ความเป็นกัลยาณมิตรของหลวงปู่ชา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

กัลยาณมิตรช่วยเราได้แค่ไหน

แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ จะต้องรู้เข้าใจขอบเขตของการเป็นกัลยาณมิตรว่า ที่พระพุทธเจ้าตลอดจนครูอาจารย์ทั้งหลายมาช่วยเรานี้ ท่านช่วยได้แค่ไหนเพียงไร อะไรช่วยได้อะไรช่วยไม่ได้ หมายความว่า ส่วนใดท่านช่วยเราได้ ส่วนใดเราต้องทำเอง อันนี้จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง มิฉะนั้นก็หวังพึ่งกัลยาณมิตรเรื่อยไป อะไรๆ ก็จะให้ท่านทำให้ ตัวเองไม่ต้องทำ ไม่ต้องเพียรพยายาม พระพุทธเจ้าทรงป้องกันความเข้าใจผิดนี้ จึงได้ตรัสพุทธพจน์ไว้หลายแห่ง อย่างที่เราเคยได้ยินกัน เช่นที่ตรัสว่า ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา ที่แปลว่า ความเพียรเป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายจะต้องทำ ตถาคตเป็นแต่ผู้บอก อันนี้เป็นเครื่องเตือนให้มองขอบเขตให้ชัดเจนว่า กัลยาณมิตรมาช่วยอะไรเรา ทำอะไรให้เราได้แค่ไหน และในส่วนไหนแค่ใดเราจะต้องทำเอง

หน้าที่ของกัลยาณมิตรก็คือ เป็นผู้บอก เป็นผู้แนะนำ เป็นผู้ให้คำสอน เป็นผู้ชี้ทางให้ แต่ตัวความเพียร ตัวเหตุปัจจัยที่จะให้ผลที่ต้องการสำเร็จนั้น เราจะต้องทำด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทั้งๆ ที่เป็นกัลยาณมิตร พระองค์ก็ตรัสสอนพุทธพจน์มากมายเตือนเรา แม้ตอนใกล้ปรินิพพาน ก็ตรัสเตือนไว้บ่อยว่า อตฺตทีปา วิหรถ อตฺตสรณา ธมฺมทีปา วิหรถ ธมฺมสรณา แปลว่า เธอทั้งหลายจงอยู่โดยมีตนเป็นที่พึ่ง โดยมีตนเป็นสรณะ เธอทั้งหลายจงอยู่โดยมีธรรมเป็นที่พึ่ง โดยมีธรรมเป็นสรณะ อันนี้เป็นหลักเตือนใจที่สำคัญ

ในที่สุด ที่ว่ากัลยาณมิตรมาช่วยมาบอกมาสั่งสอนนั้น ท่านสั่งสอนให้เราช่วยตัวเอง แต่ที่สำคัญก็คือ แต่ก่อนเราช่วยตัวเองไม่เป็น ท่านมาสอนมาช่วยแนะนำให้เราช่วยตัวเองเป็น แต่ไม่ใช่ว่าท่านมาทำอะไรให้เราไปเสียหมด อันนี้จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง