การศึกษา: พัฒนาการหรือบูรณาการ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สาระของเสรีภาพ

ข้อต่อไปก็คือ นอกจากองค์ประกอบร่วมของเสรีภาพที่จะต้องเอาเข้ามาบูรณาการตามขั้นของพัฒนาการเพื่อให้เป็นเสรีภาพที่ถูกต้องแท้จริงแล้ว จะต้องคำนึงต่อไปอีกว่า จุดมุ่งหมายของเสรีภาพนี้เพื่ออะไร และเสรีภาพนั้นอยู่ที่ส่วนไหนของระบบบูรณาการใหญ่ คือระบบประชาธิปไตย การที่เรามีเสรีภาพนี้ เราต้องมีวัตถุประสงค์ เสรีภาพเป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบบประชาธิปไตย แต่เรามีความชัดเจนหรือไม่ว่า เรามีเสรีภาพเพื่ออะไร ถ้าเราไม่มีความชัดเจนในวัตถุประสงค์ของเสรีภาพ เราก็จะไม่สามารถพัฒนาเสรีภาพอย่างได้ผลด้วยเหมือนกัน เพราะวัตถุประสงค์ของเสรีภาพก็มาสัมพันธ์กับเรื่องบูรณาการด้วย ในฐานะที่เสรีภาพนั้นเป็นองค์ประกอบร่วม ที่จะช่วยทำให้องค์รวม คือประชาธิปไตยมีความถูกต้องสมบูรณ์ในระดับของบูรณาการที่กว้างออกไป

สำหรับคำถามว่า วัตถุประสงค์ของเสรีภาพคืออะไร คำตอบในแง่หนึ่งก็คือ เสรีภาพนี้มีความมุ่งหมาย เพื่อให้ศักยภาพของบุคคลได้รับการเปิดเผยออกมา ถ้ามนุษย์ไม่มีเสรีภาพ ศักยภาพที่มีอยู่ก็อาจจะถูกกดกีดกั้นปิดบังไว้ ไม่ได้รับการพัฒนา ไม่มีโอกาสแสดงออก ไม่สามารถปรากฏออกมาได้ เมื่อเรามีเสรีภาพ ศักยภาพที่มีก็ได้รับช่องทางที่จะเผยตัวและมีโอกาสแสดงตัวออกมา เมื่อแสดงออกมาแล้ว ก็มีโอกาสได้รับการพัฒนาได้เต็มที่ คือ มีโอกาสพัฒนาตนหรือพัฒนาศักยภาพนั้นออกไป เช่น ในทางการศึกษา เสรีภาพในสถาบันการศึกษา ก็มีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่ง เพื่อให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้ได้เต็มที่ เต็มขีดแห่งสติปัญญาของตน เมื่อศักยภาพของบุคคลได้รับการพัฒนาด้วยดีแล้ว ก็เอามาใช้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมได้เต็มที่ด้วย เพราะฉะนั้น เสรีภาพจึงเป็นตัวการหรือเป็นเครื่องช่วยให้ศักยภาพของบุคคลคลี่คลายขยายตัวออกมาเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเขาเองและแก่สังคมอย่างเต็มที่ของมัน

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ในสังคมประชาธิปไตย เราต้องการที่จะให้ความคิดเห็น และสติปัญญาของสมาชิกทุกคน ออกผลเป็นประโยชน์แก่การปกครองของส่วนรวม จึงให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครอง เสรีภาพก็จะเป็นตัวเปิดช่องทางให้ความคิดเห็นของคน ให้สติปัญญาของแต่ละคนออกไปช่วยเป็นส่วนร่วมในการปกครองอย่างได้ผล ถ้าไม่มีเสรีภาพแล้ว การปกครองแบบประชาธิปไตยก็เป็นไปด้วยดีไม่ได้ หรือว่าให้ถูกก็คือ ประชาธิปไตย ก็ไม่เกิดขึ้นนั่นเอง ดังนี้เป็นต้น

ถ้าเราเข้าใจวัตถุประสงค์ดังนี้ การบูรณาการในระบบของพัฒนาการก็จะเป็นไปโดยถูกต้อง เพราะว่าบูรณาการนั้นช่วยให้องค์ประกอบต่างๆ เข้ามาประสานกลมกลืนกัน และวัตถุประสงค์นี้ ก็ช่วยให้พัฒนาการเป็นไปอย่างมีเป้าหมาย ตรงจุด ก้าวหน้าไปสู่ผลที่มุ่งหมาย เรื่องเสรีภาพนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ยกขึ้นมาพูดในเรื่องของบูรณาการ

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ดังได้แสดงให้เห็นแล้วในตัวอย่างเรื่องเสรีภาพนี้ว่า เป็นการพัฒนาจากคู่ขัดแย้งที่ถ่วงดุลกันมาจนกระทั่งมนุษย์สามารถสร้างองค์ประกอบภายในที่ประสานกลมกลืนสมดุลกัน อันนี้แสดงถึงลักษณะพิเศษของมนุษย์อีกอย่างหนึ่ง คือการที่มนุษย์มีความสามารถในการจัดสิ่งทั้งหลายที่มีความขัดแย้งกัน ให้มาอยู่ในสภาพที่ประสานกลมกลืนกันได้ หรือสามารถจัดสิ่งที่อาจจะขัดแย้งให้ประสานกลมกลืนกันได้ ลักษณะพิเศษ หรือความสามารถพิเศษของมนุษย์อันนี้ เป็นสิ่งที่จะต้องนำมาใช้ และในยุคบูรณาการก็ถือว่า สิ่งทั้งหลายที่พัฒนาไปนี้ มันไม่ได้กลมกลืนกันเสมอไป บางอย่างจะมีความขัดแย้งกันอยู่เสมอ และอาการขัดแย้งนี้ ก็เป็นไปในลักษณะที่อาจจะเกิดความสลายตัวพังทลาย เพื่อให้เกิดสมดุลใหม่ และภาวะสมดุลอย่างใหม่นั้น ก็อาจจะไม่ตรงกับความต้องการของมนุษย์ก็ได้ แต่มนุษย์ก็มีความสามารถที่จะระงับยับยั้ง หรือรั้งกระบวนการที่ขัดแย้งซึ่งจะนำไปสู่ความสลายนี้ได้ โดยจัดปรับองค์ประกอบต่างๆ ที่ขัดแย้งนั้น ให้ กลับมาเข้าสมดุลกันได้ อันนี้เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ในระบบบูรณาการ ซึ่งเราจะต้องตั้งข้อสังเกตไว้เป็นพิเศษด้วย

เรื่องที่ว่านี้มีความสำคัญที่ควรจะพูดถึงโดยเฉพาะ แต่ในที่นี้จะขอพูดไว้เป็นเพียงเรื่องแทรกสั้นๆ ว่า ในความหมายอย่างหนึ่ง การศึกษาเป็นการพัฒนามนุษย์ให้มีความสามารถมากขึ้น ในการที่จะทำให้ความแตกต่าง ซึ่งอาจจะเป็นความขัดแย้ง กลายเป็นความประสานเสริมเติมเต็มหรือเกื้อกูลและกลมกลืนกัน

ข้อต่อไป หันเข้ามาหาหลักการทางพระพุทธศาสนานิดหน่อย พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาแห่งอิสรภาพและเสรีภาพ เพราะว่าจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนานั้นคือ วิมุตติ วิมุตติก็คือความหลุดพ้น ที่เราใช้ศัพท์ปัจจุบันนี้ว่า อิสรภาพ อิสรภาพจึงเป็นจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา ในการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนานั้น จะเห็นว่าท่านให้มี และให้ใช้เสรีภาพในทุกระดับ ตั้งแต่เรื่องความเชื่อก็มีหลักกาลามสูตรว่า อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะได้ยินได้ฟังตามกันมา อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะมีอยู่ในตำรา อยู่ในคัมภีร์ อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะว่ามีรูปลักษณะน่าเชื่อ อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะถือว่าท่านผู้นี้เป็นครูของเรา ต้องใช้สติปัญญาพิจารณาก่อน นี่ก็เป็นเรื่องของเสรีภาพ เสรีภาพในขั้นต้นนี้เป็นเครื่องมือที่จะนำมนุษย์ไปสู่อิสรภาพในขั้นสุดท้าย อิสรภาพและเสรีภาพนี้จะประสานกลมกลืนกันตั้งแต่ต้นไปจนถึงที่สุด เสรีภาพเป็นปัจจัยนำไปสู่อิสรภาพ และอิสรภาพทำให้มีเสรีภาพที่แท้จริง

พระพุทธศาสนาถือว่า ตัวประกอบที่สำคัญของเสรีภาพ คือ ปัญญา ปัญญาทำให้เกิดอิสรภาพภายในขึ้น เพราะทำให้มนุษย์รู้จักและเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้ความดีความไม่ดี ความถูกความผิด ประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ เป็นต้น แล้วรู้ที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง ทำให้เห็นทางออกแก้ไขข้อติดขัด กำจัดปัญหาให้ลุล่วง หลุดพ้นปลอดโปร่งโล่งไปได้

นอกจากนั้น ในพระพุทธศาสนาก็ยังพูดถึงคำว่า เสรี ซึ่งในคัมภีร์ท่านก็ให้ความหมายเหมือนอย่างที่เราให้เหมือนกัน ท่านบอกว่า เสรี คือ เป็นผู้ทำได้ตามที่พอใจ โดยไม่ขึ้นต่อผู้อื่น แล้วท่านก็บอกว่า เสรีมี ๒ คือ บุคคลเสรี และธรรมเสรี หรือเสรีธรรม กับ เสรีบุคคล เสรีบุคคลหรือบุคคลเสรี คือ บุคคลที่ประกอบด้วยธรรมเสรี ต้องประกอบด้วยธรรมเสรี จึงเป็นบุคคลเสรี ธรรมเสรีคืออะไร ท่านบรรยายไว้ มี ๓๗ ประการ ซึ่งรวมแล้วก็คือเป็นการพัฒนาจิตและปัญญาของคนนั่นเอง คนที่จะมีเสรีภาพที่แท้จริง จะต้องพัฒนาจิตและปัญญาของตนให้มีอิสรภาพ ไม่อย่างนั้นแล้ว เสรีภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นไม่ได้ ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องของบูรณาการในระดับต่างๆ แห่งพัฒนาการ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.