ธรรมะกับการทำงาน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ถ้าพัฒนาแต่ความสามารถที่จะหาเสพ
จะต้องสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข

ยังมีวิธีฝึกยิ่งกว่านั้นอีก เพื่อให้ความสุขกลมกลืนกับชีวิตที่ดีงามและการงานด้วย ขอพูดอีกตัวอย่างหนึ่ง

เมื่อกี้บอกแล้วว่า ถ้าเราไม่ฝึกคนให้ดี มนุษย์จะมีชีวิตที่ฝากความสุขไว้กับสิ่งเสพภายนอกมากขึ้นทุกที เมื่อเราฝากความสุขไว้กับสิ่งเสพ เราก็มุ่งหมายว่า ถ้าได้สิ่งเสพมากขึ้น เราก็จะสุขมากขึ้น ทีนี้เราก็ตามหาความสุข เราก็เอาความสุขของเราไปฝากไว้กับวัตถุนอกตัว ความสุขของเราจะเริ่มออกไปอยู่ข้างนอก แล้วในตัวเราก็จะเริ่มหมดความสุข วิธีการนี้จะทำให้มนุษย์มีชีวิตที่เสียดุล

มนุษย์ซึ่งเป็นอย่างที่ว่านั้น จะหลงตัวเอง จะมีการพัฒนาความสามารถขึ้นมาด้านหนึ่ง คือพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข เพราะเขาเชื่อว่าความสุขอยู่ที่สิ่งเสพภายนอก เขาจึงคิดว่าทำอย่างไรเขาจะมีสิ่งเสพเหล่านั้นให้มากที่สุด

เมื่อคิดเมื่อเชื่ออย่างนี้ เขาก็ต้องหาให้มาก และเพื่อจะหาให้ได้มาก เขาก็ต้องพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพ คราวนี้แหละ คนก็พัฒนาความสามารถในการหาสิ่งเสพบำเรอความสุขกันใหญ่ แม้แต่การศึกษาก็จะมีความหมายว่า คือ การพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข เพราะเขาเชื่อว่า ยิ่งได้มาก ก็ยิ่งสุขมาก และยิ่งเสพมาก ก็ยิ่งสุขมาก กลายเป็นคติว่า “เสพมากที่สุด สุขมากที่สุด”

ถึงตอนนี้ก็จะเกิดปัญหาขึ้นอย่างหนึ่งโดยไม่รู้ตัว คือมนุษย์นั้นมีศักยภาพที่เกี่ยวกับความสุขอยู่ ๒ ด้าน ด้านหนึ่ง คือ การได้เสพวัตถุภายนอกแล้วก็สุข อีกด้านหนึ่ง คือ มนุษย์มีความสามารถอยู่ในตัวที่จะมีความสุข เมื่อมนุษย์ฝากความสุขไว้กับสิ่งเสพภายนอกมากขึ้น ความสุขของเขาก็ยิ่งขึ้นกับสิ่งเสพภายนอกมากขึ้น เมื่อความสุขขึ้นต่อสิ่งเสพภายนอกมากขึ้น โดยไม่รู้ตัวภายใน เขาก็ค่อยๆ สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุขลงไป แล้วเขาก็จะซ้ำเติมตัวเองด้วยลักษณะที่กลายเป็นคนที่สุขได้ยากยิ่งขึ้น ยิ่งอยู่ในโลกนานไป ก็ยิ่งเป็นคนที่สุขได้ยากขึ้นๆ

ถ้าใครเก่งจริง เป็นคนพัฒนาจริง จะต้องเป็นคนที่สุขได้ง่ายขึ้น ยิ่งอยู่ในโลกนานไป เขาก็ต้องเป็นคนที่ยิ่งสุขได้ง่ายขึ้น อย่างนี้จึงจะเก่ง ถ้าเป็นคนที่สุขได้ยากจะเรียกว่าเก่งได้อย่างไร?

แต่ปรากฏว่า มนุษย์ยุคนี้ ยิ่งเติบโตขึ้น ก็ยิ่งเป็นคนที่สุขได้ยากขึ้น นี่เป็นเพราะอะไร? เพราะเขาพัฒนาความสามารถด้านเดียวจนเสียดุล คือ พัฒนาแต่ความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข แต่พร้อมกันนั้น ในตัวก็สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข เสื่อมถอยด้อยลงไป

การศึกษาที่ถูกต้อง จะต้องพัฒนาทั้งสองด้านคู่เคียงกันไป คือพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขด้วย เมื่อพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ข้างในก็สุขง่ายขึ้น เก่งในการที่จะมีความสุขได้ง่าย พร้อมกันนั้น ด้านนอกพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข ก็หาสิ่งเสพได้มากขึ้นด้วย คราวนี้คนก็จะมีความสุขสองชั้นทวีคูณเลย คือข้างในก็สุขง่าย ข้างนอกก็ได้เสพมากขึ้น จึงสุขเต็มที่

คนที่พัฒนาอย่างนี้ จะได้ความสุขเต็มที่จากสิ่งที่หาได้มา จนกระทั่งว่าสิ่งที่หามาได้นั้น เกินจำเป็นสำหรับจะทำให้ตนเองมีความสุข เมื่อมันเกินจำเป็นที่จะทำให้ตนเองมีความสุข ก็เอาสิ่งที่เกินจำเป็นนั้นไปเฉลี่ยเจือจานให้กับเพื่อนมนุษย์ ซึ่งกลับดีเพิ่มขึ้นอีก ตัวเองก็สุขเต็มที่ แล้วยังแถมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อีกด้วย ยิ่งข้างในสุขง่ายมากขึ้น ปริมาณวัตถุเสพภายนอกที่จะทำให้สุขสำหรับตนเอง ก็ยิ่งต้องการน้อยลง ก็จึงยิ่งช่วยคนอื่นได้มากขึ้น

ในทางตรงข้าม มนุษย์ที่พัฒนาด้านเดียว แม้จะพัฒนาความสามารถหาสิ่งเสพบำเรอความสุขได้มากจริง แต่ข้างในเขาสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุขลงไป เพราะฉะนั้นถึงแม้จะได้มามากขึ้น เขาก็จะสุขเท่าเดิม

ยกตัวอย่างง่ายๆ คนผู้หนึ่งเคยหวังไว้ว่า ถ้าเมื่อไรฉันมีเงินเดือนหมื่นบาท เมื่อนั้นฉันจะมีความสุขเหลือล้นเต็มที่เลย เรียกว่าฉันจะบรรลุจุดหมายของชีวิตทีเดียวละ แล้วแกก็หวังไป แกก็พัฒนาความสามารถด้านที่จะหาเงินทองสิ่งเสพนี้ ต่อมาแกก็ได้เงินเดือนหมื่นจริงๆ ตอนได้ครั้งแรก แกสุขจริงๆ สุขเหลือล้น มันสมหวังสมใจเต็มที่ แต่ต่อมาแกก็ชิน พอชินแล้วก็กลายเป็นธรรมดาๆ

ต่อมา แกก็หวังใหม่อีกว่า คราวนี้ถ้าได้เงินเดือน ๕ หมื่นบาท แล้วแกจะมีความสุขจริงๆ คืนวันผ่านไป แกก็พัฒนาความสามารถที่จะหา จนทำให้ได้เงินเดือน ๕ หมื่นบาทจริงๆ พอได้ ๕ หมื่นบาท ตอนได้ แกสุขมาก ต่อมาแกก็ชินอีก แต่ที่แย่มากก็คือ เกิดเดือนไหนแกได้หมื่นบาท แกเป็นทุกข์ทันทีเลย ทั้งที่แต่ก่อนนั้น แกได้หมื่นบาท แกเคยสุขเต็มที่ สุขเหลือล้นเลย แต่ตอนนี้ถ้าได้หมื่นบาท แกทุกข์หนัก ทุกข์อย่างสาหัสเลย และเชื่อไหม? ตอนได้ ๕ หมื่นบาทคราวนี้ แกก็ไม่สุขมากเท่าตอนได้หมื่นบาทคราวแรก

ได้ ๕ หมื่นบาทแล้ว ก็หวังแสน พอได้แสน ก็สุข แต่ก็ไม่มากเท่าตอนได้หมื่นครั้งแรก ทีนี้พอได้แสนแล้ว เดือนไหนได้ ๕ หมื่น ก็ทุกข์อีก เพราะฉะนั้น สุขแบบนี้จึงต้องเติมปริมาณและเพิ่มดีกรีขึ้นไปเรื่อยๆ ขณะที่พัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพภายนอกได้มากขึ้น ภายในความสามารถที่จะมีความสุขก็ลดน้อยลงไป แล้วแกก็จะบวก ๑ ลบ ๑ เรื่อยไป จนกระทั่งเมื่อแกไม่พัฒนาความสามารถภายในที่จะมีความสุขขึ้นมาเลย ในที่สุดแกก็จะหมดความสามารถที่จะมีความสุข แล้วทีนี้วัตถุเท่าไรๆ ก็ไม่สามารถทำให้แกมีความสุขได้อีกเลย เพราะฉะนั้น คนอย่างนี้จึงลำบากมาก

คนที่พัฒนาถูกต้องนั้น เขาจะพัฒนา ๒ ด้านพร้อมกัน ด้านนอก ก็พัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข และ ด้านใน ก็พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข เมื่อพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ก็เป็นคนสุขได้ง่าย ความสุขไม่ไปฝากไว้กับสิ่งเสพภายนอก ไม่เป็นเมืองขึ้นของใครๆ หรืออะไรๆ ความสุขก็ค่อยๆ มีในตัวมากขึ้น

ส่วนคนที่พัฒนาไม่เป็น ก็เอาความสุขและชีวิตของตนไปฝากไว้กับสิ่งภายนอกหมด จนกระทั่งตัวเองสูญสิ้นอิสรภาพ คิดว่าตัวเองหาความสุขได้เก่งนัก แต่ไม่รู้ตัวว่าหมดอิสรภาพ เพราะว่าชีวิตและความสุขของตัวเอง ต้องไปขึ้นต่อสิ่งภายนอกหมด มีสุขในตัวเองไม่ได้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.