ธรรมกับการศึกษาของไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง:
มองตามเป็นจริง และสำเหนียกเอาประโยชน์

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นของตนที่สืบทอดมาก็ตาม เป็นวัฒนธรรมอื่นที่หลั่งไหลเข้ามาจากภายนอกก็ตาม ถ้าเรียกตามศัพท์ในทางพระศาสนา หรือเรียกเป็นภาษาทางธรรม ก็จัดเป็นปรโตโฆสะ ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น องค์ประกอบเริ่มแรกในทางการศึกษา หรือปัจจัยเบื้องแรกในการศึกษานั้น ตัวสำคัญก็คือ สิ่งที่เรียกว่า ปรโตโฆสะ ปรโตโฆสะ แปลว่า เสียงจากอื่น เสียงจากภายนอกหรืออิทธิพลจากภายนอก คือนอกตัวบุคคล วัฒนธรรมของเราเองก็เป็นสิ่งที่หล่อหลอมตัวเรามา ถ้าเอาตัวคนเป็นศูนย์กลาง ก็คือมันห่อหุ้มเราอยู่รอบตัว และมันก็หล่อหลอมอุปนิสัยใจคอของเรา จึงเป็นปรโตโฆสะแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งของการศึกษา วัฒนธรรมจากภายนอกก็เช่นเดียวกัน ก็เป็นปรโตโฆสะ เป็นอิทธิพลจากอื่น เป็นเสียงจากภายนอกที่เข้ามามีอิทธิพล ซึ่งเมื่อเรารับเข้ามา มันก็จะเป็นปัจจัยที่หล่อหลอมชีวิตจิตใจ ตลอดจนสังคมของเรา ให้มีความเป็นไปต่างๆ ปรโตโฆสะเป็นแหล่งสำคัญของการศึกษา

ทีนี้ หลักการในการปฏิบัติต่อปรโตโฆสะ ก็คือ อย่าปล่อยให้ปรโตโฆสะเป็นตัวกระทำต่อเรา แต่เราต้องเป็นฝ่ายกระทำต่อปรโตโฆสะ ถ้าเราปล่อยให้ปรโตโฆสะ กระทำต่อเรา เราก็เป็นตัวรับฝ่ายเดียว วัฒนธรรมของเราที่มาจากอดีตมีความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไปอย่างไร มันก็หล่อหลอมชีวิตจิตใจของเราให้มีการศึกษา มีผลการศึกษาเป็นอย่างนั้น วัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาอย่างไร ดีไม่ดี ไม่มีการกลั่นกรอง ไม่มีการตรวจสอบพิจารณา ก็มาหล่อหลอมชีวิตของเราให้เป็นอย่างนั้น นี้เรียกว่า เราปล่อยให้ปรโตโฆสะทำต่อเรา แต่วิธีของการศึกษานั้น เป็นไปในทางกลับกันว่า เราจะต้องกระทำต่อปรโตโฆสะ การทำต่อปรโตโฆสะนั้นทำอย่างไร

เมื่อพูดถึงวิธีปฏิบัติต่อปรโตโฆสะ ก็มาถึงองค์ประกอบที่ ๒ ที่เป็นจุดเริ่มของการศึกษา กล่าวคือ ในทางการศึกษานั้น หลักการทางพระพุทธศาสนาถือว่ามีปัจจัยเริ่มแรก ๒ อย่าง องค์ประกอบอย่างที่ ๑ คือ ปรโตโฆสะ เสียงจากอื่น หรืออิทธิพลจากภายนอก เป็นปัจจัยภายนอก องค์ประกอบที่ ๒ ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ การรู้คิดรู้จักพิจารณา ปัจจุบันเรียกว่า รู้จักคิด คิดเป็น องค์ประกอบที่ ๒ นี้ เป็นปัจจัยภายใน เป็นตัวที่จะมากระทำต่อปรโตโฆสะ เป็นตัวที่จะมาวิเคราะห์สำรวจตรวจสอบปรโตโฆสะ ซึ่งรวมทั้งวัฒนธรรมที่มาจากของตนเองในอดีต และที่มาจากภายนอก ทำให้มองตามเป็นจริงว่า คืออะไร เป็นอย่างไร เป็นมาอย่างไร มีส่วนดีส่วนเสีย หรือคุณโทษอย่างไร แล้วรู้จักเลือก รู้จักรับ รู้จักพิจารณาให้ได้แต่สิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ เกื้อกูลแก่ตน ซึ่งในความหมายอย่างหนึ่งก็ตรงกับการสำเหนียก อาตมภาพคิดว่าคำว่า ‘สำเหนียก’ นี้ อาจจะเป็นคำแปลคำหนึ่งของคำว่าโยนิโสมนสิการของคนไทยในสมัยโบราณก็ได้ แต่เราอาจจะลืมๆ กันไป เมื่อลืมไปก็ขาดองค์ประกอบของการศึกษาที่สำคัญ เพราะฉะนั้น จะต้องรื้อฟื้นการสำเหนียก ตลอดจนโยนิโสมนสิการทั้งหมดนี้ขึ้นมา โยนิโสมนสิการจะทำให้เกิดความรู้เท่าทันต่อประสบการณ์ ต่อวัฒนธรรม ต่อสิ่งที่ถ่ายทอดหลั่งไหลเข้ามา ไม่ว่าจากอดีตของตนหรือจากที่อื่นภายนอกก็ตาม แล้วพิจารณาหาทางที่จะทำให้เกิดประโยชน์

รวมความเท่าที่กล่าวมานี้ อาตมภาพพูดมาเสียยาวนานในเรื่องวัฒนธรรม จนเสียเวลาไปเป็นอันมากนั้น ก็มุ่งแต่เพียงเพื่อให้เข้าใจในเรื่องปรโตโฆสะแหล่งใหญ่ของคนในสมัยปัจจุบัน ความจริงปรโตโฆสะนั้นมีมากมาย แต่ปรโตโฆสะแหล่งสำคัญในปัจจุบัน ก็คือวัฒนธรรมที่มาจากอดีตของเราเอง และวัฒนธรรมที่มาจากภายนอก ซึ่งจัดเป็นองค์ประกอบข้อที่ ๑ ของการศึกษา ต่อจากนั้นก็นำเข้าสู่องค์ประกอบที่ ๒ ของการศึกษา คือ โยนิโสมนสิการ การรู้จักพิจารณา การสืบสาว คิดหาเหตุปัจจัยจนถึงต้นเค้า การแยกแยะองค์ประกอบต่างๆ แล้วเอาโยนิโสมนสิการนั้นมาใช้จัดการกับปรโตโฆสะ ให้บังเกิดผลดี โยนิโสมนสิการเป็นวิธีคิดตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งมีความหมายกว้างขวางมาก แต่รวมง่ายๆ ก็คือ รู้จักคิดพิจารณา ไตร่ตรองอย่างที่กล่าวมาแล้ว เพื่อจะได้เลือกสรรมาทำให้เป็นประโยชน์

ตัวอย่างสำคัญของการใช้โยนิโสมนสิการ ก็คือ การพิจารณาให้รู้เท่าทันไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นหลักที่พูดถึงมาแล้วโดยไม่ได้ออกชื่อ แต่ได้พูดในเนื้อหาของมันมาตั้งแต่ต้น การมีโยนิโสมนสิการ ให้รู้เท่าทันไตรลักษณ์นั้นทำอย่างไร ก็คือรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เช่น รู้วัฒนธรรมของเราที่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย แล้วก็จัดสรรแก้ไขได้ด้วยการแก้ที่เหตุปัจจัยนั้น การรู้เท่าทันอดีตที่กล่าวมาข้างต้นก็ดี การเตรียมการเพื่ออนาคตก็ดี เป็นเรื่องของการใช้โยนิโสมนสิการมาพิจารณาอย่างรู้เท่าทันไตรลักษณ์แล้วทำให้เกิดประโยชน์ขึ้น และทำด้วยความไม่ประมาท หลักไตรลักษณ์นั้นมากับความไม่ประมาทที่จะกระตือรือร้น เร่งขวนขวายแก้ปัญหา ป้องกันความเสื่อม และสร้างสรรค์ความเจริญมั่นคง ด้วยความรู้เท่าทันอดีต แล้วสร้างปัจจุบันเพื่ออนาคตที่มีผลดี หลักการต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ท่านเรียกว่าเป็นบุพภาคคือส่วนเริ่มต้นของการศึกษา ซึ่งได้โยงเข้ามาสู่เรื่องของไตรลักษณ์ ทั้งหมดนี้ก็เป็นการพูดกว้างๆ ทั่วๆ ไป เป็นการกล่าวนำ

 

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.