พระพุทธศาสนากับโลกธุรกิจ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ความสำเร็จที่แท้จริงของนักธุรกิจ

ในเวลาเดียวกัน เราก็ต้องให้การศึกษาพวกนักธุรกิจด้วย สอนให้เขารู้จักที่จะมีความสุข เพราะพวกเขาก็ต้องการความสุขด้วยเช่นกัน ความสุขชนิดไหนที่เขาควรจะพัฒนาให้เกิดมีต่อไป และสอนให้เขารู้จักว่า อะไรคือความสำเร็จที่แท้จริง

ปัจจุบัน คนในสังคมเรียกตัวเองว่า เป็นพวกศิวิไลซ์ คนศิวิไลซ์ที่แท้จริงควรรู้ว่า อะไรคือความสำเร็จที่แท้จริง เพราะฉะนั้น นักธุรกิจทั้งหลายควรรู้ว่า ความสำเร็จในทางธุรกิจ หรือความสำเร็จในทางเศรษฐศาสตร์นั้น ไม่ใช่เพียงการให้ในสิ่งที่สนองตัณหาของประชาชน แต่คือการสร้างความสุขสงบร่มเย็นให้เกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ด้วย และเราควรทำให้สิ่งนี้เป็นเรื่องท้าทายสำหรับนักธุรกิจ ถ้าพวกเขาได้กำไรสูงสุด นั่นไม่ใช่ความสำเร็จที่แท้จริง ความสำเร็จที่แท้จริงคือ คุณสามารถสร้างความสงบร่มเย็นให้เกิดขึ้นได้ในท่ามกลางมวลมนุษย์ นี่คือเรื่องท้าทาย

ขั้นแรก ด้วยเหตุผล เขาควรรู้ว่า อะไรผิด อะไรถูก อะไรคือความจริง อะไรคือสิ่งปลอม อะไรคือเหตุผลที่เราต้องพัฒนา หรือทำธุรกิจด้วยวิธีการอันนี้ และเราควรสอนให้เขารู้ว่า อะไรคือประโยชน์ที่แท้จริงของชีวิต ทั้งชีวิตของพวกเขาเอง และชีวิตของผู้บริโภค และประโยชน์อันนี้จะรวมเอาความสุขอยู่ด้วยในตัว นักธุรกิจพวกนี้ไม่ควรต่อสู้ดิ้นรนเพื่อตอบสนองในด้านวัตถุ และในด้านกามคุณ เขาควรพัฒนาตนเองให้ก้าวไปสู่ความสุขในระดับที่สูงกว่า เป็นอิสระจากวัตถุภายนอก ถ้าเขาตระหนักเช่นนี้ แม้แต่เพียงบางส่วน ที่ได้พยายามพัฒนาด้วยวิธีการอันนี้ คือ พัฒนาจนถึงความสามารถที่จะมีความสุขภายในใจของตนเองได้ ซึ่งก็คือสิ่งที่อาตมาได้พูดมาแล้ว มันจะง่ายขึ้นสำหรับคนกลุ่มนี้ที่จะตระหนักว่า เรื่องความเป็นอยู่ดีของมนุษยชาตินั้นเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ในการที่พวกเขาจะสามารถทำให้แก่สังคมได้ พวกเขาจะถือว่าธุรกิจของเขาต้องทำเพื่อสิ่งนี้ ความสำเร็จของเขาอยู่ตรงนี้ คือ การทำให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ดียิ่งขึ้น

นายมิวเซนเบิร์ก

ผมพอเข้าใจ แต่ผมคิดว่ากลุ่มธุรกิจใหญ่ที่สุดของโลก ๒๕๐ กลุ่ม ๔๐% ได้ทำรายงานประจำปี ซึ่งแสดงความคิดเห็นว่า เขาได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคม ในระดับที่เรียกว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ฟังดูเหมือนว่ามากนะครับ ปัญหาก็คือ ธุรกิจจำนวนมากเหล่านั้น ทำการประชาสัมพันธ์ตัวเอง แต่พฤติกรรมที่แท้จริงไม่ได้เป็นอย่างที่เขาพูด ซึ่งที่จริงมันมีความก้าวหน้าบางอย่างที่พวกเขากำลังพยายามทำอยู่ แต่ไม่บอกว่ามันจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้น ผมคิดว่ามีประมาณ ๓๕% ที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยอันนี้

พระพรหมคุณาภรณ์

นั่นก็คือ เรายังสงสัยในเรื่องความจริงใจของนักธุรกิจเหล่านั้น บางทีอาจเป็นเพราะเขาคิดถึงสิ่งเหล่านี้ในความหมายที่แคบ ถ้าเขาได้เรียนรู้ หรือมีการศึกษาเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ศักยภาพในการพัฒนา และอื่นๆ พวกเขาก็จะมีความเข้าใจมากขึ้น และก็จะเปลี่ยนใจขึ้นมาได้

นายมิวเซนเบิร์ก

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเชื่อว่า ทัศนะในทางพระพุทธศาสนาจะสามารถช่วยได้มาก จากประสบการณ์ของผมเท่าที่ผ่านมา ที่ได้มีโอกาสรู้จักนักธุรกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักธุรกิจในซีกโลกตะวันตก พวกนักธุรกิจต่างพากันประหลาดใจมาก เมื่อผมบอกว่า ผมคิดว่า คําสอนในทางพระพุทธศาสนา สามารถเป็นประโยชน์กับธุรกิจได้

ผมอยากกลับไปที่คําถามที่ว่า บริโภคนิยม คืออะไร คือ การที่คนซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น ที่เหนือไปกว่านั้น การซื้อของเหล่านั้น ทำให้เขามีความสุข และก็จะเปลี่ยนไปเป็นผู้มีความกระหาย ฯลฯ เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ มันเกิดขึ้นมานานแล้วแม้ในสมัยพุทธกาล แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ทรงแนะนําให้สามีซื้อเครื่องประดับให้ภรรยา เป็นหน้าที่ข้อหนึ่งของสามีที่ควรปฏิบัติต่อภรรยา ซึ่งเครื่องประดับก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น แสดงว่าพระพุทธองค์ก็ทรงยอมรับว่าเครื่องประดับนั้นก็มีความสำคัญ

ผมได้ไปที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และไปชมพิพิธภัณฑ์ ท่านจะไม่เชื่อเลยว่า คนรวยกับคนจนมีชีวิตที่แตกต่างกันมากอย่างไร คนจนอยู่อย่างจนคือไม่มีอะไรเลย และคนรวย คนชั้นสูง อยู่อย่างหรูหรา ต่างกันคนละขั้ว ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันหลังจากปี ค.ศ. ๑๗๐๐ ในยุโรปมีการสั่งเข้าใบชาและน้ำตาล นั่นเป็นครั้งแรกที่คนจนสามารถซื้อหาสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ความแตกต่างของลัทธิบริโภคนิยม มาจากนักธุรกิจชั้นสูงที่ชอบอยู่อาศัยในคฤหาสน์ใหญ่โต มีเครื่องประดับราคาแพง พวกเขาไม่สนใจคนจน ดังนั้น ผมคิดว่าเราควรจะระวังที่จะปฏิบัติต่อลัทธิบริโภคนิยม ในฐานะเป็นสิ่งใหม่ แม้ว่าสิ่งที่ท่านพูดมานั้นจะเป็นความจริง ว่าเดี๋ยวนี้มันชักจะไปไกลเกินไป แต่ผมว่ามันไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะปัญหาอย่างนี้มีมาก่อนแล้วในประวัติศาสตร์

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.