ความเป็นกัลยาณมิตรของหลวงปู่ชา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

น่ารัก น่าเคารพ น่าทำตาม

ประการที่ ๑ ปิโย แปลว่า กัลยาณมิตรนั้น เป็นผู้น่ารัก หรือเป็นที่รัก หมายความว่า ท่านประกอบด้วยเมตตา ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีเพื่อน ทำให้เกิดความชุ่มฉ่ำใจ ไม่อ้างว้างว้าเหว่ กัลยาณมิตรที่ดีจะทำให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ทำให้พระสาวกมีความสดชื่น มีความอบอุ่นใจ มีความสบายใจ ไม่ได้ถูกทอดทิ้ง เหมือนกับท่านทั้งหลาย ที่มีครูอาจารย์ที่ดี ท่านมีเมตตา ท่านมีลักษณะเป็น ปิโย ก็จะรู้สึกสบายใจ ชุ่มฉ่ำใจ เหมือนมีเพื่อนดูแลอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นประการที่ ๑

ประการที่ ๒ ครุ เป็นที่เคารพ ท่านมีความหนักแน่น มีคุณธรรมเป็นหลักให้เราได้ เมื่อเป็นหลักให้เราได้ เราก็รู้สึกว่ามั่นคง มีความรู้สึกปลอดภัย มีหลักมีที่เกาะเกี่ยว ที่จริงนั้นท่านก็มาช่วยอะไรเราให้ถึงที่สุดไม่ได้หรอก กัลยาณมิตรนั้นมาสอนเรา ให้ธรรม แต่ถ้าเราไม่ฟัง หรือฟังแล้วไม่คิดไม่พิจารณา พิจารณาแล้วไม่เอาไปปฏิบัติ ผลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร มันก็เกิดขึ้นไม่ได้

ครูอาจารย์จะสอนใคร จะเอาปัญญามาใส่สมองให้ไม่ได้ คนนั้นจะต้องทำปัญญาให้เกิดขึ้นด้วยตนเอง แต่กัลยาณมิตรหรือครูอาจารย์ก็ช่วยได้ โดยการบอกกล่าวสั่งสอน เอาคำสอนมาบอกให้ แล้วยังแนะนำชี้แจงอธิบายด้วย ถ้าเราช่วยตัวเราเอง โดยทำหน้าที่ของเรา ด้วยการรู้จักฟังรู้จักพิจารณา ปัญญาก็เกิดขึ้นกับตัวเรา ฉะนั้นกัลยาณมิตรจึงช่วยได้มาก ไม่ใช่ช่วยไม่ได้เลย แต่ต้องรู้ขอบเขตอย่างที่ว่า ท่านช่วยเราแค่ไหน เราจะต้องทำแค่ไหน ตกลงว่ากัลยาณมิตรที่ดีประการที่ ๒ ก็เป็นครุ เป็นที่เคารพ เป็นหลักให้ ทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย มีหลักเป็นที่เกาะเกี่ยวยึดเหนี่ยว

ประการที่ ๓ ภาวนีโย แปลว่า เป็นที่เจริญใจ เป็นแบบอย่างให้เราได้ เราได้ครูอาจารย์ เราได้ท่านผู้ที่มีคุณธรรม มีความประพฤติดีงาม เราก็เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า จรรโลงใจ มีกำลังใจ เห็นแบบอย่าง อยากจะทำตาม ก็ทำให้มีความก้าวหน้าได้ ฉะนั้นกัลยาณมิตรนี้ ช่วยได้มาก

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง