ธรรมกับการศึกษาของไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ธรรมกับการศึกษาของไทย1

การศึกษาของไทยในกาละ ๓ และเทศะ ๒

ท่านตั้งหัวข้อให้อาตมภาพพูดในวันนี้ว่า ธรรมะกับการศึกษาของประเทศไทย เมื่อมองดูหัวข้อนี้ ก็ได้ข้อสังเกตว่า ชื่อหัวข้อให้ความรู้สึกเป็นกลางๆ ทั้งด้านกาละและเทศะ เป็นกลางๆ ในด้านที่ ๑ คือด้านกาลเวลา จะหมายถึงประเทศไทยในอดีต หรือในปัจจุบัน หรือในอนาคตก็ได้ ตามหลักพระพุทธศาสนานั้นถือว่า กาลเวลาปัจจุบันสำคัญที่สุด ทำไมจึงสำคัญที่สุด เพราะว่าเป็นเวลาที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง ซึ่งเราปฏิบัติได้ ทำอะไรได้ ส่วนกาลเวลาอีก ๒ เวลา คือ เวลาอดีตและอนาคตนั้น เราทำอะไรไม่ได้ อดีตก็ผ่านไปแล้ว ทำอะไรไม่ได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึง ก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม มิใช่จะปฏิเสธความสำคัญของอดีตและอนาคต กาลเวลาทั้ง ๒ ก็มีความสำคัญเหมือนกัน อดีตมีความสำคัญเพราะว่าเป็นเหตุปัจจัยที่นำมาสู่ปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญอยู่ เราต้องรู้อดีตเพื่อว่าเราจะได้ปฏิบัติกับปัจจุบันอย่างถูกต้อง และได้ผลดี ส่วนอนาคตนั้นก็สำคัญเหมือนกัน เพราะเราต้องการอนาคตที่สุกใสไร้ปัญหา และเพื่ออนาคตที่สุกใสไร้ปัญหานั้น เราก็ต้องปฏิบัติต่อปัจจุบันด้วยดี เพราะปัจจุบันเป็นเหตุปัจจัยที่นำไปสู่อนาคต รวมความว่า ที่จริงแล้วกาลเวลาทั้ง ๓ เกี่ยวข้องกับเราทั้งสิ้น เราเกี่ยวข้องทั้ง ๓ กาล แต่เราปฏิบัติกาลเดียว ส่วนอีก ๒ กาลคืออดีตและอนาคต มีความสำคัญก็เพราะมีผลสืบเนื่องมาสู่และไปจากปัจจุบัน หมายความว่าเราจะต้องยึดปัจจุบันเป็นหลัก แต่เราก็ต้องรู้อดีตและตระหนักถึงอนาคตด้วย ถ้าพูดตามภาษาของพุทธศาสนา ก็คือพระพุทธศาสนาสอนให้ปฏิบัติต่อปัจจุบันด้วยความรู้เท่าทันอดีต โดยตระหนักถึงผลที่จะเกิดในอนาคต นี่คือการให้ความสำคัญอย่างพอเหมาะพอดีแก่กาลทั้ง ๓

อดีตมีความสำคัญในประการที่หนึ่ง อย่างที่กล่าวมาแล้วคือ เรารู้อดีตว่ามีเหตุปัจจัยเป็นมาอย่างไร จนมาเกิดผลในปัจจุบัน ถ้าหากผลนั้นเป็นปัญหา เราก็จะได้แก้ปัญหาในปัจจุบันนี้ตามเหตุปัจจัยที่เกิดมาจากอดีตนั้น เพราะฉะนั้น อดีตจึงเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา เพื่อเอามาปฏิบัติต่อปัจจุบัน การแก้ปัญหานั้นก็คือแก้ปัญหาที่ปัจจุบันโดยโยงไปหาอดีต อีกประการหนึ่ง การเรียนรู้อดีตทำให้เรารู้ว่าอดีตนั้นมีอะไรดี มีคุณค่าบ้าง มีอะไรที่ควรจะรักษาไว้ ดำรงไว้ และเมื่อถึงปัจจุบันนี้เราจะได้พยายามดำรงรักษาสิ่งที่ดีงามทรงคุณค่าเหล่านั้นไว้ แม้ในแง่นี้ ก็มามีผลเป็นการปฏิบัติที่ปัจจุบันเช่นเดียวกัน ส่วนอนาคตนั้นก็สำคัญเพราะปัจจุบันอีก กล่าวคือ เราเตรียมการเพื่ออนาคต โดยสร้างเหตุปัจจัยในปัจจุบัน ถ้าเราสร้างเหตุปัจจัยในปัจจุบันไว้ดีแล้ว เราก็คาดหมายผลที่จะเกิดในอนาคตได้ว่า คงจะเป็นไปในทางที่ดี ถ้าเราได้ทำเหตุปัจจัยที่ดีไว้อย่างพรั่งพร้อมบริบูรณ์ครบถ้วน และไม่มีเหตุปัจจัยอย่างอื่นแทรกซ้อนเข้ามาที่เราคาดหมายไม่ถึง ก็มั่นใจได้ว่าผลที่จะเกิดในอนาคตจะต้องดีแน่ นี่คือเรื่องของกาลเวลา ตกลงว่า เราจะต้องเอาปัจจุบันเป็นหลัก ถ้าหากเราเสียหลักจากปัจจุบันเมื่อไร เราก็หลุดลุ่ย เราหลุดจากปัจจุบันก็คือ เราจะร่วงหล่นสู่อดีต หรือมิฉะนั้นก็จะเลื่อนลอยไปในอนาคต ซึ่งทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นสภาพที่เราจะไม่สามารถทำอะไรให้เกิดผลได้ เพราะฉะนั้น อดีตก็ตาม อนาคตก็ตาม จะมีความหมายต้องถือเอาปัจจุบันเป็นหลักทั้งสิ้น เมื่อตกลงเช่นนี้แล้ว เราก็มามองเรื่องปัจจุบันหรือมองที่สภาพปัจจุบันนี้

ในสภาพปัจจุบันนี้ สังคมไทยหรือประเทศไทยของเราเป็นอย่างไร ประเทศไทยของเราในปัจจุบันนี้ต่างจากอดีต ในอดีตนั้น เมื่อพูดถึงประเทศไทย เราสามารถจำกัดตัวเองอยู่ตามลำพังได้มากกว่าปัจจุบัน ปัจจุบันนี้การสื่อสารคมนาคม หรือข่าวสารด้านหนึ่ง และคมนาคมคือการไปมาอีกด้านหนึ่ง ทั่วถึงกันทั้งโลก เราพูดกันว่า โลกนี้แคบเข้า จนกระทั่งมีผู้หวังว่า ต่อไปอาจจะเกิดชุมชนโลกหรือประชาคมนานาชาติขึ้น และสังคมของโลกนี้จะเป็นสังคมเดียวกัน ซึ่งผู้ที่มองอนาคตจะต้องพยายามคิดเตรียมการว่า เราควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้สังคมโลกที่ประชาชาติทั้งหลายจะอยู่ร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น จะอยู่ร่วมกันได้ด้วยดี ประเทศไทยของเราในปัจจุบันนี้ก็อยู่ในสภาพเช่นนี้ด้วย คือไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวโดยลำพัง แต่อยู่ในสังคมโลกที่กำลังแคบเข้ามา เพราะฉะนั้นเมื่อดูสังคมไทยในปัจจุบันนี้ เราจะมองดูตัวเราเองลำพังไม่ได้ เราจะต้องมองดูตัวเอง และปฏิบัติต่อตัวเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งร่วมอยู่ในสังคมโลกนั้น

เมื่อเรามองดูตัวเอง ในฐานะที่เป็นส่วนร่วมอยู่ในสังคมโลก เราจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง โดยคร่าวๆ ก็มีส่วนที่ต้องปฏิบัติอยู่ ๒ อย่าง ประการที่หนึ่ง คือ เราจะดำรงรักษาตัวเองให้อยู่รอด และอยู่รอดด้วยดีได้อย่างไร การดำรงรักษาให้ตัวเองอยู่รอดได้ด้วยดีนี้มี ๒ แง่ด้วยกัน แง่ที่ ๑ คือ การดำรงรักษาตัวเองที่สืบทอดมาจากอดีตให้คงอยู่ด้วยดี และแง่ที่ ๒ คือการที่จะตั้งรับ ตอบโต้ต่อกระแสจากภายนอกที่เข้ามากระทบกระแทกแทรกซึมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันนี้เรากำลังประสบปัญหาอยู่มาก เป็นปัญหาใหญ่ที่เราพินิจพิจารณาใคร่ครวญกันเป็นสำคัญ และเป็นตัวการก่อให้เกิดปัญหาที่เรากำลังขบคิดหาทางแก้กันอยู่ในบัดนี้ นี่เป็นเรื่องสองด้านของการที่จะดำรงตนให้อยู่ได้ด้วยดี แต่เราจะไม่หยุดเพียงเท่านี้

ต่อไป นอกเหนือจากการดำรงตนอยู่ด้วยดีแล้ว ก็คือว่า เราจะก้าวออกไปมีส่วนร่วมที่เป็นประโยชน์อย่างไรในสังคมของโลกที่จะช่วยแก้ปัญหาของชาวโลก ช่วยนำโลกนี้ไปสู่สันติสุข เพราะว่าสังคมโลกปัจจุบันนี้เป็นสังคมโลกที่มีปัญหา ปัญหามีอยู่มากมาย มองไปทางไหนก็พบปัญหา ปัญหาระหว่างประเทศชาติต่างๆ ปัญหาระหว่างลัทธินิยมอุดมการณ์ต่างๆ ปัญหาจิตใจที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่เรามีส่วนเกี่ยวข้อง ถ้าหากเราจะปฏิบัติตนให้ดีในฐานะเป็นประเทศชาติที่มีประโยชน์ เราก็ไม่ควรมองแต่เพียงการดำรงตนด้วยดีอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องมองในแง่ที่ว่า จะมีส่วนร่วมอย่างไร ที่จะทำประโยชน์ต่อชาวโลกหรือช่วยแก้ปัญหาของชาวโลก คือการที่จะก้าวออกไปร่วมช่วยเหลือให้โลกนี้มีสันติสุขด้วย เราอาจจะอ่อนน้อมถ่อมตนน้อยเกินไปก็ได้ แต่ก็มีความจำเป็นเหมือนอย่างเมื่อพระพุทธเจ้าทรงส่งสาวกไปประกาศพระพุทธศาสนา พระองค์ก็ได้ตรัสสั่งว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย จงจาริกไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชาวโลก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก’ ในเรื่องนี้คนไทยก็เช่นเดียวกัน เราจะคิดนึกจำกัดเฉพาะประเทศของตนเองคงไม่ได้ จะต้องนึกด้วยว่า เราสามารถมีส่วนร่วมอย่างไรในการที่จะแก้ปัญหาให้แก่ชาวโลก ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะเป็นผู้นำในโลกด้วยในการที่จะแก้ปัญหา เพราะว่าปัจจุบันนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีพวกไหน ประเทศชาติไหนที่สามารถแก้ปัญหาของโลกให้ลุล่วงไปด้วยดี นี่เป็นอีกด้านหนึ่ง ด้านนี้เรียกว่าเทศะ เทศะนี้มี ๒ อย่างคือ ภายใน กับภายนอก ภายในได้แก่ประเทศไทยของเรา ภายนอกได้แก่ประชาคมโลกทั้งหมด พูดอีกแง่หนึ่งก็คือ เฉพาะส่วนของตัวเอง กับทั่วทั้งสากลหมดทั้งโลก

เท่าที่กล่าวมานี้ก็เป็นอันว่า เรื่องของประเทศไทยที่เราจะเกี่ยวข้องมีทั้ง ๓ กาละ คือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต และ ๒ เทศะ คือ ภายใน ภายนอก หรือเฉพาะส่วนของตัวเองกับทั่วทั้งสากล และเท่าที่กล่าวมาแล้วนี้ก็คือภารกิจของการศึกษา การศึกษาจะช่วยประเทศไทยได้อย่างไร ก็ต้องช่วยใน ๓ กาลนี้ โดยเฉพาะในปัจจุบันเพื่อเตรียมการในอนาคตให้ดี และต้องช่วยในเทศะที่กล่าวมาทั้ง ๒ อย่าง และธรรมะที่จะนำมาใช้ในทางการศึกษาก็เพื่อประโยชน์ดังที่กล่าวมา

1ปาฐกถาธรรม ในวันสถาปนาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบ ๓๐ ปี ณ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๐
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.