ทีนี้ หลวงปู่ชานั้น ที่ท่านได้สั่งสอนอะไรต่างๆ มา ได้กล่าวแล้วว่าท่านทำหน้าที่เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ดำเนินตามพระพุทธปฏิปทาหรือจริยาวัตรของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านั้นทรงเป็นพระศาสดา เป็นพระบรมครู การที่เป็นพระบรมศาสดา หรือเป็นพระบรมครู ก็คือ เป็นครูอาจารย์ ฐานะความเป็นครูอาจารย์ของพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองในพระสูตรหนึ่ง มีพุทธพจน์ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร สัตว์ทั้งหลายที่มีความเกิด มีความแก่ มีความตายเป็นธรรมดา ก็พ้นไปได้จากความเกิด ความแก่ ความตาย สัตว์ทั้งหลายผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นธรรมดา ก็พ้นไปได้จากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส”
อันนี้หมายความว่า พระพุทธเจ้านั้น ทรงเป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย คือของพวกเราทั้งหลาย การที่พระองค์ทรงสั่งสอนธรรมนั้น ทรงทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร พระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตรผู้สูงสุด พระอรหันตสาวกทั้งหลาย ตลอดจนพระเถระ ครูอาจารย์ต่างๆ ก็ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ลดหลั่นกันลงมา
กัลยาณมิตรนั้น ทำหน้าที่อย่างไร แปลตามตัวอักษร กัลยาณมิตร ก็คือ เพื่อนที่ดี พระพุทธเจ้าก็เป็นเพื่อนที่ดีของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เพื่อนที่ดีเป็นผู้ที่ห้ามปรามจากความชั่ว แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี สั่งสอนให้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยฟัง สิ่งใดที่เคยรู้เคยฟังแล้ว ก็ทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้เป็นต้น
แม้แต่เพื่อนที่เรียกว่า เป็นมิตรสหายธรรมดา ถ้าหากว่าเป็นคนดีจริงๆ ก็สามารถทำหน้าที่กัลยาณมิตรอย่างนี้ได้ เป็นแต่ว่าทำได้ในสัดส่วนแตกต่างกันไป แม้แต่ในหลักทิศ ๖ ส่วนที่ว่าด้วยเรื่องมิตร ก็มีคำสอนทำนองนี้ ในเรื่องของมิตรแท้มิตรเทียม มิตรสหายทั่วๆ ไป ที่เราคบหานี้ ก็ต้องทำหน้าที่อย่างนี้ และพระพุทธเจ้าทรงทำหน้าที่นี้จนถึงที่สุด จนกระทั่งว่า ไม่ใช่เฉพาะจะห้ามปรามไม่ให้ทำความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดีธรรมดาเท่านั้น แต่ทรงทำจนกระทั่งว่าให้เว้นอกุศล ให้บำเพ็ญกุศลเจริญขึ้นไปจนเลยโลกียกุศลไปถึงโลกุตรกุศล จนกระทั่งหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ทั้งปวง พระพุทธเจ้าทำหน้าที่กัลยาณมิตรอย่างนี้ ก็คือการที่ทรงมาช่วยเหลือเรานั่นเอง เราเรียกว่าพระองค์ช่วยเหลือเรา