พระพุทธศาสนากับโลกธุรกิจ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

บันทึกผู้แปล1

เนื้อหาทั้งหมดในหนังสือ พระพุทธศาสนากับโลกธุรกิจ: การใช้หลักพุทธธรรมในการทำธุรกิจ เล่มนี้ มาจากบทสนทนาระหว่าง พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) กับนายลอเรนส์ แวน เดน มิวเซนเบิร์ก (Laurens Van den Muyzenberg) นักหนังสือพิมพ์/นักเขียน ชาวเดนมาร์ก ที่อาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗

ข้าพเจ้าโชคดีที่ได้มีโอกาสเข้าฟังการสนทนาในครั้งนั้นด้วยตั้งแต่ต้นจนจบ ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมง เมื่อฟังโดยตลอดแล้วเห็นว่า บทสนทนาทั้งหมดมีความน่าสนใจ และมีประโยชน์อย่างมาก ไม่เฉพาะนักธุรกิจ หรือผู้บริโภคเพียงเท่านั้น แต่เหมาะสำหรับประชาชนทั่วไปในทุกสาขาวิชาชีพ ควรที่จะได้ศึกษาเนื้อหาในบทสนทนานั้น เพื่อเป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติ สำหรับการมีชีวิตที่อยู่เย็นเป็นสุข ถึงพร้อมด้วยปัญญา รู้เท่าทันความเป็นไปของโลกและชีวิตตามความเป็นจริง

ด้วยเล็งเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น หากบทสนทนานั้นได้รับการแปลและนำมาจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือ ข้าพเจ้าจึงกราบนมัสการขออนุญาตท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ แปลบทสนทนานั้นเป็นภาษาไทย เพื่อเผยแผ่ไปสู่สาธารณชนในวงกว้าง ท่านเจ้าคุณฯ ได้มีเมตตาอนุญาตให้ข้าพเจ้าทำตามความประสงค์ได้

เมื่อขออนุญาตแล้ว ข้าพเจ้ายังไม่ได้ลงมือทำในทันที ปล่อยเวลาล่วงเลยมานานหลายเดือน จนกระทั่งมีช่วงหนึ่ง เมื่อพอมีเวลาว่างบ้าง จึงลงมือแปลบทสนทนาดังกล่าว โดยฟังเอาจากเทปบันทึกเสียง แล้วถอดความออกมาเป็นภาษาไทย จนสำเร็จลุล่วง และได้ส่งไปถวายท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ตรวจดูสาระสำคัญอีกครั้ง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ท่านกำลังอาพาธมาก มีอาการเจ็บปอด เสียงแห้ง มีไข้ เหนื่อย และไอมาก ด้วยเหตุนี้ เมื่อส่งไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงไม่กล้าที่จะทวงถามถึงต้นฉบับนี้บ่อยครั้งนัก เพราะเกรงจะเป็นการรบกวน ทำให้ท่านต้องอาพาธหนักลงไปอีก จึงได้แต่รอคอยด้วยใจจดจ่อ

ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ พระที่วัดญาณเวศกวัน ได้โทรศัพท์มาบอกว่า ท่านเจ้าคุณฯ ได้ดูต้นฉบับให้ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ารีบไปรับแผ่นซีดีมาจัดทำอาร์ตเวอร์คในทันที ขณะทำก็อ่านตามไปด้วย ยิ่งรู้สึกชอบเนื้อหาของบทสนทนานี้มากขึ้น และก็คิดว่าถ้าแยกหัวข้อเป็นแต่ละประเด็นไป จะยิ่งอ่านง่าย และดึงดูดความสนใจของผู้อ่านได้มากขึ้น จึงได้ตัดสินใจทำหัวข้อในช่วงที่เป็นคำบรรยายของท่านเจ้าคุณฯ พอทำเสร็จแล้ว อ่านดูอีกครั้งก็รู้สึกพอใจมาก จากนั้นได้บรรจุหัวข้อดังกล่าวลงในสารบัญด้วย ในกรณีที่ผู้อ่านอยากทบทวนหัวข้อหนึ่งหัวข้อใดเป็นพิเศษ จะสามารถเปิดดูได้จากสารบัญทันที แทนที่จะต้องไปค้นหาเอาเองในหนังสือ

อนึ่ง ในการแปลส่วนที่เป็นคำถาม ข้าพเจ้าทำดังนี้ หนึ่ง ไม่ได้เก็บความทั้งหมด ใช้วิธีสรุปความ เพื่อความกระชับ โดยจะเน้นที่คำตอบของท่านเจ้าคุณฯ ซึ่งก็คือแก่นสารของหนังสือเล่มนี้ เป็นสำคัญ สอง ละเว้นการเอ่ยถึงวิสามัญนามที่อาจกระทบกระเทือนไปถึงชื่อเสียงของสถาบันที่เกี่ยวข้อง เช่น ชื่อองค์กรธุรกิจต่างๆ

ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับหนังสือเล่มนี้ คือ เป็นหนังสือกึ่งวิชาการที่มีความลึกซึ้ง แต่เข้าใจง่าย เพราะเป็นคำบรรยายที่แสดงแก่ชาวต่างประเทศ ที่มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาจำกัด อีกทั้งยังมาจากวัฒนธรรมทางซีกโลกตะวันตก ด้วยเหตุนี้ ท่านเจ้าคุณฯ จึงใช้วิธีการบรรยายแบบทำให้ง่าย ซึ่งงานหนังสือในลักษณะนี้ของท่าน มีไม่มากนัก ผู้อ่านที่กลัวหนังสือวิชาการหนักๆ อ่านเล่มนี้แล้วน่าจะชอบ ในขณะเดียวกัน ผู้อ่านที่ชอบหนังสือวิชาการ ก็จะยิ่งชอบมากขึ้น เพราะมีแง่มุมสนุกๆ ที่แปลกๆ ใหม่ๆ ให้ไปขบคิดต่อได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด

สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอขอบคุณทุกท่านที่ได้มีส่วนร่วมทำให้หนังสือเล่มนี้สำเร็จเรียบร้อยดีดังที่ปรากฏ

บุคคลที่สำคัญที่ข้าพเจ้าอยากกราบขอบพระคุณมากที่สุด ก็คือ ท่านเจ้าคุณ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) แม้จะอาพาธหนักเพียงใด ก็สู้อุตส่าห์เสียสละเวลาอ่านบทแปลของข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกปลื้มปีติเป็นล้นพ้น

ขอกราบขอบพระคุณที่ท่านเจ้าคุณฯ ได้มีเมตตาอนุญาตให้ข้าพเจ้า ได้มีส่วนร่วมในการเผยแผ่ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของท่าน ที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาอันลึกซึ้ง ควรค่าแก่ความภาคภูมิใจของพุทธศาสนิกชนทั้งปวง และคนไทยทั้งชาติ ซึ่งผู้อ่านจะตระหนักถึงความจริงข้อนี้ได้ เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง

พนิตา อังจันทรเพ็ญ

1คัดลอกจาก ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 -- ผู้จัดทำเว็บไซต์ Payutto.net
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.