ธรรมกับการศึกษาของไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ความคลั่งไคล้คนอื่น: ความเห่อวัฒนธรรมภายนอก

ทีนี้ ด้านที่ ๒ เป็นด้านตรงข้าม ก็คือ พวกที่คลั่งไคล้ของคนอื่น ชื่นชมแต่ของภายนอก ชอบรับของเขา การที่เราชอบรับของเขานี้ สังเกตดูว่า มักจะมีลักษณะของการรับที่ประกอบด้วยความไม่รู้ หรือการไม่ใส่ใจที่จะเรียนรู้ใน ๓ ประการ

ประการที่ ๑ เรามักไม่รู้และไม่ใส่ใจที่จะรู้ว่า สิ่งหรือระบบหรือความคิดที่มาในวัฒนธรรมของเขา ที่เขาใช้ เขาปฏิบัติอยู่เองนั้น ของเขาเองก็ยังมีปัญหาอยู่ ยังไม่ได้ผลสมบูรณ์ ยังใช้แก้ปัญหาของเขาไม่ได้เต็มที่ เราก็ไปหยิบเอามา ฉะนั้น เราจะต้องรู้ตัวว่า ในเมื่อของเขาเองเขายังใช้ไม่ได้ผลดีเต็มที่ด้วยซ้ำไป เราจะเอามาเฉยๆ ได้อย่างไร ถ้าเราจะเอามา เราจะต้องรู้เท่าทันปัญหาของเขา รู้ปัญหาที่ยังมีอยู่แล้ว เอามาแก้ไขปรับปรุงใช้ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

ประการที่ ๒ ของนั้น สภาพนั้น ไม่เหมาะ ไม่เข้ากับตัวเรา เพราะเราเป็นคนอื่น มีสภาพพื้นฐานมาอีกอย่างหนึ่ง มันก็เข้ากับตัวเราไม่เหมาะไม่สนิท เราก็รับเอามาที่อๆ เมื่อมันไม่เข้าสนิท ไม่เหมาะกัน ก็เกิดโทษเกิดปัญหาได้ในภายหลัง

ประการที่ ๓ ก็คือ ในการรับของเขามานั้น เรามักจะรับได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ รับมาไม่เต็ม คือเวลาเรารับวัฒนธรรมจากนอก เราไม่ได้รับสิ่งที่เป็นพื้นฐานรองรับสิ่งนั้นของเขามาด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ภูมิธรรม ภูมิปัญญาของเขาที่รองรับสิ่งที่มาในวัฒนธรรมนั้น เราไม่ได้เอามาด้วย เราเอาสิ่งนั้นมา ตัดขาดจากพื้นฐานทางจิตใจทางปัญญาของเขา แล้วเอามาใส่ในของเรา มันขาดตอน และมาวางบนพื้นฐานของเราที่เป็นคนละอย่าง มันวางไม่ติด ไม่เข้าที่ ก็เกิดโทษ ใช้การไม่ได้ผลดี เหมือนจะเอาต้นไม้จากที่อื่นมา ตัดมาได้แค่ลำต้นขึ้นไป ไม่ได้ขุดเอารากมาด้วย บางทีแม้แต่โคนต้นก็ไม่ได้ติดมา ต้นไม้ที่เอามาปลูกในที่ของตนนั้น ก็ไม่เจริญงอกงามต่อไป บางทีมีแต่ต้นตั้งแห้งตายอยู่นั่น ไม่มีชีวิตชีวาเลย ก็ไม่รู้ตัว บางทีรับเอามาแต่เปลือก ไม่ได้เอาเนื้อในมาด้วย คือได้แต่รูปแบบหรือตัวระบบ แต่สาระที่แท้จริงไม่ได้เอามา ถ้าของเก่าเขายังมีปัญหาอยู่ใช้ได้ผลไม่สมบูรณ์ เราเอามาใช้ก็ยิ่งได้ผลไม่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ที่ว่ามาตอนนี้ เป็นเรื่องของการรับอย่างคลั่งไคล้ การรับอย่างคลั่งไคล้นี้ในปัจจุบันมีการบ่นกันมาก และโดยมากไปโทษเยาวชน เราบอกว่าเด็กและเยาวชน ปัจจุบันนี้ชอบเลียนแบบวัฒนธรรมทางตะวันตก และเราก็มีปัญหามากมายในเรื่องดิสโก้หรือเรื่องอะไรก็ตามที่ผู้ใหญ่ เห็นว่าไม่ดีไม่งาม เรารู้สึกว่าเด็กคลั่งไคล้กันมาก แต่ที่จริงนั้น ผู้ใหญ่ก็ไม่น้อย ไม่เบาเหมือนกัน ผู้ใหญ่ของเราบางทีก็ไม่รู้ตัว เด็กอาจจะทำในระดับหยาบๆ มองเห็นง่าย แต่ผู้ใหญ่ทำในระดับที่ประณีตยิ่งขึ้น เช่น เราไปหยิบเอาระบบแบบแผน รูปแบบ ตลอดจนวิชาการของเขามา โดยที่ไม่ได้เอาเนื้อแท้ติดมา หรือไม่ได้เนื้อแท้มาโดยสมบูรณ์ หรือไม่ได้พื้นฐานที่รองรับของเขาในทางจิตใจ ทางปัญญามาด้วย คือภูมิธรรม ภูมิปัญญา ที่เป็นพื้นฐานหรือรากเหง้าไม่ได้ติดมา นี่ก็เป็นการเลียนแบบอย่างหนึ่งเหมือนกันในระดับของผู้ใหญ่

เป็นอันว่า เท่าที่พูดมามี ๒ พวก พวกหนึ่งก็ยึดติดของตัวเอง หลงตัวเอง อีกพวกหนึ่งก็คลั่งไคล้คอยแต่จะรับของคนอื่น แต่ที่พูดมานี้เราแบ่งคนเป็น ๒ พวก ซึ่งที่จริงอาจจะเป็นมากกว่านั้นอีก คือเป็นทั้งสองอย่างในคนเดียวกันนั่นเอง คนไทยส่วนมากทีเดียว จะเป็นทั้งสองอย่างในคนเดียวกัน คือด้านของตัวเองก็ยึดถือรับมาอย่างทื่อๆ ไม่รู้ไม่เข้าใจว่าเป็นมาอย่างไร มีเหตุปัจจัยอะไร มันดีมันเสีย มีข้อบกพร่อง มีข้อยิ่งหย่อนอย่างไร ก็รับเอามาอย่างนั้นและยึดถือไว้อย่างนั้น และคนเดียวกันนั้นเองก็รับเอาของนอกมา คอยรับของนอก มาแบบทื่อๆ เหมือนกัน มาอย่างไรฉันก็รับอย่างนั้น มองเห็นแค่ไหนฉันก็รับแค่นั้น บางทีเป็นเพียงภาพหรือเงา ก็รับเอามา เป็นอันว่าทื่อทั้งสองด้าน นี่เป็นสภาพปัจจุบัน ซึ่งจัดเป็น ๒ พวก ก็สุดโต่งไป ๒ อย่าง ถ้าเป็นคนเดียว ก็มีความสุดโต่งอยู่ในคนเดียวกันนั้นเอง นี้เป็นสภาพของคนไทยปัจจุบันด้านหนึ่งที่ควรจะพูดถึง

 

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.