ธรรมะกับการทำงาน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สูตรหนึ่งของอารยธรรมสมัยใหม่ :
สังคมยิ่งพัฒนา คนยิ่งฆ่าตัวตาย

เป็นอันว่ามนุษย์ยุคนี้มีความแปลกแยก ๓ อย่างนี้ คือ

๑. แปลกแยกจากธรรมชาติ

๒. แปลกแยกจากเพื่อนมนุษย์ และ

๓. แปลกแยกจากกิจกรรมแห่งชีวิตของตนเอง

เมื่อเราแปลกแยกจากแหล่งทุนพื้นฐานแห่งความสุข ๓ อย่างนี้แล้ว เราก็เหลือความหวังในความสุขจากแหล่งอื่นอย่างเดียว คือจากสิ่งเสพบริโภคหรือวัตถุบำรุงบำเรอ เราก็เลยเอาความสุขของเราไปฝากไว้กับวัตถุเสพบริโภคที่เหลืออยู่ทางเดียวนั้นหมดเลย

แต่วัตถุเสพบริโภคที่มีเงินทองเป็นตัวแทน ไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลา และมันเป็นของนอกตัวด้วย มนุษย์จึงถูกบีบช่องทางที่จะได้ความสุขให้เหลือน้อยที่สุด เมื่อถูกบีบอย่างนี้ ต่อไปก็จะเกิดปัญหา

ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ ต่อไปความสุขจากการได้เสพบริโภควัตถุจะเป็นความหมายอันเดียวของชีวิตของเขา ความสุขของเขาอยู่ที่การได้เสพบริโภค เพราะฉะนั้น เขาก็จะต้องหาเงิน หาของใช้อะไรต่างๆ หาโภคภัณฑ์เทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด

ทีนี้ คนเราเสพบริโภคบำรุงบำเรอไป มันมีวันเบื่อ บางทีก็มีความผิดหวังจากการหาเสพไม่ได้ หรือไม่ได้เสพ พอเบื่อวัตถุเสพหรือผิดหวังกับความสุขจากการเสพวัตถุเมื่อไร ก็หมายถึงเบื่อหน่ายชีวิต และผิดหวังต่อชีวิตด้วย เมื่อไรวัตถุเสพหมดความหมาย ชีวิตก็หมดความหมายด้วย นี่คือภาพของคนในยุคปัจจุบัน

นั่นก็เป็นเพราะว่า ช่องทางที่เขาจะมีความสุขและความหมายของชีวิตนั้น มันไปเหลืออยู่ที่ช่องเดียวแล้ว คือ อยู่ที่วัตถุเสพบริโภคเท่านั้น เพราะฉะนั้น คนสมัยนี้จึงกลายเป็นคนซึ่งแทนที่จะมีช่องทางที่จะมีความสุขมากขึ้น กลับมีความสุขและช่องทางที่จะมีความสุขน้อยลง

แต่ถ้าเขาไม่ลืมฐานเดิมและรู้จักรักษาแหล่งทุนเดิมแห่งความสุขทั้ง ๓ อย่างไว้ได้ จะไม่เป็นปัญหาเลย เขาจะมีความสุขเพิ่มขึ้น

ได้บอกแล้วว่า เวลานี้มนุษย์ได้แปลกแยกไปแล้ว จากธรรมชาติ จากเพื่อนมนุษย์ และจากกิจกรรมแห่งชีวิตของตนเอง เพราะฉะนั้นเขาจึงอยู่ในภาวะบีบคั้น ที่ทำให้ยิ่งต้องเอาความสุขไปฝากไว้กับสิ่งบริโภคเพียงอย่างเดียว เมื่อใดสิ่งเหล่านั้นหมดความหมาย เมื่อนั้นชีวิตก็หมดความหมายด้วย และเมื่อเบื่อหน่ายวัตถุเสพ หรือผิดหวังกับมันแล้ว เขาก็ไม่รู้จะหันไปไหน เพราะทุนเดิม ๓ ด้านแห่งความสุขนั้น เขาก็แปลกแยกไปหมดแล้ว

เพราะฉะนั้น มันจึงไม่เป็นของแปลกเลยที่ว่าในสังคมที่เจริญแล้ว สถิติคนฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น

คนสมัยก่อน มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย มีวัตถุเสพบริโภคน้อย ความสุขของเขาก็อยู่กับทุนพื้นฐาน ๓ อย่าง ที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นส่วนใหญ่ สุขจากวัตถุเสพบริโภคที่มีเป็นครั้งคราว จะมาเสริมเติมสุขเป็นกรณีพิเศษ และเขาก็จะรู้สึกพิเศษจริงๆ คือนานๆ ครั้ง และสุขมากๆ เวลานอกนั้นเขาก็อยู่กับแหล่งความสุขพื้นฐาน ๓ อย่างนั้น ซึ่งเป็นเรื่องของตัวชีวิตของเขาเองแท้ๆ

แม้บางครั้ง บางคนจะเกิดความแปลกแยกจากสิ่งเหล่านี้บางอย่าง เช่น บางคนเข้ากับใครไม่ได้ แปลกแยกจากเพื่อนมนุษย์ไปหมด เขาก็มีทางชดเชยด้วยการหันไปอยู่กับธรรมชาติ และหรือกับกิจกรรมแห่งชีวิตของตัวเองมากขึ้น ต่างกับคนยุคปัจจุบันจำนวนมากที่หวังความสุขจากสิ่งเสพบริโภคอย่างเดียว พอช่องทางนี้ตัน ก็หมดทางออก ไม่มีทางไป และก็อาจจะตายดีกว่า

สังคมใดเจริญด้วยอารยธรรมปัจจุบันมากขึ้น สังคมนั้นจะมีคนฆ่าตัวตายมากขึ้น

สภาวะนี้แทบจะเป็นสูตรเลย สังคมอเมริกันปัจจุบันมีความพรั่งพร้อมมาก คนก็ฆ่าตัวตายมากขึ้น และไม่ใช่เท่านั้น แต่มันกลายเป็นว่าคนหนุ่มสาวฆ่าตัวตายมากขึ้น วัยรุ่นฆ่าตัวตายมากขึ้น เพราะเวลานี้มนุษย์ที่เรียกตัวว่าเจริญแล้ว เอาความหมายของชีวิตไปฝากไว้กับวัตถุเสพบริโภคเพียงอย่างเดียว

คนสมัยนี้เรียนเพื่ออะไร? ทำงานเพื่ออะไร? ทุกอย่างเพื่อสิ่งเดียวเท่านั้น คือ เพื่อการมีเงินทองที่จะหาวัตถุบริโภคและสิ่งเสพบำรุงบำเรอความสุขให้พรั่งพร้อม พอสิ่งเหล่านี้หมดความหมาย หรือตนเองผิดหวัง ก็จบ ชีวิตก็หมดความหมายไปด้วย

คนสมัยก่อนมีวัตถุเสพน้อย ความสุขของเขาอยู่ที่ธรรมชาติแวดล้อม อยู่ที่เพื่อนมนุษย์ อยู่ที่กิจกรรมของชีวิต ชีวิตของเขาแต่ละขณะ นานๆ จะได้เสพวัตถุบริโภคหรือสิ่งปรนเปรอแปลกๆ พิเศษสักที ความสุขของเขาจึงขึ้นต่อวัตถุเสพบริโภคน้อยเหลือเกิน และถ้าเขาไม่ได้เสพบริโภค จะผิดหวังบ้าง ก็ไม่เป็นไร มันก็ไม่แปลก ไม่หนักนาสาหัส ไม่ร้ายแรงอะไร คนสมัยก่อนจะไม่ฆ่าตัวตาย เพราะสาเหตุเหมือนคนสมัยปัจจุบัน

แต่คนปัจจุบันนี้ หมดช่องทางที่จะมีความสุขจากแหล่งทุนพื้นฐานทั้งสามนั้น ก็เหลือช่องทางเดียว ช่องทางนี้หมดความหมายเมื่อไร ชีวิตก็หมดความหมายอย่างที่ว่าแล้ว ฉะนั้นจึงมองเห็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนหนุ่มสาวจึงฆ่าตัวตายมาก เช่น อย่างสังคมอเมริกันที่พัฒนาแล้วชั้นนำ ต้องแปลกใจตัวเองว่า ทำไมสังคมเจริญมั่งคั่งพรั่งพร้อม สะดวกสบายทุกอย่าง แล้วคนหนุ่มสาวซึ่งกำลังมีชีวิตแข็งแรงสดใส จึงมาฆ่าตัวตาย

เวลานี้การฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นมากในระยะ ๓๐ ปี ช่วง ค.ศ. ๑๙๕๐ - ๘๐ วัยรุ่นอเมริกันฆ่าตัวตายสถิติเพิ่มขึ้น ๓ เท่า คือ ๓๐๐% จนกระทั่งการฆ่าตัวตายกลายมาเป็นสาเหตุแห่งการตายอันดับ ๓ ของหนุ่มสาวอเมริกันปัจจุบัน แต่สมาคมสุขภาพจิตของอเมริกาเองบอกว่าเป็นอันดับ ๒ ไม่ใช่ ๓ สถิติหนึ่งบอกว่าเป็นอันดับ ๓ สาเหตุที่ ๑ คือ อุบัติเหตุ สาเหตุที่ ๒ คือ ฆ่ากันตาย สาเหตุที่ ๓ คือ ฆ่าตัวตาย แต่สมาคมสุขภาพจิตแห่งชาติของอเมริกาบอกว่าเป็นอันดับ ๒ ไม่ใช่ ๓

สถิติหนึ่งบอกว่าเป็นอันดับ ๓ สาเหตุที่​ ๑ คือ อุบัติเหตุ สาเหตุที่ ๒ คือ ฆ่ากันตาย สาเหตุที่ ๓ คือ ฆ่าตัวตาย แต่สมาคมสุขภาพจิตแห่งชาติอเมริกาบอกว่า อันดับที่ ๑ คือ อุบัติเหตุ อันดับที่ ๒ ฆ่าตัวตาย แล้วอันดับ ๓ จึงฆ่ากันตาย

น่าสังเกตว่า คนอเมริกันฆ่าตัวตายมากกว่าฆ่ากันตาย ตรงข้ามกับสังคมไทยที่ฆ่ากันตายมากกว่าฆ่าตัวตาย แต่เวลานี้ คนไทยก็เริ่มฆ่าตัวตายมากขึ้น นับว่าเป็นแนวโน้มที่น่ากลัว ถ้าไม่รีบแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องด้วยการพัฒนาอย่างถูกทาง ต่อไปสังคมไทยจะยิ่งแย่

แต่พูดได้ว่า นี่คือการที่คนสูญเสียความสุขที่เป็นทุนพื้นฐาน ๓ ประการ จากการเกิดความแปลกแยก ทวนอีกครั้งหนึ่งว่า แปลกแยกจาก

๑. ธรรมชาติ

๒. เพื่อนมนุษย์

๓. กิจกรรมของชีวิต

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.