รวมความก็คือ เป็นเรื่องของกระแสต่างๆ ที่เข้ามา ที่เราจะต้องรู้เท่าทัน จุดสำคัญเริ่มแรกก็คือความรู้ชัด แล้วความรู้ชัดนี่มันหนีไม่ได้จากการรู้จักวิเคราะห์แยกแยะองค์ประกอบ และสืบสาวเหตุปัจจัย เป็นต้น
ฉะนั้น แม้จะมาสู่กระแสความคิดแบบองค์รวมแล้ว ก็จะทิ้งเรื่องการวิเคราะห์ไม่ได้ เป็นแต่เพียงว่าจะทำอย่างไรให้แนวคิดแยกส่วนกับแนวคิดองค์รวมนี่ ประสานกันเป็นความคิดที่พอดี ถ้าแยกเป็นสองอย่างแล้วเลือกเอาอย่างเดียวก็คือเป็นสุดโต่ง
ที่จริงในธรรมชาติเอง สิ่งทั้งหลายไม่ได้แยกขาดจากกัน เมื่อเราวิเคราะห์ออกไป มันก็สัมพันธ์กันอยู่ ยิ่งเราไปเห็นองค์ประกอบย่อยแล้ว ตามมองมันดูไป เราก็จะเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นกับองค์ประกอบอื่น โดยที่องค์ประกอบอันเดียวอาจจะไปสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นอีกตั้งเป็นร้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษากันมากมาย
ทีนี้ถ้าเราไปวิเคราะห์ โดยพยายามรู้จักเฉพาะสิ่งนั้นๆ อย่างเดียว โดยไม่ได้มองความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ก็จะทำให้ความเป็นองค์รวมหายไป แต่ถ้าเราแยกแยะมันโดยมองตามความสัมพันธ์ไป ก็จะเห็นองค์รวมไปด้วยในตัวเสร็จ
เพราะฉะนั้น ความคิดวิเคราะห์จำแนกแยกส่วนกับความคิดองค์รวมนี่ ในที่สุดก็เป็นอันเดียวกัน คืออันเดียวกันนั่นแหละ ถ้าทำถูกต้องก็จะรู้ชัดไปด้วยกัน และที่จริงต้องรู้ชัดไปด้วยกันจึงจะรู้แต่ละด้านนั้นจริง จึงไม่น่าจะมีปัญหา
จะต้องระวังแต่เรื่องความไปสุดโต่ง เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาแล้ว สังคมได้พัฒนาอารยธรรมแบบสุดโต่งมาแล้ว อย่างในสังคมยุโรปสุดโต่งทางจิต ไปทาง spiritual มาตลอดสมัยกลางเป็นพันปี เสร็จแล้วก็ผละมาทางวัตถุไปเอา material วิทยาศาสตร์บอกไม่เอาแล้วทางจิตใจ ไม่ได้เรื่อง ไม่จริง ก็เลยหันมาทางวัตถุจนกลายเป็นสุดโต่งทางวัตถุ เต็มที่
วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ในความหมายที่ใช้กันตามที่ฝรั่งวางไว้ ก็หมายถึงวิทยาศาสตร์ทางวัตถุนั่นเอง ซึ่งที่จริงไม่ใช่วิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่ครบถ้วน ถ้าจะให้เป็นวิทยาศาสตร์ที่ครบเต็มธรรมชาติทั้งหมด ก็ต้องมีทั้งด้านวัตถุ ทั้งด้านจิตใจหรือนามธรรม ฝรั่งบอกว่าของเขาเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ แต่ที่จริงเป็นวิทยาศาสตร์วัตถุเท่านั้น ฝรั่งก็ว่าไปเต็มที่ทางวัตถุอย่างเดียว จนสุดโต่ง
มาถึงตอนนี้ เอาอีกแล้ว เกิดปัญหาเริ่มมีคนปฏิเสธวิทยาศาสตร์ พวกนี้ก็หันไปทางจิตใจ ไปค้นคว้าทางจิตกัน มีขบวนการต่างๆ เกิดขึ้นในตะวันตกเป็นระยะๆ เริ่มแต่ราว ค.ศ. ๑๙๕๐ เรื่อยมา พวกกระแสใหม่ๆ อย่างนี้ ก็ต้องระวัง จะไปสุดโต่งอีก