ตอนนี้ขอผ่านไปถึงบทสรุป เนื้อแท้ของการศึกษาต้องอยู่ที่การพัฒนาในตัวคนที่แท้จริง เช่น วิชาความรู้ก็ไม่ได้อยู่ที่ข้อมูลที่เราเรียนรู้ แต่อยู่ที่ตัวคนที่พัฒนาขึ้นไปให้มีความสามารถที่จะสัมพันธ์กับสิ่งนั้นอย่างได้ผลดี เช่น มีความใฝ่รู้ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเขามีความใฝ่รู้ มีจิตสำนึกในการศึกษาแล้ว เขาจะได้ประโยชน์จริงจากสิ่งภายนอกนั้น เพราะเขาจะใช้เป็น และมันจะเกิดประโยชน์แก่เขา แต่ถ้าคนไม่พัฒนาตนในด้านนี้ ไม่มีความใฝ่รู้ ไม่มีจิตสำนึกในการศึกษา สิ่งที่บรรพบุรุษสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยความเหนื่อยยาก จะเกิดโทษต่อคนที่เกิดมาในภายหลัง เขาจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากอารยธรรมของมนุษยชาติ
ฉะนั้นการศึกษาจะต้องจับให้ได้ว่าอะไรเป็นตัวแก่นและอะไรเป็นตัวประกอบ ยกตัวอย่างก็คือ กระบวนการศึกษาที่เป็นการพัฒนาในตัวคน เช่น อย่างเรามีการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ความสำเร็จของการเรียนวิทยาศาสตร์คืออะไร คงไม่อยู่ที่การเรียนรู้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจจะมีการเน้นมากเกินไป จริงอยู่เราต้องเก่งที่จะหาความรู้ แต่ด้วยการให้ข้อมูลความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้น เราคงจะไม่สามารถสร้างนักวิทยาศาสตร์ที่เยี่ยมยอดขึ้นในสังคมไทยได้ การศึกษาวิทยาศาสตร์จะสำเร็จ เมื่อสามารถพัฒนาเด็กให้เป็นคนมีจิตใจวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งจิตใจวิทยาศาสตร์นั้นออกมาสู่วิถีชีวิตของสังคม กลายเป็นวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ คือวัฒนธรรมแห่งความใฝ่รู้นี่แหละ
จิตใจที่ใฝ่รู้ นิยมเหตุผล ชอบพิสูจน์ ชอบทดลองนี้ใช่ไหมที่เราต้องการ ถ้าเราให้ความรู้วิทยาศาสตร์ เด็กเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ รู้เรื่องแสง เสียง จำได้ว่าเรื่องนั้นเรื่องโน้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดาวดวงนั้นโตเท่านั้น ใหญ่เท่านี้ ไกลเท่านั้น แต่ไม่มีความใฝ่รู้ ไม่มีจิตใจวิทยาศาสตร์เลย การศึกษาวิทยาศาสตร์จะไม่ประสบความสำเร็จ คงต้องพูดว่าเป็นการศึกษาที่ผิดพลาด การศึกษาวิทยาศาสตร์จะไม่ประสบความสำเร็จ
ต่อเมื่อใดเราทำให้คนมีจิตใจวิทยาศาสตร์ได้ นั้นจึงเป็นความสำเร็จของการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ เวลานี้สังคมไทยเราแทบไม่มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ จิตใจวิทยาศาสตร์ก็หายาก เป็นจิตใจที่เชื่ออะไรง่ายๆ ไม่ชอบพิสูจน์ ไม่ชอบทดลอง ไม่ใฝ่รู้ และคร้านที่จะเรียนรู้ แล้วการศึกษาวิทยาศาสตร์จะได้ผลอะไร การพัฒนาคนอยู่ตรงนี้ ที่พูดกันว่าต่อไปนี้จะต้องเน้นการพัฒนาคนด้วยการศึกษานั้น คือต้องพัฒนาอย่างนี้ ไม่ใช่เพียงได้ข้อมูล เรื่องอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน