ธรรมกับการศึกษาของไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ประโยชน์ของการกระทบทางวัฒนธรรม

ดังได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า ปัจจุบันเป็นยุคสมัยของการเข้ามากระทบ หรือเข้ามาเผชิญกันของวัฒนธรรม ๒ สาย และการเข้ามากระทบกันนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมันเข้ามาแล้ว และเกิดขึ้นแล้ว เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราเพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ดีที่สุด สิ่งหนึ่งที่พึงทำก็คือการที่จะมองในแง่ดี การมองในแง่ดีก็อย่างที่พูดเมื่อสักครู่นี้ว่า ไม่ทำให้มันเกิดการลบล้างกันในทางที่เป็นผลเสียหาย แต่รู้จักถือเอาประโยชน์จากการกระทบกันทางวัฒนธรรม ทำให้การกระทบกลายเป็นการประสาน

การกระทบทางวัฒนธรรมนั้น มีประโยชน์หลายอย่าง อย่างแรกก็คือ มันทำให้เราสำนึกตัวอย่างที่ว่ามาเมื่อสักครู่นี้ บางทีวัฒนธรรมที่เราถือกันมาแต่อดีตนั้นมีข้อผิดพลาดบกพร่อง เราก็ถือๆ ตามกันมาและเพลินๆ เรื่อยไป โดยไม่ได้พินิจพิจารณา แต่เมื่อเราไปกระทบกับวัฒนธรรมต่างประเทศแล้วก็อาจจะมีอะไรสะดุด ที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกสำนึกตัวขึ้นมา แล้วถ้าเราไม่เป็นคนหลงตัวเอง ก็จะทำให้เราหันมาทบทวนสำรวจตรวจสอบตัวเองว่า ในวัฒนธรรมของเราเองนั้นมีอะไรที่เป็นข้อบกพร่องเสียหายบ้าง มีอะไรที่ผิดเพี้ยนไป คลาดเคลื่อนไป แล้วเราจะได้แก้ไขให้ถูกต้อง นี่เป็นส่วนของเราเอง นอกจากนั้น การที่คนของเราชอบไปเลียนแบบของคนอื่น ก็เป็นการฟ้องอยู่ในตัวเองว่า วัฒนธรรมของเราเองคงจะมีจุดอ่อน มีข้อบกพร่องบางอย่าง ถ้าวัฒนธรรมของเราดีพร้อม ไม่มีจุดอ่อน ไม่มีข้อบกพร่อง คนของเราก็คงไม่ไปเลียนแบบของเขามา

ฉะนั้น การที่ปัญหาเกิดขึ้นมานี้ก็เป็นเครื่องเตือนตัวเราให้มีสติ ให้ไม่ประมาทที่จะต้องคิด พิจารณาทบทวนตนเอง ต้องวิเคราะห์ตนเองแล้วจะได้มองเห็นทางที่จะทำให้เกิดประโยชน์ขึ้น ทีนี้ นอกเหนือจากการวิเคราะห์ตนเองนั้น ก็คือการรู้จักรับจากผู้อื่น ซึ่งจะต้องทำพร้อมไปด้วยกัน ยกตัวอย่างวัฒนธรรมที่มีการคลาดเคลื่อนดังได้พูดไปเมื่อสักครู่นี้ การที่เราไม่ได้วิเคราะห์ตนเอง ย่อมเป็นทางให้เกิดความผิดพลาดได้มากมาย เพราะว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่หล่อหลอมตัวเรามา ถ้าเราไม่รู้จักมัน มันก็จะทำโทษเรา คือจะเกิดผลเสียโดยที่เราไม่รู้ตัว ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับว่า เราจะใส่รองเท้าใหม่ เราเกิดไปชอบรองเท้าของต่างประเทศ แต่ก่อนนี้เราอาจจะใส่รองเท้าแตะที่พอดีกับเท้าคนไทยซึ่งเล็กหน่อย ต่อมาเราไปเห็นฝรั่งใส่รองเท้าคัชชู ใส่รองเท้าหุ้มส้น รองเท้าบู๊ท หรือรองเท้าอะไรก็ตาม ถ้าเราไปเอาของเขามาใส่เฉยๆ เท้าฝรั่งใหญ่ รองเท้านั้นก็ไม่พอเหมาะกับเรา เมื่อใส่แล้วจะเดินจะวิ่ง ก็ไม่สะดวก มันก็เป็นโทษแก่ตัวเราเอง ฉะนั้น ถ้าเราไม่รู้จักตัวเราเอง ตัวเราเองหรือสภาพของตัวเราเองที่สืบมานี้แหละจะทำโทษเรา ทำให้เราเกิดปัญหา เกิดการติดขัดขึ้น เราจึงต้องสำรวจตรวจสอบตัวเอง

คนไทยเรามีลักษณะอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ปรับตัวเก่ง สามารถปรับตัวเข้ากับโอกาส เข้ากับสิ่งแปลกใหม่เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดีและรวดเร็ว การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ โอกาส สภาพแวดล้อมได้นั้น เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าใช้ไม่ดี ก็อาจกลายเป็นโทษ การที่เราชอบเลียนแบบนี้ ก็เป็นอาการอย่างหนึ่งของการปรับตัวเก่ง คนไทยเราปรับตัวเก่งจึงเลียนแบบเขาเก่งด้วย อาจจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า องค์ประกอบบางอย่างในวัฒนธรรมของเรามันหลุดหล่นหายไป ทำให้การปรับตัวของเราไม่เป็นการปรับตัวที่ดี ไม่เป็นการปรับตัวที่แท้จริง แต่กลายเป็นการเลียนแบบไป องค์ประกอบสำคัญของการปรับตัวอาจจะหลุดหายไปจากวัฒนธรรม นี่เป็นการลองเสนอ เป็นการทาย คาดหมายหรือเดา ตัวแปรสำคัญอาจจะได้แก่คำว่า ‘สำเหนียก’ ซึ่งถ้ายังมีอยู่ ก็จะทำให้การรับสิ่งที่มาจากภายนอก เช่นรับวัฒนธรรม จะมีอาการที่ว่ารู้จักรับ รู้จักเลือก รู้จักพิจารณา ก็จะไม่เป็นการเลียนแบบ แต่จะมีการปรับตัวอย่างถูกต้อง แต่เมื่อการสำเหนียกหายไป การปรับตัวที่แท้จริงก็ไม่มี มีแต่การตามเขา รับจากเขาอย่างเดียว จนกลายเป็นการเลียนแบบขึ้นมา จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า ได้มีการคลาดเคลื่อนขึ้นในวัฒนธรรมของเราเอง

 

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.