แง่คิดข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เมื่ออารยธรรมถึงยุคไอที บทบาทที่แท้ของครูจะต้องเด่นขึ้นมา

เวลานี้อารยธรรมของมนุษย์ที่บอกว่าเจริญมาก ได้มาถึงยุคที่มีชื่อเรียกต่างๆ หลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือเรียกว่า ยุคของ “ไอที” หรือยุคของ Information Technology คือ ยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือบางทีก็เรียกแค่ว่า Information Age คือยุคข่าวสารข้อมูล หรือยุคสารสนเทศ เมื่อมาถึงยุคนี้ข้อมูลความรู้แพร่หลายกระจายไปอย่างกว้างขวาง คนก็เกิดความดีใจเพราะเข้าใจว่า เรื่องของข้อมูลความรู้นี้เป็นสิ่งที่ดีทำให้เกิดปัญญา เราก็ภูมิใจว่าโลกเจริญมาก คนยุคนี้จะมีปัญญามาก แต่มีข้อพิจารณาหลายอย่าง

สิ่งหนึ่งที่จะต้องเกี่ยวข้องในที่นี้ก็คือ เรื่องด้านการศึกษา ผู้ที่ทำหน้าที่ด้านการศึกษาก็คือครูอาจารย์ เมื่อถึงยุคไอที หรือยุคสารสนเทศ ที่มีข้อมูลข่าวสารแพร่หลายกระจายไปทั่ว และรวดเร็วมาก เราก็จะต้องมาพิจารณาถึงบทบาทของผู้ให้การศึกษา โดยเฉพาะด้านตัวครู ว่าตัวครูจะมีบทบาทอย่างไร

เคยย้ำว่า ในยุคนี้ เมื่อมีข้อมูลข่าวสารรวดเร็วและมีไปทั่ว แหล่งความรู้มีมากมายเหลือเกิน และเครื่องมือหาความรู้ก็มาก เด็กนักเรียนหรือคนทั่วไปสามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่าย ก็ทำให้เกิดปัญหาได้ เช่น ในวงการแพทย์ที่ว่า บางทีคนไข้ (ในประเทศตะวันตก) ก็เอามาใช้จ้องจับผิดแพทย์ เพราะว่าคนไข้ได้ความรู้จากสื่อด้านข้อมูลข่าวสารต่างๆ แล้วนำมาจ้องมาเพ่งดูการกระทำของหมอ หมอเองบางทีก็เถียงไม่ทันคนไข้ เพราะว่าหมอยุ่งกับการงานมาก ไม่มีเวลาที่จะไปติดตามข่าวสารใหม่ๆ รายการอะไรใหม่ๆ คนไข้บางคนมีเวลามากได้ดูอะไรอยู่เสมอ ก็เลยได้ข่าวสารอะไรใหม่ๆ กว่าหมอ ก็เลยเอามาเถียงหมอ และทำให้หมอลำบากใจ

ในวงการการศึกษาก็เหมือนกัน ต่อไปก็จะมีปัญหาเรื่องนี้คือ นักเรียนบางทีมีเวลามากกว่าครู เมื่อข่าวสารข้อมูลแพร่หลายรวดเร็ว นักเรียนก็ได้ดูรายการหลากหลายจากสื่อต่างๆ ที่มาทางเทคโนโลยี เช่น รายการทีวี หรือแม้แต่ที่มาทางอินเตอร์เนต แล้วเขาก็ได้ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งอาจจะนำหน้าครูอาจารย์ไปก็ได้ ตอนนี้เราจะต้องมาทำความเข้าใจและพิจารณากันว่า บทบาทของครูในยุคนี้ ที่แท้จริงคืออะไร

เรามักจะมองว่าครูคือผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดวิชาการ ให้ความรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ แต่ในปัจจุบันถ้าเราเน้นบทบาทของครูในแง่นี้ อาจจะลำบาก เราจะต้องมาทบทวนกันว่าหน้าที่ที่แท้จริงของครูคืออะไร เคยพูดบ่อยๆ ว่าครูนั้นทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ

๑. ถ่ายทอดศิลปวิทยา ถ้าใช้ศัพท์พระก็ได้แก่ สิปปทายก คือสอนให้เขารู้ข้อมูล วิชาการ และวิชาชีพอะไรต่างๆ เราเน้นแง่นี้มาก แต่

๒. อีกหน้าที่หนึ่งของครูก็คือ การทำคนให้มีชีวิตที่ดีงาม หรือการสร้างบัณฑิต

ในการเรียนระดับมหาวิทยาลัยเรื่องนี้จะต้องชัด คือ ครูอาจารย์มีงาน ๒ อย่าง ด้านหนึ่งก็ให้ความรู้วิชาการและวิชาชีพไป พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่งก็ต้องพัฒนาคนให้เป็นบัณฑิต คือเป็นคนที่เจริญงอกงามด้วยสติปัญญาและคุณธรรม

หน้าที่ที่แท้จริงของครู คือสร้างบัณฑิต หรือทำคนให้เป็นบัณฑิต ส่วนวิชาการและวิชาชีพต่างๆ ที่ให้นั้นเป็นการให้เครื่องมือแก่บัณฑิต ถ้าเราตกลงกันอย่างนี้ความเป็นครูจะชัดขึ้น ความเป็นครูที่แท้อยู่ที่การทำให้ตัวคนกลายเป็นคนดีขึ้นมา และเป็นคนผู้พร้อมที่จะดำเนินชีวิตที่ดีงามและสร้างสรรค์สังคม คือ เป็นบัณฑิต เมื่อเขาพร้อมอย่างนั้นเราก็ให้เครื่องมือไป เครื่องมือยิ่งดีและมีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือที่คมที่ใช้งานได้สัมฤทธิผลมากเท่าไร ก็ยิ่งดี เมื่อบัณฑิตนำเครื่องมือไปใช้ก็ดำเนินชีวิตที่ดีงามและสร้างสรรค์สังคมได้สำเร็จ แต่ถ้าเราไม่สร้างคนให้เป็นบัณฑิต แล้วเราไปให้เครื่องมือ ถ้าเครื่องมือนั้นมีประสิทธิภาพ เขาอาจนำเครื่องมือนั้นไปทำสิ่งที่ร้ายแรงเป็นอันตรายก็ได้ เหมือนกับการยื่นดาบก็ควรดูว่าควรจะให้แก่คนดีหรือให้แก่คนชั่ว ถ้าให้ดาบแก่โจรก็จะเกิดผลร้ายมาก

เพราะฉะนั้น ภาระที่สำคัญยิ่งของการศึกษาก็คือ ทำคนให้เป็นบัณฑิต และให้เครื่องมือแก่บัณฑิต บางยุคบางสมัยเราไปเน้นการให้เครื่องมือเสียมาก ไม่ได้คำนึงว่าตัวคนนั้นจะเป็นคนประเภทไหน เขาจะเอาเครื่องมือนั้นไปใช้อย่างไร มายุคนี้เมื่อข่าวสารข้อมูลมีแพร่หลายและเด็กสามารถเข้าถึงได้มาก เขาสามารถได้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาก และปัญหาก็จะเกิดขึ้น ยิ่งกว่านั้นเขาอาจจะได้เครื่องมือนี้โดยไม่ต้องอาศัยครู

ในความเป็นครูที่แท้จริงนั้นบทบาทอยู่ที่ไหน มีบทบาทอยู่ ๒ อย่างที่ไม่มีสิ่งใดมาทำแทนได้ ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ซึ่งเป็นบทบาทที่แท้จริงของครู คือ

๑. การทำคนให้เป็นคนดี โดยชี้นำชีวิตที่ดีงาม หน้าที่นี้เป็นงานที่ยืนตัวอยู่ทุกยุคทุกสมัย

แต่หน้าที่อีกอย่างหนึ่งที่พ่วงมาด้วยก็คือ ครูคู่กับลูกศิษย์ หรือครูคู่กับนักเรียน และอาจารย์คู่กับนักศึกษา สิ่งที่สำคัญก็ตรงนี้แหละคือ ครูคู่กับนักเรียน หรืออาจารย์คู่กับนักศึกษา เมื่อเป็นอาจารย์ก็ต้องทำให้เกิดนักศึกษา เมื่อเป็นครูก็ต้องทำให้เกิดนักเรียนให้ได้ นี่คือหน้าที่ข้อที่สองที่ว่า

๒. การฝึกความเป็นนักเรียนหรือความเป็นนักศึกษาให้เกิดขึ้น คือสร้างคนให้เป็นผู้มีความสามารถที่จะแสวงหาความรู้และพัฒนาสติปัญญา

งานอย่างนี้คอมพิวเตอร์ก็ทำแทนไม่ได้ คอมพิวเตอร์ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ใช้เป็นเครื่องมืออย่างที่ว่า แต่ทำอย่างไรคนนั้นจะมีความใฝ่รู้ ทำอย่างไรคนนั้นจะแสวงปัญญา ทำอย่างไรคนนั้นจึงจะมีความสามารถที่จะหาความรู้ เข้าถึงแหล่งความรู้ และใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ได้ งานนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นงานหลัก เป็นเนื้อเป็นตัวของความเป็นครูทีเดียว ส่วนงานถ่ายทอดศิลปวิทยานั้น ควรถือเป็นงานประกอบด้วยซ้ำไป

งานสำคัญ ๒ ประการ คือการชี้นำทำให้เป็นคนดี และการฝึกให้ศิษย์มีความสามารถแสวงปัญญานี้ เป็นงานที่ต้องการจากครูทุกยุคทุกสมัย ไม่มีอะไรแทนได้ และยิ่งมาถึงยุคสมัยนี้ครูจะต้องปรับตัวให้ทัน มิฉะนั้นครูจะล้าสมัย ถ้าครูล้าสมัยก็จะตกไปเป็นเบี้ยล่าง คือกลายเป็นผู้ที่อาจจะถูกคนอื่น ถูกสังคม หรือแม้แต่ถูกนักเรียนดูถูกดูแคลนเอาได้ เพราะถ้าเอาแต่ด้านข้อมูลข่าวสาร ครูอาจจะหาความรู้ไม่ทันเขาก็ได้

ในแง่ข้อมูลความรู้นี้เราบอกว่ามีแหล่งความรู้มากมาย ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้เขาเป็นนักเรียนนักศึกษาที่แท้จริง เป็นผู้มีความสามารถในการแสวงหาความรู้และพัฒนาสติปัญญาของตน เริ่มตั้งแต่มีความใฝ่รู้เป็นต้นไป การที่จะหาความรู้ให้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำอย่างไรจะเลือกสรรแหล่งความรู้ จะเข้าถึงแหล่งความรู้ ทำอย่างไรจะเลือกสรรความรู้เป็น รับความรู้ที่ถูกต้อง แล้วก็เข้าถึงสาระของความรู้นั้น นำความรู้นั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ มีความสามารถในการคิด คิดเป็น ภารกิจเหล่านี้อยู่ในบทบาทหน้าที่ข้อนี้ทั้งหมด

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.