แง่คิดข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การศึกษาทำให้คนพัฒนาความสุขได้

ตอนนี้อยากจะข้ามไปอีกข้อหนึ่ง ข้อนี้คล้ายๆ เป็นข้อคิดข้อสังเกตที่พูดขึ้นมาโดยไม่จำเป็นจะต้องต่อเนื่องกัน คือเรื่องเกี่ยวกับความสุข ความสุขถูกมองข้ามมานาน ความสุขเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในกระบวนการการศึกษา หรืออาจจะเรียกในแง่จริยธรรมว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในจริยธรรม คือ จริยธรรมที่ดีจะมีไม่ได้ถ้าขาดความสุข และการศึกษาก็เช่นเดียวกัน การศึกษาที่สำเร็จจะมีไม่ได้ ถ้าไม่สามารถทำคนให้มีความสุข เวลานี้เราอาจจะต้องมาเน้นว่าทำอย่างไรจะให้คนเรียนรู้ด้วยความสุข หรือมีความสุขในการเรียน หรือเรียนอย่างมีความสุข เข้าใจว่าในนโยบายปฏิรูปการศึกษาก็มีข้อนี้ด้วย

แต่น่าจะเลยไปถึงจุดที่ว่าการศึกษาต้องทำคนให้เป็นคนที่มีความสุขด้วย ไม่ใช่แค่เรียนอย่างมีความสุข แต่ให้เป็นคนมีความสุข เป็นคนมีความสุขจนกระทั่งว่ามีความสุขไปตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเมื่อเรียนก็เรียนอย่างมีความสุขด้วย ข้อนี้จะต้องพูดด้วยการเทียบฝ่ายตรงข้ามเพื่อจะให้ชัดขึ้น ก็คือการศึกษาที่ผิดพลาดจะทำให้เกิดภาวะที่ตรงข้าม คือทำให้ยิ่งหิวโหยกระหายความสุข

การศึกษาที่ผิดพลาดทำให้คนที่เรียนไปๆ ก้าวหน้าไป ยิ่งจบชั้นสูงขึ้นก็ยิ่งหิวโหยความสุขมากขึ้น ขาดแคลนความสุขมากขึ้น จนกระทั่งเขาออกไปพร้อมด้วยความหิวโหยนี้ แล้วโลดแล่นไปในสังคมเพื่อจะแสวงหาความสุขให้กับตนเองและแย่งชิงความสุขกัน แล้วก็ก่อความเดือดร้อนเบียดเบียนแก่ผู้อื่น และคนที่ไม่มีความสุข เมื่อมีความทุกข์

  1. ก็จะระบายความทุกข์ให้กับผู้อื่น
  2. ก็จะกอบโกยหาความสุขให้กับตนเอง

ถ้าเป็นอย่างนี้จะเกิดอะไรขึ้น เขาจะไปสร้างสรรค์สังคมอย่างไรได้ เขาก็จะต้องหาความสุขให้กับตนเอง เพราะฉะนั้นจะต้องเกิดปัญหาแน่นอน การที่จะทำให้การเรียนมีความสุข หรือมีความสุขในการเรียนรู้นี้จะทำได้อย่างไร เราจะทำให้บทเรียนและกิจกรรมต่างๆ สนุกสนานใช่ไหม คิดว่าคงไม่ใช่เท่านั้น เพียงแค่นี้คงไม่ใช่การศึกษา อาจจะเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นส่วนประกอบเท่านั้น เพราะถ้ามุ่งว่าจะทำให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข หรือมีความสุขในการเรียนรู้ ด้วยการทำให้การเรียนสนุกสนาน เป็นต้น ดีไม่ดีจะกลายเป็นการเอาใจเด็กแล้วจะเกิดผลในทางตรงกันข้าม คือ อาจจะทำลายการศึกษาเลยก็ได้ และการศึกษาอย่างนั้นก็จะทำให้คนไม่พัฒนาด้วย

เพราะฉะนั้นคงจะต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องของการเรียนอย่างมีความสุข ซึ่งมี ๒ ขั้นตอน ซึ่งถ้าทำสำเร็จก็ทำให้คนมีความสุข และเป็นคนที่มีความสุข เบื้องแรกเราจะต้องแยกความสุขออกเป็น ๒ ประเภทก่อน คือ

๑. ความสุขที่ไม่ต้องอาศัยการศึกษา ไม่เกิดจากการศึกษา และไม่เอื้อต่อการศึกษา

ความสุขประเภทที่หนึ่งคืออะไร ความสุขประเภทนี้ ถ้าจัดการไม่ถูกต้องอาจจะเป็นสิ่งขัดขวางและทำลายการศึกษาด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องระวัง ในกระบวนการการศึกษา ต้องรู้ทันความสุขประเภทนี้โดยแยกให้ออกว่าเป็นความสุขที่ไม่พึงประสงค์ในการศึกษา ความสุขประเภทที่หนึ่งคือความสุขจากการเสพ หรือพูดให้เต็มว่าความสุขจากการสนองความใฝ่เสพ ได้แก่ความสุขจากการบำรุงบำเรออายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กายของตัวเอง ซึ่งพ่วงมาด้วยกันกับความสุขจากการที่ไม่ต้องทำอะไร อยู่ในจำพวกความสุขของคนขี้เกียจ พูดสั้นๆ ว่าความสุขที่ไม่ต้องทำอะไร และมีสิ่งบำรุงบำเรอมาช่วยให้สุขยิ่งขึ้น ความสุขประเภทนี้ไม่ต้องอาศัยการศึกษา คนไม่ต้องมีการศึกษาจะต้องพึ่งพาขึ้นต่อความสุขประเภทนี้ หรือจมอยู่แค่นี้

๒. ความสุขที่เกิดจากการศึกษา ถ้าไม่มีการศึกษาความสุขประเภทนี้เกิดไม่ได้

นี่เป็นความสุขที่เราต้องการ เป็นความสุขที่เป็นเรื่องของการศึกษาโดยตรง พูดย้ำว่า เป็นความสุขที่ถ้าไม่มีการศึกษาแล้วจะไม่เกิดขึ้น และความสุขประเภทนี้จะเป็นความสุขที่เอื้อต่อการศึกษาต่อไปด้วย โดยทำให้คนพัฒนายิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะต้องมามองว่า ความสุขที่ว่าเกิดจากการศึกษาคืออะไร

ขอยกตัวอย่าง เริ่มด้วยความสุขจากการสนองความใฝ่รู้ อันนี้เป็นความสุขที่เกิดจากการศึกษา ถ้ายังไม่มีการศึกษาจะเกิดไม่ได้ ความใฝ่รู้นี้ไม่เกิดมาเองลอยๆ เราต้องมีวิธีการฝึกฝนพัฒนา แต่เมื่อมีความใฝ่รู้ก็ต้องสนองความใฝ่รู้นั้น พอสนองความใฝ่รู้ก็เกิดความสุขขึ้นมา ถ้าคนยังไม่มีความใฝ่รู้เขาก็ไม่เกิดความต้องการที่จะสนอง เขาก็จะไม่ได้ความสุขจากการสนองความต้องการที่จะรู้ เพราะฉะนั้นวิธีการคือเราต้องสร้างความต้องการใหม่

ความต้องการของมนุษย์นั้น ตามหลักธรรมถือว่าปรับเปลี่ยนได้หรือพัฒนาได้ ตอนแรกคนต้องการสิ่งเสพบำเรอความสุขทางตา ทางหู เป็นต้น เขาก็ต้องสนองความต้องการนั้น เมื่อเขาได้สนองเขาก็มีความสุข พอเราพัฒนาคนให้เกิดความต้องการความรู้ เขาก็ต้องสนองความต้องการนี้ พอเขาสนองความต้องการนี้เขาก็เกิดความสุข แต่เรื่องไม่ใช่แค่นั้น จะพูดอย่างไรให้คนเห็นว่า ความสุขแบบนี้เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.