ธรรมะกับการทำงาน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

งานจะบรรลุจุดหมายสูงสุด ซึ่งเป็นความสำเร็จที่แท้
เมื่อคนสุขในการสร้างสรรค์คิดทำให้เพื่อนมนุษย์เป็นสุข

ข้อเน้นอีกอย่างหนึ่ง ที่เนื่องมาจากสังคหวัตถุ ๔ ซึ่งเริ่มด้วยทาน คือการให้หรือเผื่อแผ่แบ่งปันเฉลี่ยเจือจาน ทานนี้เป็นการสร้างดุลยภาพอยู่ในตัว และเป็นรากฐานของสังคมมนุษย์

สำหรับมนุษย์ที่อยู่ในโลกนั้น ย่อมเป็นธรรมดาของปุถุชน ที่ย่อมคิดจะได้ จะเอา เพราะว่าชีวิตเราพอเริ่มต้น เราก็ต้องกินใช้ปัจจัย ๔ ซึ่งเราต้องหา ต้องเอา ต้องได้ เมื่อคิดพูดทำเพื่อหาเพื่อได้เพื่อเอาอยู่เรื่อย ก็เคย ต่อมา ถ้าไม่ระวังตัว จิตของเราจะคุ้น แล้วความโน้มเอียงก็จะฝังรากลึกลงไปในการที่คิดจะได้ คิดจะเอา ซึ่งจะนำไปสู่การเบียดเบียนแย่งชิง และสังคมก็จะเดือดร้อน ไม่มั่นคง ไร้สันติสุข เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เราสร้างดุลยภาพในใจ คืออย่าคิดแต่จะเอาจะได้อย่างเดียว  ต้องคิดให้ด้วย คนไหนคิดให้ด้วยจะยิ่งได้มากที่สุด ไม่ใช่เสีย

คนที่คิดจะได้จะเอา เมื่อจะให้ การให้กเป็นการสูญเสีย แตสำหรับคนที่คิดจะให้ การให้จะกลายเป็นการได้ และได้หลายอย่างหลายทาง ต่อไปจิตใจจะดี คุณธรรมต่างๆ จะตามมา แล้วก็จะมีความสุขด้วย

แม้แต่จะออกจากบ้านไปทำงาน ก็ตั้งใจไว้เลยว่าเราจะให้ พอคิดจะให้ ความตั้งใจที่จะให้ก็มาเต็มอยู่ในจิตใจของเรา ทำให้เราลืม หรือมองผ่านความกระทบกระทั่งต่างๆ ระหว่างทางไปได้ ใจที่อยู่กับความคิดให้ จะสบายมีความสุข

ต่างจากคนที่คิดจะได้จะเอา คิดถึงวัตถุสิ่งของที่ยังไม่ได้ อยากให้คนอื่นเอาอกเอาใจตัว เจออะไรกระทบหู กระทบตา ก็เด่นชัดขึ้นมา ทำให้เดือดร้อนเป็นทุกข์ ไม่สบายไปหมด

ฉะนั้น คนที่คิดจะได้จะเอานั้น มีทุกข์มาก เจอสิ่งกระทบกระทั่งเดือดร้อน เก็บเอาไปหมด เจออะไร มีแต่กระทบหู กระทบตา ทุกข์มาก

แต่พอคิดจะให้ ใจที่มุ่งแต่จะให้ กันเอาสิ่งกระทบหูกระทบตาออกไป มันไม่เอา มันไม่เก็บ เพราะฉะนั้น ก็สบายใจ มีความสุขในการไปช่วยเหลือ ฉะนั้น ท่านจึงสอนให้ฝึกกันมา อย่างในสมัยโบราณ มีการฝึก โดยตั้งเป็นข้อปฏิบัติประจำวัน คือเป็นวัตร เช่นตัวอย่างหนึ่ง ตั้งข้อกำหนดกับตนเองว่า ทุกวันเมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว ถ้ายังไม่ได้ให้อะไรแก่ใคร ฉันจะยังไม่ยอมกินอะไร แล้วทำได้จริงๆ เมื่อทำอย่างนั้นตลอดเวลา ก็ปลูกฝังจิตที่คิดจะให้เปิดกว้างไว้

จิตของคนที่คิดจะให้นี้ เป็นจิตที่พัฒนา เหมือนจิตของพ่อแม่ที่คิดจะให้แก่ลูก พอจิตคิดจะให้เกิดขึ้น ก็จะมีความสุขจากการให้เกิดขึ้นด้วย คนเราถ้าไม่มีจิตคิดจะให้ คิดจะเอาอย่างเดียว ต้องได้ ต้องเอา จึงจะมีสุข พอให้อะไรแก่ใคร ก็เป็นการเสียไป แล้วก็ขุ่นมัวคือทุกข์ แต่พอมีจิตคิดจะให้ขึ้นมา ก็มีสุขจากการให้ด้วย คราวนี้สบาย มีสุข ๒ ชั้น คือ ได้ก็สุข ให้ก็สุข

ยิ่งกว่านั้น สุขจากการให้นั้นมันโปร่ง มันโล่ง มันยั่งยืน สุขจากได้มีอยู่เดี๋ยวเดียว และคับแคบ แฝงด้วยความระแวงหวงแหน และสุขข้างเดียว เป็นสุขแบบแบ่งแยกช่วงชิง แต่สุขจากการให้เป็นสุขแบบประสานกลมกลืน เราสุข เขาก็สุขด้วย และความสุขของเราขึ้นต่อความสุขของเขา เมื่อเห็นเขาสุขเราก็สุข เป็นการสุขด้วยกัน

คนที่สุขจากการให้ ก็จะขยับฐานะจากปุถุชนที่มืดบอด ไปเป็นคนระดับพ่อแม่ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เป็นพ่อแม่ แต่จะเริ่มมีจิตเป็นพ่อแม่ เป็นคนที่พัฒนาขึ้นแล้ว

ฉะนั้น อย่างน้อยทุกคนจะต้องฝึกหัดตัวเองให้มีจิตประเภทนี้ คือให้มีจิตที่จะให้ ไว้ดึลกับกับจิตที่จะได้จะเอา

คนที่มีจิตคิดจะได้จะเอา จะจ้องไปที่วัตถุ คนเราพอจ้องไปที่วัตถุเพื่อจะเอา ก็จะมีสัญชาตญาณมาสร้างความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์ในแง่ที่คิดระแวงทันที คือระแวงว่าเขาจะเอาหรือเปล่า พอระแวง ก็รู้สึกว่าเขาเป็นคู่แข่ง หรือเป็นปฏิปักษ์ พอรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ ใจก็ไม่สบาย เพราะฉะนั้น จิตที่คิดจะได้จะเอาจึงสร้างความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์แบบหวาดระแวง เป็นคู่แข่ง เป็นปฏิปักษ์

แต่พอจิตคิดจะให้เกิดขึ้น พอตั้งใจจะให้ ตาจะไม่มองไปที่ของ แต่จะมองไปที่หน้าคน จะมองว่าเราจะให้แก่ใคร พอมองไปที่หน้าคน ก็เริ่มเห็นสุขเห็นทุกข์ของเขา เกิดความเข้าใจและเห็นใจเพื่อนมนุษย์ พอเข้าใจเห็นใจเพื่อนมนุษย์ เมตตากรุณาก็เกิดขึ้น คืออยากจะช่วยให้เขาเป็นสุข หรือพ้นทุกข์

พอให้เพื่อทำให้เขาเป็นสุข เราก็สุขด้วย เขาก็สุขด้วย จิตใจก็ดี คุณธรรมก็เกิด เพราะฉะนั้น ความเป็นเหตุปัจจัยระหว่างความดีกับความสุขจะเป็นไปเอง

เมื่อตั้งจิตคิดจะให้แล้ว ก็สนใจเพื่อนมนุษย์ แล้วก็เข้าใจเพื่อนมนุษย์ และเห็นใจเพื่อนมนุษย์ คุณธรรมก็เกิดขึ้น ได้สนองความต้องการเชิงคุณธรรม แล้วก็สุข อย่างชนิดที่เป็นความสุขในการอยู่ร่วมกัน สุขซึ้งใจในไมตรี มนุษย์จะไม่แปลกแยกจากกัน

ฉะนั้น ขอให้ระลึกไว้เถิดว่า ในที่สุด เราจะต้องรักษาฐานไว้ให้ดี คืออย่าได้แปลกแยกจากความเป็นจริงของชีวิตทุกขณะของเราที่เป็นอยู่ ซึ่งมี

หนึ่ง... เราอยู่กับธรรมชาติ ชีวิตของเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราต้องมีความสุขในการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่คงอยู่ในสภาพรมณีย์ อย่าได้แปลกแยกไปจากธรรมชาติ

สอง... เราเป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่กับเพื่อนมนุษย์ เราต้องมีความสุขในการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ ตั้งแต่ในครอบครัว ตั้งแต่กับลูกกับหลาน พ่อแม่เป็นต้นไป และ

สาม... ชีวิตมนุษย์ต้องอยู่กับกิจกรรมที่ทำอยู่ตลอดเวลา เราต้องไม่แปลกแยกจากกิจกรรมแห่งชีวิตของเรา กิจกรรมของเราต้องสอดคล้องกับความมุ่งหมายของชีวิตของเรา หรือปรับความต้องการของเราให้ตรงกับผลที่แท้จริงตามธรรมชาติของการงานที่ทำ เมื่อใจมีฉันทะเป็นสุขอยู่ในกิจกรรมหรือการงานที่กำลังทำอยู่นั้นแล้ว ความสุขพื้นฐานจะมีอยู่ในตัวเราตลอดเวลา

ต่อจากนี้ ความสุขที่ได้มาจากภายนอก ก็จะเสริมจะเติมยิ่งขึ้น ไม่หายไม่สูญไปไหน

แต่ถ้าใครสูญเสียความสุขพื้นฐาน ๓ ประการนี้ไปแล้ว นับแต่นั้นไป ชีวิตก็จะมีแต่ลบ แล้วก็จะขาดทุน และจะเติมไม่ไหว จะไล่ตามไปเติมอย่างไร ก็ไม่ได้ไม่ทัน

เป็นอันว่า ถ้าทำถูกแล้ว ชีวิตของตัวเองก็มีความสุข สังคมก็จะได้ประโยชน์สุข และความสุขของตัวเองนั้นก็จะเสริมการทำงาน ทำให้งานของส่วนรวมได้ผลดียิ่งขึ้นไป สุขทั้งในการทำงาน สุขทั้งในการได้เงินมาด้วย

ความสุขจากเงิน ก็จะเป็นส่วนเสริมประกอบของชีวิต ถูกต้องตามสมมติของมัน ที่มนุษย์บัญญัติทีหลัง ซึ่งไม่ใช่เป็นของพื้นฐานดั้งเดิมของชีวิต

เพราะฉะนั้น รักษาทุนดั้งเดิมของชีวิตไว้ให้ได้ก่อน วางฐานไว้ให้สนิทใจแล้ว จะมีแต่ดีอย่างเดียว

ได้พูดมายืดยาวและขยายกว้างออกไป จนเกินเลยเรื่องการทำงาน เข้ามาสู่เรื่องของความเป็นอยู่ทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน

แต่ที่จริง แม้จะพูดเรื่องธรรมะในชีวิตประจำวัน ก็ยังเกี่ยวข้องกับการทำงานอยู่นั่นเอง เพราะคนที่ทำงาน ก็ต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันเป็นฐาน ถ้าชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันตั้งแต่ในครอบครัวมีปัญหา ก็จะส่งผลกระทบเสียหายต่อการทำงาน ถ้าความเป็นอยู่ประจำวันเรียบร้อยดำเนินไปดี ก็จะส่งผลดีแก่การทำงานด้วย

ยิ่งกว่านั้น ในขั้นสูงสุด การงานและกิจกรรมทั้งหลายที่จัดดำเนินกันอยู่นั้น ก็เพื่อผลดีแก่ชีวิตและสังคมนั่นเอง อย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือ อาชีพแพทย์และพยาบาลนี้ ที่มีขึ้นก็เพื่อช่วยเหลือชีวิตและสุขภาพของประชาชน และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาสังคม เรื่องงานการกับชีวิตความเป็นอยู่ของคน จึงไม่อาจแยกจากกัน

เรื่องการทำงานวันนี้ ได้พูดเน้นในแง่ความสุข เพราะการทำงานจะได้ผลดีจริงไม่ได้ ถ้าคนไม่มีความสุข

จะต้องให้การทำงานเป็นความสุข ให้การทำงานนำมาซึ่งความสุข และให้ความสุขมาเสริมพลังการทำงาน

ถ้าการทำงานกับความสุขประสานกลมกลืนกันครบวงจรอย่างนี้ ผลดีก็จะเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ เป็นการทำงานที่ถูกต้องตามธรรมะอย่างสมบูรณ์

แต่จะให้เป็นอย่างนี้ได้ คนที่ทำงานก็จะต้องมีการพัฒนา เริ่มตั้งแต่พัฒนาจากการเป็นคนที่มีความสุขจากการได้ การเอา และการเสพ ขึ้นมาสู่การมีความสุขจากการ “ทำ” หรือการ “สร้างสรรค์” อย่างที่ได้พูดมาแล้ว เมื่อใดคนมีความสุขจากการทำ เมื่อนั้นการทำงานก็เป็นความสุข ความประสานกลมกลืนก็เกิดขึ้น และความสำเร็จก็ตามมา

แต่จะให้คนทุกคนเป็นอย่างที่เราปรารถนาทั้งหมดในเวลาหนึ่งเวลาเดียวกัน ย่อมเป็นไปไม่ได้ สังคมในแต่ละขณะย่อมมีคนที่อยู่ในระดับการพัฒนาที่ต่างๆ กัน เพียงแต่ขอให้คนที่พัฒนาถึงขั้นที่ต้องการนั้น เป็นคนข้างมากในสังคม ก็ถือได้ว่าประเทศชาติเจริญมั่นคงปลอดภัย

ลองตั้งประมาณการดูว่า ระดับคุณภาพประชากรที่ต้องการในสังคมไทย ในแง่การทำงาน กับความสุข อาจจะเป็นดังนี้

ประชากรผู้มีความสุขด้วยการสร้างสรรค์และการทำให้เพื่อนมนุษย์เป็นสุข ๑๐%

ประชากรผู้มีความสุขด้วยการทำงานสร้างสรรค์ ๕๐%

ประชากรผู้มีความสุขด้วยการได้และการเสพ ๔๐%

ขอให้อัตราส่วนของนักเสพนักบริโภคหรือนักหาความสุขลดลงไปบ้าง ขอให้นักสร้างสรรค์และนักสร้างความสุขมีจำนวนเพิ่มขึ้นสักหน่อย เพียงแค่ที่ประมาณการไว้นี้ ชาติไทยจะพ้นจากภาวะกำลังพัฒนา และก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำในประชาคมโลกได้อย่างแน่นอน

อาตมภาพได้พูดมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ขออนุโมทนาท่านผู้อำนวยการ ท่านผู้บริหาร คุณหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ญาติโยม ท่านผู้ศึกษาและผู้สนใจใฝ่ธรรมทุกท่าน

ในโอกาสนี้ ดังที่ท่านผู้อำนวยการปรารภแล้วว่าเป็นช่วงปีใหม่ของไทยตามประเพณี คือ ระยะเดือนเมษายน ซึ่งจะถึงวันสงกรานต์ที่แท้ในวันที่ ๑๓ อีกไม่ช้าแล้ว

ขอถือโอกาสนี้ตั้งจิตปรารถนาดีต่อทุกท่านด้วยเมตตาธรรม ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย อภิบาลรักษาให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นเป็นสุข ประสบความเจริญก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต ในการประกอบกิจการต่างๆ ให้บรรลุผลสมหมาย เป็นประโยชน์ทั้งแก่ชีวิตของตน และกิจการของส่วนรวม ทั้งสังคม และมนุษยชาติทั้งหมด

ขอจงได้ประสบความสวัสดีมีชัย และสิริมงคลทุกประการ ทั่วทุกท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ เทอญ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.