ธรรมะกับการทำงาน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

วัดความสำเร็จที่ไหน?
ได้กำไรสูงสุด หรือช่วยให้มนุษย์มีชีวิตและสังคมที่ดี

ทีนี้ลองมาดู “เกณฑ์วัดความสำเร็จ” กันหน่อย เมื่อทำงาน เราก็ต้องวัดความสำเร็จ อะไรเป็นเกณฑ์วัดความสำเร็จของงาน เกณฑ์วัดใหญ่ๆ มี ๒ เกณฑ์

จากเรื่องที่พูดไปแล้ว จะเห็นเกณฑ์ทั้ง ๒ นี้ คือเกณฑ์ของมนุษย์ที่พัฒนาอารยธรรมขึ้นมา โดยเฉพาะในยุคของระบบผลประโยชน์ที่เน้นการแข่งขันนี้ มีแนวโน้มที่จะทำให้คนวัดความสำเร็จในแบบหนึ่งโดยเฉพาะ คือวัดด้วยการได้ผลประโยชน์มากที่สุด ระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ ทำธุรกิจ ก็วัดด้วยกำไร เพราะฉะนั้น เวลานี้ไม่ว่าจะทำกิจการอะไร เมื่อจะวัดความสำเร็จ ก็มีความโน้มเอียงที่จะวัดด้วยกำไรสูงสุด แม้แต่ตั้งโรงพยาบาลเอกชน ก็บอกว่า วัดความสำเร็จด้วยกำไรสูงสุด

การได้กำไรสูงสุดนี้ เป็นเกณฑ์วัดความสำเร็จที่แท้จริงหรือไม่ จะวัดได้อย่างไรว่าถูกหรือไม่ถูก ก็ต้องวัดตามกฎธรรมชาติสิ ความจริงที่แท้ตามกฎธรรมชาตินั้นเป็นตัวบอก ว่าอันไหนถูกหรือผิด เหตุผลที่แท้ของกฎธรรมชาติเป็นตัวกำหนด คือเป็นตัววัดเกณฑ์อีกทีหนึ่ง เราต้องวัดเกณฑ์ว่าเกณฑ์นั้นถูกหรือผิด

เมื่อดูเหตุผลตามกฎของธรรมชาติ การแพทย์เป็นเหตุ แล้วผลของมันคืออะไร ผลตามกฎธรรมชาติ บอกแล้วตั้งแต่ต้น ว่าคือคนไข้หายโรค และมีสุขภาพดี นี่คือเหตุผลตามกฎธรรมชาติ

แต่ทีนี้ เหตุและผลตามกฎของมนุษย์ ก็คือ การแพทย์เป็นเหตุ รายได้ดี มีกำไรสูง เป็นผล

แม้แต่เด็กนักเรียนจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ชอบเลือกเรียนแพทย์ อันนี้เราไม่ว่ากันนะ มันเป็นเรื่องของค่านิยมในสังคม ซึ่งเป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นกันไปทั่ว

เวลาเด็กจะเลือกเข้าเรียนอะไร ก็ต้องนึกว่าเรียนอะไรจะได้รายได้ดีที่สุด อันนี้เป็นเครื่องแสดงว่า มนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ ติดในกฎสมมติกันมาก แทบไม่มีใครพูดว่าเรียนแพทย์เพื่อจะรักษาคนไข้ให้หายเจ็บป่วย หรือเพื่อจะช่วยให้คนมีสุขภาพดีมากๆ

ที่พูดมานี้แสดงว่า เราหลงสมมติหรือติดในกฎสมมติมากเกินไป บัดนี้ถึงเวลาที่เราจะต้องมาทบทวนกันเสียที ว่าที่แท้นั้นเหตุผลหรือกฎมี ๒ ชั้น ซึ่งเราได้พูดกันมามากแล้ว คือ

๑. ตามกฎธรรมชาติ การแพทย์เป็นเหตุ คนไข้หายโรคหรือคนมีสุขภาพดีเป็นผล

๒. ตามกฎมนุษย์ การแพทย์เป็นเหตุ รายได้ดี หรือได้ค่าตอบแทนมากเป็นผล

ทีนี้โรงพยาบาลเอกชน ก็หลักการเดียวกัน คือตั้งโรงพยาบาลทำงานแพทย์เป็นเหตุ กำไรสูงสุดเป็นผล อันนี้กฎไหน กฎมนุษย์

แล้วกฎธรรมชาติ คืออะไร? เหตุผลที่แท้ตามกฎธรรมชาติ คือ ตั้งโรงพยาบาลเป็นเหตุ คนไข้หายโรคและผู้คนในสังคมนี้บรรเทาเบาบางจากโรคภัยไข้เจ็บมีสุขภาพดีขึ้นเป็นผล ใช่ไหม?

ทีนี้เราอยู่ในโลกของสมมติ ปัจจุบันนี้โลกได้เข้าสู่ระบบการแข่งขันเชิงธุรกิจ แล้วเราจะทำอย่างไรดี เราจะปรับตัวแบบไหน เวลานี้ ถ้าเรายอมรับความจริงว่า ที่แท้นั้นผลสำเร็จต้องอยู่ที่การช่วยให้ผู้คนหายโรคภัยไข้เจ็บมีสุขภาพดี แต่ในสังคมปัจจุบัน ถ้าเราขืนถืออย่างนี้ เราก็คงแย่

แล้วเราจะทำอย่างไรดี เราก็ต้องประสาน ๒ ระดับ โดยตั้งเป็นจุดหมายสูงสุด กับ จุดหมายรอง

หลักใหญ่คือ มนุษย์จะต้องไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ คือจากความเป็นจริงที่แท้ ซึ่งเป็นตัวรักษาอารยธรรมของมนุษย์ ถ้าเราไม่รักษาหลักการนี้ สังคมจะวิปลาสไปหมด จนในที่สุดมนุษย์เองก็จะอยู่ไม่ได้ อารยธรรมจะถึงจุดจบ เพราะมนุษย์มาติดอยู่ในสมมติอันนี้ ถ้าขืนเอากำไรสูงสุดเป็นเกณฑ์วัดความสำเร็จทั่วไปหมดในสังคมนี้ สังคมจะอยู่ไม่ได้ ต้องพังแน่ๆ

เพราะฉะนั้น หลักการตามกฎธรรมชาติ คือความจริงที่แท้นี้ จะต้องรักษาไว้ เราก็ตั้งเป็นจุดหมายสูงสุด แล้วจึงตามด้วยจุดหมายรองของมนุษย์

จุดหมายสูงสุดของการตั้งโรงพยาบาลคือ การช่วยให้ประชาชนบรรเทาเบาบางจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพดีขึ้น จุดหมายสูงสุดนี้ เป็นเกณฑ์วัดความสำเร็จที่แท้ของเรา แต่จุดหมายรองคือ กำไรสูงสุด เราก็ต้องมีด้วย แล้วหาทางประสาน คือให้กำไรของเรา ไปเกื้อหนุนต่อจุดหมายแท้อีกทีหนึ่ง คือ ให้กำไรสูงสุดของเรา ไปเกื้อหนุนการช่วยให้มนุษย์หายโรคภัยไข้เจ็บมีสุขภาพดีขึ้น ถ้าประสานได้ ก็แสดงว่าไปกันได้

แต่ถ้าเอาแค่จุดหมายรอง คือ เอาแค่กำไรสูงสุดอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงจุดหมายที่แท้เลย ละก็แย่ สังคมพังแน่

ถ้าตกลงอย่างนี้แล้ว ก็อาจจะตั้งเป็นหลักการว่า

๑. ถ้าได้ผลตามจุดหมายรอง คือกำไรสูงสุด แต่ไม่ได้ผลตามจุดหมายสูงสุด คือไม่ช่วยให้คนไข้หายโรค และประชาชนสุขภาพไม่ดีขึ้น = ยอมรับไม่ได้

๒. ถ้าได้ผลตามจุดหมายสูงสุด คือคนไข้หายโรค ประชาชนมีสุขภาพดีด้วย และได้ผลตามจุดหมายรอง คือกำไรสูงสุดด้วย = พอยอมรับได้

๓. กำไรสูงสุดที่ได้ตามจุดหมายรอง เอาไปเกื้อหนุนในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุจุดหมายสูงสุด คือช่วยบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดียิ่งขึ้นไป = ยอมรับได้

ในระดับบุคคล ก็เช่นเดียวกัน เราทำงานทำการในสังคมปัจจุบันนี้ ค่านิยมของสังคมมันบีบบังคับเราอยู่ เราหนีไม่พ้น เพราะฉะนั้น เราก็จำเป็นต้องมีรายได้ดีพอสมควร แต่เราจะต้องคำนึงอยู่ตลอดเวลาว่า ทำอย่างไรจะให้จุดหมายแห่งความสำเร็จในขั้นรองของเรา ไม่ไปทำลายจุดหมายสูงสุด คือ การช่วยให้ชีวิตดีงามขึ้น สังคมร่มเย็นเป็นสุข โลกนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

การที่มนุษย์สร้างสรรค์ความเจริญต่างๆ ขึ้นมา มีอารยธรรม มีวัฒนธรรมนั้นที่แท้เพื่ออะไร จุดหมายที่แท้จริง ก็คือการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม สังคมที่มีสันติสุข และโลกที่รื่นรมย์น่าอยู่ยิ่งขึ้น พูดให้สั้นว่า “ชีวิตงาม สังคมดี ธรรมชาติเป็นรมณีย์” อันนี้คือจุดหมายที่แท้จริงของเรา ซึ่งเราจะต้องไม่ลืม

แต่มนุษย์ก็มักลืมตัว มาติดกันอยู่ในเรื่องกำไรสูงสุด หรือผลประโยชน์ต่างๆ ถ้าอย่างนี้ เราก็แปลกแยกจากความเป็นจริงของธรรมชาติ ถ้าแปลกแยกกันถึงขั้นนี้ พื้นฐานของชีวิตและสังคมก็เสียหมด ความสุขที่เป็นทุนพื้นฐานทั้งสามอย่างไม่รู้ว่าหายไปแต่เมื่อไร เราก็เลยมาตันมาติดอยู่กับภาวะแห่งความแปลกแยก เหล่านี้

เพราะฉะนั้น จะต้องประสานให้ได้ ให้กฎของมนุษย์ กับกฎของธรรมชาติ หรือความจริงของมนุษย์ กับความจริงของธรรมชาติ โยงกันอยู่เป็นอันเดียวกัน ประสานกลมกลืนกันให้ได้

ตราบใดที่เรายังประสานโยงถึงกันได้ ชีวิตก็อยู่ดี และสังคมก็ยังดีด้วย จะไม่มีภัยอันตรายมากมาย ฉะนั้นจะต้องรีบประสานกิจการในการดำเนินชีวิตทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการหาเลี้ยงชีพส่วนบุคคลก็ตาม กิจการหรือธุรกิจของสังคมก็ตาม จะต้องพยายามประสานความต้องการของมนุษย์ กับผลตามกฎธรรมชาติที่แท้นี้ ให้ถึงกันให้ได้

ตกลงว่า แม้จะมีกำไรสูงสุด ก็ต้องให้เอื้อต่อจุดหมายสูงสุด ซึ่งเป็นจุดหมายที่แท้จริงตามเหตุตามผลของธรรมชาติ คือการช่วยกันเป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม สังคมที่มีสันติสุข และโลกที่รื่นรมย์น่าอยู่อาศัย ถ้าทำได้อย่างนี้ อารยธรรมของเราก็จะเจริญพัฒนาต่อไป

อารยธรรมปัจจุบันนี้ ได้พัฒนาระบบจัดตั้งต่างๆ ของสังคมมนุษย์ขึ้นมา อันเป็นสมมติที่แปลกแยกจากธรรมชาติที่เป็นเนื้อตัวที่แท้ของมัน ตั้งแต่ฐานความคิดที่มุ่งจะพิชิตในเชิงทำลายธรรมชาติ แล้วมันก็ทำให้ตัวบุคคลของมนุษย์ แปลกแยกจากชีวิตของเขาเอง จนกระทั่งการดำเนินชีวิต กิจกรรม ภาวะจิต แม้กระทั่งการมีความสุขก็ยากจะถึงกันกับธรรมชาติ จะต้องแก้ไขตั้งแต่ฐานความคิด

เวลานี้อารยธรรมกำลังจะสลายเพราะความผิดพลาดนี้ เพราะมนุษย์ไม่สามารถสร้างอารยธรรมที่ช่วยทำให้มนุษย์มีชีวิตดีงาม สังคมดี และธรรมชาติเป็นรมณีย์ แต่ยิ่งพัฒนาไป อารยธรรมกลับเป็นตัวทำลายจุดหมายนี้เสียเอง ชีวิตก็แย่ลง คนก็เครียดมีความทุกข์มากขึ้น และสังคมก็เดือดร้อน แย่งชิง เอารัดเอาเปรียบกันมากขึ้น ธรรมชาติแวดล้อมของโลกก็ไม่น่ารื่นรมย์ ไม่น่าอยู่ มีแต่มลภาวะ ยิ่งเสื่อมโทรม ทรัพยากรธรรมชาติก็ยิ่งร่อยหรอลงไป นี่อารยธรรมอะไรกัน? ทำไมจึงทำให้มนุษย์เป็นอย่างนี้ อารยธรรมอย่างนี้แสดงว่าผิดทาง ถ้าสร้างถูกมันจะต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ หรือว่ามันไม่ใช่อารยธรรม แต่กลายเป็นหายนธรรมไป

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.