ทีนี้ธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างไร ทางพระพุทธศาสนาบอกว่ามนุษย์เป็นสัตว์พิเศษ คือไม่เหมือนสัตว์อื่น
สัตว์อื่นเกิดมาแล้ว อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ มันแทบไม่ต้องเรียนรู้เลย มันเรียนรู้นิดเดียวแล้วมันก็อยู่ได้ อย่างวัวนี่ พอมันเกิดออกมาจากท้องแม่ได้ประเดี๋ยวเดียว มันก็ลุกขึ้นเดินแล้ว สัตว์ชนิดอื่นก็คล้ายกัน อย่างลูกห่านนี่ออกจากไข่เช้า บ่ายก็วิ่งตามแม่ออกมาจากเล้า ว่ายน้ำก็ได้ หากินก็ได้ สัตว์ชนิดอื่นนอกจากมนุษย์แทบทุกชนิดอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ แทบไม่ต้องเรียนรู้ แทบไม่ต้องฝึกหัดอะไร
ส่วน มนุษย์นี้เป็นสัตว์พิเศษ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าดี แต่แปลว่า แปลกจากพวก (วิ แปลว่า แปลก เศษ แปลว่า ที่เหลือ)
มนุษย์แปลกจากสัตว์ที่เหลือ คือสัตว์ทั้งหลายอื่นนอกจากมนุษย์เหล่านั้น มันไม่ต้องฝึก ไม่ต้องเรียนรู้ มันก็อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ แต่มนุษย์อยู่อย่างนั้นไม่ได้ คนเกิดมาแล้ว ลองทิ้งซิ ก็ตายแน่ ต้องมีคนเลี้ยง ปีหนึ่งยังไม่รอดเลย ต้อง ๑๐ กว่าปีจึงอยู่รอด กฎหมายเรากำหนดให้บรรลุนิติภาวะเมื่อไร นั่นแหละ แสดงว่าพอจะรู้จักรักษาตัวได้
มนุษย์ต้องได้รับการประคบประหงมกัน ๑๐ กว่าปี จึงพอจะอยู่ไปได้ นี่เรามองในแง่ที่คนอื่นเลี้ยงดู ยังไม่ได้มองดูที่ตัวเขา ระหว่างที่คนอื่นเลี้ยงดูเขา ๑๐ กว่าปีน่ะ ตัวเขาทำอะไร ตัวเขาก็เรียนรู้ฝึกฝน
ทุกอย่างที่มนุษย์ได้มาในการดำเนินชีวิตนั้น มนุษย์ไม่ได้มาเปล่าๆ มนุษย์ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกหัดทั้งนั้น จะกิน จะนอน ก็ต้องฝึก จะยืน จะนั่ง ก็ต้องหัด จะขับถ่าย ก็ต้องหัด ต้องหัดเดินหัดพูด ผ่านเวลาไปเป็นปี หัดทั้งนั้น ทั้งฝึก ทั้งหัด ทั้งเรียนรู้ แค่จะดำเนินชีวิตให้เป็นอยู่ได้ มนุษย์ก็ไม่ได้มาง่ายๆ เปล่าๆ ยิ่งเมื่อจะดำเนินชีวิตให้เป็นอยู่ดี มนุษย์ก็จะต้องลงทุนเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนากันอย่างจริงจังอีกมากมาย นี้เป็นความพิเศษคือความแปลกพวกของมนุษย์
ตามที่ว่ามานี้ หลักพระพุทธศาสนาจึงกล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก คือต้องเรียนรู้ ต้องศึกษา อันนี้เป็นข้อที่แย่อันพิเศษของมนุษย์ เพราะสัตว์อื่นไม่ต้องฝึก มันก็อยู่ได้ พิเศษในแง่นี้ คือ “แย่” แต่พลิกจากที่ว่าต้องฝึก เป็นฝึกได้ ก็กลายเป็นพิเศษในแง่ดีที่ทำให้ “ยิ่ง” คือเหนือกว่าสัตว์พวกอื่นๆ ทั้งหมดนั้น
มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ฟังดูแย่ แต่พูดอีกทีว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ตอนนฟังเป็นดีไป ตอนที่ต้องฝึก หมายความว่าถ้าไม่ฝึกมันอยู่ไม่ได้ มันแย่กว่าสัตว์อื่น สัตว์อื่นไม่ต้องฝึก มันก็อยู่ได้ ทีนี้พอพลิกกลับ ก็กลายเป็นดีว่า มนุษย์นี้ฝึกได้ แต่สัตว์อื่นฝึก(แทบ)ไม่ได้ คือฝึกได้นิดหน่อย เรียนรู้ได้แค่นิดหน่อย เช่น เอาลิงมาฝึกขึ้นต้นมะพร้าว เก็บมะพร้าวให้เจ้าของ เอาช้างมาลากซุง เล่นละครสัตว์ นี่ฝึกได้นิดหน่อย แต่มันฝึกตัวเองไม่ได้ มนุษย์ต้องฝึกให้มัน
มนุษย์นี่พิเศษตรงที่ฝึกได้ สามารถฝึกตัวเอง หัดให้พิเศษ ทำอะไรต่ออะไรก็ได้ สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ทำสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ทำให้เกิดมีโลกมนุษย์ขึ้น มีเทคโนโลยีเจริญมากมาย จนกระทั่งมีคอมพิวเตอร์ มีดาวเทียม อันนี้เป็นความพิเศษของมนุษย์ คือความสามารถของมนุษย์ที่ฝึกได้ คือเรียนรู้ได้ ฝึกฝนได้ พัฒนาได้
ทีนี้พอมนุษย์ฝึกตัวเองแล้วคราวนี้ มนุษย์ก็เดินล้ำหน้าทิ้งสัตว์อื่นชนิดไม่เห็นฝุ่นเลย มนุษย์จึงประเสริฐตรงที่ฝึกได้นี่แหละ และฝึกตัวเองได้ เรียนรู้เองได้ และพอมนุษย์ฝึกตัว เรียนรู้แล้ว ทีนี้ไม่รู้จักจบเลย เพราะฝึกอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นทางพระพุทธศาสนาจึงมองมนุษย์ตามหลักธรรมชาตินี้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษที่ต้องฝึก และฝึกได้ “เมื่อฝึกแล้ว จะเลิศประเสริฐที่สุด”
มนุษย์ที่ได้เรียนรู้ฝึกศึกษาดีแล้ว จะเป็นสัตว์ที่ประเสริฐจนกระทั่งไม่มีสัตว์ใดยิ่งกว่า การที่เรามีวัฒนธรรม มีอารยธรรม มีความเจริญก้าวหน้าต่างๆ ก็เพราะเรามีการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนา ฉะนั้นเราจึงตั้งพระพุทธเจ้าไว้เป็นแบบว่า มนุษย์ฝึกฝนตนเองได้จนกระทั่งประเสริฐอย่างที่ว่า แม้แต่เป็นพระพุทธเจ้าก็ได้
นี่หมายความว่า มนุษย์นี้ฝึกได้จนกระทั่งมีปัญญารู้สัจจธรรม มีคุณธรรมสูงสุด มีเมตตากรุณาเต็มที่ มีความบริสุทธิ์ มีชีวิตที่ประเสริฐดีงามอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงควรกระตุ้นกันไว้ คอยเตือนกันว่า นี่.. เราฝึกตัวได้นะ เราจะต้องพัฒนาตัวเองขึ้นให้มีความสมบูรณ์เป็นชีวิตที่ดีงามสูงสุด โดยนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นหลักเตือนใจ ถ้าเราระลึกถึงความจริงของธรรมชาติข้อนี้ไว้ เราจะเกิดจิตสำนึกในการศึกษา หรือจิตสำนึกในการฝึกตน
ที่ว่าเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนานั้น ตัวศัพท์ ก็คือ สิกขาหรือศึกษา นั่นเอง เพราะฉะนั้นมนุษย์จะต้องตระหนักในความจริงที่ว่า ชีวิตของเรานี้ ที่จะดีได้นั้น มันมิใช่เป็นไปเองได้เปล่าๆ เราต้องศึกษา ต้องเรียนรู้ ต้องฝึก ต้องหัด ต้องพัฒนา ถ้าใครเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตัวเองไม่หยุด เขาจะมีชีวิตที่ดีงามประเสริฐสูงสุด เราต้องสร้างจิตสำนึกนี้ขึ้นมา เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสถานการณ์ต่างๆ ด้วยจิตสำนึกนี้ คือด้วยท่าทีของการศึกษาเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา เราจะมีการดำเนินชีวิตที่ดีงามก้าวหน้า และมีความสุขด้วย
จิตสำนึกในการศึกษาก็คือ จิตสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตน โดยตระหนักว่า ชีวิตของเราจะดีได้ เราต้องฝึก เมื่อเจอสถานการณ์ หรือประสบการณ์ต่างๆ เราจะมองเป็นโอกาสในการฝึก ส่วนคนที่ไม่มีจิตสำนึกในการฝึกตน หรือไม่มีจิตสำนึกในการศึกษา พอเจออะไรก็นึกถึงแต่ความง่ายสะดวกสบายอย่างเดียว ต้องการเสพ คิดแต่จะบริโภค คิดแต่ว่าจะต้องได้มันมาบำรุงบำเรอฉัน พอไม่ได้ก็ทุกข์ พอเจออะไรต้องทำ ก็ฝืนใจ พอเจออะไรยากหน่อย ก็ถอย เกิดความทุกข์ทันที
มนุษย์อยู่ได้หรือโดยไม่ทำอะไร เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องทำ แต่พอจะต้องทำอะไร คนที่ไม่มีจิตสำนึกในการฝึกตน พอเจอปั๊บ ก็ถอย เอาอีกแล้ว จะต้องทำอีกแล้ว พอจะต้องทำ ก็ใจไม่ดี เกิดความทุกข์ พอเกิดความทุกข์ ก็ไม่เต็มใจทำ เมื่อไม่ตั้งใจทำ ก็ไม่ได้ผลดี อย่างที่บอกแล้วว่า “งานก็ไม่ได้ผล คนก็เป็นทุกข์”
ทีนี้พอมีจิตสำนึกในการศึกษา คือจิตสำนึกในการฝึกตน ก็ถือว่าการเจอสถานการณ์อะไรที่เราจะต้องทำ ก็คือโอกาสที่เราจะได้ฝึกตนเอง เมื่อได้ฝึกตนเอง เราก็จะเก่ง จะกล้า จะสามารถยิ่งขึ้น พอเจอปัญหา ก็คือโอกาสที่เราจะพัฒนา เมื่อเราสู้ปัญหา พยายามคิดแก้ปัญหา เราก็ได้ปัญญา เราก็พัฒนา แต่ถ้าเราไม่เจอปัญหา ไม่เจออะไรที่จะต้องทำ เราจะพัฒนาได้อย่างไร เราก็อยู่เท่าเดิม ดังนั้น คนที่จะเจริญพัฒนา จึงต้องมีสิ่งที่ต้องเผชิญ ต้องทำ ต้องแก้ไข เช่นเจอปัญหาเป็นต้น คนไหนเจอปัญหาแล้วสู้ ก็จะพัฒนาตนเอง แล้วก็จะทำสำเร็จ
ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่เจอนั้น ถ้ามันง่าย เราก็ได้ฝึกตัวน้อย แต่ถ้ามันยาก เราก็ได้ฝึกตัวเองมาก งานง่าย เราได้ฝึกตัวเองนิดเดียว แต่ถ้างานยาก เราก็ได้ฝึกตัวเองมาก กว่างานยากจะสำเร็จ เราก็เก่งขึ้นมาก เราจะก้าวไปได้อีกไกล เพราะฉะนั้น คนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตน จึงชอบงานยาก
จิตสำนึกนี้เป็นตัววางท่าทีของจิตใจ มันเปลี่ยนความรู้สึกของคนได้ พอเจองานปุ๊บ ก็ดีใจ คิดว่าดีจังนี่ ฉันจะได้ฝึกตัว ถ้าไม่เจองานนี้ ฉันจะพัฒนาได้อย่างไร พอเจองานยาก ยิ่งชอบใหญ่ว่า ฉันจะได้ฝึกตัวเองมาก ต่อไปงานง่ายไม่เอา คนประเภทนี้ ชอบแต่งานยาก
พอมีงานให้เลือก งานง่ายกับงานยาก คนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตน ฝึกมาเรื่อย จะปรี่เข้าหางานยากเลย บอกว่า แหม.. ชอบใจจัง ฉันจะฝึกตัวได้มากๆ ทีนี้ก็มีแต่ได้
๑. สุขภาพจิตดี เต็มใจทำ ดีใจ มีความสุข
๒. ตั้งใจทำ ก็เลยทำได้ผลดียิ่งขึ้นไปๆ
นี่คือ งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข
เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัว นี่แหละ ที่ท่านบอกไว้ ธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างนี้ คือเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก เพราะฉะนั้น เราจึงต้องสร้างจิตสำนึกในการฝึกตนขึ้นมา
ต่อไปนี้ เจองานยากเมื่อไหร่ เราไม่กลัว พอเจอปัญหา ก็ชอบใจ เพราะเป็นโอกาสที่จะได้ฝึกปัญญา
ปัญหานั้นตรงข้ามกับปัญญา แค่เปลี่ยนตัวอักษรตัวเดียวเท่านั้น ปัญหาก็เปลี่ยนเป็นปัญญาทันที เพราะฉะนั้น ถ้าเจอปัญหา เราต้องเปลี่ยนมันให้เป็นปัญญา พอเจอปัญหา เราบอกว่านี่คือเวทีพัฒนาปัญญา พอเราสู้ปัญหา เราก็เริ่มคิดหาทางแก้ไข ปัญญาของเราก็เจริญพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ พอปัญญามา ปัญหาก็หมด ก็เลยเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา
เพราะฉะนั้นสูตรของผู้มีจิตสำนึกในการฝึกตน จึงมีว่า
๑. ยิ่งยากยิ่งได้มาก เพราะฉะนั้น จึงชอบใจนักเรื่องงานยาก
๒. เปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา
ถ้าใช้สูตรนี้ ก็มีความสุขได้เรื่อยๆ พร้อมกับที่ตัวคนก็พัฒนา และงานการก็ก้าวหน้าได้ผลดี ยิ่งขึ้นไปๆ