น องค์ประกอบร่วมรวมทั้งปัญญาในระบบบูรณาการของการศึกษานั้นมี ๓ อย่าง คือ

    (๑) ความจริง
    (๒) ความดีงาม
    (๓) ความสุข

ความจริง ความดีงาม และความสุข เป็นองค์ประกอบร่วมในบูรณาการที่จะทำให้เกิดการศึกษาที่สมบูรณ์ ที่จะพัฒนาคนทั้งคนขึ้นมา อย่างแรกคือความจริงนั้น ก็เป็นสภาวะของสิ่งทั้งหลายนั่นเอง แต่ในเวลาที่มันเกิดขึ้นในคนนี่ความจริงคืออะไร ความจริงปรากฏแก่คนโดยเป็นความรู้ คือ เรารู้ความจริง และการรู้ความจริงนั่นเป็นปัญญา เพราะฉะนั้น องค์ประกอบที่ ๑ จึงเป็นปัญญา ซึ่งเป็นตัวประกอบที่สำคัญมาก แล้วพ่วงมาด้วยกับปัญญานั้น ก็จะมีตัวกำกับที่เป็นเครื่องยืนยันทำให้แน่ใจได้ว่า เป็นปัญญาที่แท้จริงหรือไม่ เป็นปัญญาที่สมบูรณ์หรือไม่ ปัญญาที่สมบูรณ์จะมีองค์ประกอบอื่นเข้ามาร่วมด้วย คือ ความดีงาม และความสุข แต่ความสุขในกรณีนี้ ท่านใช้ภาษาที่เคร่งครัด เรียกว่า ภาวะไร้ทุกข์ เพราะความสุขนั้น ท่านถือว่าเป็นคำที่กำกวม เมื่อจะให้จำกัดชัดต้องเรียกว่าภาวะไร้ทุกข์ ภาวะไร้ทุกข์ก็คือภาวะไร้ปัญหา ปราศจากความบีบคั้น เป็นต้น เมื่อปราศจากความบีบคั้นไร้ปัญหา ก็เรียกว่าภาวะไร้ทุกข์ ก็คือความสุขที่แท้ๆ ล้วนๆ เมื่อพัฒนาคนขึ้นมา องค์ประกอบสามอย่างนี้จะต้องมีด้วยกัน คนที่มีการศึกษาจะต้อง

    (๑) มีปัญญา คือรู้ รู้อะไร ก็รู้ความจริง คือมีความจริง เข้าถึงความจริง
    (๒) มีความดีงาม ซึ่งอาจจะเรียกว่าคุณธรรม
    (๓) มีความสุข หรือไม่มีทุกข์

คนที่เรียกว่ามีการศึกษานั้น จะต้องได้รับการตรวจสอบดูเสมอว่า ได้พัฒนาไปโดยมีองค์ประกอบ ๓ อย่างนี้เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ ถ้าหากว่าการศึกษาทำให้คนมีความรู้มากขึ้น แต่มีความสุขน้อยลง มีความทุกข์มาก ก็แสดงว่า การศึกษานั้นคงจะผิด ถ้าหากว่าการศึกษาทำให้คนมีความรู้มากขึ้น แต่มีความดีงามน้อยลง มีความชั่วมากขึ้น การศึกษานั้นก็คงจะผิด ถ้าหากว่าคนมีความดีงามโดยไม่มีความรู้ ก็ผิดเหมือนกัน เพราะเป็นความดีงามโดยความหลงงมงาย ไม่ได้เป็นไปด้วยความรู้ ไม่ได้เป็นไปด้วยปัญญา ถ้ามีความสุขโดยไม่มีปัญญา ไม่มีความดีงามก็ผิดอีก ต้องครบทั้ง ๓ อย่าง ในการพัฒนานี้จะต้องดูว่า ผู้ที่ได้รับการศึกษา คือคนที่เราสอนหรือให้การศึกษานี้ มีปัญญาเพิ่มขึ้นไหม มีความดีงามและความสุขหรือภาวะไร้ทุกข์เพิ่มขึ้นหรือไม่

องค์ประกอบ ๓ อย่างนี้ สัมพันธ์กันอย่างไร มันสัมพันธ์กันโดยเป็นองค์เดียวกัน กล่าวคือ เมื่อบูรณาการถึงขั้นสุดท้าย มันจะไปรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมเป็นอันเดียวกันอย่างไร ปัญญา คือการรู้ความจริง เมื่อรู้ความจริงถึงที่สุดแล้วจะเกิดความเป็นอิสระ มีอิสรภาพขึ้นภายใน จิตใจจะมีภาวะที่ปราศจากสิ่งบีบคั้น หลุดพ้นจากสิ่งบีบคั้น หลุดพ้นจากสิ่งขุ่นมัวเศร้าหมองทั้งหลาย ซึ่งเรียกว่า ภาวะวิมุตติ วิมุตติ หรืออิสรภาพนั้น ก็คือภาวะไร้ทุกข์ ซึ่งเรามาเรียกกันง่ายๆ ว่าความสุข แต่ทางพระท่านไม่นิยมใช้ ถ้าเลือกให้เข้ากับภาษาปัจจุบันก็เรียกว่า อิสรภาพ หรือ ความเป็นอิสระ เมื่อเป็นอิสระหลุดพ้นจากสิ่งบีบคั้นขุ่นมัวเศร้าหมอง ก็เป็นความบริสุทธิ์ เรียกว่า วิสุทธิ และพร้อมกันนั้นก็มีความสงบ เพราะปราศจากความเดือดร้อนกระวนกระวาย จึงเรียกว่าสันติ เมื่อเป็นสันติมีความสงบ ปราศจากความกระวนกระวาย ก็เป็นความสุขนั่นเอง มันพัวพันกันอยู่อย่างนี้

เพราะฉะนั้น ในพระพุทธศาสนา เมื่อถึงขั้นสุดท้ายแล้ว ศัพท์เหล่านี้ จะมีความหมายเกี่ยวเนื่องเป็นอันเดียวกัน เป็นไวพจน์กันทั้งหมด วิมุตติ คือความเป็นอิสระหรือ อิสรภาพ วิสุทธิ คือความบริสุทธิ์หมดจด สันติ คือความสงบ และสุข คือความสุข ทั้งหมดนี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นตัวเดียวกัน ดังนั้น ปัญญาที่แท้จึงมากับความสุขหรือพาเอาความสุขมาด้วย แล้วพร้อมกันนั้นเอง มันก็ไปสัมพันธ์กับความดีงาม เพราะว่าเมื่อมีอิสรภาพ มีภาวะไร้ทุกข์ ก็หมายถึงว่ามีความปลอดโปร่งผ่องใส ปราศจากความชั่วความเสียหายที่ทำให้จิตใจขุ่นมัวเศร้าหมอง หรือบีบคั้นจิตใจด้วย นอกจากนั้น เมื่อเป็นอิสระไร้ทุกข์แล้ว เราก็สามารถพัฒนาความดีงามได้ ถ้าคนเรายังเต็มไปด้วยปัญหาจิตใจ มีความทุกข์อยู่อย่างน้อยก็จะเกิดความฝืนในการที่จะประพฤติความดีงาม แต่ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า มันจะประพฤติความดีงามอยู่ไม่ได้ คนที่มีความทุกข์ย่อมมีความโน้มเอียงไปในการที่จะระบายทุกข์ และระบายปัญหาแก่ผู้อื่น เขาก็จะต้องสร้างปัญหา ซึ่งก็คือสิ่งไม่ดีไม่งามให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าการศึกษาไม่สามารถทำให้คนเกิดความไร้ทุกข์แล้ว ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าจะสามารถทำให้คนมีความดีงามได้มาก และคนเช่นนั้นก็ยังเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์

รวมความก็คือว่า ในพัฒนาการระดับสูงสุด ปัญญา คุณธรรม และความสุขหรือความมีอิสรภาพไร้ทุกข์นี้ เป็นองค์ประกอบร่วมของสภาวะอันหนึ่งอันเดียวกันที่บูรณาการเข้าด้วยกัน เป็นหลักการที่เราจะต้องทำให้ได้ในการศึกษา แต่ในพัฒนาการระดับต่ำลงมา องค์ ๓ อย่างนี้จะกระจัดกระจาย จนบางทีเรารู้สึกว่าไม่ประสานกันเลย หนำซ้ำบางครั้งก็รู้สึกว่าขัดแย้งกันด้วยซ้ำ เช่นว่า ทำความดีงามแล้ว อาจจะมีทุกข์ หรือคนบางคนอาจจะเรียกได้ว่า เป็นคนมีปัญญา แต่ไม่ใช่คนดี คือมีความรู้แต่ไม่ดี และคนมีปัญญา มีความรู้นั้น ก็ไม่ใช่มีความสุขเสมอไป ในระดับของพัฒนาการขั้นต้นนี้ องค์ประกอบเหล่านี้ยังไม่บูรณาการ เพราะมันยังไม่ใช่ตัวแท้ตัวจริง มันไม่ใช่ความดีงามที่แท้จริง มันไม่ใช่ความรู้หรือปัญญาที่แท้จริง แล้วก็ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง แต่เมื่อเรารู้ในฐานะนักการศึกษาหรือผู้ให้การศึกษาว่า ในการพัฒนาที่สูงสุด องค์ประกอบทั้งสามนี้จะไปรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราก็จะพยายามจัดสรรควบคุมเพื่อที่จะพัฒนาให้มันไปสู่จุดรวมอันเดียวกัน

เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีความเข้าใจอย่างนี้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เราก็ให้การศึกษาพัฒนาคน โดยคอยคุมให้องค์ประกอบทั้ง ๓ อย่างนี้เกิดขึ้นและเป็นไปด้วยกัน กล่าวคือ ในระดับเบื้องต้น การพัฒนาคนโดยให้เขามีทั้งปัญญา มีทั้งความดีงาม และมีทั้งความสุขไปด้วยกันนั้น จะต้องเป็นการกระทำโดยตั้งใจคิดจัดสรรหรือวางแผน โดยพยายามทำให้องค์ประกอบทั้งสามนั้นเกิดขึ้น และพยายามให้กลมกลืนกันให้ได้ แต่ในขั้นสุดท้าย มันจะพากันมาและกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตามธรรมดาของมันเอง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.