เมื่อมาถึงการที่จะให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เราก็มีศัพท์ต่างๆ ที่พูดมาก่อนหน้านี้และก็เน้นกันว่า ให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต การศึกษาตลอดชีวิต เป็นต้น ถ้ามองในแง่นี้การปฏิรูปการศึกษาก็กลับไปเป็นการปฏิรูปที่ใช้ในความหมายแรก คือ กลับเข้ารูปเดิม กลับเข้าที่เดิม เพราะว่าเมื่อเราเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างบุคคลแห่งการเรียนรู้ เราสร้างศัพท์ใหม่คิดกันว่าโก้ แต่ที่จริงบุคคลแห่งการเรียนรู้ ก็คือนักเรียนนี่แหละ ใช่ไหม เป็นศัพท์เก่าที่สุด นักเรียนก็คือผู้ที่เอาจริงเอาจังในการเรียน บุคคลแห่งการเรียนรู้ ก็คือนักเรียนนั่นเอง และนักศึกษาก็เช่นเดียวกัน เรียนเป็นภาษาไทย ศึกษาเป็นภาษาสันสกฤต เป็นคำบาลี ก็เป็นสิกขา ซึ่งแปลว่า เรียนรู้ (ฝึกหัด พัฒนา) ก็อยู่นี่เอง ไม่ได้ไปไหน
เมื่อพูดว่าเป็นนักเรียน เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ อยู่ในสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่บอกว่ามันเป็นการปรับให้กลับเข้าสู่รูปเดิม ก็คือว่า ถ้ามองตามหลักพระศาสนาเรื่องนี้ชัดอยู่แล้ว แต่เราอาจจะลืมหลักการเดิมไปก็ได้ ตามหลักพุทธศาสนาบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึก ที่ว่าฝึกก็คือ เรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา หมายความว่า มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษในแง่ที่ว่า ความสามารถในการดำเนินชีวิตของเขาไม่ได้มาเปล่าๆ โดยไม่ลงทุน ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่น คือ พิเศษในความหมายที่ว่าแปลกจากสัตว์อื่น ซึ่งแยกเป็น ๒ อย่างคือ แปลกในแง่ไม่ดี กับแปลกในแง่ดี
มนุษย์พิเศษในแง่ ๑ คือ ในแง่ด้อยกว่า หรือแย่กว่า คือมนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกหรือต้องเรียนรู้ ต่างจากสัตว์ชนิดอื่นที่สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้โดยแทบไม่ต้องเรียนรู้ไม่ต้องฝึกหัด ไม่ต้องพัฒนาตัวเอง เพราะเกิดมาแล้ว พอออกจากท้องแม่ก็เดินได้ เป็นต้น เรียกว่า แทบจะมีชีวิตอยู่รอดได้ด้วยตัวเองในวันนั้นเลย พอออกมาก็เริ่มเดินได้ หากินได้ ไม่ต้องเรียนรู้อะไรมาก อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ แต่มนุษย์หาเป็นเช่นนั้นไม่ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก เพราะว่าพอเกิดมาแล้วต้องมีผู้ประคบประหงม เริ่มด้วยพ่อแม่ แล้วก็ต้องใช้เวลานานเป็นปี เลี้ยงดูกันอยู่อย่างนั้น แต่เรามักจะมองกันในแง่เลี้ยงดู แต่ระหว่างที่คนอื่นเลี้ยงดูเขาเป็นปีๆ ห้าปี สิบปี ตัวเขาทำอะไร สิ่งที่ตัวเขาทำคือการเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนาตลอด
กว่ามนุษย์จะดำเนินชีวิตอยู่ได้รอดเขาต้องใช้เวลานานในการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นทางพระถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก เรียกง่ายๆ ว่าเป็น สัตว์แห่งการเรียนรู้ คือ การดำเนินชีวิตของเขา โดยเฉพาะการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ไม่ใช่ได้มาเปล่าๆ เขาต้องลงทุนด้วยการเรียนรู้และฝึกหัดก็คือการศึกษานั่นเอง เมื่อมนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องศึกษาโดยธรรมชาติของเขา เขาก็ได้ดำเนินชีวิตมา เรียนรู้มา ฝึกหัดพัฒนามาเรื่อยๆ จนกระทั่งดำเนินชีวิตอยู่รอดได้ การกิน การนอน การนั่ง การเดิน การพูด ทุกอย่างต้องเรียนรู้ ต้องฝึกหัดทั้งนั้น แต่พอดำรงชีวิตอยู่ได้รอดแล้ว มนุษย์มักจะฝึกเท่าที่จำเป็น พออยู่ได้แล้วก็ไม่ใช้หลักการนี้ต่อ เขาก็เลยไม่พัฒนาเท่าที่ควร ถ้าเราเอาหลักการนี้มาใช้ คือ ในฐานะที่มนุษย์เป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้ ก็ให้เขามีชีวิตแห่งการเรียนรู้ แล้วเขาก็จะพัฒนาไปในวิถีแห่งความมีชีวิตที่ดีงาม
ขอแทรกตอนนี้หน่อยว่า ที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกต้องศึกษาหรือต้องเรียนรู้นั้น ชีวิตแห่งการเรียนรู้และฝึกหัดพัฒนาในช่วงแรกของเขาต้องอาศัยผู้อื่นช่วยเหลืออย่างมาก การช่วยเหลือในชีวิตช่วงแรกนี้เราเรียกกันว่าการเลี้ยงดู
ช่วงเวลาแห่งการเลี้ยงดูสำหรับมนุษย์เมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่นนับว่ายาวนานมาก ข้อสำคัญคนทั่วไปมักมอง “การเลี้ยง” ในความหมายที่จำกัด หรือเน้นเพียงในแง่ของการบำรุงด้วยอาหารและสิ่งเสพบริโภคต่างๆ
แท้ที่จริง เราควรมองการเลี้ยงสำหรับมนุษย์ในความหมายที่ต่างจากการเลี้ยงของสัตว์อื่น เพราะระยะเวลาของการเลี้ยงนั้นเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเรียนรู้ด้วย ระหว่างที่พ่อแม่เลี้ยงอยู่นั้น ลูกก็เรียนรู้คู่กันไป การเลี้ยงจึงคู่กับการเรียน (หรือ การเลี้ยงดูคู่กับการเรียนรู้)
ในการเลี้ยงจึงควรหันมาเน้นความหมายในแง่ของการช่วยเอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก คือให้ “การเลี้่ยง” มีความหมายว่าเป็น กระบวนการช่วยเกื้อหนุนและเอื้อโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้และฝึกหัดพัฒนาอย่างดีที่สุด มิฉะนั้นการศึกษาในวัยต้นแห่งชีวิตของมนุษย์จะสูญเสียหรือบกพร่องไปอย่างน่าเสียดาย ดังที่เป็นอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน
รวมความในแง่นี้ก็คือ มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามด้วยการศึกษา คือ เรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา เท่านั้น พูดได้ว่า ชีวิตที่ดีงามของมนุษย์ (มรรค) ก็คือชีวิตที่มีการศึกษาหรือชีวิตแห่งการศึกษา (สิกขา) เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังมีชีวิต เขาก็จะต้องศึกษาเรื่อยไปเพื่อมีชีวิตที่ดีงาม หลักการเรื่องการศึกษาตลอดชีวิตก็เป็นมาแต่เดิม คือ เรื่องของมนุษย์ผู้เป็นสัตว์ที่ต้องศึกษา ด้วยเหตุนั้น เราจึงจัดสรรสังคมและชุมชนให้มีสภาพที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของคน