แง่คิดข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การศึกษาต้องทำให้คนสามารถเรียนรู้ เพื่อทำข้อรู้ให้เป็นความรู้

ที่ว่ามานี้เป็นสิ่งที่ครูจะต้องช่วยเด็กให้พัฒนาขึ้นมา คือ บทบาทของครูที่สำคัญ ๒ อย่างนี้ที่ยืนตัวอยู่ ที่บอกแล้วว่าอะไรก็ทำแทนไม่ได้ คือ

  1. การชี้นำชีวิตที่ดีงาม หรือพูดง่ายๆ ว่า ทำคนให้เป็นคนดี
  2. การปลุกความเป็นนักศึกษา หรือความเป็นนักเรียน ที่ทำให้เขาเป็นคนใฝ่รู้ แสวงปัญญา มีความสามารถในการหาความรู้ รู้จักวิธีการที่จะได้มาซึ่งความรู้ เข้าถึงตัวความรู้นั้น สามารถในการคิด พร้อมที่จะนำเอาความรู้นั้นมาใช้แก้ปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้

สองข้อนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อครูทำบทบาทนี้สำเร็จ เด็กก็นำข้อมูลความรู้ไปใช้และสามารถใช้แหล่งความรู้และแม้แต่เครื่องมือสื่อสารต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ ในขณะที่เครื่องมือในการสื่อสาร ในการหาความรู้ และตัวข้อมูลความรู้เองแม้จะมีมากมาย ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า คนจะสามารถได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น ดังที่ปรากฏอยู่ว่าเรามีปัญหามากมายในเวลานี้ คนบางพวกนำข้อมูลมาเป็นเครื่องมือในการที่จะทำให้คนเกิดโมหะ ทำให้เกิดความหลงใหลความมัวเมาต่างๆ มากยิ่งขึ้น หรือใช้เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงกันก็มี อย่างในเวลานี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า ข้อมูลข่าวสารถูกนำมาใช้ได้ทั้งในทางเสริมปัญญา และทั้งในทางเสริมโมหะ รวมทั้งในทางเสริมสนองโลภะคือการหาผลประโยชน์ และปลุกเร้าความต้องการบริโภค

เราใช้ข้อมูลข่าวสารพร้อมทั้งเครื่องมือไอทีในการหาผลประโยชน์มากในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่เข้าสู่ยุคแข่งขันหาผลประโยชน์ เมื่อใช้สนองโลภะก็ไม่ต้องการประโยชน์ที่แท้จริง ไม่ต้องการให้เกิดคุณภาพชีวิตแก่ผู้ที่ได้รับข่าวสารเหล่านั้น แต่กลายเป็นว่าตัวผู้ใช้นั้นต้องการผลประโยชน์ เมื่อผู้ใช้ต้องการผลประโยชน์ก็จะต้องให้ผู้รับเกิดโมหะมากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นการใช้ในเชิงทำให้เกิดโมหะจึงมีมากในยุคแห่งการแข่งขันหาผลประโยชน์ อย่าว่าแต่ในวงการค้าเลย แม้แต่ในวงการพระศาสนาก็เหมือนกัน เราอาจจะมีเครื่องมือข่าวสารคือ IT แพร่หลายไปมาก แต่ถูกนำมาใช้เพื่อจะหาเงินเข้าวัด หาเงินเข้าวัดก็ยังดี แต่หาเงินเพื่อสนองผลประโยชน์ของบุคคลก็มี ก็เลยยิ่งเพิ่มโมหะให้แก่ประชาชนเพื่อสนองโลภะให้แก่ตัวเอง

เพราะฉะนั้นการศึกษาจะต้องทันยุคทันการณ์คือ ทำอย่างไรจะให้เด็ก นักเรียน ประชาชน มีความสามารถที่จะปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูลเหล่านี้ พร้อมทั้งใช้เครื่องมือสื่อสารและตัวสื่อต่างๆ ให้เป็นประโยชน์อย่างสมวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการศึกษา หลักการนี้เป็นคู่กัน เพราะว่าในเมื่อครูมีบทบาทอย่างที่ว่ามานั้น นักเรียนก็มีบทบาทที่สอดคล้องกัน เท่ากับบอกว่าบทบาทของนักเรียนที่เราต้องการ ไม่ใช่เป็นเพียงว่า ไปภูมิใจดีใจและเพลิดเพลินอยู่กับข่าวสารข้อมูลและเครื่องมือเหล่านั้น ซึ่งอาจจะใช้ผิดพลาดและเกิดโทษก็ได้ แต่ในขณะที่ข้อมูลข่าวสารหรือสิ่งที่จะเรียนหาได้ง่าย ทำอย่างไรเราจะให้เขาได้ประโยชน์จากข้อมูลที่เข้ามาเหล่านั้น

เพราะฉะนั้น เราจะต้องช่วยให้นักเรียนมีความสามารถที่จะพัฒนาตนเองให้มีชีวิตที่ดีงาม พร้อมทั้งพัฒนาความเป็นนักเรียน นักศึกษา ผู้ใฝ่แสวงปัญญาและรู้วิธีที่จะศึกษา

เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ก็ทำให้นึกถึงศัพท์ที่คู่กันอีกด้านหนึ่ง คือว่า ยุคนี้เรามองไปข้างนอกที่สภาพแวดล้อม ก็เห็นข่าวสารข้อมูลหรือสารสนเทศแพร่หลายมีอิทธิพลโดดเด่น เราจึงเรียกว่าเป็น Information Age หรือยุคสารสนเทศ แต่เราจะต้องแยกว่า ข้อมูลความรู้เหล่านี้ไม่ใช่เป็นตัวความรู้ เพราะว่าบางทีข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดโมหะก็มี หรือที่ว่าเป็น information นั้น บางทีก็เป็น misinformation เสียมาก นอกจากนั้น แม้แต่เป็น information ก็ยังไม่เป็นหลักประกันว่าคนจะเกิดความรู้ จึงจะต้องแยกระหว่างข้อรู้ กับความรู้

ตัว information ยังเป็นข้อรู้ซึ่งยังไม่เป็นหลักประกันว่าจะเป็นความรู้ เวลานี้เริ่มมีการเข้าใจตระหนักมากขึ้นว่าจะต้องแยกระหว่าง information กับ knowledge คือ ข้อมูลหรือข้อรู้ กับความรู้ เพียงแค่จะให้คนเปลี่ยน information เป็น knowledge นี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ถ้าใช้คำไทยที่จะสื่อให้ชัดและกระชับ เรามีคำใช้มาก่อนแล้ว คือ information (ข้อรู้) เรียกว่า “สุตะ” และ knowledge (ความรู้) เรียกว่า “ปัญญา”

“สุตะ” เป็นความรู้ของคนอื่น ที่ถ่ายทอดหรือส่งออกมาเป็นข้อรู้ เราจะต้องเรียนรู้ คือ learning ได้แก่ “สิกขา” เพื่อทำให้ information คือ สุตะนั้น กลายเป็น knowledge ตลอดจนเป็น wisdom คือ “ปัญญา” ที่เป็นความรู้ของเราเอง

ปัญหาในสังคมพัฒนาก็คือ จะทำอย่างไรให้คนสามารถได้ความรู้คือปัญญา จากข้อรู้คือ สุตะ หรือพูดเป็นภาษาอังกฤษก็คือได้ knowledge จาก information เพราะ information ยังไม่ใช่เป็นตัว knowledge จะต้องให้ข้อมูลมาเป็นความรู้ และยิ่งกว่านั้นก็คือ ทำอย่างไรจะให้ต่อจาก knowledge ไปเป็น wisdom อีก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้นในยุคนี้อย่ามัวหลงภูมิใจ บางทีอาจจะพลาด นี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้ต้องคำนึงว่า สังคมสมัยนี้จะต้องมีการเน้นว่าอย่าเป็นเพียง Information Society (สังคมข่าวสารข้อมูล) จะต้องพัฒนาต่อไปอีกให้เป็น Knowledge Society (ปัญญาสังคม)

ในการที่จะเป็น Knowledge Society (สังคมแห่งความรู้) นั้น ได้มีอีกคำหนึ่งแทรกเข้ามาดังที่มีผู้นิยมใช้คำว่า Learning Society คือสังคมแห่งการเรียนรู้ เวลานี้ในเมืองไทยก็เริ่มเน้นแล้วที่จะให้สังคมของเราเป็น “สังคมแห่งการเรียนรู้” และการศึกษาของเราก็จะต้องทำหน้าที่ช่วยพัฒนาคน ให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ มีองค์กรก็ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และให้ทั้งสังคมเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

เรื่องการเรียนรู้นี้เมื่อมองในแง่ตัวคน ตอนนี้ก็จะมีคู่ คือในด้านสภาพแวดล้อมมีตัวข้อมูลความรู้ คือ information ซึ่งมองในแง่หนึ่งก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญ การที่มนุษย์จะได้ประโยชน์จาก information คือสุตะ มนุษย์จะต้องมี learning คือสิกขา เพื่อจะรับมือกับ information คนจะต้องพัฒนาตัวให้ทัน เมื่อมองสภาพแวดล้อมที่เป็นยุค information สังคมก็เป็นสังคม information เรียกว่า Information Society เราจะต้องพัฒนาคนจนกระทั่งสร้างสังคมให้เป็น Learning Society คือเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้แล้วจึงจะคู่กัน และตอนนี้แหละเราจะได้ประโยชน์จากอารยธรรมในด้านหนึ่ง เป็นอันว่าตอนนี้เราเข้ามาถึงตัวคน จาก information คือ สุตะ ภายนอก เราต้องได้ learning คือ สิกขา ซึ่งอยู่ที่ตัวคน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.